จอมพลเรือ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก (1 มกราคม พ.ศ. 2435 - 24 กันยายน พ.ศ. 2472) เป็นพระบรมราชชนกในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร และพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีคุณูปการแก่กิจการแพทย์แผนปัจจุบันและการสาธารณสุขของประเทศไทย ประชาชนโดยทั่วไปคุ้นเคยกับพระนามว่า "กรมหลวงสงขลานครินทร์" หรือ "พระราชบิดา" และบางครั้งก็ปรากฏพระนามว่า "เจ้าฟ้าทหารเรือ" และ "พระประทีปแห่งการอนุรักษ์สัตว์น้ำของไทย" ส่วนชาวต่างประเทศเรียกพระนามว่า "เจ้าฟ้ามหิดล"
สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนกเป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ 69 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระองค์ที่ 7 ในสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี (ต่อมาคือ สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า) เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันศุกร์ เดือนยี่ ปีเถาะ ขึ้น 3 ค่ำ (ตรงกับวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2434 ตามปฏิทินเก่า ถ้านับตามปฏิทินสากล ต้องเป็น พ.ศ. 2435) ณ พระตำหนักสมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชเทวีภายในพระบรมมหาราชวัง
หลังจากประสูติครบ 1 เดือน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้มีการสมโภชเดือนตามขัตติยราชประเพณีที่พระตำหนักสมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชเทวี พร้อมทั้งพระราชทานนามสมมติว่า "สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช" และได้รับการออกพระนามลำลองว่า ทูลกระหม่อมแดง
พระองค์มีพระเชษฐาและพระเชษฐภคินีที่ประสูติร่วมพระราชมารดา ได้แก่ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร, สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าอิศริยาลงกรณ์, สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าวิจิตรจิรประภา อดุลยาดิเรกรัตน ขัตติยราชกุมารี, สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าสมมติวงศ์วโรทัย กรมขุนศรีธรรมราชธำรงฤทธิ์ , สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ นรินทรเทพยกุมารี และ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าศิราภรณ์โสภณ พิมลรัตนวดี
เมื่อยังทรงพระเยาว์ประทับอยู่กับพระมารดาในพระบรมมหาราชวัง โดยมีพระเจ้าพี่นางเธอ พระองค์เจ้าโสมาวดี ศรีรัตนราชธิดา (ต่อมาคือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสมรรัตนสิริเชษฐ์) เป็นผู้ถวายการดูแลอย่างใกล้ชิด พระพี่เลี้ยง คือ หม่อมเจ้ากุสุมา เกษมสันต์ เนื่องจากพระพลานามัยไม่สมบูรณ์นักต้องเสวยน้ำมันตับปลาเป็นประจำ พระกระยาหารที่โปรดมากคือปลากุเลากับส้มโอฉีก ส่วนเครื่องหวานโปรดอ้อยควั่นแช่น้ำดอกไม้สด
เมื่อพระชนม์ได้ 12 พรรษา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้มีพระราชพิธีมหามงคลโสกันต์ มีการสมโภช 7 วัน 7 คืน ตั้งแต่ วันที่ 24 ถึง 31 ธันวาคม พ.ศ. 2446 หลังโสกันต์แล้วพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระสุพรรณบัตรเฉลิมพระนามตามขัตติยราชประเพณีพร้อมทั้งสถาปนาขึ้นเป็นเจ้าฟ้าต่างกรม ให้ทรงศักดินา 40,000 ตามพระราชกำหนด อย่างสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าต่างกรม ในพระบรมราชตระกูลอันสูงศักดิ์ มีพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช กรมขุนสงขลานครินทร์
ในวันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2447 หลังจากพิธีโสกันต์ได้ 1 ปี สมเด็จพระบรมราชชนก พร้อมด้วยสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฏราชกุมาร (ต่อมาคือ พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว) ได้ทรงผนวชเป็นสามเณร ณ พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยมีพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นวชิรญาณวโรรส เป็นพระอุปัชฌาย์ และหม่อมเจ้าพระสถาพรพิริยพรตเป็นพระศีลาจารย์ ได้รับพระนามฉายาว่า มหิตลาตุโล ระหว่างผนวชประทับที่ตำหนักทรงพรต วัดบวรนิเวศวิหาร ต่อมาในวันที่ 10 ธันวาคม ศกนั้น จึงฉลองการทรงผนวช ณ ท้องพระโรงกลาง พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท และทรงลาผนวชเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2447
พระองค์ได้รับการถวายพระอักษรตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์มากที่โรงเรียนราชกุมารในพระบรมมหาราชวัง โดยมีพระยาอิศรพันธุ์โสภณ (หนู) เป็นพระอาจารย์ภาษาไทยคนแรก มีพระสหายสนิท คือ พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ (ต่อมาคือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร) และเข้าเป็นนักเรียนนายร้อยพิเศษ โรงเรียนนายร้อยชั้นประถม พร้อมกับสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนนครราชสีมา, สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราชัย และสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนศุโขไทยธรรมราชา
หลังจากนั้น พระองค์ได้เสด็จไปศึกษาต่อที่ยุโรปพร้อมด้วย สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนนครราชสีมา, สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราชัย และนักเรียนทุนหลวงอีกหลายคน โดยพระองค์เข้าศึกษาที่โรงเรียนแฮร์โรว์ (Harrow) กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ จนถึงปี พ.ศ. 2450 ทรงย้ายไปศึกษาต่อในวิชาทหารบกที่โรงเรียนนายร้อยชั้นต้น เมืองพอทสดัม ประเทศเยอรมนี และโรงเรียนนายร้อยชั้นสูงทหารบกที่โกรสลิชเตอร์เฟลเด้ (Gross Lichterfelde) เมืองเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี
ในระหว่างศึกษาอยู่ที่ประเทศเยอรมันนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453 พระองค์จึงเสด็จกลับประเทศสยาม พร้อมด้วยสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนศุโขไทยธรรมราชา, สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราชัย และพระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ เพื่อทรงร่วมพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระบรมชนกนาถ
เมื่อเสร็จสิ้นงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระองค์ได้เสด็จกลับไปประเทศเยอรมนีเพื่อศึกษาต่อ พระองค์ทรงสำเร็จการศึกษาวิชาการทหารบกและทรงสอบได้เป็นแฟนริคช์ (F?hnrich) คือ นักเรียนทำคะแนนได้ดีมาก โดยทรงเขียนและแต่งเรียงความได้อย่างดีไม่ต้องสอบปากเปล่า การสอบในครั้งนั้นมีนักเรียนเข้าสอบประมาณ 400 คน โดยมีคนที่ทำคะแนนได้เท่าพระองค์เพียงคนเดียว ซึ่งนับว่าพระองค์เป็นคนไทยคนแรกที่สอบไล่ได้คะแนนสูงสุดเช่นนี้
หลังจากนั้น พระองค์ได้เปลี่ยนไปศึกษาวิชาทหารเรือแทนวิชาทหารบกที่ได้ศึกษามาก่อนหน้านี้ เนื่องจากกองทัพสยามในสมัยนั้นยังขาดแคลนนายทหารเรือที่มีความรู้ความสามารถจำนวนมาก พระองค์เข้าศึกษาวิชาทหารเรือ ณ โรงเรียนนายเรือเฟลนส์บูร์ก มุรวิก (Marineschule Flensburg M?rwik) โดยเป็นนักเรียนนายเรือเยอรมันรุ่น 2455 (CREW 1912) และสำเร็จการศึกษาตามหลักสูตรด้วยผลการศึกษาขั้นดีเยี่ยมทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ และทรงเข้ารับราชการในกองทัพเยอรมัน ซึ่งก่อนหน้านี้พระองค์ได้รับพระราชทานยศนายเรือตรีแห่งราชนาวีสยามจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวและยศนายเรือตรีแห่งจักรวรรดินาวีเยอรมันจากสมเด็จพระจักรพรรดิวิลเฮล์มที่ 2 แห่งเยอรมนี
ในปี พ.ศ. 2457 เกิดสงครามโลกครั้งที่ 1ขึ้นเป็นผลให้พระองค์ต้องออกจากกองทัพเรือเยอรมันและเสด็จนิวัติกลับประเทศไทย พระองค์ทรงเข้ารับราชการในกระทรวงทหารเรือ ในตำแหน่งสำรองราชการ กรมเสนาธิการทหารเรือ โดยได้รับพระราชทานยศเป็น "นายเรือโท" ตั้งแต่วันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2458 และทรงย้ายไปรับตำแหน่งในกองอาจารย์นายเรือ แผนกแต่งตำรา กรมยุทธศึกษาทหารเรือในเวลาต่อมา พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ทรงเขียนถึงช่วงเวลาที่สมเด็จพระบรมราชชนกทรงรับราชการทหารเรือ ตอนหนึ่งว่า
...ท่าน [สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก] ...ทรงโปรดราชการทหารเรืออย่างยิ่ง แต่ท่านอยากจะทรงบังคับการเรือตอร์ปิโดและอยากออกทะเล บังเอิญทางราชการเห็นว่า ไม่สมควรที่เจ้าฟ้าจะทรงทำเช่นนั้น ท่านจึงไม่ได้บังคับเรือแต่อย่างใดหรือออกทะเลตามลำพังพระองค์เลย ท่านจึงเกิดเบื่อหน่ายเป็นอันมาก...
