ไดอานา เจ้าหญิงแห่งเวลส์ (อังกฤษ: Diana, Princess of Wales) มีพระนามเต็มว่า ไดอานา ฟรานเซส (อังกฤษ: Diana Frances) สกุลเดิม สเปนเซอร์ (อังกฤษ: Spencer) ประสูติเมื่อ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2504 — สิ้นพระชนม์ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2540 เป็นพระชายาองค์แรกของเจ้าชายชาลส์ เจ้าชายแห่งเวลส์ มกุฎราชกุมารอังกฤษ
ไดอานาถือกำเนิดในตระกูลขุนนางที่สืบทอดเชื้อสายจากราชวงศ์อังกฤษโบราณ เธอเป็นบุตรีคนที่ 3 ของ จอห์น สเปนเซอร์ ไวส์เคาน์ตอัลธอร์พ และคุณฟรานเซส โรช ในวัยเด็กไดอานาพักอาศัยที่คฤหาสน์พาร์กเฮาส์ ซึ่งตั้งอยู่ภายในพื้นที่ตำหนักซานดริงแฮม ไดอานาเข้ารับการศึกษาในโรงเรียนที่ประเทศอังกฤษและศึกษาต่อเป็นเวลาสั้นๆ ในโรงเรียนการเรือนที่ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ เมื่ออายุได้ 14 ปี ไดอานาได้รับบรรดาศักดิ์เป็น เลดี้ ทันทีที่บิดาสืบทอดบรรดาศักดิ์ขึ้นเป็น เอิร์ลแห่งสเปนเซอร์ ไดอานาเริ่มเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกเมื่อเธอเข้าพิธีหมั้นกับเจ้าชายชาลส์ในปี พ.ศ. 2524
พระราชพิธีอภิเษกสมรสระหว่างเลดี้ไดอานา สเปนเซอร์และเจ้าชายแห่งเวลส์ ถูกจัดขึ้นภายในมหาวิหารเซนต์พอล เมื่อเช้าวันที่ 29 กรกฎาคม 2524 มีการถ่ายทอดสดพระราชพิธีนี้ทางโทรทัศน์และมีผู้รับชมมากกว่า 750 ล้านคนทั่วโลก ไดอานาได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น เจ้าหญิงแห่งเวลส์, ดัชเชสแห่งคอร์นวอล, ดัชเชสแห่งโรธเซย์, และเคาน์เตสแห่งเชสเตอร์ ไม่นานภายหลังพระราชพิธีอภิเษกสมรส ไดอานามีพระประสูติกาลพระโอรสองค์แรก เจ้าชายวิลเลียม และพระโอรสองค์ที่สองในอีก 2 ปีถัดมา คือ เจ้าชายแฮร์รี ทั้งสองพระองค์อยู่ในตำแหน่งรัชทายาทลำดับที่สองและสามแห่งราชบัลลังก์อังกฤษ ในระหว่างดำรงพระอิสริยศเจ้าหญิงแห่งเวลส์ ไดอานาได้ออกปฏิบัติพระกรณียกิจมากมายแทนสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 รวมทั้งเสด็จเยือนต่างประเทศอยู่สม่ำเสมอ พระกรณียกิจที่สำคัญในบั้นปลายพระชนม์ชีพคือการรณรงค์ต่อต้านการใช้ทุ่นระเบิด นอกจากนี้ยังทรงดำรงตำแหน่งประธานโรงพยาบาลเด็กเกรทออร์มันด์สตรีท และให้การสนับสนุนโครงการและมูลนิธิอื่นๆ อีกกว่าหลายร้อยแห่งจนถึงปี พ.ศ. 2539
ตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์ ทั้งก่อนอภิเษกสมรสและภายหลังหย่าร้าง สื่อมวลชนทั่วโลกต่างให้ความสนใจไดอานาอย่างมากมาย ไดอานาทรงหย่าขาดจากพระสวามีในวันที่ 28 สิงหาคม 2539 และการสิ้นพระชนม์จากอุบัติเหตุทางรถยนต์อย่างกะทันหันในวันที่ 31 สิงหาคม 2540 ยิ่งทำให้สื่อทุกแขนงล้วนแต่นำเสนอข่าวการสิ้นพระชนม์และภาพประชาชนที่แสดงความเศร้าโศกเสียใจจากไปของพระองค์ หนึ่งสัปดาห์ต่อมาพิธีพระศพถูกจัดขึ้นที่เวสต์มินสเตอร์แอบบีย์และมีการถ่ายทอดสดพิธีไปยังเครือข่ายโทรทัศน์ทั่วโลก
ไดอานา ฟรานเซส สเปนเซอร์ เกิดเมื่อวันเสาร์ที่ 1 กรกฎาคม 2504 ในพาร์กเฮาส์ เมืองซานดริงแฮม มณฑลนอร์ฟอล์ก เธอเป็นลูกสาวคนสุดท้ายและลูกคนที่สามจากทั้งหมด 5 คนของ จอห์น สเปนเซอร์ ไวสเคานท์อัลธอร์พ (2467-2535) และภริยาคนแรก คุณฟรานเซส โรช (2479-2547) ตระกูลสเปนเซอร์มีสายสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับราชวงศ์อังกฤษมานานหลายชั่วอายุคน ทั้งย่าและยายของไดอานาต่างเคยปฏิบัติหน้าที่นางสนองพระโอษฐ์ในสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธ พระราชชนนี ในช่วงเวลานั้นไวสเคานต์หวังให้ทารกในครรภ์ (ไดอานา) กำเนิดเป็นเพศชาย เพื่อได้สืบทอดตระกูลสเปนเซอร์ต่อไป อีกทั้งไม่ได้เตรียมชื่อเด็กหญิงไว้ล่วงหน้า จนกระทั่งหนึ่งสัปดาห์ผ่านไป ฟรานเซสจึงตัดสินใจตั้งชื่อทารกเพศหญิงผู้นี้ว่า ไดอานา ฟรานเซส ซึ่งได้ชื่อหลัก ไดอานา มาจากญาติห่างๆ ของเธอคือ ไดอานา รัสเซล ดัชเชสแห่งเบดฟอร์ด หรือเป็นที่รู้จักในนาม เลดี้ไดอานา สเปนเซอร์? (ก่อนเข้าพิธีแต่งงาน) นอกจากนี้เธอเคยถูกคาดหวังให้เป็นเจ้าหญิงแห่งเวลส์พระองค์ก่อนหน้า
ไดอานาเข้ารับพิธีศีลล้างบาปในวันที่ 30 สิงหาคม 2504 ณ โบสถ์เซนต์แมรีแมกดาลีน เมืองซานดริงแฮม และมีเศรษฐีผู้มั่งคั่งหลายคนรับเป็นลูกทูนหัว ไดอานามีพี่น้องรวม 4 คน ดังนี้ ซาราห์ (ปัจจุบันคือ เลดี้ซาราห์ แมคควอคอเดล), เจน (ปัจจุบันคือ เจน เฟลโลวส์ บารอนเนสเฟลโลวส์) และชาลส์ (ปัจจุบันเป็น เอิร์ลแห่งสเปนเซอร์ที่ 9) ส่วนจอห์น พี่ชายเสียชีวิตขณะยังเป็นทารก ราวๆ 1 ปีก่อนไดอานากำเนิด ความต้องการลูกชายไว้สืบทอดวงศ์ตระกูลสร้างแรงกดดันให้กับครอบครัวสเปนเซอร์ที่ขณะนั้นมีลูกสาวอยู่แล้วถึง 2 คน ดังนั้นมีการเล่าลือกันว่าเลดี้อัลธอร์พถูกนำตัวไปตรวจร่างกายที่คลีนิกสูตินรีเวชย่านถนนฮาร์ลีย กรุงลอนดอน เพื่อตรวจหา”ความผิดปกติ” ชาลส์ กล่าวถึงความอับอายของแม่ว่า “เป็นช่วงเวลาเลวร้ายในครอบครัวและอาจเป็นชนวนเริ่มต้นของการหย่าร้าง เพราะไม่เชื่อว่าพ่อแม่จะลืมเลือนมันได้” ไดอานาเติบโตในคฤหาสน์พาร์กเฮาส์ซึ่งตั้งอยู่ภายในอาณาเขตของตำหนักซานดริงแฮม โดยครอบครัวสเปนเซอร์เช่าคฤหาสน์หลังนี้จากสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ผู้เป็นเจ้าของ สมาชิกราชวงศ์อังกฤษมักเสด็จมาประทับที่ตำหนักซานดริงแฮมนี้เป็นประจำทุกปี และไดอานายังเคยร่วมเป็นเพื่อนเล่นของเจ้าชายน้อยสองพระองค์ คือ เจ้าแอนดรูว์และเจ้าชายเอ็ดเวิร์ด พระราชโอรสของสมเด็จพระราชินี
