ภาวะเงินเฟ้อ (อังกฤษ: inflation) หมายถึง การที่ระดับราคาสินค้าหรือบริการในระยะเวลาหนึ่งสูงขึ้นเรื่อย ๆ อย่างต่อเนื่อง เมื่อราคาสินค้าสูงขึ้น เงินตราหนึ่งหน่วยจึงสามารถซื้อสินค้าและบริการได้น้อยลง ดังนั้นจึงอาจมองได้ว่าภาวะเงินเฟ้อเป็นการสะท้อนถึงอำนาจการซื้อที่ลดลงต่อหนึ่งหน่วยเงินตรา หรือปริมาณการสูญเสียมูลค่าที่แท้จริงของตัวกลางที่ใช้ในการแลกเปลี่ยนสินค้าในระบบเศรษฐกิจ วิธีวัดค่าความเฟ้อของราคาสินค้าทำโดยหาอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งจะคำนวณจากการเปลี่ยนแปลงประจำปีของดรรชนีราคาโดยมีหน่วยเป็นอัตราร้อยละ เงินเฟ้อเป็นภาวะตรงข้ามกับภาวะเงินฝืด
ภาวะเงินเฟ้อมีผลต่อเศรษฐกิจทั้งบวกและลบ ผลเสียที่เกี่ยวข้องกับภาวะเงินเฟ้อรวมถึงการเพิ่มของต้นทุนค่าเสียโอกาสในการไม่ใช้เงินและการทำให้ผู้บริโภคกักตุนสินค้าเนื่องจากประเมินว่าราคาจะเพิ่มขึ้นในอนาคต (หากอัตราเงินเฟ้อเพิ่มอย่างรวดเร้ว)
นักเศรษฐศาสตร์โดยทั่วไปเชื่อว่าภาวะเงินเฟ้อที่มีอัตราสูงและภาวะเงินเฟ้อยิ่งยวดเกิดจากการขยายตัวของปริมาณเงินที่มากเกินไป อย่างไรก็ดีการเพิ่มขึ้นของปริมาณเงินไม่จำเป็นต้องทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อเสมอไป เช่น ในกรณีกับดักสภาพคล่องที่การอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบโดยธนาคารกลางไม่ทำให้เกิดการลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์เนื่องจากมีความกังวลว่าจะเกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์เช่น ภาวะเงินฝืด อุปสงค์มวลรวมที่ไม่เพียงพอหรือสงคราม คนจึงเก็บเงินไม่ใช้จ่ายหรือกู้เพื่อลงทุน มุมมองว่าปัจจัยใดทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อต่ำถึงปานกลางยังแตกต่างกันอยู่มาก ภาวะเงินเฟ้อต่ำจนถึงปานกลางอาจเกิดจากความผันผวนของอุปสงค์ที่แท้จริงในตัวสินค้าและบริการ หรืออาจเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของปริมาณสินค้าเช่นการแคลนสินค้า อย่างไรก็ตามฉันทามติของการเกิดภาวะเงินเฟ้อในระยะยาวเกิดจากการขยายตัวของปริมาณเงินที่เร็วกว่าอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ
ในปัจจุบันนักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่เห็นชอบกับการมีอัตราเงินเฟ้อในระดับต่ำและคงที่ อัตราเงินเฟ้อที่ต่ำ (แทนที่จะเป็นศูนย์หรือติดลบ) จะช่วยลดความรุนแรงของภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจด้วยการช่วยให้ตลาดแรงงานสามารถปรับตัวได้เร็วขึ้น (จากการลดมูลค่าที่แท้จริงของค่าจ้าง) และลดความเสี่ยงของการเกิดกับดักสภาพคล่องซึ่งทำให้นโยบายการเงินไม่สามารถรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจได้ธนาคารกลางมีหน้าที่รักษาอัตราเงินเฟ้อให้ต่ำและมีเสถียรภาพโดยผ่านนโยบายการเงิน ไม่ว่าจะด้วยการตั้งค่าของอัตราดอกเบี้ย การซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดเปิด หรือการตั้งค่าเงินสำรองขั้นต่ำที่ธนาคารพานิชย์พึงมี
