กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ซึ่งมีพระนามเดิมว่า เจ้าฟ้าธรรมธิเบศไชยเชษฐ์สุริยวงศ์ หรือพระนามที่รู้จักกันโดยทั่วไปว่า เจ้าฟ้ากุ้ง เป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศและกรมหลวงอภัยนุชิต
พระองค์มีพระปรีชาสามารถหลายด้าน โดยเฉพาะด้านวรรณกรรมนั้น ทรงพระนิพนธ์วรรณกรรมไว้หลายเรื่อง เช่น กาพย์เห่เรือ นันโทปนันทสูตรคำหลวง พระมาลัยคำหลวง เนื่องจากพระองค์ลักลอบเป็นชู้กับพระสนมของพระราชบิดาจึงต้องพระอาญาให้เฆี่ยน เป็นเหตุให้พระองค์เสด็จสวรรคตในที่สุด
เจ้าฟ้าธรรมธิเบศไชยเชษฐ์สุริยวงศ์ (คำให้การชาวกรุงเก่าว่า เจ้าฟ้านราธิเบศร์) เสด็จพระราชสมภพเมื่อใดไม่ปรากฏหลักฐาน พระองค์เป็นพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ประสูติแต่กรมหลวงอภัยนุชิต (หรือพระพันวัสสาใหญ่) โดยพระมารดาของพระองค์สืบเชื้อสายมาจากสกุลพราหมณ์บ้านสมอพลือ ที่มีต้นสกุลมาจากเมืองรามนคร มัธยมประเทศ
พระองค์มีพระเชษฐภคินี 1 พระองค์ คือ เจ้าฟ้าบรม และพระขนิษฐา 6 พระองค์ ได้แก่ เจ้าฟ้าธิดา เจ้าฟ้ารัศมี เจ้าฟ้าสุริยวงษ์ เจ้าฟ้าสุริยา เจ้าฟ้าอินทสุดาวดี (กรมขุนยิสารเสนี พระอัครมเหสีในพระองค์) นอกจากนี้ พระองค์ยังมีพระอนุชาต่างพระมารดา 2 พระองค์ คือเจ้าฟ้าเอกทัศ (สมเด็จพระที่นั่งสุริยาสน์อมรินทร์) และเจ้าฟ้าอุทุมพร (สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร) เมื่อสมเด็จพระราชบิดาขึ้นครองราชสมบัติแห่งกรุงศรีอยุธยาแล้ว พระองค์ได้รับการสถาปนาให้ทรงกรมที่ กรมขุนเสนาพิทักษ์
เนื่องจากเจ้าฟ้าพระนเรนทร กรมขุนสุเรนทรพิทักษ์ พระราชโอรสในสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 9 นั้น ทรงสนิทกับพระราชบิดาของพระองค์อย่างมาก ทำให้พระองค์เกิดความระแวงขึ้น เมื่อพระราชบิดาทรงประชวรและเจ้าพระกรมขุนสุเรนทรพิทักษ์เสด็จมาทรงเยี่ยม พระองค์จึงตรัสให้พระองค์เจ้าชื่นและพระองค์เจ้าเกิดไปนิมนต์เจ้าพระกรมขุนสุเรนทรพิทักษ์เข้ามายังพระราชวังหน้า เมื่อเจ้าพระกรมขุนสุเรนทรพิทักษ์เสด็จมาถึง พระองค์ได้ใช้พระแสงดาบฟันเจ้าพระกรมขุนสุเรนทรพิทักษ์ แต่ไม่ทรงได้รับบาดเจ็บเพียงถูกแต่ผ้าจีวรขาดเท่านั้น เมื่อพระองค์ทอดพระเนตรเห็นดังนั้นจึงเกรงพระราชอาญาแล้วจึงเสด็จไปยังตำหนักกรมหลวงอภัยนุชิต พระมารดาของพระองค์
หลังจากนั้น เจ้าพระกรมขุนสุเรนทรพิทักษ์เสด็จเข้าเฝ้าสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 9 และพระองค์ตรัสถามว่า เหตุใดผ้าจีวรจึงขาด เจ้าฟ้าพระฯ กรมขุนสุเรนทรพิทักษ์ถวายพระพรว่ากรมขุนเสนาพิทักษ์หยอกท่าน เมื่อเจ้าพระกรมขุนสุเรนทรพิทักษ์ถวายพระพรลาสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 9 แล้ว กรมหลวงอภัยนุชิตได้เสด็จมาอ้อนวอนและตรัสว่าถ้าท่านไม่ช่วยในคราวนี้เห็นทีกรมขุนเสนาพิทักษ์คงสิ้น เจ้าฟ้าพระฯ กรมขุนสุเรนทรพิทักษ์จึงตรัสว่าคงมีแต่ร่มกาสาวพัตรเท่านั้นที่จะช่วยได้ กรมหลวงอภัยนุชิตจึงพากรมขุนเสนาพิทักษ์เสด็จออกผนวชทันทีที่วัดโคกแสง มีพระนามฉายาว่า "สิริปาโล"
