พระบรมราชาธิบดี หรือ พระเจ้ากาวิละ (คำเมือง: ) (พ.ศ. 2285 - พ.ศ. 2358) เป็นพระเจ้านครเชียงใหม่พระองค์แรกแห่งราชวงศ์ทิพย์จักร ปกครองดินแดนล้านนาทั้ง 57 หัวเมือง ตลอดรัชสมัยของพระองค์เป็นช่วงเวลาแห่งการศึกสงครามและสร้างบ้านแปงเมือง ทรงเป็นกษัตริย์ชาตินักรบได้ทรงร่วมกับพระอนุชาทั้ง 6 และกองทัพสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี กอบกู้อิสรภาพแผ่นดินล้านนาออกจากพม่า และนำล้านนาเข้ามาเป็นประเทศราชแห่งสยาม
ด้วยพระปรีชาสามารถและพระเดชานุภาพในการรบ ทรงสามารถขยายขอบขัณฑสีมาแผ่นดินล้านนาออกไปอย่างกว้างใหญ่ไพศาล กอปรกับความจงรักภักดีที่ทรงถวายต่อพระบรมราชวงศ์จักรี พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชจึงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เฉลิมพระนามขึ้นเป็น พระบรมราชาธิบดี ศรีสุริยวงศ์อินทรสุรศักดิ์ สมญามหาขัตติยราชชาติราไชยสวรรย์ เจ้าขัณฑสีมา พระนครเชียงใหม่ราชธานี เป็น พระเจ้าประเทศราช ปกครองล้านนา 57 หัวเมือง ได้แก่ นครเชียงใหม่ และหัวเมืองเหนือทั้งหมด
พระบรมราชาธิบดี มีพระนามเดิมว่า เจ้ากาวิละ ประสูติเมื่อจุลศักราช 1104 ปีจอ จัตวาศก (พ.ศ. 2285) ซึ่งเป็นช่วงเวลาก่อนการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง พระองค์เป็นพระโอรสพระองค์ใหญ่ในเจ้าฟ้าสิงหราชธานี เจ้าฟ้าหลวงชายแก้ว เจ้านครลำปาง กับแม่เจ้าจันทาราชเทวี และเป็นพระราชนัดดา (หลานปู่) พระองค์แรกในพระยาไชยสงคราม (ทิพย์ช้าง) กับแม่เจ้าพิมพาราชเทวี องค์ปฐมบรมกษัตริย์แห่งราชวงศ์ทิพย์จักร
พระเจ้ากาวิละ มีพระอนุชาและพระขนิษฐารวม 10 พระองค์ (หญิง 3 ชาย 7) (เจ้าชายทั้ง 7 พระองค์ได้ทรงช่วยกันต่อสู้อริราชศัตรูขยายขอบขัณฑสีมาล้านนาออกไปอย่างเกรียงไกร เป็นเหตุให้ทั้งเจ็ดองค์มีพระสมัญญาว่า "เจ้าเจ็ดตน") มีพระนามตามลำดับ ดังนี้
พระเจ้ากาวิละ ถึงแก่พิราลัยในปี จ.ศ.1177 เดือนยี่เหนือ แรม 5 ค่ำ วันพุธ (ตรงกับวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2358) ยามแตรบอกเวลาเข้าสู่เที่ยงคืน ทรงปกครองนครเชียงใหม่เป็นระยะเวลานาน 32 ปี สิริพระชนมายุได้ 74 พรรษา
พระเจ้ากาวิละ มีพระโอรสและพระธิดา รวม 5 พระองค์ อยู่ในสกุล "ณ เชียงใหม่" มีพระนามตามลำดับ ดังนี้
ในสมัยปลายพม่าครองล้านนา เมื่อปี พ.ศ. 2313 พระยาจ่าบ้าน (บุญมา) ขุนนางเมืองเชียงใหม่ เกิดวิวาทถึงขั้นใช้กำลังทหารยกกำลังเข้ารบกับโป่มะยุง่วน เจ้านครเชียงใหม่ พระยาจ่าบ้านมีกำลังน้อยสู้ไม่ไหวจึงหนีไปหาโป่สุพลา แม่ทัพพม่าที่เมืองล้านช้าง ต่อมาในปี พ.