การเพิ่มขึ้นของปริมาณเงินที่หมุนเวียนในระบบเกิดขึ้นในสังคมทุกยุคทุกสมัย จะแตกต่างก็เพียงชนิดของเงินที่ใช้ (เช่นธนบัตร เปลือกหอย หรือ อัญมณี) ยกตัวอย่างสมัยที่ยังมีการใช้เหรียญทองคำแทนเงิน รัฐบาลสามารถนำเหรียญทองมาเจือจางด้วยโลหะอื่นๆเช่น เงิน ทองแดง หรือ ตะกั่ว แล้วนำกลับไปใช้ในระบบที่มูลค่าหน้าเหรียญเท่าเดิม การเพิ่มเหรียญให้มากขึ้นโดยใช้ปริมาณทองคำเท่าเดิมถือเป็นการทำกำไรซึ่งในทางเศรษฐศาสตร์เรียกว่า การออกหนี้ (หรือเงิน) โดยไม่มีต้นทุน (หรือลดต้นทุน) เมื่อปริมาณเหรียญในระบบเพิ่มขึ้นมูลค่าที่แท้จริงของเหรียญแต่ละเหรียญจึงลดลง ผู้บริโภคจึงต้องจ่ายเงินมากขึ้นเพื่อแลกเปลี่ยนสินค้าและการบริการในปริมาณเท่าเดิม
ราชวงศ์ซ่งของจีนเป็นผู้ริเริ่มการตีพิมพ์เงินกระดาษหรือธนบัตรและถือเป็นเงินตราที่บังคับให้ประชาชนใช้โดยที่รัฐบาลไม่ต้องถือทุนสำรองครั้งแรกของโลก ในช่วงราชวงศ์หยวนของมองโกลรัฐบาลใช้เงินอย่างมากมายไปกับการศึกสงคราม จึงจัดให้มีการพิมพ์ธนบัตรอย่างมากมายและทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ ปัญหาเงินเฟ้อทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆจนในที่สุดผู้คนหยุดใช้ธนบัตรเนื่องจากเห็นว่าเป็นเพียง "กระดาษไร้ค่า" รัฐบาลในสมัยราชวงศ์หมิงตอนต้นเกรงกลัวต่อสิ่งที่เกิดขึ้นกับราชวงศ์หยวน จึงอนุญาตให้ใช้เงินที่ทำจากเหรียญทองแดงเท่านั้นและไม่มีออกเงินกระดาษจนกระทั่งปีค.ศ. 1375
หลักฐานทางประวัติศาสตร์แสดงให้เห็นว่าการนำทองหรือแร่เงินเข้าสู่ระบบมากขึ้นเรื่อยๆสามารถทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อได้เช่นเดียวกัน ตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 15 จนถึงครึ่งแรกของศควรรษที่ 17 ประเทศยุโรปตะวันตกได้เผชิญกับวงจรเงินเฟ้อครั้งสำคัญซึ่งเรียกว่า การปฏิวัติทางราคา โดยที่สินค้ามีราคาเฉลี่ยเพิ่มขึ้นประมาณหกเท่าภายในเวลา 150 ปี สาเหตุหลักมาจากการหลั่งไหลของแร่เงินและทองจากโลกใหม่เข้าสู่สเปนในสมัยราชวงศ์ฮับส์บูร์กอย่างรวดเร็ว แร่เงินได้กระจายเข้าสู่ยุโรปซึ่งขาดแคลนตัวกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้าส่งผลให้เกิดภาวะเงินเฟ้ออย่างกว้างขวาง ในขณะที่การเพิ่มขึ้นของประชากรในยุโรปหลังการระบาดครั้งใหญของโรคกาฬโรคถือเป็นส่วนเสริมให้มีการขยับขึ้นของราคาสินค้าเช่นเดียวกัน
