เจ้าหลวงสุริยะจางวาง เจ้าผู้ครองนครลำปาง องค์ที่ 11 ในระหว่างปี พ.ศ. 2430 ถึงปี พ.ศ. 2436 แต่ในเอกสารทางประวัติศาสตร์ของสยาม ไม่ได้กล่าวถึงเจ้าสุริยะจางวางเลยแม้แต่น้อย
เจ้าสุริยะจางวาง มีพระนามเดิมว่า "เจ้าคำป้อ" เป็นราชบุตรของเจ้าวรญาณรังษี กับแม่เจ้าสุวันไล ณ ลำปาง ได้ครองนครลำปางสืบต่อจากเจ้าหลวงพรหมาภิพงษธาดา เมื่อคราวที่เจ้าหลวงพรหมาภิพงษธาดา ชราภาพตั้งแต่ปี พ.ศ. 2425 เป็นต้นมา จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2429 เจ้าหลวงพรหมาภิพงษธาดา ถึงแก่พิราลัย เจ้าสุริยะจึงได้เป็นผู้รักษาราชการเมืองนครลำปาง โดยในเอกสารบันทึกของครูบาอาโนธรรมชัย วัดปงสนุก ได้กล่าวไว้ในบันทึกประวัติวัดปงสนุกเหนือว่า "ในปี พ.ศ. 2430 ได้มีการบูรณะปฏิสังขรณ์วัดปงสนุกเหนือครั้งใหญ่ มีโยอุปัฐากคือ พระองค์ตนเป็นเจ้าหลวงสุริยะจางวาง และ พระองค์ตนเป็นเจ้านรนันท์ชัยชวลิต
แต่ในขณะนั้นรัฐบาลทางกรุงเทพฯ พยายามที่จะปลดเจ้าสุริยะจางวาง ออกจากการเป็นเจ้าผู้ครองนครลำปาง แต่ทว่าเจ้าสุริยะไม่ยอมรับอำนาจการจัดการของรัฐบาลกรุงเทพ และยึดถือตราประจำตำแหน่งไว้ครอบครอง
กระนั้นรัฐบาลทางกรุงเทพ ก็พยายามสนับสนุนเจ้าอุปราช (นรนันท์ไชย) ให้เป็นเจ้าหลวงอีกพระองค์หนึ่งในเวลาเดียวกัน นับได้ว่าช่วงเวลาดังกล่าวนครลำปาง มีเจ้าหลวง 2 พระองค์ แต่ในบางตำราประวัติศาสตร์กล่าวว่าเจ้าหลวงสุริยะ ลาออกจากตำแหน่งเจ้าผู้ครองนครลำปางในปี พ.ศ. 2430
ครั้นเมื่อปี พ.ศ. 2436 รัฐบาลได้ส่งพระยาทรงสุรเดชขึ้นมาเป็นข้าหลวงมณฑลลาวเฉียง และพระยาทรงสุรเดช ได้เจรจากับเจ้าสุริยะจางวางจนสำเร็จและยอมสละอำนาจดังกล่าว และกับการได้รับเงินปี 3,000-4,000 รูปี