ศ. 2314 พระเจ้ากรุงธนบุรีได้ยกทัพขึ้นเหนือเพื่อจะขับไล่พม่าที่ครองนครเชียงใหม่อยู่ แต่ก็ยกมาล้อมได้เพียง 9 วันก็เลิกทัพกลับไปตั้งมั่นที่กำแพงเพชร ฝ่ายโปสุพลาทราบว่ากองทัพธนบุรียกทัพขึ้นมาประชิดนครเชียงใหม่ จึงเลิกทัพกลับล้านช้างโดยพาพระยาจ่าบ้านกลับนครเชียงใหม่ ตั้งทัพอยู่ที่ประตูท่าแพ ฝ่ายพระยาจ่าบ้านเห็นโอกาสที่จะปลดแอกจากพม่า จึงใช้คนสนิทไปบอกเจ้ากาวิละ โอรสองค์โตในเจ้าฟ้าชายแก้วแห่งนครลำปาง เจ้ากาวิละตอบตกลง และให้พระยาจ่าบ้านไปชักชวนกองทัพธนบุรีขึ้นมา แล้วเจ้ากาวิละจะไปช่วย พระยาจ่าบ้านจึงออกอุบายรับอาสา โป่สุพลา เป็นกองล่วงหน้าไปสำรวจทาง แล้วถือโอกาสลอบไปเข้าเฝ้าสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ซึ่งตั้งทัพอยู่กำแพงเพชร ขอให้จัดทัพเข้าตีเชียงใหม่อีกครั้งหนึ่ง ขณะเดียวกัน เจ้ากาวิละ พร้อมอนุชาทั้ง 6 หรือที่รู้จักกันในนาม "เจ้าเจ็ดตน" ที่ร่วมกันปกครองดูแลนครลำปาง ก็ได้ร่วมวางอุบายหลอกล่อกองทหารพม่าที่ตั้งมั่นอยู่ที่นครลำปาง ให้ล่าถอยไปรวมกับกองทัพใหญ่ที่นครเชียงใหม่
ครั้นสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีโปรดเจ้าให้เจ้าพระยาจักรี (ทองด้วง) และเจ้าพระยาสุรสีห์ (บุญมา) ยกทัพขึ้นตีนครเชียงใหม่อีกครั้งนั้น เจ้ากาวิละได้นำเสบียงอาหารและไพร่พลเข้าร่วมสมทบกับกองทัพพระเจ้ากรุงธนบุรีขึ้นมาตีนครเชียงใหม่ในปี พ.ศ. 2317 ฝ่ายโปมะยุง่วน เจ้านครเชียงใหม่ไม่สามารถต้านทานได้ พาพวกหลบหนีออกไปทางประตูช้างเผือก ในการนี้ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจึงโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระยาจ่าบ้านขึ้นเป็นพระยาวิเชียรปราการ ครองนครเชียงใหม่ และตั้งนายก้อนแก้ว ผู้เป็นหลาน ขึ้นเป็นพระยาอุปราชนครเชียงใหม่ ขณะเดียวกัน ทรงสถาปนาเจ้ากาวิละขึ้นเป็นพระยานครลำปาง และให้เจ้าหนานธัมมลังกา เป็นพระยาอุปราชนครลำปาง ขึ้นตรงต่อกรุงธนบุรี
ต่อมา ในปี พ.ศ. 2318 พม่าได้ยกทัพใหญ่มาตีนครเชียงใหม่ พระยาวิเชียรปราการ (บุญมา อินทรวิวัฒน์) สู้ไม่ไหว ถึงถอยไปอยู่ที่เมืองระแหง (เมืองตาก) แล้วพม่าได้ยกทัพเข้าตีนครลำปาง พระยากาวิละและอนุชาไม่สามารถต้านทานได้ จึงทิ้งเมืองไปอยู่เมืองสวรรคโลก ถึงปี พ.ศ. 2319 พระยากาวิละและอนุชาจึงยกทัพกลับมาตั้งทั่นที่นครลำปางอีกครั้ง ฝ่ายพระยาวิเชียรปราการที่ได้มอบหมายให้อุปราชก้อนแก้วขึ้นไปสะสมเสบียงอาหารอยู่ที่วังพร้าว เมื่อพระยาวิเชียรปราการยกทัพมาถึง ก็เกิดทะเลาะวิวาทกับอุปราชก้อนแก้วเรื่องเสบียง ซึ่งทำให้พระยาวิเชียรปราการประหารอุปราชก้อนแก้วเสีย
ครั้นกรุงธนบุรีไปตีล้านช้าง เมื่อเจ้าพระยาจักรีและพระยาสุรสีห์ตีเวียงจันทร์ได้แล้ว แม่ทัพทั้งสองได้แต่งกองข้างหลวงออกไปสืบข่าวทางเมืองน่านจนถึงนครลำปาง แต่ข้าหลวงเหล่านั้นได้ประพฤติตนเช่นอันธพาล เที่ยวปล้นโจรกรรมชิงทรัพย์สินด้วยประการต่าง ๆ พระยากาวิละทราบความจึงคุมกำลังเข้าสังหารข้าหลวงเหล่านั้นเสีย พวกที่รอดตายพากันไปกราบทูลพระเจ้ากรุงธนบุรี พระเจ้ากรุงธนบุรีจึงให้มีตราเรียกพระยากาวิละลงมาเข้าเฝ้าที่กรุงธนบุรี