เจ้าชายจอร์จแห่งเคมบริดจ์ (อังกฤษ: Prince George of Cambridge; ประสูติ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2556) หรือพระนามเต็มว่า จอร์จ อเล็กซานเดอร์ หลุยส์ (George Alexander Louis) เป็นพระโอรสพระองค์แรกในเจ้าชายวิลเลียม ดยุกแห่งเคมบริดจ์ กับแคเธอริน ดัชเชสแห่งเคมบริดจ์ เป็นพระนัดดาของเจ้าชาลส์ เจ้าชายแห่งเวลส์ กับไดอานา เจ้าหญิงแห่งเวลส์ผู้ล่วงลับ ทั้งเป็นพระปนัดดาของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 กับเจ้าชายฟิลิป ดยุกแห่งเอดินบะระ จึงอยู่ในลำดับที่สามของการสืบสันตติวงศ์อังกฤษ ก่อนประสูติสื่อมวลชนพรรณนาพระโอรสองค์นี้ว่าเป็น "พระกุมารผู้ทรงมีชื่อเสียงที่สุดในโลก"
วันที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2555 พระราชวังเซนต์เจมส์ประกาศว่า ดัชเชสแห่งเคมบริดจ์ทรงครรภ์เป็นครั้งแรก ประกาศนี้มีขึ้นขณะที่ดัชเชสทรงเข้ารับการรักษาพระอาการแพ้ท้องอย่างรุนแรง ณ โรงพยาบาลแม่ชีแอกเนสในพระเจ้าเอดเวิร์ดที่ 7 ซึ่งเป็นเวลาก่อนที่เคยประกาศกันตามธรรมเนียม ครั้นวันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2556 พระราชวังเซนต์เจมส์แถลงว่า ดัชเชสจะทรงให้กำเนิดพระกุมารในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2556 และทรงเจริญพระพลานามัยขึ้นเรื่อย ๆ
วันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2556 ดัชเชสแห่งเคมบริดจ์เสด็จประทับยังห้องลินโดวิง ของโรงพยาบาลเซนต์แมรี เพื่อทรงเตรียมคลอดโดยวิธีเบ่ง โรงพยาบาลนี้เคยเป็นที่ประทับของเจ้าหญิงไดอานาแห่งเวลส์เมื่อทรงคลอดเจ้าชายวิลเลียมใน พ.ศ. 2525 และเจ้าชายแฮร์รีใน พ.ศ. 2527 ตามลำดับ ครั้นเวลา 16:24 นาฬิกา (เวลาฤดูร้อนบริเตน) ของวันนั้น พระกุมารก็ประสูติ มีพระกายหนัก 3.80 กิโลกรัม และเจ้าชายวิลเลียมเสด็จอยู่เคียงข้างพระชายา ณ เวลาทรงคลอด แพทย์ผู้ทำคลอดคือ มาร์คัส เซตเชล อดีตนรีแพทย์ประจำพระองค์สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 พร้อมด้วยผู้ช่วยคือ อะลัน ฟาร์ทิง (Alan Farthing) ผู้สืบตำแหน่งนรีแพทย์ประจำพระองค์ถัดจากเขา
โฆษกเมืองประกาศพระประสูติการแก่บรรดาผู้มาอวยพรนอกโรงพยาบาล ต่อมา เจ้าหน้าที่สำนักพระราชวังแขวนกรอบรูปแสดงประกาศอย่างเป็นทางการบริเวณลานหน้าพระราชวังบักกิงแฮม ประกาศดังกล่าวว่า "ทั้งพระองค์หญิงและพระราชกุมารมีพระพลานามัยดี" และพระราชวังเค็นซิงตันแถลงข่าวว่า "สมเด็จพระราชินีนาถ ดยุกแห่งเอดินบะระ เจ้าชายแห่งเวลส์ ดัชเชสแห่งคอร์นวอล เจ้าชายแฮร์รี กับทั้งพระราชวงศ์ทั้งสองฝ่าย