อี กู (ฮันกึล:??) หรือ เจ้าชายโฮอุนแห่งเกาหลี (ฮันกึล:?????) ประสูติเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2474 และสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2548 พระองค์ทรงเป็นเชื้อพระวงศ์ผู้อ้างสิทธิในราชบัลลังก์จักรพรรดิแห่งเกาหลี ลำดับที่ 4 เมื่อนับจากสมัยจักรวรรดิเกาหลี หรือประมุขแห่งราชวงศ์โชซอน ลำดับที่ 29 เมื่อนับจากสมัยราชอาณาจักรโชซอน โดยพระองค์ทรงมีศักดิ์เป็นพระราชนัดดาในสมเด็จพระจักรพรรดิควางมูแห่งจักรวรรดิเกาหลี (พระเจ้าโกจง)
อี กู ประสูติ ณ พระราชวังคิตะชิระคะนะ (โรงแรมแกรนด์ปรินซ์อะคะซะกะในปัจจุบัน) ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เป็นพระโอรสใน เจ้าชายอุยมิน มกุฎราชกุมารแห่งเกาหลีและเจ้าหญิงบังจา มกุฎราชกุมารีแห่งเกาหลี (เจ้าหญิงมะซะโกะ นะชิโมะโตะแห่งญี่ปุ่น) ซึ่งถ้าในขณะนั้นเกาหลีเป็นรัฐเอกราช พระองค์จะทรงดำรงพระอิสริยยศเป็น มกุฎราชกุมารแห่งเกาหลี
ภายหลังจากการล่มสลายของอดีตประธานาธิบดี อี ซิงมัน ประธานาธิบดีคนแรกแห่งสาธารณรัฐเกาหลี (ซึ่งเป็นเชื้อพระวงศ์ของราชวงศ์โชซอน[ต้องการอ้างอิง]) ซึ่งขณะนั้นได้พยายามกีดกันการกลับมาของพระบรมวงศานุวงศ์ทุกวิถีทางเนื่องจากกังวลว่าจะกลับคืนสู่อำนาจอีกครั้งและทำให้อำนาจของตนเองสั่นคลอน[ต้องการอ้างอิง] แต่ในที่สุดพระองค์ก็ได้เสด็จกลับมาประทับในสาธารณรัฐเกาหลี ในปี พ.ศ. 2506 โดยได้รับการสนับสนุนจากอดีตประธานาธิบดีปัก จองฮี (ผู้นำเผด็จการของสาธารณรัฐเกาหลีในขณะนั้น) โดยให้พำนักในพระตำหนักภายในพระราชวังชางด๊อกกุงเท่านั้น พระองค์จึงเสด็จกลับพร้อมด้วยพระชนนีและพระชายา และภายหลังจากการสรรคตของเจ้าชายอุยมิน พระบิดา ในปี พ.ศ. 2513 พระองค์จึงทรงอ้างสิทธิในราชบัลลังก์จักรพรรดิแห่งเกาหลีและเป็นประมุขแห่งราชวงศ์โชซอนต่อจากพระบิดา
พระองค์ทรงเปลี่ยนที่ประทับบ่อยครั้งระหว่าง สาธารณรัฐเกาหลี และ ญี่ปุ่น จนกระทั่งพระองค์เสด็จสวรรคตในวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2548 ด้วยอาการพระหทัยวาย ณ โรงแรมแกรนด์ปรินซ์อะคะซะกะ (ญี่ปุ่น: Grand Prince Hotel Akasaka ????????????? Gurando Purinsu Hoteru Akasaka ?) ซึ่งเป็นสถานที่ประสูติของพระองค์ เป็นที่ประทับเดิมในขณะที่ยังทรงประทับอยู่ในญี่ปุ่น
หลังจากที่พระองค์สิ้นพระชนม์ พระองค์ได้รับการสถาปนาเป็น เจ้าชายโฮอุนแห่งเกาหลี ทำให้ตำแหน่งประมุขแห่งราชวงศ์โชซอน (รวมถึงการอ้างสิทธิในราชบัลลังก์จักรพรรดิแห่งเกาหลี) ว่างลงเป็นระยะเวลากว่า 1 ปี และเกิดการแย่งชิงราชสมบัติกันเองระหว่าง เจ้าชายวอน รัชทายาทแห่งเกาหลี และเจ้าหญิงเฮวอนแห่งเกาหลี โดยคณะราชนิกุลได้แบ่งเป็น 2 ฝ่าย ได้แก่ ฝ่ายของ เจ้าชายวอน สนับสนุนให้เป็นผู้สืบทอดราชบัลลังก์เนื่องจากทรงเป็นโอรสบุญธรรมในเจ้าชายโฮอุนและได้ประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก สถาปนาเป็นสมเด็จพระจักรพรรดิเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2549 ขณะเดียวกัน เมื่อวันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2549 เจ้าหญิงแฮวอน ก็ได้ทรงประกอบราชพิธีบรมราชาภิเษกขึ้นเสวยราชย์และสถาปนาเป็นสมเด็จพระจักรพรรดินีเช่นเดียวกัน ด้วยการสนับสนุนจากราชนิกูลที่เห็นว่าพระนางทรงมีอาวุโสสูงสุดในราชวงศ์ โดยเรียกพระนางเองว่า สมเด็จพระจักรพรรดินีแห่งเกาหลี โดยมีที่ทำการในตึกแห่งหนึ่งในกรุงโซลและได้รับงบประมาณสนับสนุนจากประชาชนผู้นิยมจักรพรรดิ