ซึ่งพระยากาวิละทราบว่าตนมีความผิดจึงไม่ยอมลงมาจึงขัดตรานั้นถึงสามครั้ง ซึ่งพระยากาวิละก็ได้ไปตีเอาผู้คนจากเมืองลอง เมืองเทิงเพื่อหวังเอาความชอบไถ่โทษ เมื่อพระยาวิเชียรปราการพาผู้คนที่กวาดต้อนลงไปถวายพระเจ้ากรุงธนบุรี จึงมีพระราชโองการให้ลงโทษ พระยาวิเชียรปราการในความผิดฆ่าอุปราชก้อนแก้วผู้เป็นหลาน และลงโทษพระยากาวิละที่ขัดตราด้วยการโบยคนละ 100 ที พร้อมทั้งให้ตัดขอบหูพระยากาวิละทั้งสองข้างในความผิดสังหารข้าหลวง ทั้งสองถูกนำไปขังคุก ในระหว่างที่ถูกคุมขัง พระยากาวิละได้ขออาสาไปตีเมืองเชียงแสนเป็นการไถ่โทษ จึงได้รับพระราชทานอภัยโทษพร้อมกลับคืนฐานันดรศักดิ์ ส่วนพระยาวิเชียรปราการได้ล้มป่วยและเสียชีวิตที่กรุงธนบุรี
เมื่อพระยากาวิละตีเชียงแสนได้แล้ว เป็นช่วงเวลาที่สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ได้ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี พระยากาวิละที่นำไพร่พลและเชลยลงไปเฝ้า ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น พระยาวชิรปราการ เจ้านครเชียงใหม่ พร้อมกันนี้โปรดเกล้าให้ เจ้าหนานธัมลังกาเป็นพระยาอุปราชนครเชียงใหม่ และให้เจ้าคำสม เป็นพระยานครลำปาง และเจ้าดวงทิพ เป็นพระยาอุปราชนครลำปาง
เมื่อพระยาวชิรปราการขึ้นครองนครเชียงใหม่ ขณะนั้นเวียงเชียงใหม่ยังคงเป็นเมืองร้างที่ไร้ผู้คน พระยาวชิรปราการจึงต้องนำไพร่พลไปพักอยู่ที่เวียงเวฬุคาม นานเกือบ 20 ปี ซึ่งระหว่างนั้น ก็ได้ไปกวาดต้อนผู้คนจากที่ต่าง ๆ มาสะสมไว้ที่เวียงเวฬุคาม เพื่อรอฟื้นฟูเวียงเชียงใหม่ จึงเรียกว่ายุคนี้เป็นยุค "เก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง" ครั้นสะสมกำลังพลและพลเมืองพอที่จะดูแลเวียงเชียงใหม่ได้แล้ว จึงได้ยาตราเข้าเวียงเชียงใหม่ เมื่อ พ.ศ. 2334 และได้ฟื้นฟูเวียงเชียงใหม่ให้เป็นศูนย์กลางของล้านนาได้ในเวลาต่อมา โดยได้ขนานนามเวียงเชียงใหม่ว่า เมืองรัตนตึงษาอภินณบุรี เมื่อปี พ.ศ. 2343
ต่อมาพม่าได้ตั้งชาวยูนนานฉายาว่า "ราชาจอมหงส์" มาเกลี้ยกล่อมให้นครเชียงใหม่เข้าร่วมด้วยกับพม่า และอ้างตนเป็นใหญ่เหนือ 57 หัวเมืองล้านนาในนาม เจ้ามหาสุวัณณหังสจักกวัติราช โดยตั้งมั่นเมืองสาด พระยาวชิรปราการตั้งให้อุปราชธัมลังกาและเจ้ารัตนหัวเมืองยกทัพไปตีที่เมืองสาด สามารถจับกุมราชาจอมหงส์ได้ พร้อมกันได้จับตัวส่วยหลิงมณี ทูตพม่าที่ส่งไปเมืองแกว (ญวน) ที่กำลังพำนักที่เชียงตุง นำทั้งสองล่องเรือไปถวายตัวที่กรุงเทพ นับว่ามีความชอบมาก พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาพระยาวชิรปราการขึ้นเป็นพระเจ้าเชียงใหม่ ปกครองดินแดนล้านนาทั้ง 57 หัวเมือง มีพระนามจารึกในพระสุพรรณบัฎว่า พระบรมราชาธิบดี ศรีสุริยวงศ์อินทรสุรศักดิ์ สมญามหาขัตติยราชชาติราไชยสวรรย์ เจ้าขัณฑสีมา พระนครเชียงใหม่ราชธานี ในปี พ.ศ. 2345