ในครั้งนั้นสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทรงพระพิโรธกรมขุนเสนาพิทักษ์มาก มีพระราชดำรัสให้ค้นหาตัวจนทั่วพระราชวัง แต่พบเพียงพระองค์เจ้าชื่นและพระองค์เจ้าเกิดที่สมรู้ร่วมคิดเท่านั้น จึงมีพระราชดำรัสให้นำตัวทั้ง 2 พระองค์ไปสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์
เมื่อปี พ.ศ. 2280 กรมหลวงอภัยนุชิตทรงพระประชวรหนักและได้ตรัสทูลขอพระราชทานอภัยโทษให้กรมขุนเสนาพิทักษ์ซึ่งผนวชอยู่นั้น สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวก็พระราชทานอภัยโทษให้ หลังจากนั้น กรมหลวงอภัยนุชิตก็เสด็จสวรรคตลง ส่วนกรมขุนเสนาพิทักษ์ทรงลาผนวชและได้เข้าเฝ้าละอองธุลีพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวดังเดิม
ในปี พ.ศ. 2284 พระราชโกษาปานบ้านวัดระฆังได้กราบบังคมทูลสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวขอพระราชทานให้สถาปนากรมขุนเสนาพิทักษ์ขึ้นประดิษฐานที่กรมพระราชวังบวรสถานมงคล สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวจึงมีพระราชดำรัสให้ประชุมเสนาบดี เมื่อทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกันแล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งพระราชพิธีอุปราชาภิเษกสถาปนากรมขุนเสนาพิทักษ์ขึ้นเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล พร้อมกันนี้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาให้เจ้าฟ้าอินทสุดาวดีทรงกรมที่กรมขุนยิสารเสนี และพระราชทานให้เป็นพระอัครชายาในกรมพระราชวังบวรฯ ด้วย
กรมพระราชวังบวรสถานมงคลประชวรด้วยโรคสำหรับบุรุษและกลายไปเป็นพระโรคคชราด (โรคคุดทะราด) เป็นเหตุให้พระองค์ไม่สามารถเข้าเฝ้าสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวถึง 3 ปีเศษ วันหนึ่งพระองค์มีพระบัณฑูรให้ตำรวจมานำตัวเจ้ากรม ปลัดกรม และนายเวรปลัดเวรของเจ้าสามกรม (กรมหมื่นจิตรสุนทร กรมหมื่นสุนทรเทพ และกรมหมื่นเสพภักดี) มาถามความว่า เจ้ากรมนั้นเป็นแต่หมื่น เหตุใดจึงตั้งบรรดาศักดิ์ให้เป็นขุน ซึ่งนับว่าทำสูงเกินว่าศักดิ์ จึงมีพระบัณฑูรให้ลงพระราชอาญาโบยหลังคนละ 15 ทีบ้างคนละ 20 ทีบ้าง
หลังจากนั้นไม่นาน กรมหมื่นสุนทรเทพทำเรื่องกราบทูลสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวเป็นการลับว่า กรมพระราชวังบวรสถานมงคลเสด็จเข้ามาลอบทำชู้กับเจ้าฟ้านิ่ม เจ้าฟ้าสังวาลย์ (นักประวัติศาสตร์เชื่อว่าเป็นองค์เดียวกัน) ถึงในพระราชวังหลายครั้ง สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวจึงมีพระราชดำรัสให้หากรมพระราชวังบวรฯ เพื่อนำตัวมาสอบความ เมื่อกรมพระราชวังบวรฯ รับสารภาพแล้ว จึงมีพระราชดำรัสลงพระราชอาญาเฆี่ยน แล้วให้เสนาบดีและลูกขุนพิพากษาโทษ ท้าวพระยามุขมนตรีและลูกขุนกราบบังคมทูลว่า