ในช่วงศตวรรษที่ 19 นักเศรษฐศาสตร์ชี้ให้เห็นว่าการขึ้นลงของราคาสินค้ามีสาเหตุมาจาก 3 ปัจจัยได้แก่ การเปลี่ยนแปลงมูลค่าพื้นฐานหรือค่าใช้จ่ายในการผลิตสินค้า การเปลี่ยนแปลงราคาของสินค้าโภคภัณฑ์ซึ่งก็คือแร่โลหะที่เกี่ยวข้องกับสกุลเงินนั้นๆเช่น ทองคำ หรือ เงิน และ "การลดค่าของสกุลเงิน" ซึ่งขึ้นอยู่กับอัตราส่วนของปริมาณเงินตรากับปริมาณของโลหะสำรองที่เงินตรานั้นๆสามารถนำไปแลกได้ หลังจากมีการใช้บัตรธนาคาร (ซึ่งออกโดยธนาคารพาณิชย์) อย่างแพร่หลายในช่วงสงครามกลางเมืองอเมริกา คำว่า "ภาวะเงินเฟ้อ" จึงเริ่มมีความหมายตรงกับการลดค่าของสกุลเงิน เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของบัตรธนาคารได้แซงปริมาณของโลหะที่บัตรธนาคารนั้นๆสามารถทำไปแลกได้ ในสมัยนั้น "ภาวะเงินเฟ้อ" จึงหมายถึงการลดค่าของสกุลเงินแทนที่จะหมายถึงการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้า
นักเศรษฐศาสตร์แบบคลาสสิคเช่น เดวิด ฮูม และ เดวิด ริคาร์โด ชี้ให้สังคมเห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างปริมาณที่มากเกินไปของบัตรธนาคารและการลดค่าของตัวบัตร และภายหลังได้ทำการตรวจสอบและอภิปรายผลกระทบของการลดค่าของสกุลเงินที่มีเพิ่มขึ้นของราคาสินค้า
ในช่วงศตวรรษที่ 18 หลายประเทศนำระบบเงินกระดาษที่รัฐบาลไม่ต้องถือทุนสำรองมาใช้ จึงทำให้เกิดสกุลเงินต่างๆขึ้นมากมาย นับตั้งแต่สมัยนั้นการเพิ่มขึ้นของการใช้เงินกระดาษส่งผลให้เกิดภาวะเงินเฟ้อยิ่งยวดหลายครั้งในหลายประเทศ และในแต่ละครั้งมีความรุนแรงมากกว่าในสมัยที่ยังใช้เงินที่ทำจากแร่โลหะ ภาวะเงินเฟ้อยิ่งยวดในสาธารณรัฐไวมาร์ของเยอรมนีเป็นถือเป็นตัวอย่างที่น่าสนใจ
ในอดีตคำว่า "ภาวะเงินเฟ้อ" มักถูกใช้เพื่ออ้างถึงการเพิ่มขึ้นของปริมาณเงินที่ไหลเวียนในระบบ แต่ในปัจจุบันนักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ใช้คำว่า "ภาวะเงินเฟ้อ" เพื่อกล่าวถึงการเพิ่มขึ้นของระดับราคาสินค้า โดยใช้คำว่าความเฟ้อของตัวเงิน (monetary inflation) เพื่อเจาะจงเวลาต้องการสื่อถึงการเพิ่มขึ้นของปริมาณเงิน และใช้ความเฟ้อของราคา (price inflation) เพื่อบอกถึงการเพิ่มของราคาสินค้า
ตามหลักการ "ภาวะเงินเฟ้อ" หมายถึงการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าทั่วๆไป หากราคาสินค้าเพิ่มขึ้นเฉพาะสินค้าชนิดใดชนิดหนึ่งตัวอย่างเช่น ถ้ามะเขือเทศแพงขึ้นในขณะที่แตงกวาถูกลงนั่นไม่ถือว่าเกิดจากภาวะเงินเฟ้อ ภาวะเงินเฟ้อสามารถเห็นได้ง่ายหากสกุลเงินถูกผูกไว้กับทองคำ หากมีการค้นพบทองคำมากๆปริมาณทองคำจะสามารถแลกสินค้าได้น้อยลง ดังนั้นผู้ซื้อต้องนำทองคำหรือสกุลเงินซึ่งถูกผูกไว้กับทองคำนั้นๆในปริมาณมากกว่าเดิมไปแลกสินค้า
