เจ้าศรีอโนชา หรือ เจ้ารจจา (บ้างออกนามว่า เจ้าศิริรดจา, เจ้าศิริรจนา หรือเจ้าสัจา) พระอัครชายาในสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทแห่งราชวงศ์จักรี และพระขนิษฐาในพระเจ้ากาวิละ เจ้าศรีอโนชาทรงมีบทบาทในการปราบพระยาสรรค์ในช่วงเหตุการณ์ความไม่สงบในตอนปลายสมัยกรุงธนบุรี ถือเป็นเจ้านายฝ่ายในจากเมืองเหนือที่มีบทบาทในการเชื่อมสัมพันธภาพระหว่างราชวงศ์จักรีกับราชวงศ์ทิพย์จักร
เจ้าศรีอโนชา หรือ เจ้ารจจา ประสูติเมื่อจุลศักราช 1112 ปีมะเมียโทศก (พ.ศ. 2293) ในช่วงกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย เป็นพระราชธิดาพระองค์ที่ 4 ในเจ้าฟ้าสิงหราชธานี เจ้าฟ้าหลวงชายแก้ว ผู้ครองนครลำปาง กับแม่เจ้าจันทาราชเทวี และเป็นพระราชนัดดาในพระยาไชยสงคราม (ทิพย์ช้าง) กับแม่เจ้าพิมพาราชเทวี ซึ่งเป็นองค์ปฐมวงศ์แห่งราชวงศ์ทิพย์จักร
มีพระภราดาพระภคินีรวม 10 พระองค์ ได้แก่ พระเจ้ากาวิละ พระยาคำโสม พระยาธรรมลังกา พระเจ้าดวงทิพย์ เจ้าสรีวัณณา พระยาอุปราชหมูล่า พระยาคำฟั่น เจ้าสรีบุญทัน และพระเจ้าบุญมา
พ.ศ. 2317 ภายหลังจากขับไล่พม่าออกจากล้านนา ระหว่างที่พระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จฯกลับกรุงธนบุรี เมื่อถึงเมืองลำปาง พระยากาวิละ เจ้านครลำปาง ได้ถวายพระนัดดานารี (หลานสาว) เป็นบาทบริจาผู้หนึ่ง พระเจ้ากรุงธนบุรีจึงโปรดเกล้าฯ ให้ตามเสด็จด้วย เพื่อหวังให้เกิดสายสัมพันธ์ที่เพิ่มพูนความชอบและอำนาจแก่ราชวงศ์ทิพย์จักรในภายหลัง แต่พระนัดดานารีพระองค์นั้นเองกลับไม่พบว่ามีบทบาทอะไร ขณะเดียวกันนั้นเอง เจ้ารจจา เจ้าขนิษฐาในพระยากาวิละ ได้เป็นภริยาในเจ้าพระยาสุรสีห์พิษณุวาธิราช (บุญมา) ในคราวเดียวกันนั้นเอง มีธิดาเพียงคนเดียวชื่อ "พิกุลทอง"
ต่อมาเมื่อมีการเปลี่ยนแผ่นดิน เจ้าพระยาสุรสีห์พิษณุวาธิราช ผู้ภัสดา ได้รับโปรดเกล้าฯสถาปนาเป็น กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ในการนี้ พระเจ้าอยู่หัวได้สถาปนาคุณพิกุลทอง ขึ้นเป็นสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้าพิกุลทอง กรมขุนศรีสุนทร
เจ้าศรีอโนชาได้ช่วยพระยาสุริยอภัยปราบพระยาสรรค์ช่วงเกิดความไม่สงบในปลายสมัยกรุงธนบุรี ขณะที่เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก และเจ้าพระยาสุรสีห์ฯ ยกทัพไปสู้รบกับเขมรปี พ.ศ. 2324 ในการปราบพระยาสรรค์ เจ้าศรีอโนชาได้เกณฑ์ชาวลาวที่ปากเพรียว สระบุรี เข้าผสมกับกองกำลังของพระยาสุริยอภัยจากนครราชสีมา รวมประมาณ 1,000 คน ยกเข้ามาต่อสู้กับฝ่ายพระยาสรรค์ที่ธนบุรี การปะทะกันครั้งแรกฝ่ายพระยาสุริยอภัยได้เพลี่ยงพล้ำ เจ้าศรีอโนชาจึงบัญชากองทัพเรือชาวมอญเข้าช่วยตีขนาบจนฝ่ายพระยาสรรค์พ่ายแพ้ และในตำนานเจ้าเจ็ดตนเองก็กล่าวถึงบทบาทของเจ้าศรีอโนชาว่า "เจ้าครอกศรีอโนชาหงายเมืองได้ไว้แล้ว ก็ใช้ไปเชิญเอาเจ้าพระยาจักรี พระยาสุรสีห์ 2 องค์พี่น้องเข้ามาผ่านพิภพขึ้นเสวยราชย์ เจ้าพระยาจักรีเป็นพี่กษัตริย์องค์หลวง... พระยาสุรสีห์ คนน้องปรากฏว่า ล้นเกล้าล้นกระหม่อมกรมพระราชวังบวรสถานมงคลวังหน้า"
ในการนี้เจ้าศรีอโนชาเองก็ได้รับความชอบไม่น้อย ซึ่งเพิ่มพูนอำนาจและความไว้วางใจต่อราชวงศ์เจ้าเจ็ดตน และหลังจากการทราบข่าวการปราบดาภิเษกของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระเจ้ากาวิละได้นำเจ้านายพี่น้องลงมาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก "ทรงพระกรุณาเป็นอันมาก" จึงโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนพระยศพระยากาวิละขึ้นเป็นพระยาวชิรปราการ เจ้าเมืองเชียงใหม่แทนพระยาจ่าบ้านที่เสียชีวิตลงในปลายกรุงธนบุรี
เจ้าศรีอโนชาเสด็จพิราลัยเมื่อใดไม่ปรากฏ แต่ปรากฏกู่บรรจุอัฐิของท่านตั้งอยู่ทางทิศใต้ติดกับกำแพงด้านนอกของวัดพระธาตุลำปางหลวง จังหวัดลำปาง