พ่อแม่ของไดอานาหย่าร้างกันเมื่อไดอานาอายุได้ 7 ปี ฟรานเซสมีความสัมพันธ์กับ ปีเตอร์ ชานด์ คิดด์ และสมรสกับเขาในปี 2512 ไดอานาได้อยู่กับแม่ที่ลอนดอนระหว่างที่พ่อแม่แยกกันอยู่ในปีช่วงปี 2510 แต่ในวันหยุดคริสต์มาสปีเดียวกันนั้น ลอร์ดอัลธอร์พผู้เป็นพ่อไม่ยอมให้ไดอานากลับลอนดอนพร้อมกับฟรานเซส และเวลาต่อมาพ่อชนะคดีฟ้องร้องสิทธิในการเป็นผู้ปกครองของไดอานา โดยได้รับความช่วยเหลือทางคดีจากอดีตแม่ยาย รูธ โรช บารอนเนสเฟอร์มอย
พ.ศ. 2515 ลอร์ดอัลธอร์พตกหลุมรัก เรน เคาน์เตสแห่งดาร์ตมัธ เธอเป็นบุตรีเพียงคนเดียวของ อเล็กซานเดอร์? แมคควอคอเดล และ ท่านผู้หญิงบาร์บารา คาร์ทแลนด์ ในที่สุดทั้งสองเข้าพิธีวิวาห์ที่แค็กซ์ตันฮอลล์ กรุงลอนดอนเมื่อปี พ.ศ. 2519
พ.ศ. 2518 ไดอานาได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น คุณหญิง (เลดี้) ภายหลังที่พ่อสืบทอดบรรดาศักดิ์เป็นเอิร์ลแห่งสเปนเซอร์ และครอบครัวสเปนเซอร์จึงต้องย้ายออกจากพาร์กเฮาส์เพื่อกลับไปพักอาศัยที่ยังคฤหาสน์อัลธอร์พเป็นการถาวร โดยคฤหาสน์แห่งนี้คือบ้านประจำตระกูลสเปนเซอร์ในมณฑลนอร์ทแธมป์ตัน
ไดอานาเรียนอ่านเขียนครั้งแรกกับครูหญิงประจำบ้าน เกอร์ทรูด อัลเลน ต่อมาจึงได้เข้าเรียนที่โรงเรียนเอกชนซิลฟิลด์ เมืองเกย์ตัน มณฑลนอร์ฟอล์ก เมื่ออายุได้ 9 ปี จึงได้ย้ายไปเรียนที่โรงเรียนริดเดิลสเวิร์ธ เป็นโรงเรียนประจำหญิงล้วน ใกล้เมืองดิส ในปี พ.ศ. 2516 เธอจึงได้เข้าเรียนในโรงเรียนเวสต์ฮีธเกิร์ลส์สคูล เมืองเซเว่นโอ๊กส์ มณฑลเคนต์ ซึ่งเป็นโรงเรียนเดียวกันกับที่พี่สาวทั้งสองเรียนอยู่ในตอนนั้น ไดอานามีผลการเรียนตำ่กว่าเกณฑ์มาตรฐาน ด้วยเหตุที่สอบไม่ผ่านการทดสอบความรู้วิชาพื้นฐานระดับประเทศ (O-Levels) ถึงสองครั้ง แต่งานกิจกรรมสาธารณะของเธอทำให้ไดอานาได้รับรางวัลนักเรียนดีจากโรงเรียนแห่งนี้ เธอลาออกจากโรงเรียนตอนอายุ 16 ปี และยังคงเป็นเด็กสาวขี้อายอยู่เหมือนเดิม แต่ความสามารถพิเศษทางดนตรี (เปียโน) และกีฬา (ว่ายน้ำและดำน้ำ) ของเธอนั้นโดดเด่นเกินใครๆ และเธอยังสนใจเรียนบัลเลต์และแท็ปแดนซ์
พ.ศ. 2521 หลังเข้าเรียนที่โรงเรียนการเรือนอังสติตูอัลแป็งวิเดมาแน็ต เมืองรูฌมงต์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ได้เพียงหนึ่งภาคการศึกษา ไดอานาเดินทางกลับลอนดอน และที่เมืองหลวงนี้เธอพักอาศัยอยู่ในห้องชุดของแม่ร่วมกับเพื่อนร่วมชั้นเรียนอีกสองคน ต่อมาไดอานาเข้าเรียนทำอาหารในหลักสูตรพิเศษ แต่แทบไม่เคยปรุงอาหารให้เพื่อนรับประทาน เธอทำงานหลายอย่างและได้รับค่าจ้างเพียงเล็กน้อย เคยเป็นครูสอนเต้นรำสำหรับเด็กแต่ต้องลาออกเมื่อขาดงานนานถึง 3 เดือนหลังประสบอุบัติเหตุระหว่างเล่นสกี จากนั้นจึงเข้าทำงานเป็นผู้ช่วยครูโรงเรียนเตรียมอนุบาล รับจ้างทำความสะอาดให้ซาราห์ พี่สาว รวมทั้งบรรดาเพื่อนๆ ของเธอเอง รับจ้างดูแลแขกและเตรียมอาหารเครื่องดื่มในงานปาร์ตี้ ต่อมาจึงได้รับเป็นพี่เลี้ยงให้กับครอบครัวโรเบิร์ตสันซึ่งเป็นสองสามีภรรยาชาวอเมริกันในลอนดอน ไดอานายังทำงานเป็นผู้ช่วยครูโรงเรียนเตรียมอนุบาลยังอิงแลนด์สคูล ย่านพิมลิโค
พ.ศ. 2522 ฟรานเซสซื้อห้องชุดที่โคลเฮิร์นคอร์ทในย่านเอิร์ลส์คอร์ทเพื่อมอบเป็นของขวัญวันเกิดอายุ 18 ปีให้แก่ไดอานา ไดอานาจึงได้ย้ายมาพักอยู่ที่ห้องชุดแห่งนี้พร้อมเพื่อนร่วมห้องอีก 3 คน จนถึงวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2524
ในช่วงแรกพบกันนั้น เจ้าชายชาลส์กำลังทรงคบหาอยู่กับ ซาราห์ พี่สาวของไดอานา ตอนนั้นซาราห์เคยถูกหมายมั่นว่าจะได้เป็นเจ้าสาวของพระองค์ ในเวลานั้นเองเจ้าชายมีพระชนมายุใกล้ 30 ชันษาและมีความกดดันให้พระองค์รีบอภิเษกสมรสโดยเร็ว ภายใต้เงื่อนไขว่าจะต้องเสกสมรสกับหญิงสาวพรหมจรรย์ผู้นับถือศาสนาคริสต์นิกายเชิร์ชออฟอิงแลนด์เท่านั้น หากพระองค์เสกสมรสกับสตรีที่นับถือนิกายโรมันคาทอลิก จะทรงถูกตัดสิทธิ์ในการขึ้นครองราชบัลลังก์ทันที