คำศัพท์อื่นๆที่เกี่ยวข้องกับอัตราเงินเฟ้อรวมถึง ภาวะเงินฝืด (การลดลงของราคาสินค้า), ภาวะเงินเฟ้อลด (การลดลงของอัตราเงินเฟ้อ), ภาวะเงินเฟ้อยิ่งยวด (ภาวะเงินเฟ้อที่สูงขึ้นเรื่อยๆอย่างไม่สามารถควบคุมได้), ภาวะชะงักงันที่มีเงินเฟ้อ (เหตุการณ์ที่มีภาวะอัตราเงินเฟ้อร่วมกับการชะลอการเติบโตทางเศรษฐกิจและการว่างงานสูง), การเพิ่มอัตราการหมุนเวียนเงินในประเทศ (ความพยายามที่จะยกระดับของราคาสินค้าเพื่อรับมือภาวะเงินฝืด) และ เงินเฟ้อในราคาสินทรัพย์ (การเพิ่มขึ้นของสินทรัพย์ทางการเงินที่ไม่สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของราคาของสินค้าและบริการ)
อัตราเงินเฟ้อสามารถคำนวณได้จากดรรชนีราคาผู้บริโภค ซึ่งเกิดจากการนำราคาสินค้าและการบริการที่ครอบครัวหรือผู้บริโภคซื้อหาเป็นประจำมาคำนวณ และ ดัชนีราคาผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ซึ่งนำเอาราคาสินค้าและบริการทั้งหมดที่ผลิตในประเทศมาคำนวณ
ในประเทศไทยสำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์มีหน้าที่รับผิดชอบในการคำนวณและประกาศตัวเลขเงินเฟ้ออย่างเป็นทางการ
ปัจจุบันเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางแล้วว่าทฤษฎีปริมาณเงินเป็นทฤษฎีที่สามารถใช้อธิบายและคาดการณ์รูปแบบของเงินเฟ้อในระยะยาวได้ดีสุด ดังนั้นข้อตกลงในหมู่นักเศรษฐศาสตร์เกี่ยวกับเงินเฟ้อก็คือ อัตราเงินเฟ้อในระยะยาวจะขึ้นอยู่กับอัตราการขยายตัวของปริมาณเงิน อย่างไรก็ตามสาเหตุของการเกิดภาวะเงินเฟ้อในระยะสั้นและกลางอาจมาจากแรงกดดันอุปสงค์ (ความต้องการสินค้าและบริการที่เพิ่มขึ้น) และอุปทาน (ต้นทุนในการผลิตสินค้าสูงขึ้น) ในระบบเศรษฐกิจ และความการเปลี่ยนแปลงของค่าจ้าง ราคาสินค้าและอัตราดอกเบี้ย คำถามสำคัญจึงอยู่ที่ว่าเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นในระยะสั้นและกลางจะมีผลกระทบมากหรือน้อยต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมหรือไม่อย่างไร นี่คือหัวข้อหลักของการโต้เถียงระหว่างนักเศรษฐศาสตร์ทฤษฎีสำนักการเงินนิยมและนักเศรษฐศาสตร์สำนักเคนส์ ในมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์ทฤษฎีสำนักการเงินนิยม ราคาและค่าจ้างมักปรับตัวไปพร้อม ๆ กันพอที่จะทำให้ไม่เกิดผลกระทบกับระบบเศรษฐกิจระยะยาว ในมุมมองนักเศรษฐศาสตร์สำนักเคนส์ ราคาสินค้าและค่าจ้างปรับมักปรับตัวไปไม่พร้อมกันทำให้ความเกิดความแตกต่างที่ทำให้เกิดผลกระทบกับระบบเศรษฐกิจในระยะยาว