ต่อมา พระองค์ทรงลาออกจากราชการในกระทรวงทหารเรือ มีการกล่าวถึงสาเหตุที่ทรงลาออกจากราชการทหารเรือหลายสาเหตุ เป็นต้นว่าพระองค์มีพระราชดำริขัดแย้งกับนายทหารชั้นผู้ใหญ่จากการประชุมนายทหารเรือเพื่อปรับปรุงความสมบูรณ์ของกองทัพเรือ โดยพระองค์เห็นว่า การมีเรือรบขนาดใหญ่ยังไม่มีประโยชน์มากนัก ควรมีเรือขนาดเล็ก เช่น เรือดำน้ำ เรือตอร์ปิโด ซึ่งเข้าแม่น้ำได้สะดวกจะมีประโยชน์มากกว่า แต่นายทหารชั้นผู้ใหญ่มีความเห็นว่าควรมีเรือขนาดใหญ่เพื่อจะได้ฝึกทหารไปในตัว พระองค์ทรงรับฟังแต่ก็ทรงน้อยพระทัยว่า อุตส่าห์ไปทรงศึกษาวิชาทหารเรือโดยตรงแต่พอถึงเวลาปฏิบัติงานจริงกลับไม่ได้ดังพระราชประสงค์
อีกสาเหตุนั้นกล่าวว่า จากการที่พระองค์ทรงสนพระทัยเรือดำนำเป็นพิเศษซึ่งถ้ามีเรือดำน้ำมาประจำการในกองทัพเรือจะทำให้เกิดมีปัญหาเรื่องอาหารได้ เนื่องจากคนไทยนิยมกินข้าวหลังจากปรุงขึ้นทันทีซึ่งไม่สามารถทำได้ในเรือดำน้ำ พระองค์จึงสนพระทัยที่จะศึกษาและทดลองเพื่อค้นหาอาหารที่เหมาะกับทหารเรือไทยที่ประจำอยู่กองเรือดำน้ำ ประกอบกับพระสุขภาพของพระองค์ไม่สมบูรณ์นักจึงมีพระดำริที่จะไปรักษาพระองค์ในประเทศหนาว พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์จึงทรงแนะนำให้พระองค์เสด็จไปศึกษาต่อเรื่องอาหารและสุขวิทยาที่สหรัฐอเมริกา พระองค์ทรงรับราชการในกระทรวงทหารเรือเป็นเวลา 9 เดือน 18 วัน
เมื่อพระองค์ทรงลาออกจากการรับราชการในกระทรวงทหารเรือแล้ว พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ ผู้ช่วยปลัดทูลฉลองกระทรวงธรรมการและผู้บัญชาการโรงเรียนราชแพทยาลัย ในขณะนั้น พร้อมด้วยหม่อมเจ้าพูนศรีเกษม เกษมศรี ได้เสด็จไปเข้าเพื่อชักชวนให้ทรงมาช่วยโรงพยาบาลศิริราช โดยพระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ ได้ทูลเชิญทูลกระหม่อมให้ทรงแวะที่โรงพยาบาลศิริราช เมื่อทอดพระเนตรเห็นโรงคนไข้มีสถานที่คับแคบไม่พอที่จะรองรับคนไข้ได้อย่างเพียงพอทำให้คนไข้ต้องไปนั่งรอที่โคนต้นไม้ นอกจากนี้ โรงพยาบาลยังขาดแคลนอุปกรณ์ทางแพทย์ พระองค์ทรงสลดพระทัยเป็นอย่างยิ่งและทรงตกลงพระทัยที่จะทรงช่วยในการปรับปรุงการแพทย์ไทย แต่พระองค์มีพระดำริว่า "ก่อนจะทรงช่วยเหลือจะต้องมีความรู้เกี่ยวกับเรื่องนั้น ๆ จึงตั้งพระทัยจะเสด็จไปทรงศึกษาด้านการแพทย์เสียก่อน"
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร ทรงอธิบายถึงเหตุผลที่ชักชวนทูลกระหม่อมให้มาช่วยเหลืองานด้านการแพทย์และสาธารณสุขไทยว่า
เพราะสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนสงขลานครินทร์ ทรงเป็นเจ้าฟ้าชั้นสูง ถ้าเข้ามาทรงจัดการเรื่องนี้แล้วจะทำให้กิจการแพทย์เด่นขึ้น มีผู้โดยเสด็จช่วยเหลืองานนี้มากขึ้น อนึ่ง ทูลกระหม่อมทรงมีรายได้สูง แต่พอพระทัยจะใช้ในการบำเพ็ญพระกุศลสาธารณะ และประการสำคัญที่สุด ทรงเป็นเจ้าฟ้าที่มีพระปัญญาหลักแหลม มีความเพียรกล้า จะทรงทำอะไรก็ทำจริงไม่ย่อท้อ กิจการแพทย์จะเจริญก้าวหน้าได้อย่างรวดเร็ว
พระองค์ตัดสินพระทัยเสด็จไปทรงศึกษาต่อยังสหรัฐอเมริกาโดยมีพระยากัลยาณไมตรี (เจนส์ ไอเวอร์สัน เวสเตนการ์ด) เป็นผู้ถวายคำปรึกษาในการเลือกมหาวิทยาลัย โดยทรงเข้าศึกษาที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เมืองเคมบริดจ์ รัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา โดยทรงเข้าศึกษาชั้นเตรียมแพทย์ก่อนเป็นเวลา 1 ปี และทรงลงทะเบียนเป็นนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 1 ของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ในปี พ.ศ. 2460