บารอนเนสเฟอร์มอย ผู้เป็นยายของไดอานา เสนอว่า ไดอานานั้นมีความเหมาะสมกับเจ้าชายที่สุดจากจากบรรดาหญิงสาวชั้นสูง เพราะเธอยังไม่เคยคบหากับชายใดมาก่อน อีกทั้งเธอยังเป็นหญิงสาวในตระกูลสเปนเซอร์ที่มีเชื้อสายขุนนางชั้นสูงมานานหลายร้อยปี ด้วยปัจจัยหลายอย่างนี้เอง ณ เวลานั้น บารอนเนสจึงมั่นใจหลานสาวของตนนั้นเพียบพร้อมด้วยวงศ์ตระกูลและความบริสุทธิ์ที่จะได้เป็นเจ้าสาวคนใหม่ของราชวงศ์วินด์เซอร์
ฝ่ายเจ้าชายชาลส์นั้นก็ได้รู้จักไดอานาเป็นเวลานานพอควร เพราะซาราห์ชวนไดอานาไปร่วมชมการล่าสัตว์และแข่งโปโลกับเจ้าชายอยู่เนืองๆ แต่หลังจากที่พระองค์ยุติความสัมพันธ์กับซาราห์ เจ้าชายชาลส์ได้ทรงสานความสัมพันธ์รักกับไดอานาในช่วงฤดูร้อนปี พ.ศ. 2523 ซึ่งเธอได้เดินทางมาชมการแข่งขันการแข่งขันโปโลของเจ้าชายชาลส์ ทั้งสองมีโอกาสพูดคุยกันอย่างสนุกสนานที่งานเลี้ยงจนเกิดความใกล้ชิดแนบแน่นเพิ่มขึ้น เมื่อได้เธอได้รับคำเชิญจากเจ้าชายให้ไปร่วมโดยสารเรือยอชท์หลวงบริตาเนียที่งานแข่งเรือใบ ตามมาด้วยบัตรเชิญเข้าเฝ้าที่พระตำหนักบัลมอรัลในสกอตแลนด์ ณ ที่แห่งนั้นไดอานาได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เจ้าชายฟิลิป ดยุกแห่งเอดินเบอระ และสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธ
ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองได้เกิดขึ้นเป็นความรักและเจ้าชายทรงขอเสกสมรสกับไดอานา เธอตอบรับคำขอเสกสมรสในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2524 แต่เรื่องนี้ถูกเก็บเป็นความลับจากสื่อมวลชนอยู่ไม่กี่สัปดาห์จนกระทั่งมีการประกาศพิธีหมั้นอย่างเป็นทางการ
24 กุมภาพันธ์ 2524 มีแถลงการณ์จากสำนักพระราชวังบักกิงแฮม เรื่องพิธีหมั้นระหว่างเจ้าชายชาลส์กับเลดี้ไดอานา สเปนเซอร์ สำหรับแหวนหมั้นนั้น ไดอานาเลือกแหวนทองคำขาวไพลินล้อมเพชร 14 เม็ด มูลค่า 30,000 ปอนด์ (ประเมินมูลค่า ณ ปัจจุบัน อยู่ที่ 85,000 ปอนด์)[ต้องการอ้างอิง] ซึ่งตัวเรือนแหวนวงนี้คล้ายกับแหวนของฟรานเซส แม่ของไดอานา โดยร้านเพชรการ์ราร์ดเป็นผู้ประกอบตัวเรือน แต่สมาชิกราชวงศ์หลายพระองค์ไม่นิยมเลือกใช้เครื่องเพชรจากร้านการ์ราร์ด และมีความเห็นตรงกันว่าแหวนไพลินวงนี้ไม่ได้ออกแบบพิเศษเฉพาะแก่ไดอานาเพียงเรือนเดียว เพราะปรากฏว่ามีแหวนไพลินที่มีลักษณะคล้ายกันรวมอยู่ในคอลเลคชั่นอื่นของการ์ราร์ด และอีก 30 ปีต่อมา แหวนไพลินวงดังกล่าวถูกนำมามอบเป็นแหวนหมั้นให้แก่ นางสาวแคเธอริน มิดเดิลตัน และ เจ้าชายวิลเลียมแห่งเวลส์ พระโอรสองค์ใหญ่ของไดอานา ในพิธีหมั้นเมื่อปี พ.ศ. 2554[ต้องการอ้างอิง]
พระราชพิธีอภิเษกสมรสเริ่มขึ้นในเช้าวันที่ 29 กรกฎาคม 2524 สาเหตุที่มีการเปลี่ยนแปลงสถานที่จัดงานเป็นมหาวิหารเซนต์พอล แทนวิหารเวสต์มินสเตอร์ เพราะมหาวิหารสามารถรองรับผู้เข้าร่วมพระราชพิธีได้มากกว่า และมีธรรมเนียมการใช้มหาวิหารนี้เป็นสถานที่ประกอบพิธีเสกสมรสของสมาชิกพระราชวงศ์อังกฤษมานาน พระราชพิธีอภิเษกสมรสในวันนั้นมีการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์และมีผู้ชมทั่วโลกมากกว่า 750 ล้านคน ไดอานาได้รับการสถาปนาจากสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ให้ดำรงอิสริยศเป็นเจ้าหญิงแห่งเวลส์ในขณะที่มีอายุ 20 ปี และเธอจึงกลายเป็นสตรีสามัญชนคนแรกในรอบหลายร้อยปีที่เข้าพิธีสมรสกับรัชทายาทอังกฤษ
ประชาชนกว่า 600,000 คนบนบาทวิถี[ต้องการอ้างอิง]ต่างเฝ้ารอคอยช่วงเวลาที่ไดอานาโดยสารรถม้าเดินทางสู่มหาวิหารเซนต์พอล ในระหว่างพิธีหน้าแท่นบูชา ไดอานาเอ่ยพระนามเต็มของเจ้าชายชาลส์ไม่ถูกต้อง โดยพูดว่า "Philip Charles Arthur George" แทน "Charles Phillip ..." และไม่ได้กล่าวคำสาบานต่อหน้าบาทหลวงว่า "จะอยู่ในโอวาทของสามี"[ต้องการอ้างอิง] โดยคำสาบานดังกล่าวนี้ถูกตัดออกไปจากพิธีตามความต้องการของเจ้าบ่าวเจ้าสาว และเรียกกระแสคัดค้านในเวลานั้นพอควร ไดอานาสวมชุดเจ้าสาวผ้าแพรสีขาว มูลค่า 9,000 ปอนด์ ชายกระโปรงยาว 8 เมตร ผลงานการตัดเย็บของห้องเสื้อเดวิดและเอลิซาเบธ เอ็มมานูเอล และเค้กแต่งงานสั่งทำกับเชฟขนมหวานชาวเบลเยียม เอส. จี. ซองแดร์
5 พฤศจิกายน 2524 สำนักพระราชวังบักกิงแฮมออกแถลงการณ์เรื่องการตั้งพระครรภ์ของเจ้าหญิงแห่งเวลส์ ไดอานาได้ประทานสัมภาษณ์เรื่องพระโอรสแก่สื่อมวลชน ไดอานามีพระประสูติกาลพระโอรสและรัชทายาทองค์แรกในวันที่ 21 มิถุนายน 2525 โดยมีพระนามเต็มว่า เจ้าชายวิลเลียม อาร์เธอร์ ฟิลิป หลุยส์ ณ โรงพยาบาลเซนต์แมรี-แพดดิงตัน หนึ่งปีต่อมาเจ้าชายชาลส์และเจ้าหญิงไดอานาเสด็จเยือนออสเตรเลียและนิวซีแลนด์เป็นระยะเวลานาน 6 สัปดาห์ พร้อมเจ้าชายวิลเลียม การที่ไดอานาพาพระโอรสที่ยังอ่อนพระชันษามากร่วมการเดินทางนี้ จึงทำให้เจ้าหญิงถูกวิจารณ์ว่าไม่เคร่งครัดในราชประเพณี แต่การเสด็จออสเตรเลียของเจ้าชายและเจ้าหญิงแห่งเวลส์พร้อมด้วยพระโอรสครั้งนี้เป็นไปตามคำทูลเชิญของนายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย ไดอานาทรงให้เจ้าชายวิลเลียมประทับในเครื่องบินลำเดียวกันกับเจ้าชายชาลส์ ซึ่งไม่สมควรอย่างยิ่งหากเกิดอุบัติเหตุในระหว่างการเดินทาง
