เจ้าเจตบุตรพรหมมินทร์ เจ้าเมืองน่านตั้งแต่ปี พ.ศ. 2139 ต่อจากพระญาหน่อคำเสถียรไชยสงครามพระบิดา
พ.ศ. 2140 น่าน เริ่มแข็งเมืองต่อพม่า เจ้าฟ้าสารวดี (มังนรธาช่อ - พระราชโอรสในพระเจ้าบุเรงนอง)กษัตริย์พม่าครองเมืองเชียงใหม่ยกทัพมาปราบปรามได้ต่อสู้กันที่ปากงาว เจ้าเจตบุตรพรหมมินทร์สู้ไม่ได้จึงหนีไปเมืองล้านช้าง (หลวงพระบาง) เจ้าฟ้าสารวดีจึงแต่งตั้งให้พญาแขก ซึ่งเป็นขุนนางเมืองน่านเป็นผู้รักษาเมืองน่านระหว่าง พ.ศ. 2140 - 2143 ต่อมาเจ้าเจตบุตรพรหมมินทร์ยกกำลังมายึดเมืองน่านคืนได้และครองเมืองน่านต่อมาอีกสี่ปี (พ.ศ. 2143 - 2146) ถูกเจ้าฟ้าสารวดียกทัพมาตีอีกเจ้าศรีสองเมืองอนุชาเอาใจออกห่างเปิดประตูเมืองให้พม่า พม่าเข้าเมืองได้จับเจ้าเจตบุตรพรหมมินทร์ไปเมืองเชียงใหม่ วันที่เจ้าเจตบุตรพรหมมินทร์ถูกประหารเกิดเหตุอัศจรรย์แผ่นดินไหว หลังจากนั้นเจ้าฟ้าสารวดีรับเจ้าศรีสองเมืองเป็นพระโอรสบุญธรรมและส่งมาปกครองเมืองน่านก่อนจะถูกเชิญให้ไปเป็นกษัตริย์ครองแคว้นล้านนาในเวลาต่อมา
หนังสือพงศาวดารเมืองน่าน ฉบับราชวงษ์ปกรณ์ กล่าวว่า “เจ้าเจตบุตรพรหมมินทร์ เสวยเมืองได้ 6ปี เถิงปี กาบซง้า จุลศักราช 958 ตัว เดือน 8 ลง 3 ค่ำ ท่านก็เสด็จลงไปอยู่เมืองพ้อ ไปสร้างวัดศรีดอนแท่น ได้อภิเศกสามีเจ้าขวานแขวน หื้อเป็นสังฆราชแล้วเมื่อเวลาใกล้เข้ามานั้น ท้าวขุนหื้อคนทั้งหลายในเมืองพ้อ ก็พากันแต่งไปเก็บเอาแก้วบ่อน้ำสามาสร้างถวายมากหั้น และท่านก็มีอาชญาหื้อคนทั้งหลายปัดแปงสะเอวยาว 4วา กว้าง 5 ปล้อง ประดับเป็นบัวผัด ใส่ไตรคว่ำรอดทั้งมวล สายสะเอวยาว 3 ศอก กว้าง 5 ปล้อง ประดับแก้วเสี้ยงพันปลายลูก 1 แล”