หลังจากที่ทรงสำเร็จการศึกษาแพทย์ชั้นปรีคลินิกแล้ว พระองค์ทรงหยุดการศึกษาแพทย์ชั่วคราวและทรงลงทะเบียนเข้าศึกษาในโรงเรียนสาธารณสุขซึ่งจัดตั้งขึ้นด้วยความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดและสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ เมื่อปี พ.ศ. 2462 ระหว่างการศึกษาพระองค์ได้พระราชนิพนธ์รายงานการศึกษาเรื่อง A sanitary survey of the city of Gloucester, Massachusetts 1921 และทรงสำเร็จการศึกษาได้รับประกาศนียบัตรสาธารณสุขในปี พ.ศ. 2464
ขณะที่ทรงศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดทรงเช่าอพาร์ทเม็นต์และมีคนใช้จำนวน 1 คน พระองค์ทรงใช้พระนามว่า มิสเตอร์มหิดล สงขลา ซึ่งนายแพทย์แอลเลอร์ เอลลิส (A.G. Ellis) ได้กล่าวถึงพระองค์ขณะที่ทรงศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดไว้ว่า
ในมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ก็ทรงเป็นเพียงนักเรียนแพทย์ผู้หนึ่งที่ไม่ใช่เจ้านาย ในพระนามบัตรก็มีว่า "มิสเตอร์มหิดล สงขลา" ในเวลาที่ประทับอยู่ในประเทศที่ไม่มีเจ้านาย พระองค์ท่านก็ไม่ใช่เจ้านาย เราถือว่าการที่วางพระองค์เช่นนี้ เป็นการให้เกียรติยศอันแท้จริงแก่ประเทศของเราและสมกับพระลักษณะของการเป็นเจ้านายที่แท้จริง
หลังจากสำเร็จการศึกษาระดับประกาศนียบัตรสาธารณสุขแล้ว พระองค์รับหน้าที่เป็นผู้แทนรัฐบาลไทยในการเจรจากับมูลนิธิร็อกกีเฟลเลอร์เกี่ยวกับการช่วยเหลือด้านการศึกษาวิชาแพทย์ในประเทศไทย หลังจากนั้น พระองค์ตัดสินพระทัยเข้าศึกษาวิชาแพทย์ต่อในชั้นปีที่ 3 ที่มหาวิทยาลัยเอดินบะระ เมืองเอดินบะระ สกอตแลนด์ สหราชอาณาจักร แต่พระองค์ประชวรด้วยโรคพระวักกะ (โรคไต) ซึ่งสภาพอากาศที่อังกฤษมีอากาศชื้นและหนาวเย็น ไม่เหมาะกับพระโรค ดังนั้น พระองค์จึงต้องเสด็จนิวัติกลับพระนคร โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ทรงดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมมหาวิทยาลัย
ในปี พ.ศ. 2469 พระองค์ได้เสด็จไปศึกษาวิชาแพทย์ต่ออีกครั้ง ณ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา จนกระทั่งทรงสำเร็จการศึกษาได้ปริญญาแพทยศาสตร์ เกียรตินิยมระดับ Cum Laude เมื่อปี พ.ศ. 2471 หลังจากนั้น พระองค์เสด็จนิวัติกลับประทศไทยเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2471 โดยประทับอยู่ที่พระตำหนักใหม่ วังสระปทุม
พระราชกรณียกิจประการแรก เมื่อเสด็จกลับมาเมืองไทยก็คือพระราชทานทุนให้นักเรียนออกไปศึกษา 10 ทุน ในสาขาที่เกี่ยวกับการแพทย์ พระองค์มีความเห็นว่านักเรียนแพทย์ที่สำเร็จการศึกษาจากต่างประเทศจะได้ศึกษาเพียงเฉพาะโรคที่เกิดขึ้นในเขตนั้นเท่านั้น เมื่อกลับมาประเทศไทยควรจะศึกษาต่ออีก 1 ปี เพื่อจะให้ได้รับความรู้และความชำนาญโรคของประเทศไทย แต่ทางการก็มิอาจทำได้ดังพระราชประสงค์ เป็นเหตุให้ไม่ทรงพอพระราชหฤทัย ดังนั้น พระองค์จึงทรงเปลี่ยนพระราชหฤทัยจากจะทรงทำงานในโรงพยาบาลศิริราช มาเป็นเสด็จไปโรงพยาบาลแมคคอร์มิค จังหวัดเชียงใหม่ พระองค์เสด็จถึงจังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2472 ทรงประทับกับครอบครัวผู้อำนวยการโรงพยาบาลขณะนั้น ดร. อี.ซี. คอร์ท เป็นตึกเล็ก และทรงมีมหาดเล็กเพียงคนเดียว