ในการตั้งครรภ์ครั้งที่สอง เจ้าหญิงไม่ประสงค์ประทานสัมภาษณ์เรื่องเพศของของพระกุมารแก่สื่อมวลชนล่วงหน้า และในวันที่ 15 กันยายน 2527 มีพระประสูติการพระโอรสองค์ที่สอง มีพระนามเต็มว่า เจ้าชายเฮนรี ชาลส์ อัลเบิร์ต เดวิด
ไดอานาทรงรักใคร่เอาใจใส่พระโอรสทั้งสองมาก ทรงไม่ยอมปฏิบัติธรรมเนียมการจ้างแม่นมของราชสำนัก แต่ทรงเลือกที่จะเลี้ยงดูพระโอรสด้วยพระองค์เองเหมือนสามัญชน ไดอานายังเป็นเลือกพระนามแรกให้พระโอรสทั้งสองด้วยพระองค์เอง ตลอดจนเลือกโรงเรียน การแต่งกาย พร้อมวางแผนให้พระโอรสได้มีโอกาสเสด็จออกไปเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ จัดสรรเวลาไปรับไปส่งเจ้าชายที่โรงเรียน สำหรับพระองค์แล้วนั้น คำว่า 'ลูก' ต้องมาก่อนพระกรณียกิจประจำวัน
นับตั้งแต่ปี 2528 เจ้าหญิงแห่งเวลส์เริ่มออกปฏิบัติพระกรณียกิจงานด้านการกุศลมากมาย อาทิ การเสด็จเยี่ยมโรงพยาบาลต่างๆ เสด็จเยี่ยมโรงเรียนเวสต์ฮีธที่เคยศึกษา ทรงเริ่มให้ความสนพระทัยกิจกรรมอาสาสมัครอย่างจริงจัง เห็นได้จากการเสด็จเยี่ยมผู้ป่วยโรคเอดส์และโรคเรื้อน ซึ่งไม่เคยมีสมาชิกราชวงศ์พระองค์ใดปฏิบัติมาก่อน นอกจากนี้เจ้าหญิงยังได้ดำรงตำแหน่งผู้อุปถัมภ์องค์การกุศลเพื่อคนไร้บ้าน เด็ก ผู้ติดยา และผู้สูงอายุ รวมทั้งเคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลเด็กเกรทออร์มันด์สตรีท และยังร่วมสนับสนุนโครงการต่อต้านการใช้กับระเบิด และได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพเมื่อปลายปี 2540 ภายหลังจากสิ้นพระชนม์
เดือนเมษายน พ.ศ. 2530 ภาพถ่ายเจ้าหญิงขณะทรงสัมผัสผู้ป่วยโรคเอดส์[ต้องการอ้างอิง] ช่วยทำให้สังคมเปลี่ยนมุมมองต่อผู้ป่วยเอดส์ และยังสร้างกำลังใจให้แก่ผู้ป่วยเองอีกด้วย คำปราศรัยของประธานาธิบดี บิล คลินตัน ซึ่งกล่าวถึงเจ้าหญิงในปี พ.ศ. 2530 มีใจความว่า
เมื่อปี 2530 ผู้คนมากมายเชื่อว่าโรคเอดส์สามารถติดต่อกันผ่านการสัมผัส แต่เจ้าหญิงไดอานากลับทรงประทับบนเตียงของผู้ป่วยเอดส์คนหนึ่งและกุมมือเขาไว้ พระองค์ได้แสดงให้สังคมโลกรู้ว่าผู้ป่วยเอดส์ไม่สมควรที่ถูกลืม แต่ควรได้รับความรักความอาทร นี่จึงเป็นการปฏิวัติความเชื่อเดิมๆ ของชาวโลกและมอบความหวังแก่ผู้ป่วย[ต้องการอ้างอิง]
มกราคม 2540 ไดอานาเสด็จเยือนพื้นที่ทุ่นระเบิด ภาพถ่ายพระองค์ในชุดป้องกันสะเก็ดระเบิดถูกเผยแพร่ผ่านสื่อมวลชนทั่วโลก พระกรณียกิจนี้กลายเป็นที่วิพากย์วิจารณ์ว่าพระองค์กำลังลงมายุ่งเกี่ยวกับการเมืองมากเกินไป เดือนสิงหาคม 2540 ไม่กี่สัปดาห์ก่อนสิ้นพระชนม์ พระองค์เสด็จไปประเทศบอสเนีย และได้เยื่ยมเยียนกลุ่มผู้รอดชีวิตจากกับระเบิดในกรุงซาราเจโว ไดอานาทรงให้ความสนใจในเรื่องกับระเบิดเพราะทุ่นระเบิดนั้นมีอันตรายร้ายแรงถึงตาย
แม้สิ้นพระชนม์แล้ว แต่พระกรณียกิจด้านการต่อต้านทุ่นระเบิดส่งผลให้นานาชาติร่วมลงนามในอนุสัญญาออตตาวาเมื่อเดือนธันวาคม 2540 อนุสัญญาออตตาวามีจุดประสงค์เพื่อป้องกันการใช้กับระเบิดทั่วโลก พิจารณาร่างพระราชบัญญัติต่อต้านทุ่นระเบิดฉบับที่ 2 ในรัฐสภาอังกฤษ นายโรบิน คุก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศอังกฤษ กล่าวสุนทรพจน์ต่อความทุ่มเทของไดอานาในการรณรงค์นี้ว่า
สมาชิกผู้ทรงเกียรติทั้งหลาย ท่านคงทราบว่าเบื้องหลังแรงผลักดันการร่างกฎหมายฉบับนี้คือพระอุปถัมภ์จากไดอานา เจ้าหญิงแห่งเวลส์พระองค์ทรงชี้ให้พวกเราเห็นผลร้ายจากที่เกิดกับระเบิด ดังนั้นเพื่อเป็นการรำลึกถึงพระกรณียกิจของพระองค์ ตลอดจนหน่วยงานต่างๆ ที่ได้ร่วมกันทำงานรณรงค์ต่อต้านการใช้ทุ่นระเบิด คือ ผ่านร่างพระราชบัญญัติต่อต้านฉบับนี้ และปูหนทางสู่การหยุดใช้ทุ่นระเบิดทั่วโลก
องค์การสหประชาชาติได้ส่งคำร้องไปยังชาติที่ผลิตทุ่นระเบิดจำนวนมหาศาล ได้แก่ สหรัฐอเมริกา จีน อินเดีย เกาหลีเหนือ ปากีสถาน และรัสเซีย เพื่อร่วมลงนามในอนุสัญญาออตตาวา คาโรล เบลลามี ผู้อำนวยการองค์การยูนิเซฟ กล่าวว่า "ทุ่นระเบิดเป็นอันตรายต่อเด็กน้อยวัยซุกซน กับระเบิดทำให้เด็กผู้ไร้เดียงสาได้รับอันตรายถึงชีวิต"
ต้นปี 2533 ชีวิตสมรสระหว่างเจ้าชายและเจ้าหญิงแห่งเวลส์เริ่มสั่นคลอน สื่อมวลชนต่างพุ่งความสนใจมายังประเด็นนี้ ข่าวความรักที่เริ่มจืดจางถูกนำเสนอและข่าวอื้อฉาวก็แพร่ไปทั่วโลก เมื่อชาลส์และไดอานาต่างกล่าวหากันว่าเป็นตัวการทำให้ชีวิตคู่ล้มเหลว รักร้าวระหว่างเจ้าชายและเจ้าหญิงก่อตัวขึ้นระหว่างปี 2528 -2529 เมื่อชาลส์กลับไปพบคนรักเก่า นางคามิลลา (ต่อมาเป็นภรรยาของแอนดริว ปาร์กเกอร์-โบวส์) เรื่องนี้ถูกนำมาตีพิมพ์ลงในหนังสือ Diana: Her True Story เขียนโดยแอนดริว มอร์ตัน วางขายในเดือนพฤษภาคม 2535 เนื้อหาส่วนใหญ่ของหนังสือบอกเล่าชีวิตส่วนตัวของไดอานาที่เผชิญหน้ากับชีวิตแต่งงานที่ไร้ความสุข และพยายามปลงพระชนม์ชีพถึง 5 ครั้ง จากสาเหตุความกดดันทั้งในชีวิตแต่งงานและสายตาสาธารณชนที่เพ่งเล็งชีวิตส่วนพระองค์[ต้องการอ้างอิง]