โทษของกรมพระราชวังบวรฯ เป็นมหันตโทษขอพระราชทานให้สำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์ตามขัตติยประเพณี สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวตรัสขอชีวิตไว้แต่ให้นาบพระนลาฏแล้วถอดให้เป็นไพร่เสีย ส่วนเจ้าฟ้าสังวาลย์ให้ลงพระราชอาญาเฆี่ยนองค์ละ 30 ที พร้อมทั้งถอดเป็นไพร่เช่นกัน เจ้าฟ้าสังวาลย์อยู่ได้ 3 วันก็สิ้นพระชนม์ ส่วนกรมพระราชวังบวรฯ ต้องรับพระราชอาญาเฆี่ยนและเสด็จสวรรคตลง สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสให้นำพระศพทั้งสองไปฝังยังวัดไชยวัฒนาราม
พระองค์เป็นแม่กองในการปฏิสังขรณ์วัดพระศรีสรรเพชญ์วัดอื่นๆ มากมายและทรงควบคุมงานต่อพระเศียรพระมหามงคลบพิตร ทรงรื้อมณฑปที่ประดิษฐานพระมหามงคลบพิตรแล้วก่อขึ้นใหม่เป็นพระวิหารแทน รวมทั้ง ทรงอำนวยการซ่อมพระที่นั่งวิหารสมเด็จภายในพระราชวังกรุงศรีอยุธยา
พระองค์ทรงมีพระปรีชาสามารถหลายด้าน โดยเฉพาะด้านวรรณกรรม พระองค์ทรงเป็นกวีที่ยิ่งใหญ่ในสมัยกรุงศรีอยุธยาพระองค์หนึ่ง ผลงานด้านวรรณกรรมที่พระองค์ทรงนิพนธ์ไว้โดยมากจะเป็นคำประพันธ์ประเภทกาพย์ห่อโคลงมากกว่างานพระนิพนธ์ชนิดอื่น ๆ พระนิพนธ์ประเภทกาพย์ที่เป็ฯที่รู้จักโดยทั่วไป เช่น พระนิพนธ์ "กาพย์เห่เรือ" แบ่งออกเป็น 2 เรื่อง เรื่องแรกเป็นบทชมพยุหยาตราทางชลมารค ต่อด้วยชมเรือ ชมปลา ชมไม้ และชมนก สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ ชั้น 4 กรมพระยาดำรงราชานุภาพ สันนิษฐานว่า เป็นบทเห่เรือที่ทรงนิพนธ์ขึ้นเพื่อใช้สำหรับเห์เรือพระที่นั่งของพระองค์เองเวลาตามเสด็จขึ้นพระบาท ส่วนเรื่องที่ 2 ได้หยิบยกเอาเรื่องพระยาครุฑลักนางกากีมาเป็นบทนำ ซึ่งกรมพระยาดำรงราชานุภาพ สันนิษฐานว่า เป็นบทที่สะท้อนความในพระหฤทัยของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศรที่ลอบผูกสมัครรักใคร่กับเจ้าฟ้าสังวาล ด้วยเหตุนี้แต่เดิมเห็นจะใช้บทนี้เห่เวลาประพาสทางเรือโดยลำพัง บทเห่เรือของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศรที่เป็นที่รู้จักโดยทั่วไป เช่น
ขณะที่ผนวชหรือภายหลังผนวชเล็กน้อย พระองค์ทรงนิพนธ์วรรณกรรมเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาไว้ด้วย ได้แก่ นันโทปนันทสูตรคำหลวง ทรงพระนิพนธ์เมื่อ พ.ศ. 2279 และ พระมาลัยคำหลวง ทรงพระนิพนธ์เมื่อ พ.ศ. 2280 นอกจากนี้ ยังมีพระนิพนธ์เรื่องอื่นๆ อีกมากมาย เช่น บทเห่เรื่องกากี 3 ตอน, บทเห่สังวาสและเห่ครวญอย่างละบท, กาพย์ห่อโคลงนิราศธารโศก, กาพย์ห่อโคลงนิราศธารทองแดง (กาพย์ห่อโคลงประพาสธารทองแดง), เพลงยาวบางบท และกาพย์ห่อโคลงนิราศพระบาท
กรมพระราชวังบวรมหาเสนาพิทักษ์มีพระชายาและเจ้าจอมหม่อมห้ามหลายพระองค์ เท่าที่ปรากฏพระนามมีดังต่อไปนี้
ราชบัณฑิตยสถาน. สารานุกรมประวัติศาสตร์ไทย เล่ม ๑ อักษร ก. กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน, 2549. 434 หน้า. หน้า 368-369. ISBN 974-9588-63-0