พระองค์มีความเอาใจ่ใส่ในการรักษาประชาชนอย่างมาก ชาวเมืองเชียงใหม่จึงขนานพระนามของพระองค์ว่า หมอเจ้าฟ้า พระองค์ได้ประทับทีเมืองเชียงใหม่ประมาณ 3 สัปดาห์ ก็ต้องเสด็จกลับกรุงเทพมหานครในวันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2472 เนื่องในพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช หลังจากนั้น พระองค์มีพระราชประสงค์จะเสด็จกลับไปเมืองเชียงใหม่ แต่ก็มิได้เป็นไปตามพระราชประสงค์ เนื่องจากประชวรต้องประทับในพระตำหนักวังสระปทุม พร้อมด้วยพระมารดา โดยไม่ได้เสด็จออกจากวังอีกเลย
วันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2472 เวลา 16.45 น. พระองค์เสด็จสวรรคตด้วยพระโรคฝีบิดในพระยกนะ(ตับ) โดยมีโรคแทรกซ้อนคือพระปัปผาสะบวมน้ำและพระหทัยวาย พระชนมายุได้ 37 พรรษา 8 เดือน 23 วัน หลังจากทรงทนทรมานอยู่ได้ 3 เดือนครึ่ง
พระนามเดิมของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก นั้น สามารถพบได้ 2 แบบ ได้แก่ มหิดลอดุลเดช และ มหิดลอดุลยเดช โดยเมื่อแรกเริ่มนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระนามแก่พระองค์ในการสมโภชเดือนว่า "มหิดลอดุลเดช" ต่อมา เมื่อพระองค์ทรงเจริญพระชันษาได้ 12 ปี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดพระราชพิธีโสกันต์และพระราชทานพระสุพรรณบัฏขึ้น พร้อมกันนี้ พระองค์ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นเจ้าฟ้าต่างกรมที่ "กรมขุนสงขลานครินทร์" โดยมีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัตรในครั้งนี้ ว่า "มหิดลอดุลยเดช"
หลังจากนั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เลื่อนพระนามกรมของพระองค์ขึ้นเป็น "กรมหลวงสงขลานครินทร์" และเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเสด็จขึ้นครองราชสมบัติสืบพระราชสันตติวงศ์เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 8 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ พระนามของพระองค์ตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏจึงกลับมาใช้ว่า "มหิดลอดุลเดช" อีกครั้ง
ในปี พ.ศ. 2513 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ประกาศเฉลิมพระนามพระอัฐิสมเด็จพระราชบิดาว่า "สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก" และในสมัยปัจจุบันการเขียนพระนามของพระองค์ก็นิยมเขียนว่า "มหิดลอดุลยเดช"
ส่วนนามสกุลนั้น เมื่อพระองค์ทรงศึกษาอยู่ที่ต่างประเทศนั้น พระองค์ใช้พระนามว่า Mr. Mahidol Songkla ส่วนสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีใช้พระนามว่า Mrs. Songkla ดังนั้น พระโอรสและพระธิดาของพระองค์จึงใช้นามสกุลว่า "สงขลา"
หลังจากนั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานนามสกุลสำหรับผู้สืบสายพระบรมราชวงศ์ชั้น 5 เมื่อ พ.ศ. 2472 โดยเชื้อพระวงศ์ที่สืบสายพระโลหิตจากสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนกให้ใช้ราชสกุลว่า "มหิดล" จนถึงปัจจุบัน