เรื่องอื้อฉาวยังยืดเยื้อต่อไป เมื่อหนังสือพิมพ์เดอะซัน ฉบับเดือนสิงหาคม 2535 ตีพิมพ์บทสนทนาที่ถอดความจากเทปดักฟังทางโทรศัพท์ระหว่างเจ้าหญิงไดอานากับเจมส์ กิลบี้ เรื่องราวนี้ถูกเรียกว่า "Squidgygate–สควิดจี้เกต" ซึ่งคำว่า สคิวดจี้นี้เป็นชื่อเล่นที่กิลบี้ใช้เรียกไดอานาอย่างสนิทสนม อีก 3 เดือนต่อมาเทปบันทึกการสนทนาความสัมพันธ์ลึกซึ้งทางโทรศัพท์ระหว่างเจ้าชายชาลส์กับนางคามิลลาถูกตีพิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์ทูเดย์และเดอะมิเรอร์ กลายเป็นคดี "คามิลลา–Camillagate"
ในช่วงปี 2537 มีข่าวลือว่าเจ้าหญิงไดอานามีความสัมพันธ์ลึกซึ้งกับอดีตครูสอนขี่ม้า เจมส์ ฮิววิตต์ และเรื่องนี้ถูกบอกเล่าจากปากของฮิววิตต์และนำมาตีพิมพ์ลงในหนังสือ Princess in love เมื่อปี 2537 แต่ในการสัมภาษณ์ผ่านรายการพาโนรามาในปี 2538 ไดอานากล่าวถึงผู้เขียนหนังสือเล่มนี้กว่า "แต่งเติมเรื่องขึ้นเอง"[ต้องการอ้างอิง]
ธันวาคม 2535 จอห์น เมเจอร์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษแถลงที่สภาคอมมอนส์ เรื่องการแยกกันอยู่ระหว่างเจ้าชายและเจ้าหญิงแห่งเวลส์ ในเดือมกราคม 2536 บทถอดความจากบทสนทนาทางโทรศัพท์ฉบับเต็มจากคดี "คามิลลาเกต" ถูกตีพิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์ทุกสำนักในอังกฤษ
เจ้าชายชาลส์ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการโทรทัศน์กับโจนาธาน ดัมเบิลบลีเมื่อ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2537 และทรงยอมรับถึงสัมพันธ์รักระหว่างพระองค์กับนางคามิลลาจริง แต่พระองค์กลับไปคบหาเธอเพียงครั้งเดียวเท่านั้นในปี 2529 หลังชีวิตสมรสของพระองค์กับเจ้าหญิงไดอานาพังทลาย
ตลอดชีวิตของไดอานา เธอยืนกรานว่าคามิลลา เป็นตัวการที่ทำให้ชีวิตคู่ของพระองค์ล่มสลาย นอกจากนี้พระองค์ยังสังเกตข้อพิรุธหลายอย่างบ่งชี้พระสวามีไปมีความสัมพันธ์กับหญิงรายอื่น จากจดหมายส่วนตัวของเไดอานาที่เขียนถึงพระสหาย ใจความว่า "ชาลส์กำลังไปติดพันหญิงอีกคน เธอคือ ทิกก์ เล็จจ์-เบิร์ก และต้องการสมรสใหม่กับคนนี้" เล็จจ์-เบิร์กคือพี่เลี้ยงที่เจ้าชายชาลส์ทรงจ้างมาดูแลพระโอรสเมื่อเสด็จประทับในสก็อตแลนด์ ทันทีที่รับทราบว่าพระสวามีจ้างหญิงพี่เลี้ยงคนดังกล่าว ไดอานาก็ยิ่งทรงรู้สึกหงุดหงิดใจเป็นอย่างมาก
ไดอานาทรงประทานสัมภาษณ์ผ่านรายการพาโนรามาทางสถานีโทรทัศน์ BBC โดยมีนายมาร์ติน บาเชียร์ เป็นพิธีกร และเทปการสัมภาษณ์ถูกนำออกอากาศในวันที่ 20 พฤศจิกายน 2538 ในการให้สัมภาษณ์ไดอานาพูดถึงเจมส์ ฮิววิตต์ ว่า "ใช่ ฉันรักเขา ฉันหลงรักเขา" อ้างถึงคามิลลาในประโยค "มีคนสามคนอยู่ในชีวิตสมรสนี้" เธอพูดถึงตัวเองว่า "ฉันปรารถนาที่จะเป็นราชินีในหัวใจของประชาชน" และพูดถึงความเหมาะสมของเจ้าชายชาลส์ขึ้นครองราชย์ว่า "รู้สึกว่าภารกิจนี้ใหญ่หลวงมากทีเดียว บทบาทใหม่จะมาพร้อมข้อจำกัดหลายอย่างมาให้พระองค์ และตัวฉันเองไม่อาจล่วงรู้พระองค์จะปรับตัวให้เข้ากับตำแหน่ง[ประมุข]ได้อย่างไร"
ธันวาคม 2538 สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 มีพระราชสาส์นไปถึงเจ้าชายและเจ้าหญิงแห่งเวลส์ ทรงแนะนำให้ทั้งสองพระองค์หย่าขาดกันอย่างเป็นทางการ หลังจากไดอานาเปิดเผยชีวิตส่วนตัวอันอย่างหมดเปลือกผ่านรายการโทรทัศน์ และภายหลังที่ไดอานากล่าวหา ทิกก์ เล็จจ์-เบิร์ก ว่าไปทำแท้งเด็กที่เกิดกับเจ้าชายชาลส์ หลังจากที่เล็จจ์-เบิร์กส่งปีเตอร์ คาร์เตอร์ให้มาแสดงความขอโทษต่อไดอานา ซึ่ง 2 วันก่อนความแตก เลขานุการของไดอานา แพทริก เจฟสัน ตัดสินใจลาออกและเขียนโน้ตสั้นทิ้งไว้ว่า "(ไดอานา)พึงพอใจที่สามารถกล่าวหาว่าเล็จจ์-เบิร์กไปรีดเด็กที่เกิดจากชาลส์"20 ธันวาคม 2538 สำนักพระรางวังบักกิงแฮมออกแถลงการณ์เรื่อง สมเด็จพระราชินีส่งพระราชสาส์นถึงเจ้าชายและเจ้าหญิงแห่งเวลส์เพื่อทรงแนะนำให้ทั้งสองหย่าขาดกันอย่างเป็นทางการ โดยมีนายกรัฐมนตรี คณะองคมนตรีอาวุโส และสถานีโทรทัศน์ BBC เป็นผู้สนับสนุนสมเด็จพระราชินีให้ทรงออกมาชี้ขาดเรื่องนี้ หลังได้ปรึกษาหารือมานานกว่าสองสัปดาห์ เจ้าชายชาลส์ตอบตกลงทันที
