เจ้าพระยาทิพากรวงศ์มหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค) (1 ตุลาคม พ.ศ. 2356 - 12 มิถุนายน พ.ศ. 2413) ขุนนางชั้นผู้ใหญ่สมัยรัตนโกสินทร์ ผู้ช่วยปลัดกรมท่า ปลัดกรมพระตำรวจ ผู้สำเร็จราชการในกิจการต่างประเทศ นักเขียนพระราชพงศาวดาร ผู้แต่งและผู้ตีพิมพ์หนังสือรวมทั้งหนังสือแสดงกิจจานุกิจ หนังสือไทยเล่มแรกที่อธิบายความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ภูมิศาสตร์และศาสนาที่ทันสมัยที่สุดในขณะนั้น
เจ้าพระยาทิพากรวงศ์มหาโกษาธิบดีเป็นบุตรสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) และมารดา รอด เกิดเมื่อวันศุกร ขึ้น 7 ค่ำเดือน 11 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เป็นน้องต่างมารดาของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) มีพี่น้องร่วมมารดาหนึ่งคน ชื่อ พุก
เจ้าพระยาทิพากรวงศ์มหาโกษาธิบดีเข้ารับราชการในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวในตำแหน่งนายพลพันมหาดเล็กหุ้มแพร ต่อมาได้เลื่อนเป็นจมื่นราชามาตย์พลขันธ์ ปลัดพระกรมตำรวจ
ถึงสมัยรัชกาลที่4 ได้เลื่อนยศเป็นเจ้าพระยา ช่วยราชการกรมเจ้าท่า (ช่วยท่านบิดา) เมื่อ พ.ศ. 2394 เมื่อท่านบิดาคือสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ซึ่งว่าราชการกรมท่าถึงแก่พิราลัย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงแต่งตั้งให้เป็นผู้ว่าราชการกรมท่าแทนเมื่อ พ.ศ. 2408 และเลื่อนให้เป็น เจ้าพระยารวิวงศ์มหาโกศาธิบดี แต่ทรงเปลี่ยนให้ใหม่เป็นเจ้าพระยาทิพากรวงษ์มหาโกษาธิบดีในภายหลัง เนื่องจากทรงพบว่านามที่ทรงตั้งให้เป็น "กาลกรรณี"
เจ้าพระยาทิพากรวงศ์มหาโกษาธิบดีลาออกจากราชการสมัยปลายรัชกาลที่ 4 เมื่อวันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2410 เนื่องจากมีปัญหาป่วยด้วยโรคตา ครั้นเมื่อถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดให้เจ้าพระยาทิพากรวงศ์มหาโกษาธิบดีกลับเข้ารับราชการอีกครั้งหนึ่งด้วยเห็นว่าเป็นผู้ใหญ่มีประสบการณ์สูง เป็นผู้มีอัธยาศัยดี เที่ยงธรรม จึงโปรดสถาปนาให้มีอำนาจได้สำเร็จราชการในกิจการต่างประเทศ เป็นที่ปรึกษาคิดอ่านราชการแผ่นดินด้วย เจ้าพระยาทิพากรวงษ์มหาโกษาธิบดีรับราชการต่อมาได้อีกเพียง 2 ปี ก็ถึงแก่พิราลัย
เจ้าพระยาทิพากรวงศ์มหาโกษาธิบดี รับราชการมาถึง 3 แผ่นดิน เมื่อครั้งเป็นจหมื่นราชามาตย์ดำรงตำแหน่งปลัดกรมพระตำรวจ ได้ทำการปราบปรามโจรผู้ร้ายสำคัญ ๆ มากมาย รวมทั้งการจับผู้ร้ายแถบด่านปัจจมิตร เมื่อ พ.ศ. 2380 ซึ่งจับผู้ร้ายได้มากถึง 30 คน ครั้งเมื่อโปรดให้ไปจับฝิ่นทางหัวเมืองปักษ์ใต้ก็สามารถปราบและจับฝิ่นได้ตั้งแต่ประจวบคีรีขันธ์ไปถึงเมืองถลาง นำฝิ่นที่จับได้มาเผาที่หน้าพระที่นั่งสุทธาสวรรค์ ซึ่งได้โปรดเกล้าให้นำกลักฝิ่นมาหล่อเป็นพระพุทธรูปพระประธานในศาลาการเปรียญ วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร เมื่อระหว่าง พ.ศ. 2387 ถึง พ.ศ. 2391 ก็ได้ทำการปราบปรามอั้งยี่ขายฝิ่นตั้งแต่ปากน้ำบางปะกง หัวเมืองชายทะเลตะวันตก รวมทั้งการปราบจีนตั้วเหี่ยที่เมืองฉะเชิงเทรา
ในด้านการต่างประเทศเจ้าพระยาทิพากรวงศ์มหาโกษาธิบดีได้เข้าร่วมเป็นหนึ่งในคณะผู้แทน 5 ท่านเจรจากับเซอร์จอห์น เบาริง ในพระนาม ซึ่งผู้แทนคณะนี้ประกอบด้วยพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท สมเด็จเจ้าพระยาบรมบรมมหาประยูรวงศ์ผู้บิดา สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ (ทัต บุนนาค) สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ และเจ้าพระยารวิวงศ์โกษาธิบดี (ยศของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์มหาโกษาธิบดีขณะนั้น)
ภริยาของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์มหาโกษาธิบดีคือท่านผู้หญิงหนู บุตรีของเจ้าพระยานครศรีธรรมราช (พัฒน์ ณ นคร) บิดานำถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงโปรดให้เป็นละครหลวง ถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้เป็นเจ้าจอมอยู่งาน และในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานให้เป็นภรรยาเจ้าพระยาทิพากรวงศ์มหาโกษาธิบดี ถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ท่านป่วยเป็นวัณโรค และถึงแก่กรรมในวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2433 เวลาเช้า 4 โมงเศษ สิริอายุ 78 ปี
อ่านบทความฉบับสมบูรณ์ได้ที่ http://th.wikipedia.org/wiki/เจ้าพระยาทิพากรวงศ์มหาโกษาธิบดี