ระหว่างที่พระองค์ทรงศึกษาอยู่ที่สหรัฐอเมริกาได้พระราชทานทุนให้แก่นักเรียนแพทย์ ไปศึกษาที่สหรัฐอเมริกาจำนวน 2 ทุน ซึ่งทางโรงเรียนแพทย์ได้คัดเลือกออกมา ปรากฏว่าได้นักเรียนพยาบาลมา 2 คน คือ สังวาลย์ ตะละภัฏ (ต่อมาคือ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี) และอุบล ปาลกะวงษ์ ณ อยุธยา (ต่อมาคือ อุบล ลิปิธรรมศรีพยัตต์) สมเด็จพระบรมราชชนก ทรงดูแลเอาใจใส่นักเรียนทั้ง 2 ของพระองค์อย่างดี ทั้งทรงแนะนำวิธีการดำเนินชีวิต ขนบธรรมเนียมประเพณีของต่างประเทศ
ขณะทรงศึกษาวิชาสาธารณสุขชั้นปีที่ 3 ที่สมเด็จพระบรมราชชนกได้เสด็จกลับมาร่วมงาน ถวายพระเพลิงพระบรมศพ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2463 สมเด็จพระบรมราชชนกได้อภิเษกสมรสกับนางสาวสังวาลย์ ตะละภัฏ (สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี)
ในช่วงเวลาที่สมเด็จพระบรมราชชนกทรงรับราชการในกองทัพเรือ ได้ทรงจัดทำโครงการเกี่ยวกับเรือดำน้ำ ถึงแม้จะไม่ได้ดังพระประสงค์ในช่วงเวลานั้น แต่อีก 20 ปีต่อมา กองทัพเรือก็ได้สั่งต่อเรือดำน้ำจำนวน 4 ลำ คือ เรือหลวงมัจฉาณุ เรือหลวงวิรุณ เรือหลวงสินสมุทร และเรือหลวงพลายชุมพล นอกจากเรื่องเรือดำน้ำ พระองค์ยังได้ทรงร่างโครงการสร้างกำลังทางเรือทั้งกองทัพไว้อีกด้วย ซึ่งปัจจุบันกองทัพเรือได้จัด ตั้งฐานทัพเรือและสถานี ทหารเรือ พร้อมกับจัดส่งกำลังทางเรือ ไปประจำตามฐานทัพเรือและสถานีเรือ สอดคล้องกับแนวพระราชดำริโครงการสร้างกองเรือรบ
ทางด้านการแพทย์ตลอดระยะเวลา 10 ปี ที่ทรงเกี่ยวข้องกับการแพทย์ได้ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจไว้มากมาย ทรงอุทิศทั้งพระราชทรัพย์และพระวรกาย พระสติกำลังเพื่อการแพทย์โดยแท้ กล่าวคือพระราชทานทุนเพื่อการศึกษาและค้นคว้า พระราชทานพระราชทรัพย์เพื่อการก่อสร้างตึกต่างๆ และขยายพื้นที่โรงพยาบาลศิริราช ในด้านการสาธารณสุขทรงเคยสำรวจสุขาภิบาลในกรุงเทพ เพื่อเปรียบเทียบกับต่างประเทศที่ทรงศึกษามา ทรงช่วยอบรมสาธารณสุขมณฑล และเคยทรงปรารภว่าจะให้มีการเผาศพด้วยไฟฟ้า เพื่อให้เป็นไปตามหลักสูตรสุขาภิบาล นอกจากนี้ยังทรงมีน้ำพระราชหฤทัยเมตตา ช่วยเหลือการศึกษาด้านอื่นนอกเหนือจากการแพทย์ เป็นต้นว่า พระราชทานทุน 1 แสนบาทเพื่อส่งคนไปศึกษาต่างประเทศด้านการประมงและการเพาะเลี้ยงพันธุ์สัตว์น้ำ เพื่อการโภชนาการที่ดีของคนไทย จึงได้รับการถวายสมญานามว่า "พระประทีปแห่งการอนุรักษ์สัตว์น้ำของไทย" พระราชทานทุนให้แก่โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนเพื่อจัดหาอาจารย์ชาวต่างประเทศมาสอน พระราชทานเงินให้โรงพยาบาลแมคคอร์มิค จัดซื้อเครื่องเอกซเรย์ และพระราชทานเงินบำรุงโรงพยาบาลสงขลาเป็นรายปี
กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน • กรมพระจันทบุรีนฤนาถ • กรมพระยาชัยนาทนเรนทร • กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ • กรมหมื่นไชยาศรีสุริโยภาส • กรมขุนเทพทวาราวดี • กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช • กรมหลวงนครราชสีมา • กรมพระนครสวรรค์วรพินิต • กรมหลวงปราจิณกิติบดี • กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม • กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ • กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราชัย • กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ • กรมหลวงลพบุรีราเมศร์ • กรมขุนศรีธรรมราชธำรงฤทธิ์ • กรมหลวงสงขลานครินทร์ • กรมหมื่นสรรควิสัยนรบดี • กรมหลวงสิงหวิกรมเกรียงไกร • กรมหลวงสุโขทัยธรรมราชา