นักเศรษฐศาสตร์ทฤษฎีสำนักการเงินนิยมใช้ทฤษฎีปริมาณเงินเพื่ออธิบายว่า ภาวะเงินเฟ้อจะมีความสัมพันธ์โดยตรงกับปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจ กล่าวคือ ถ้ามีการพิมพ์ธนบัตรหรือผลิตเหรียญเพิ่มขึ้นในระบบเศรษฐกิจ จะทำให้มูลค่าของเงินลดลง เนื่องจากมีปริมาณของเงินในมือของผู้บริโภคและผู้ผลิตเพิ่มขึ้น อำนาจการซื้อที่เพิ่มขึ้นจากการมีเงินเพิ่มขึ้น ผลักดันให้มีการแย่งชิงสินค้าและบริการซึ่งหากเศรษฐกิจเติบโตไม่ทันกับการขยายตัวของปริมาณเงิน ก็จะทำให้ราคาสินค้าเพิ่มสูงขึ้น หรือเกิดภาวะเงินเฟ้อตามมา ด้วยเหตุผลนี้นักเศรษฐศาสตร์ทฤษฎีสำนักการเงินนิยมจึงพิจารณาว่าการแก้ไขปัญหาราคาสินค้าขึ้นของรัฐบาลไม่ว่าจะโดยออกนโยบายการคลัง ลดภาษีหรือเพิ่มการใช้จ่ายของรัฐถือเป็นวิธีที่ไม่มีประสิทธิภาพและไม่สามารถควบคุมอัตราเงินเฟ้อได้จริง
นักเศรษฐศาสตร์ทฤษฎีสำนักการเงินนิยมมักกล่าวว่าการศึกษาเชิงประจักษ์ของประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการเงินได้แสดงให้เห็นแล้วว่าอัตราเงินเฟ้อเป็นปรากฏการณ์ที่เกี่ยวข้องกับปริมาณของเงินในระบบเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว ดูสมการทฤษฎีปริมาณเงิน MV = PQ M แทนปริมาณเงิน V แทนการหมุนเวียนของเงินเป็นครั้ง P แทนราคาสินค้า Q แทนปริมาณสินค้า %?M+%?V = %?P+%?Q %?M แทนอัตราการเปลี่ยนแปลงของปริมาณเงิน %?V แทนอัตราการหมุนเวียนของเงิน %?P แทนอัตราการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้า หรืออัตราเงินเฟ้อ %?Q แทนอัตราการเปลี่ยนแปลงของปริมาณสินค้า หรือ GDP ตัวอย่างเช่น นาย A ไปซื้อของ 1 ชิ้นก็จะเป็นรายได้ของพ่อค้าซึ่งพ่อค้าก็จะเอาธนบัตร 100 บาทของนาย A ไปซื้อของต่อ ตามตัวอย่างนี้ปริมาณเงินทั้งระบบมีเพียงธนบัตร 100 บาทใบเดียว (M = 100) แต่ใช้ 2 ครั้ง (V = 2) จะเท่ากับซื้อของได้ 2 ชิ้น (Q = 2) ชิ้นละ 100 บาท (P = 100) เนื่องจาก V หรือ การหมุนเวียนของเงินของทั้งระบบเป็นสิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์ทฤษฎีสำนักการเงินนิยมเชื่อว่ารัฐบาลควบคุมไม่ได้และไม่ค่อยเปลี่ยนแปลงในระยะยาว ดังนั้น %?V จึงใกล้เคียงหรือเท่ากับ 0 หากรัฐบาลผลิตเงินตราเข้าสู่ระบบมากเกินกว่าอัตราการเปลี่ยนแปลงของปริมาณสินค้า (%?M มากกว่า %?Q) ก็จะเป็นแรงกดดันให้ราคาสินค้าเพิ่ม (%?P จะเป็นบวก) หรือทำให้เกิดเงินเฟ้อ ในทางกลับกันหากรัฐบาลนำเงินตราเข้าระบบน้อยเกินไป (%?M น้อยกว่า %?Q) เมื่อเทียบกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ก็อาจส่งผลให้เกิดเงินฝืด (%?P เป็นลบ)
ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ของเคนส์กล่าวว่าการเปลี่ยนแปลงในปริมาณของเงินในระบบเศรษฐกิจจะไม่ส่งผลโดยตรงต่อราคาสินค้า ราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นเป็นผลจากแรงกดดันในทางเศรษฐกิจ สาเหตุหรือแรงกดดันที่นำไปสู่การเกิดเงินเฟ้อแบ่งได้เป็น 3 สาเหตุหลัก ๆ ซึ่งโรเบิร์ต เจ กอร์ดอน เรียกว่า "Triangle Model" ได้แก่
รัฐบาลและธนาคารกลางส่วนใหญ่ใช้นโยบายการเงินเพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อ ตัวอย่างเช่น ธนาคารกลางสหรัฐสามารถเพิ่มอัตราดอกเบี้ย ชะลอหรือหยุดการผลิตเงิน เพื่อให้เกิดการลดปริมาณของเงินในระบบ ธนาคารกลางบางแห่งมีเป้าหมายควบคุมเงินเฟ้อแบบสมมาตร (symmetrical inflation target) กล่าวคือควบคุมไม่ให้อัตราเงินเฟ้อต่ำหรือสูงเกินไป ในขณะที่ธนาคารกลางบางแห่งจะเพียงควบคุมอัตราเงินเฟ้อเมื่ออัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นสูงกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้
ธนาคารกลางส่วนใหญ่จะได้รับมอบหมายให้รักษาอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ระหว่างธนาคารภายในประเทศในระดับที่ต่ำ ซึ่งโดยปกติจะมีเป้าหมายคงอัตราดอกเบี้ยนี้ไว้ที่ประมาณ 2% ถึง 3% ซึ่งจะอยู่ในช่วงเป้าหมายประจำปีของอัตราเงินเฟ้อซึ่งมีค่าประมาณ 2% ถึง 6% ธนาคารกลางมักกำหนดเป้าหมายอัตราเงินให้เฟ้อต่ำ แต่ไม่เป็นลบเพราะผู้บริหารธนาคารกลางส่วนใหญ่เชื่อว่าภาวะเงินฝืดนั้นเป็นอันตรายต่อเศรษฐกิจ
การปรับอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้นสามารถทำให้ปริมาณของเงินในระบบลดลงได้ เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นทำให้คนขอสินเชื่อน้อยลง โดยปกติเงินใหม่ที่จะถูกสร้างขึ้นจะถูกนำไปใช้ในรูปแบบของสินเชื่อหรือการปล่อยเงินกู้จากธนาคาร หรือพูดอีกนัยหนึ่งก็คือหากธนาคารต้องการจะปล่อยเงินกู้ ธนาคารจำต้องสร้างเงินใหม่เพื่อนำไปใช้ปล่อยสินเชื่อ ดังนั้นเมื่อไหร่ก็ตามที่มีการปล่อยกู้เงิน เงินในระบบจึงมีปริมาณมากขึ้น และหากลูกหนี้จ่ายคืนเงินกู้ ธนาคารก็สามารถที่จะทำลายเงินนั้นทำให้ปริมาณเงินในระบบลดลง ยกตัวอย่างเช่นในต้นปี 1980 เมื่ออัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐเพิ่มขึ้นเกินกว่าร้อยละ 15 ปริมาณเงินของธนาคารกลางสหรัฐมีค่าลดลงถึงร้อยละ 8.1 จาก 8.6 ล้านล้าน เหลือเพียง 7.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