กุมภาพันธ์ 2539 ไดอานาตอบตกลงหย่าหลังจากได้เจรจากับเจ้าชายชาลส์และตัวแทนของสมเด็จพระราชินี ไดอานาสร้างความข้องใจให้แก่ราชสำนักอีกครั้งเมื่อเธอต้องการให้สำนักพระราชวังบักกิงแฮมออกแถลงการณ์ยอมรับการหย่าขาดจากเจ้าชายและเงื่อนไขอื่นๆ ที่เธอจะได้รับหลังการหย่า โดยหย่าขาดเสร็จสมบูรณ์ในวันที่ 28 สิงหาคม 2539 หลังการหย่า ไดอานาได้รับเงินจำนวน 17 ล้านปอนด์จากอดีตพระสวามี และไม่กี่วันก่อนการหย่าเสร็จสมบูรณ์สำนักพระราชวังได้ประกาศให้ไดอานาพ้นจากสถานะชายาของเจ้าชายแห่งเวลส์ สูญเสียอิสริยศ เจ้าฟ้า (Her Royal Highness) เหลือเพียงแต่พระนาม ไดอานา เจ้าหญิงแห่งเวลส์
อย่างไรก็ดี สำนักพระราชวังบักกิงแฮมยืนยันว่า ไดอานายังถือเป็นสมาชิกของพระราชวงศ์ในฐานะพระมารดาของรัชทายาทแห่งราชบัลลังก์อังกฤษ แม้ว่าจะหย่าขาดจากเจ้าชายแห่งเวลส์ไปแล้วก็ตาม
และในการพิจารณาคดีมรณกรรมของไดอานา สำนักพระราชวังบักกิงแฮมยังคงถือว่าไดอานาเป็นสมาชิกราชวงศ์แม้ว่าสิ้นพระชนม์ชีพไปแล้ว
หลังการหย่าขาดจากเจ้าชายชาลส์ ไดอานาได้รับห้องชุดด้านทิศเหนือของพระราชวังเคนซิงตันเพิ่มเป็นสองชุด ซึ่งครั้งหนึ่งเคยพำนักร่วมกับพระสวามีในปีแรกของการเสกสมรส พระองค์พำนักอยู่ห้องชุดภายในพระราชวังเคนซิงตันตลอดพระชนม์ชีพ
ไดอานาพบรักครั้งใหม่กับศัลยแพทย์ทรวงอก ฮาสนัท ข่าน ที่เจลุม ประเทศปากีสถาน เพื่อนสนิทของเธอเรียกว่า "รักแท้" ความสัมพันธ์ครั้งนี้ถูกปิดเป็นความลับยาวนาน 2 ปี หลังโดนสื่อพาดเปิดโปงสัมพันธ์รักระหว่างพระองค์กับนายแพทย์ผู้นี้
ฮัสนัท ข่านมาจากครอบครัวชาวมุสลิมในปากีสถาน เขาถูกคาดหวังให้แต่งงานกับหญิงมุสลิมที่เหมาะสม แต่ความรักระหว่างฮัสนัทกับไดอานากลับสร้างปัญหามายมายให้แก่เขา รวมทั้งเรื่องศาสนาที่แตกต่างกัน
จากการคำให้การของฮัสนัท ข่าน หนึ่งในพยานคดีมรณกรรมของไดอานา โดยให้การว่า ไดอานาเป็นคนยุติสัมพันธ์ครั้งนี้เอง หลังการลอบพบกันครั้งสุดท้ายเมื่อกลางดืกของคืนวันหนึ่งที่ไฮด์ปาร์กซึ่งเชื่อมต่อกับลานพระราชวังเคนซิงตันในเดือนมิถุนายน 2540[ต้องการอ้างอิง]
เดือนเดียวกันไดอานามีรักครั้งใหม่กับโดดี อัล ฟาเยด ลูกชายของมหาเศรษฐี โมฮัมหมัด อัล ฟาเยด เจ้าของเรือยอทช์ที่พาเธอไปพักผ่อนในฤดูร้อนนั้น ในตอนแรกไดอานามีแผนที่จะพาพระโอรสไปพักร้อนที่เกาะลองส์ไอส์แลนด์ นิวยอร์ก แต่สำนักราชองค์รักษ์ได้ยับยั้งแผนการนี้เสียก่อน และหลังจากที่ทรงตัดสินใจเลื่อนการเดินทางมาที่ประเทศไทยไปเป็นเดือนพฤศจิกายน ไดอานาตอบรับคำเชิญของครอบครัวฟาเยดเพื่อไปร่วมล่องเรือยอชท์ในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ฝรั่งเศสตอนใต้ สำนักงานราชองครักษ์ยินยอมให้ไดอานาร่วมพักร้อนกับครอบครัวนี้เพราะได้แจ้งรายละเอียดการรักษาความปลอดภัยสูงบนเรือยอทช์มายังสำนักงานก่อนแล้ว
หลังจากเรือยอชท์ที่เพิ่งกลับจากล่องทะเลเมดิเตอร์เรเนียนเทียบฝั่งที่ฝรั่งเศส ไดอานาและโดดี ฟาเยด เดินทางต่อไปที่กรุงปารีส เพื่อหยุดพักค้างคืนที่อพาร์ตเมนต์ของโดดีก่อนที่จะกลับลอนดอนในต้นเดือนกันยายน ประมาณเวลาเที่ยงคืนของวันที่ 31 สิงหาคม 2540 ไดอานาและโดดีเดินทางออกจากโรงแรมริทซ์โดยถูกช่างภาพอิสระรุมติดตามเพื่อถ่ายภาพ รถยนต์ที่ทั้งคู่นั่งมาได้เร่งความเร็วเพื่อหลบหนีการไล่ตามของบรรดาช่างภาพ จนมาถึงถนนลอดอุโมงค์ปองต์ เดอ ลัลมา ที่มีความลาดชัน รถเมอร์เซเดส-เบนซ์ที่ขับมาด้วยความเร็วสูง และนายอองรี พอลคนขับไม่สามารถควบคุมรถยนต์ได้เพราะมีอาการมึนเมา รถยนต์จึงพุ่งชนเสาคอนกรีตกลางถนนอย่างจัง และรถถูกหักเลี้ยวอย่างกะทันหัน เพียงไม่กี่นาทีรถเบนซ์ W140 คันงามก็กลายเป็นเศษเหล็กและเกิดควันไฟฟุ้งกระจายจากแรงระเบิด ทำให้นายอองรี ปอลคนขับและนายโดดี ฟาเยดเสียชีวิตทันที ไดอานาได้รับบาดเจ็บสาหัสหลายแห่งภายในทรวงอก และสิ้นพระชนม์ในเวลาต่อมาที่โรงพยาบาลปีเต-ซัลแปร์ติแยร์ ชานกรุงปารีส ในเวลา 3.57 น. โดยแพทย์ได้ทำการช่วยชีวิตจนสุดความสามารถ นายเทรเวอร์ รีส์-โจนส์ องครักษ์ของนายโดดีเป็นผู้รอดชีวิตเพียงคนเดียวจากอุบัติเหตุ
พิธีศพของพระองค์มีขึ้นอย่างเป็นทางการในวันที่ 6 กันยายน 2540 ที่เวสต์มินสเตอร์แอบบีย์ มีผู้รับชมการถ่ายทอดสดพิธีศพผ่านดาวเทียมหลายร้อยล้านคนทั่วโลก[ต้องการอ้างอิง]
ในตอนแรก หน่วยสืบสวนฝรั่งเศสสรุปว่าอุบัติเหตุครั้งนี้เกิดจากความประมาทของนายอองรี ปอล ที่สูญเสียความสามารถในการควบคุมยานพาหนะ พ่อของโดดี นายโมฮัมหมัด อัล ฟาเยด (เจ้ากิจการโรงแรมริทซ์ปารีส นายจ้างของอองรี ปอล) ออกมายืนยันในปี 2542 ว่า อุบัติเหตุครั้งนี้เป็นแผนลอบสังหารเจ้าหญิง ตามคำสั่งของหน่วยข่าวกรอง MI6 แห่งอังกฤษ และพระบัญชาของเจ้าชายฟิลิป ดยุกแห่งเอดินเบอระ
คดีมรณกรรมของไดอานาถูกนำมาไต่สวนใหม่ในศาลอังกฤษอีกครั้งช่วงระหว่างปี 2547–2550 สุดท้ายแล้วคดีนี้ถูกสรุปว่าเป็นผลจากความประมาทที่เห็นได้ชัดจากการขับขี่ของอองรี ปอลที่เร่งความเร็วของรถยนต์เพื่อหลบหนีการไล่ตามของเหล่าช่างภาพ ไม่กี่วันต่อมานายโมฮัมหมัด ฟาเยด ประกาศยุติการต่อสู้คดีมรณกรรมที่ยาวนานกว่า 10 ปี เพราะเห็นแก่พระโอรสทั้งสองของเจ้าหญิงแห่งเวลส์ผู้ล่วงลับ