กรมพระเทพนารีรัตน์ • กรมขุนพิจิตรเจษฎ์จันทร์ • กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร • กรมหลวงศรีรัตนโกสินทร • กรมขุนศรีสัชนาลัยสุรกัญญา • กรมขุนสวรรคโลกลักษณวดี • กรมขุนสุพรรณภาควดี • กรมขุนอู่ทองเขตขัตติยนารี
กรมพระยาเทพสุดาวดี • กรมพระยาเดชาดิศร • กรมพระยาสุดารัตนราชประยูร • กรมพระยาบำราบปรปักษ์ • กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ • กรมพระยาวชิรญาณวโรรส • กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช • กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ • กรมพระยาดำรงราชานุภาพ • กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ • กรมพระยาชัยนาทนเรนทร
กรมพระศรีสุดารักษ์ • กรมพระปรมานุชิตชิโนรส • กรมพระรามอิศเรศ • กรมพระพิพิธโภคภูเบนทร์ • กรมพระพิทักษ์เทเวศร์ • กรมพระเทเวศร์วัชรินทร์ • กรมพระจักรพรรดิพงษ์ • กรมพระนเรศร์วรฤทธิ์ • กรมพระสมมตอมรพันธ์ • กรมพระเทพนารีรัตน์ • กรมพระจันทบุรีนฤนาถ • กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ • กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์ • กรมพระนครสวรรค์วรพินิต • กรมพระสุทธาสินีนาฏ • กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน
กรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์ • กรมหลวงธิเบศรบดินทร์ • กรมหลวงนรินทรรณเรศร์ • กรมหลวงจักรเจษฎา • กรมหลวงอิศรสุนทร () • กรมหลวงเทพหริรักษ์ • กรมหลวงศรีสุนทรเทพ • กรมหลวงเสนานุรักษ์ • กรมหลวงพิทักษ์มนตรี • กรมหลวงเทพยวดี • กรมหลวงเทพพลภักดิ์ • กรมหลวงรักษ์รณเรศ • กรมหลวงเสนีบริรักษ์ • กรมหลวงพิเศษศรีสวัสดิสุขวัฒนวิไชย • กรมหลวงภูวเนตรนรินทรฤทธิ์ • กรมหลวงมหิศวรินทรามเรศร์ • กรมหลวงสรรพศิลป์ปรีชา • กรมหลวงวงศาธิราชสนิท • กรมหลวงนรินทรเทวี • กรมหลวงวรศักดาพิศาล • กรมหลวงวิสุทธิกระษัตริย์ • กรมหลวงพิชิตปรีชากร • กรมหลวงวรเสรฐสุดา • กรมหลวงบดินทรไพศาลโสภณ • กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม • กรมหลวงศรีรัตนโกสินทร • กรมหลวงสมรรัตนสิริเชษฐ์ • กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ • กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร • กรมหลวงปราจิณกิติบดี • กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช • กรมหลวงสรรพสาตรศุภกิจ • กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ • กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ • กรมหลวงอดิศรอุดมเดช • กรมหลวงพรหมวรานุรักษ์ • กรมหลวงนครราชสีมา • กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ • กรมหลวงสุโขทัยธรรมราชา () • กรมหลวงลพบุรีราเมศร์ • กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ • กรมหลวงทิพยรัตนกิริฎกุลินี • กรมหลวงสงขลานครินทร์ • กรมหลวงสิงหวิกรมเกรียงไกร • กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ • กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