ทรงรับทราบข่าวด้วยความโสมนัสแล้ว" ฝ่ายเจ้าชายแห่งเวลส์และพระชายานั้นก็ "ทรงปลื้มปีติเสด็จมาของพระนัดดาพระองค์แรก" และดำรัสว่า "นับเป็นโอกาสพิเศษอย่างยิ่งสำหรับวิลเลียมและแคเธอริน และเราทั้งสองตื่นเต้นกับพวกเขาอย่างมากที่ได้ลูกชาย" อนึ่ง นี้เป็นครั้งแรกที่พระมหากษัตริย์และผู้สืบสันตติวงศ์สามรุ่นดำรงพระชนม์พร้อมหน้ากัน ภายหลังรัชสมัยสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย
มีการยิงสลุตเป็นสัญญาณแห่งการประสูติ โดยในสหราชอาณาจักร กองทหารมหาดเล็ก กรมทหารม้าปืนใหญ่ (King's Troop, Royal Horse Artillery) ยิงสลุต 41 นัดที่สวนกรีน (Green Park) และหน่วยทหารปืนใหญ่เกียรติยศ (Honourable Artillery Company) ยิงสลุตอีก 61 นัดที่หอคอยแห่งลอนดอน ส่วนที่ประเทศนิวซีแลนด์ กองทหารมหาดเล็กแห่งกรมทหารปืนใหญ่นิวซีแลนด์ (Royal Regiment of New Zealand Artillery) ยิงสลุต 21 นัดที่พอยต์เจอร์นิงแฮม (Point Jerningham) เวลลิงตัน ขณะที่บนเกาะเบอร์มิวดา กรมทหารเบอร์มิวดา (Bermuda Regiment) ยิงสลุต 21 นัดที่อัลบวีพอยต์ (Albouys Point) นอกจากนี้ บรรดาหน่วยงานราชการทั้งทหารและพลเรือนเชิญธงสหภาพขึ้น ณ ที่ทำการด้วย
เจ้าชายวิลเลียมทรงลาราชการกระทรวงกลาโหมเป็นเวลาสองสัปดาห์ แล้วจะแปรพระราชฐานพร้อมด้วยพระชายาและพระโอรสไปยังพระราชวังเค็นซิงตันในช่วงปลายปีนี้ หลังจากที่พระราชวังได้รับการปรับปรุงใหม่เป็นที่รโหฐานโดยใช้เงินหนึ่งล้านยูโร
วันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2556 พระกุมารทรงได้รับประทานพระนามจากพระชนกและพระชนนีว่า จอร์จ อเล็กซานเดอร์ หลุยส์ (George Alexander Louis)
คาดหมายกันว่า พระประสูติการพระโอรสจะก่อให้เกิดรายได้ราวสองร้อยหกสิบล้านยูโรทั่วโลก รายได้หลักมาจากการท่องเที่ยว ของที่ระลึก และเทศกาลอันเกี่ยวข้องกับการประสูติ มีการพรรณนาว่า การทรงครรภ์ของแคเธอรินเป็นความภาคภูมิของชนชาวอังกฤษ ส่วนพระโอรสที่เพิ่งประสูตินั้น หนังสือพิมพ์ เดอะวอชิงตันโพสต์ (The Washington Post) พรรณนาว่าเป็น "พระกุมารผู้ทรงมีชื่อเสียงที่สุดในโลก"
เพื่อสนองต่อสาธารณชนที่สนใจการประสูติมากขึ้น พิพิธภัณฑ์ลอนดอนจึงจัดนิทรรศการเครื่องทรงและสมุดภาพหลวงในวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2556 ขณะที่สื่อมวลชนเสนอภาพของจูเลีย กิลลาร์ด (Julia Gillard) อดีตนายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย กำลังถักไหมพรมเป็นรูปจิงโจ้ เพื่อเตรียมไว้ถวายพระโอรสด้วย นอกจากนี้ อาคารซีเอ็นที่โทรอนโตก็ประดับไฟสีฟ้าเพื่อแถลงการประสูติและเพศของพระโอรส อนึ่ง อาคารสำคัญหลายแห่งของนิวซีแลนด์ อาทิ หอคอยสกายที่ออกแลนด์ ศูนย์มาเจสติกในเวลลิงตัน และหอควบคุมการจราจรทางอากาศ ของท่าอากาศยานนานาชาติไครสต์เชิร์ช ที่ไครสต์เชิร์ช ก็ประดับประดาไฟทำนองเดียวกัน