การจากไปอย่างกะทันหันของเจ้าหญิงแห่งเวลส์ผู้ทรงเสน่ห์สร้างความโศกเศร้าสะเทือนใจไปทั่วโลก บุคคลสำคัญในหลายประเทศได้ส่งสาส์นแสดงความอาลัยมายังสหราชอาณาจักร ลานหน้าพระราชวังเคนซิงตันอันเคยเป็นที่พักของพระองค์ก็คลาคล่ำไปด้วยดอกไม้ เทียน การ์ดแสดงความอาลัย และจดหมายนานหลายเดือน
พิธีศพของไดอานาถูกจัดขึ้นที่วิหารเวสต์มินสเตอร์ในวันที่ 6 กันยายน 2540 ซึ่งก่อนหน้านี่ไม่กี่วัน สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ได้มีพระราชดำรัสแสดงความเสียพระราชหฤทัยจากไปของไดอานาที่ถ่ายทอดสดจากพระราชวังบักกิงแฮม
พระโอรสทั้งสองของเจ้าหญิงไดอานา เจ้าชายวิลเลียมและเจ้าชายเฮนรี่ ได้ร่วมเสด็จตามขบวนพระศพของพระมารดา พร้อมด้วยเจ้าชายชาลส์ เจ้าชายฟิลิป ดยุกแห่งเอดินเบอระและชาลส์ สเปนเซอร์ เอิร์ลสเปนเซอร์ที่ 9 พระอนุชา และเซอร์เอลตัน จอห์น ได้ร้องเพลง Candle in the Wind เพื่อบรรเลงถวายอาลัยในช่วงหนึ่งของงานพระศพ
หลังไดอาน่าเสียชีวิตไปแล้ว ได้มีการเปิดพินัยกรรมในวันที่ 2 มีนาคม ปีถัดมา ซึ่งสาระสำคัญของพินัยกรรมมีดังนี้
ผู้พิทักษ์ของไดอาน่ามีทรัพย์สินรวมมูลค่าทั้งหมดประมาณ 35,600,000 ดอลลาร์ ซึ่งหลังจากจ่ายภาษีแล้วจะเหลือประมาณ 21,300,000 ดอลลาร์ พระองค์โปรดให้แบ่งทรัพย์สินประทานให้แก่ลูกเลี้ยงของพระองค์ทั้ง 17 คนก่อน คนละ 82,000 ดอลลาร์ และให้นายพอล เบอร์เรล มหาดเล็กต้นห้องของพระองค์ 80,000 ดอลลาร์ ทรัพย์ที่เหลือนั้น ให้เก็บรักษาไว้จนกว่าเจ้าชายแฮร์รี่จะมีพระชนม์ 25 พรรษา (และหากว่าทรัสต์มีผลกำไรงอกเงยขึ้นมา) ให้แบ่ง(ทั้งเงินต้นและกำไรของผู้พิทักษ์) เป็นสองส่วนเท่าๆ กัน ประทานแก่พระโอรสทั้งสอง[ต้องการอ้างอิง]
ทั้งนี้พระโอรสทั้งสองพระองค์ และลูกทูนหัวทั้ง 17 คน จะต้องมีชีวิตอยู่หลังจากพระองค์เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 3 เดือนจึงจะได้สิทธิ์รับมรดกตามที่ระบุในพินัยกรรม
ทันที่มีการรายงานข่าวการเสียชีวิตของไดอานา ทั่วทุกมุมโลกต่างแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์นี้ ในที่สาธารณะ ประชาชนนำช่อดอกไม้และสิ่งของอื่นๆ เพื่อไว้อาลัยไปวางไว้ที่หน้าพระราชวังเคนซิงตันที่ถูกกองดอกไม้ขนาดมหึมาล้อมรอบ ก่อสร้างอนุสรณ์สถานถาวรเพิ่มเติมอีกหลายแห่ง ดังนี้
นอกจากนี้ยังมีอีก 2 อนุสรณ์ที่ไม่เป็นทางการที่ตั้งอยู่ภายในห้างสรรพสินค้าแฮร์รอดส์ ซึ่งนายโมฮัมหมัด ฟาเยดเป็นเจ้าของ ชิ้นแรกคือรูปถ่ายของไดอานากับโดดีตั้งอยู่เบื้องหลัง ทรงปิรามิดที่บรรจุแก้วไวน์เปื้อนลิปสติกของไดอานาในระหว่างอาหารมื้อเย็นมื้อสุดท้ายและแหวนที่นายโดดีเพิ่งซื้อให้เจ้าหญิงเมื่อไม่นานก่อนที่จะเสียชีวิต และอีกชิ้นถูกจัดโชว์ในปี 2548 เป็นรูปหล่อทองแดงของนายโดดีที่กำลังเต้นรำกับไดอานาบนชายหาดภายใต้ปีกของนกอัลบาทรอส ใต้ฐานของรูปหล่อมีป้ายจารึกไว้ว่า "Innocent Victim" (เหยื่อผู้บริสุทธิ์) และยังมีอนุสรณ์ที่ไม่เป็นทางการในนครปารีสที่ปลาซ เดอ ลัลมา เป็นที่รู้จักในชื่อ เปลวไฟแห่งเสรีภาพ ถูกนำมาติดตั้งในปี 2542
ตั้งแต่เสียชีวิตไป ชื่อของไดอานาปรากฏอยู่ในผลงานศิลปะมากมายที่อ้างอิงถึงแผนการลอบสังหาร ความเห็นใจต่อชีวิตของไดอานาและการตกเป็นเหยื่อผู้เคราะห์ร้าย
กรกฎาคม 2540 เทรซี่ย์ เอมิน สร้างสรรค์ผลงานภาพพิมพ์ขาวดำที่อิงกับชีวิตจริงของไดอานา ในชุดผลงาน Temple of Diana จัดแสดงในเดอะบลูแกลเลอรี่ที่ลอนดอน เช่นผลงาน They want you to be destroyed (2538) เป็นผลงานที่กล่าวถึงอาการป่วยด้วยโรคบูลิเมียของไดอานา เอมินยืนยันว่า ผลงานภาพศิลปะของเธอนั่นชวนให้รู้สึกสะเทือนอารมณ์และไม่ได้เป็นการเสียดสีพระองค์แต่อย่างใด
ในปี 2548 ผลงานภาพยนตร์ของมาร์ติน ซาสเตรอ Diana : The Rose Conspiracy ถูกฉายในงานเทศกาลหนังเมืองเวนิส เป็นเรื่องที่แต่งขึ้นว่าชาวโลกได้ค้นพบไดอานายังมีชีวิตอยู่และสนุกสนานกับชีวิตใหม่ที่ถูกปิดเป็นความลับในสลัมชานมอนเตวิเดโอ ซึ่งถ่ายทำที่ชุมชนแออัดอุรุกวัยสถานที่จริง และได้นักแสดงที่เป็นเจ้าหญิงไดอานาตัวปลอมจากเซาเปาโล ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้ถูกคัดเลือกให้เป็นผลงานภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากสมาคมนักวิจารณ์ศิลปะอิตาลี
ในปี 2550 มีการจัดแสดงผลงานทางศิลปะของสเตลลา ไวน์ ถือเป็นการแสดงผลงานเดี่ยวครั้งแรกในโมเดิร์นอาร์ตอ็อกฟอร์ดแกลเลอรี่ โดยเป็นงานศิลปะที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับแผนลอบปลงพระชนม์ไดอานา ซึ่งศิลปินได้ผสมผสานความเข้มแข็งและความอ่อนแอในบุคลิกของไดอานา รวมทั้งความผูกพันใกล้ชิดกับพระโอรส ในชื่อ Diana Branches, Diana Family Picnic, Diana Veil, & Diana Pram