กรมขุนสุนทรภูเบศร์ • กรมขุนกษัตรานุชิต • กรมขุนอิศรานุรักษ์ • กรมขุนศรีสุนทร • กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ • กรมขุนกัลยาสุนทร • กรมขุนสถิตย์สถาพร • กรมขุนนรานุชิต • กรมขุนธิเบศวร์บวร • กรมขุนพินิตประชานาถ () • กรมขุนวรจักรธรานุภาพ • กรมขุนราชสีหวิกรม • กรมขุนรามินทรสุดา • กรมขุนอนัคฆนารี • กรมขุนเทพนารี • กรมขุนภูวนัยนฤเบนทราธิบาล • กรมขุนเจริญผลพูลสวัสดิ์ • กรมขุนขัตติยกัลยา • กรมขุนเทพทวาราวดี () • กรมขุนอรรควรราชกัลยา • กรมขุนศรีธรรมราชธำรงฤทธิ์ • กรมขุนพิทยลาภพฤฒิธาดา • กรมขุนสุพรรณภาควดี • กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราชัย • กรมขุนพิจิตรเจษฎ์จันทร์ • กรมขุนสวรรคโลกลักษณวดี • กรมขุนสิริธัชสังกาศ • กรมขุนมรุพงศ์สิริพัฒน์ • กรมขุนศรีสัชนาลัยสุรกัญญา • กรมขุนอู่ทองเขตขัตติยนารี
กรมหมื่นนรินทรพิทักษ์ • กรมหมื่นพิทักษ์เทวา • กรมหมื่นศักดิพลเสพ • กรมหมื่นนราเทเวศร์ • กรมหมื่นนเรศร์โยธี • กรมหมื่นเสนีเทพ • กรมหมื่นเจษฏาบดินทร์ () • กรมหมื่นอินทรพิพิธ • กรมหมื่นจิตรภักดี • กรมหมื่นศรีสุเรนทร์ • กรมหมื่นสุรินทรรักษ์ • กรมหมื่นสุนทรธิบดี • กรมหมื่นนรินทรเทพ • กรมหมื่นศรีสุเทพ • กรมหมื่นณรงค์หริรักษ์ • กรมหมื่นเสพสุนทร • กรมหมื่นอมรมนตรี • กรมหมื่นนเรนทร์บริรักษ์ • กรมหมื่นไกรสรวิชิต • กรมหมื่นสนิทนเรนทร์ • กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ • กรมหมื่นมาตยาพิทักษ์ • กรมหมื่นอมเรนทรบดินทร์ • กรมหมื่นถาวรวรยศ • กรมหมื่นอลงกฎกิจปรีชา • กรมหมื่นภูบาลบริรักษ์ • กรมหมื่นเชษฐาธิเบนทร์ • กรมหมื่นภูมินทรภักดี • กรมหมื่นมเหศวรศิววิลาส • กรมหมื่นมนตรีรักษา • กรมหมื่นเทวานุรักษ์ • กรมหมื่นวิษณุนาถนิภาธร • กรมหมื่นอดุลยลักษณสมบัติ • กรมหมื่นอุดมรัตนราษี กรมหมื่นภูบดีราชหฤทัย • กรมหมื่นบวรวิไชยชาญ • กรมหมื่นกษัตริย์ศรีศักดิเดช • กรมหมื่นอมเรศรัศมี • กรมหมื่นอานุภาพพิศาลศักดิ • กรมหมื่นอนันตการฤทธิ์ • กรมหมื่นสิทธิสุขุมการ • กรมหมื่นภูธเรศธำรงศักดิ์ • กรมหมื่นพิศาลบวรศักดิ • กรมหมื่นบริรักษ์นรินทรฤทธิ์ • กรมหมื่นสถิตย์ธำรงสวัสดิ์ • กรมหมื่นนฤบาลมุขมาตย์ • กรมหมื่นราชศักดิ์สโมสร • กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย • กรมหมื่นปราบปรปักษ์ • กรมหมื่นทิวากรวงศ์ประวัติ • กรมหมื่นวิวิธวรรณปรีชา • กรมหมื่นจรัสพรปฏิภาณ • กรมหมื่นพงศาดิศรมหิป • กรมหมื่นวรวัฒน์สุภากร • กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม • กรมหมื่นอนุพงษ์จักรพรรดิ์ • กรมหมื่นชาญไชยบวรยศ • กรมหมื่นสรรควิสัยนรบดี • กรมหมื่นกวีสุพจน์ปรีชา • กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ • กรมหมื่นไชยาศรีสุริโยภาส • กรมหมื่นอนุวัตรจาตุรนต์ • กรมหมื่นภาณุพงศ์พิริยเดช • กรมหมื่นเทววงศ์วโรทัย • กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร • กรมหมื่นนครสวรรค์ศักดิพินิต • กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ • กรมหมื่นอดิศรอุดมศักดิ์ • กรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