พอล มีเลอร์ (Paul Mealor) นักประพันธ์ดนตรีชาวเวลส์ ซึ่งเคยแต่งเพลงมงคลสมรสชื่อ "อูบีคาริตัสเอตอามอร์" (Ubi Caritas et Amor) ยังประพันธ์เพลงกล่อมพระบรรทมชื่อ "สลีปออน" (Sleep On) แล้วให้เบรนดัน เกรแฮม (Brendan Graham) นักประพันธ์ชาวไอริชแต่งคำร้อง และให้เฮย์เลย์ เวสเตนรา (Hayley Westenra) นักร้องโซปราโนชาวนิวซีแลนด์ ขับร้องรับขวัญพระโอรสด้วย
ฐานันดรศักดิ์ประกอบพระนามเต็ม คือ ฮิสรอยัลไฮเนสเจ้าชายจอร์จ อเล็กซานเดอร์ หลุยส์ แห่งเคมบริดจ์ (His Royal Highness The Prince George Alexander Louis of Cambridge)
ก่อนได้พระนาม พระราชวังบักกิงแฮมประกาศว่า พระกุมารจะทรมีฐานันดรศักดิ์"เจ้าชาย [[ พระนาม แห่งเคมบริดจ์" (Prince name of Cambridge) ทั้งนี้ เป็นไปตามบรรทัดฐานที่ให้ตั้งชื่อฐานันดรศักดิ์ราชกุมารด้วยสถานที่เดียวกับพระบิดา เจ้าชายวิลเลียม พระบิดาของเจ้าชายจอร์จเอง ก็ทรงเคยมีฐานันดรศักดิ์ว่า เจ้าชายวิลเลียมแห่งเวลส์ ในฐานะที่ทรงเป็นพระโอรสของชาลส์ เจ้าชายแห่งเวลส์
อนึ่ง วันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2460 พระเจ้าจอร์จที่ 5 ตรัสสั่งไว้ว่า ฐานันดรศักดิ์ "รอยัลไฮเนส" นั้นมีไว้สำหรับพระราชบุตรพระมหากษัตริย์ พระราชบุตรของพระราชบุตรพระมหากษัตริย์ และพระราชวงศ์ซึ่งมีพระชนม์อยู่และเป็นพระราชโอรสหัวปีในพระราชโอรสหัวปีซึ่งยังดำรงพระชนม์อยู่ของเจ้าชายแห่งเวลส์ ฉะนั้น ในพระสถานะพระโอรสหัวปีของดยุกแห่งเคมบริดจ์ผู้ซึ่งดำรงพระชนม์อยู่และเป็นพระราชโอรสหัวปีของเจ้าชายแห่งเวลส์ พระกุมารจึงทรงชอบที่จะมีฐานันดรศักดิ์ดังกล่าว
พระกุมารยังทรงอยู่ในลำดับที่ 3 สำหรับการสืบสันตติวงศ์อังกฤษขึ้นปกครองอาณาจักรทั้งสิบหกแห่งในเครือจักรภพ คือ สหราชอาณาจักร แคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ จาเมกา บาร์เบโดส บาฮามาส เกรนาดา ปาปัวนิวกินี หมู่เกาะโซโลมอน ตูวาลู เซนต์ลูเซีย เซนต์วินเซนต์และเกรนาดีนส์ เบลีซ แอนติกาและบาร์บูดา กับเซนต์คิตส์และเนวิส ส่วนสองลำดับก่อนหน้าคือ พระอัยกา และพระบิดา
พระโอรสพระองค์นี้ทรงเป็นสมาชิกราชวงศ์วินด์เซอร์ ทั้งทรงเป็นสมาชิกราชวงศ์ชเลสวิก-ฮอลชไตน์-ซอนเดอร์บูร์ก-กลึคส์บูร์กตามพระชนกด้วย
อ่านบทความฉบับสมบูรณ์ได้ที่ http://th.wikipedia.org/wiki/เจ้าชายจอร์จแห่งเคมบริดจ์