นับตั้งแต่ประกาศหมั้นกับเจ้าชายแห่งเวลส์เมื่อ 29 กรกฎาคม 2524 จนกระทั่งทรงประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตในเดือนสิงหาคมปี 2540 ไดอานากลายเป็นบุคคลสำคัญของโลกและถูกระบุว่ากลายเป็นสตรีที่ถูกถ่ายรูปมากที่สุดในโลก พระองค์เป็นที่จดจำจากสไตล์การแต่งตัว ความสามารถพิเศษในการช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยากอย่างไม่เสแสร้ง แต่ทรงแสดงออกมาจากใจจริง และความทุ่มเทในงานด้านการกุศล และชีวิตสมรสของพระองค์ที่เป็นเหมือนฝันร้าย
เชื่อกันว่าไดอานาเป็นแหล่งข้อมูลสำคัญของแอนดริว มอร์ตันเพื่อใช้ในการเขียนหนังสือ Diana: Her True Story ที่ตีแผ่เรื่องราวส่วนพระองค์ที่ทรงไม่เป็นที่พึงปรารถนาจากราชวงศ์วินด์เซอร์ และความกดดันในชีวิตสมรสของเจ้าหญิง ในหนังสือเล่มนี้อ้างว่าไดอานาพยายามทำร้ายตัวเอง ด้วยการกระโดดจากบันไดในพระราชวังเพราะเจ้าชายชาลส์หนีพระองค์ไปขี่ม้าและไม่ให้สนใจอยู่เคียงข้างเธอ ทิน่า บราวน์ ให้ความเห็นว่าเหตุการณ์นี้ไม่ใช่การพยายามฆ่าตัวตาย ไดอานาคงไม่มีเจตนาที่จะทำอันตรายกับพระกุมารในครรภ์ และมีราชองครักษ์คนหนึ่งกล่าวว่า ไดอานาเพียงแค่ลื่นล้มโดยอุบัติเหตุ และผู้แวดล้อมในเหตุการณ์ดังกล่าวก็ยืนยันว่าเป็นเพียงอุบัติเหตุ
นักประวัติศาสตร์ราชวงศ์ ซาราห์ แบรดฟอร์ดให้ความเห็นว่า วิธีการเดียวที่จะช่วยเยียวยาความทุกข์ทรมานของไดอานาคือ ความรักจากเจ้าชายชาลส์ที่ไดอานาโหยหาแต่ทรงกลับถูกปฏิเสธอยู่ตลอดเวลา พระองค์ทอดทิ้งเธอ หาวิธีการต่างๆ มาทำให้ตัวพระชายารู้สึกไม่มีคุณค่าพอ พระองค์เย็นชาต่อไดอานา บั่นทอนทั้งกำลังใจและสุขภาพของเจ้าหญิงให้อ่อนแอ ความเห็นเช่นนี้คล้ายกับบทสนทนาหนึ่งที่ไดอานาเคยกล่าวถึงพระสวามีว่า "พระองค์มักทำให้ฉันรู้สึก[ดี]ไม่พอในทุกๆ ทางเท่าที่จะทำได้ เมื่อฉันกำลังรู้สึกดี แต่อีกเดี๋ยวเขาก็ทำให้ฉันหดหู่ใจอีก"
ไดอานาทรงยอมรับว่าได้เผชิญกับความกดดันหลายอย่าง เช่น การทำร้ายตัวเอง อาการของโรคบูลิเมียที่กำเริบอยู่บ่อยๆ ตลอดช่วงวัยผู้ใหญ่ของเธอ เมื่อยังเด็กไดอานาได้รับผลกระทบจากความรุนแรงในครอบครัวจากพ่อแม่ เช่น การมีปากเสียงกันอย่างรุนแรงบ่อยครั้งจนถึงการหย่าร้าง เธอและน้องชายไม่เคยได้รับความรักความอบอุ่นจากพ่อแม่ แต่ถูกเลี้ยงโดยพี่เลี้ยง ทำให้เป็นปมในวัยผู้ใหญ่ที่ทั้งสองคนพี่น้องอยากเลี้ยงลูกเองมากกว่า และไม่ต้องการจ้างพี่เลี้ยงเหมือนกับที่พ่อแม่เคยทำ นอกจากนี้ไดอานาไม่ชอบพูดความจริง นักจิตวิทยาระบุว่าเป็นผลมาจากวัยเด็กที่จิตใจบอบช้ำจากครอบครัว และส่งผลเสียทำให้พระองค์มีอาการบุคลิกสองขั้ว
ปี 2550 ทิน่า บราวน์ เขียนหนังสือประวัติของไดอานา โดยมีเนื้อหาส่วนหนึ่งกล่าวถึงพระองค์ว่า "หมกมุ่นและสุรุ่ยสุร่ายกับการซื้อสิ่งของราคาแพงจนควบคุมตัวเองไม่ได้ ไดอานาถูกลวงตาด้วยภาพลักษณ์ในสังคมจนขาดสติ จากการกระทำเสื่อมทรายของสื่อเจ้าเล่ห์แกมโกง และสื่อมวลชนติดตามชีวิตเธอมากจนเธอไม่เหลือความเป็นส่วนตัว" บราวน์ให้ความเห็นอีกด้วยว่า "เจ้าชายชาลส์ อภิเสกสมรสกับไดอานาเพื่อผลประโยชน์ของพระองค์เอง ไดอานาหลงรักโดดี ฟาเยดนั้น ยั่วยุให้ราชสำนักโกรธเกรี้ยว เหตุผลที่เธอทำเช่นนั้น อาจเป็นเพราะว่าเธอต้องการแก้แค้นกับเหตุการณ์เลวร้ายที่เธอทนทรมานภายในวัง แต่เป็นไปได้ยากที่ไดอานาจะเข้าพิธีสมรสใหม่กับชายมุสลิมคนนี้"
สำหรับพระนามและพระอิสริยยศเต็มๆ ของพระองค์นับตั้งแต่พระราชพิธีอภิเษกสมรสกับเจ้าชายชาลส์จนถึงการหย่าร้าง คือ
หลังจากสิ้นพระชนม์ ประชาชนทั่วไปยังคงนิยมเรียกพระองค์ว่า "เจ้าหญิงไดอานา" ซึ่งเป็นอิสริยศที่พระองค์ไม่เคยได้รับหลังจากการหย่าร้าง ส่วนสื่อมวลชนนิยมเรียกพระองค์ว่า "เลดี้ไดอานา สเปนเซอร์" หรือ "เลดี้ได" (ตามธรรมเนียมของชาวตะวันตกนั้น นิยมกล่าวชื่อของสตรีที่เสียชีวิตด้วย ชื่อและสกุลเดิมก่อนแต่งงาน) และฉายา "เจ้าหญิงของประชาชน" ที่นายโทนี่ แบลร์ อ้างถีงพระองค์ระหว่างการกล่าวคำไว้อาลัยในพิธีพระศพของไดอานา
ไดอานามีเชื้อสายของพระเจ้าชาลส์ที่ 2 จากบรรพบุรุษทางฝ่ายพ่อ ผ่านโอรสนอกสมรสทั้ง 4 คน ดังนี้[ต้องการอ้างอิง]
นอกจากนี้แล้ว เธอยังสืบเชื้อสายจากพระเจ้าเจมส์ที่ 2 กับชายาลับ อราเบลลา เชอร์ชิล ผ่านทางธิดานอกสมรส เฮ็นริเอ็ตต้า ฟิทซ์เจมส์[ต้องการอ้างอิง] ตระกูลฝ่ายมารดาของไดอานามีเชื้อสายอังกฤษ-ไอริช
ตระกูลสเปนเซอร์นั้นถือว่าเป็นตระกูลขุนนางชั้นสูงที่มีความใกล้ชิดกับราชวงศ์มายาวนานหลายศตวรรษ และเคยรับใช้เบื้องพระยุคลบาทมาตั้งแต่คริสตวรรษที่ 17 ยายของไดอานา รูธ ร็อฌ บารอนเนสเฟอร์มอยเป็นพระสหายและนางสนองพระโอษฐ์ของสมเด็จพระราชชนนีเอลิซาเบธ โบวส์ ลีออน และพ่อของไดอานายังเคยเป็นทหารองครักษ์ของพระเจ้าจอร์จที่ 6 และสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 มาก่อน