เจ้าหญิงชาร์ลอตแห่งเบลเยียม (ภาษาอังกฤษ: Princess Charlotte of Belgium, ภาษาเยอรมัน: Prinzessin Charlotte von Belgien) (พระนามเต็ม: มารี ชาร์ลอต อเมลี่ ออกัสตีน วิคโตร์ คลีเมนตีน ลีโอโพลดีน, Marie Charlotte Am?lie Augustine Victoire Cl?mentine L?opoldine von Habsburg-Lorraine (de Saxe-Coburg and Gotha)) ทรงเป็นเจ้าหญิงแห่งเบลเยียม และสมเด็จพระจักรพรรดินีมเหสีในสมเด็จพระจักรพรรดิแม็กซีมีเลียนที่ 1 แห่งเม็กซิโกอีกด้วย
เจ้าหญิงชาร์ลอต ประสูติเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2383 ณ พระราชวังลาเค็น กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม เป็นพระราชธิดาเพียงพระองค์เดียวในสมเด็จพระราชาธิบดีลีโอโพลด์ที่ 1 แห่งเบลเยียม และพระมเหสีองค์ที่ 2 ของพระองค์ เจ้าหญิงหลุยส์-มารีแห่งฝรั่งเศส พระองค์ทรงได้พระราชทานพระนามจากพระบิดา โดยนำพระนามจากพระมเหสีพระองค์แรกของพระองค์ เจ้าหญิงชาร์ลอต ออกัสต้าแห่งเวลส์ (พระราชธิดาในสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 4 แห่งสหราชอาณาจักร) ที่ทรงสิ้นพระชนม์กะทันหัน พระองค์เป็นพระญาติกับสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียแห่งสหราชอาณาจักร และเจ้าฟ้าชายอัลเบิร์ต เจ้าชายพระราชสวามีในสมเด็จพระราชินีนาถวิคตอเรียอีกด้วย
เมื่อทรงพระเยาว์ พระองค์ทรงมีความสนิทสนมกับสมเด็จพระอัยกีของพระองค์ เจ้าหญิงมาเรีย อมาเลียแห่งทู ซิชิลีส์ ซึ่งเป็นสมเด็จพระราชินีแห่งฝรั่งเศส พระมเหสีในสมเด็จพระเจ้าหลุยส์ ฟิลิปป์ที่ 1 แห่งฝรั่งเศส เมื่อทรงทุกข์ หรือทุกข์พระทัยอันใด ก็เสด็จพระราชดำเนินไปหาสมเด็จพระอัยกีอยู่เสมอ
เมื่อพระองค์ทรงเจริญพระชันษา 10 ชันษา สมเด็จพระราชินีหลุยส์-มารีทรงสิ้นพระชนม์กะทันหันด้วยโรควัณโรค สมเด็จพระราชาธิบดีลีโอโพลด์จึงทรงนำพระองค์ไปฝากเลี้ยงกับท่านเค้านท์เตสแห่งเฮาสต์ ซึ่งเป็นพระสหายสนิทของสมเด็จพระราชบิดา และ 1 ปีต่อมา พระองค์ก็ทรงย้ายมาประทับที่พระตำหนักแคลร์มอนต์ เซอร์เรย์ สหราชอาณาจักร พระองค์ทรงย้ายมาประทับกับสมเด็จพระราชินีมาเรีย อมาเลีย พระอัยกี ซึ่งขณะนั้น พระราชวงศ์ฝรั่งเศสทรงอยู่ในการลี้ภัย เนื่องจากมีการปฏิวัติ รัฐประหารปฏิรูปการปกครอง
เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2400 ขณะนั้นมีพระชันษาเพียง 17 ชันษา พระองค์ทรงอภิเษกสมรสกับอาร์คดยุคเฟอร์ดินานด์ แม็กซีมีเลียนแห่งออสเตรีย พระอนุชาในสมเด็จพระจักรพรรดิฟรานซ์ โจเซฟ หลังจากการอภิเษกสมรสแล้ว พระองค์ก็ทรงได้รับการสถาปนาเป็น อาร์คดัชเชสแห่งออสเตรีย และด้วยความที่เป็นพระชายาของอาร์คดยุคเฟอร์ดินานด์ แม็กซีมีเลียน พระองค์จึงทรงเป็นที่พึงพอพระทัยของอาร์คดัชเชสโซฟี พระสัสสุเป็นอย่างยิ่ง โดยเมื่อทรงมีเวลาว่าง อาร์คดัชเชสโซฟีจะทรงเรียกพระองค์ไปเข้าเฝ้าเสมอ นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงไม่ชอบสมเด็จพระจักรพรรดินีเอลิซาเบธ พระมเหสีในสมเด็จพระจักรพรรดิฟรานซ์ โจเซฟเป็นอย่างยิ่ง เหตุผลเนื่องจากที่สมเด็จพระจักรพรรดินีทรงมีความสนิทสนมกับพระสวามีของพระองค์มากเกินไป และนอกจากนี้พระองค์ยังทรงเห็นว่า สมเด็จพระจักรพรรดินีมีพระพักตร์สิริโฉมงดงามกว่าพระองค์ ต่อมา พระองค์และพระสวามีทรงย้ายที่ประทับไปอยู่ที่ประเทศอิตาลี เพราะเนื่องจากพระสวามีทรงได้รับการแต่งตั้งเป็นอุปราชแห่งราชอาณาจักรลอมบาร์ดีและเวเนเทีย ซึ่งขณะนั้นเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิออสเตรีย
ในช่วงปีพ.ศ. 2403 สมเด็จพระจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 แห่งฝรั่งเศส ได้เข้าไปรุกรานเม็กซิโก เป็นเหตุให้มีการแทรกแซงระบอบการเมืองการปกครองของเม็กซิโก ฝรั่งเศสได้ทีอยากฟื้นฟูระบอบจักรวรรดินิยมเสียใหม่ แทนที่พระองค์จะทรงปกครองเม็กซิโกเอง กลับทรงมอบราชบัลลังก์อิมพีเรียลเม็กซิโกให้กับอาร์คดยุคเฟอร์ดินานด์ แม็กซีมีเลียน พระองค์และพระชายาจึงเสด็จพระราชดำเนินไปยังประเทศเม็กซิโก โดยทรงเถลิงวัลย์ราชสมบัติเป็นสมเด็จพระจักรพรรดิแห่งเม็กซิโก ส่วนอาร์คดัชเชสชอร์ลอต ก็ทรงได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระจักรพรรดินีแห่งเม็กซิโก โดยทรงใช้พระนามของพระองค์เป็นภาษาสเปนว่า คาร์ลอต้า (Carlota) และนอกจากนี้ พระองค์และพระสวามีของพระองค์ทรงย้ายที่ประทับมาที่ปราสาทชาพัลเตเพ็ค ชานกรุงเม็กซิโก ซิตี้อีกด้วย
เพียงไม่กี่เดือน หลังจากได้ทรงครองราชย์ สมเด็จพระจักรพรรดิแม็กซีมีเลียน และสมเด็จพระจักรพรรดินโปเลียนทรงตกลงกันถอนกำลังออกจากเม็กซิโก ทำให้นักสาธารณรัฐนิยมได้ที ทำการก่อปฏิวัติ รัฐประการปฏิรูปการเมืองการปกครองทันที การก่อรัฐประหารครั้งนี้ มีประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นผู้สนับสนุน โดยส่งหน่วยรบปิดกั้นทางเข้าประเทศ ทำให้กองทัพฝรั่งเศส ซึ่งเข้ามาช่วยเหลือ ไม่สามารถเข้าไปได้ เป็นเหตุทำให้สมเด็จพระจักรพรรดิแม็กซีมีเลียนทรงถูกจับกุม ส่วนตัวพระองค์เองทรงหลบหนีรอดไปได้ โดยก่อนหน้านั้น พระสวามีทรงให้พระองค์หลบหนีออกไปก่อนพร้อมด้วยผู้ติดตาม โดยพระองค์ทรงอพยพกลับไปยังยุโรป และไม่เสด็จพระราชดำเนินกลับเม็กซิโกอีกเลย
เบนิโต ยัวเรซ แกนนำกลุ่มปฏิวัติ (ภายหลังดำรงตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีแห่งเม็กซิโก) ได้ให้ศาลตัดสินประหารชีวิตสมเด็จพระจักรพรรดิแม็กซีมีเลียน เป็นเหตุให้ต้องล้มล้างจักรวรรดิเม็กซิโกที่ 2 ตั้งแต่บัดนั้น ส่วนสมเด็จพระจักรพรรดินีคาร์ลอต้า เจ้าฟ้าชายฟิลลิปป์แห่งเบลเยียม เค้านท์แห่งแฟลนเดอร์ส พระเชษฐาทรงส่งกองทัพบกไปรับพระองค์กลับมาที่ประเทศเบลเยียม มาตุภูมิ พระองค์จึงทรงประทับอยู่ที่ปราสาทโบรชเอาต์ เมืองเมยส์ ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 เบลเยียมได้ถูกล้อมโดยกองทัพของเยอรมนี แต่ปราสาทโบรชเอาต์ที่พระองค์ทรงประทับอยู่ไม่ถูกล้อม และกองทัพเยอรมันไม่กล้ารุกล้ำเขตพระราชฐานได้ เพราะเนื่องจากออสเตรียได้ขอยกเว้นไว้ เพราะพระองค์เป็นพระบรมวงศานุวงศ์ออสเตรียเช่นกัน
ในช่วงเวลาสุดท้ายของพระชนม์ชีพของพระองค์นั้น พระองค์ทรงเริ่มมีพระอาการประชวร ซึ่งสาเหตุเกิดจากการที่พระองค์ทรงหวาดระแวง โดยพระองค์ยังทรงรอการกลับมาของพระราชสวามี โดยพระองค์ยังทรงไม่รู้ว่าพระราชสวามีถูกประหารชีวิตแล้ว โดยทรงหวังว่า พระราชสวามีจะต้องทรงกลับมาหาพระองค์ ซึ่งระหว่างการรอคอยนั้น พระองค์ทรงอยู่กับตุ๊กตาคู่พระทัยของพระองค์ โดยพระองค์ตั้งชื่อว่า แม็กซ์ โดยทรงถือว่าตุ๊กตาเป็นตัวแทนของพระสวามีของพระองค์
สมเด็จพระจักรพรรดินีชาร์ลอตทรงสิ้นพระชนม์ เมื่อวันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2470 สิริพระชนมพรรษาได้ 86 พรรษา
อ่านบทความฉบับสมบูรณ์ได้ที่ http://th.wikipedia.org/wiki/เจ้าหญิงชาร์ลอตแห่งเบลเยียม