นักเศรษฐศาสตร์ทฤษฎีสำนักการเงินนิยมจะเน้นอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่องของเงินและการใช้นโยบายการเงินเพื่อควบคุมเงินเฟ้อโดยเพิ่มอัตราดอกเบี้ยและชะลอการเพิ่มขึ้นของปริมาณเงิน ในขณะที่นักเศรษฐศาสตร์สำนักเคนส์จะเน้นการลดอุปสงค์รวมในช่วงที่มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และการสร้างอุปสงค์ขึ้นในช่วงที่เศรษฐกิจถดถอย เพื่อให้อัตราเงินเฟ้อมีเสถียรภาพ การควบคุมของอุปสงค์รวมในมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์สำนักเคนส์สามารถทำได้โดยใช้นโยบายการเงินและนโยบายการคลัง (เช่นการเก็บภาษีเพิ่มหรือลดการใช้จ่ายของภาครัฐเพื่อลดอุปสงค์รวม)
ระบบการตรึงอัตราแลกเปลี่ยนของสกุลเงิน หมายถึงการผูกมูลค่าของสกุลเงินนั่นๆให้เท่ากับมูลค่าของสกุลเงินของประเทศใดประเทศหนึ่ง (ที่มีความแข็งแกร่งเช่น เงินดอลล่าร์สหรัฐ) หรือสกุลเงินของหลายๆประเทศ การตรึงอัตราแลกเปลี่ยนสามารถนำมาใช้เพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อได้ แต่เนื่องจากมูลค่าของสกุลเงินที่นำมาอ้างอิงมีการเพิ่มและลดลงตลอดเวลา ดังนั้นมูลค่าของเงินในประเทศที่อยู่ภายใต้ระบบการตรึงอัตราแลกเปลี่ยนจึงเปลี่ยนแปลงขึ้นลงตามมูลค่าของสกุลเงินที่นำมาอ้างอิง ซึ่งหมายความว่าอัตราเงินเฟ้อของประเทศนั้นๆจะถูกกำหนดโดยอัตราเงินเฟ้อของประเทศที่เป็นเจ้าของสกุลเงินที่นำมาอ้างอิง ดังนั้นการตรึงอัตราแลกเปลี่ยนจึงทำให้รัฐบาลไม่สามารถใช้นโยบายการเงินของตัวเองในการที่จะบรรลุเสถียรภาพทางเศรษฐกิจมหภาคได้
ภายใต้ข้อตกลงเบรตตันวูดส์ ประเทศหลายๆประเทศทั่วโลกได้ทำการตรึงอัตราแลกเปลี่ยนไว้กับดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งมีประโยชน์ในการจำกัดการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อ แต่ข้อเสียคือทำให้ประเทศเหล่านั้นตกเป็นเป้าของการโจมตีค่าเงิน ดังนั้นภายหลังจากที่ข้อตกลงเบรตตันวูดส์มีอันเป็นที่สิ้นสุดลงในช่วงต้นปีค.ศ. 1970 ประเทศต่างๆจึงได้ทยอยหันไปใช้อัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัว อย่างไรก็ดีในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 มีหลายประเทศ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มประเทศในทวีปอเมริกาใต้เช่น อาร์เจนตินา (ค.ศ.1991-2002), โบลิเวีย, บราซิลและชิลี) ได้หวนกลับไปใช้การตรึงอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อ
ระบบมาตรฐานทองคำเป็นระบบการเงินที่ประเทศต่างๆใช้เพื่อแลกเปลี่ยนสกุลเงิน โดยแต่ละประเทศจะต้องกำหนดความสัมพันธ์เชิงปริมาณระหว่างหน่วยเงินของประเทศของตัวเองกับทองคำ ในระบบนี้สกุลเงินของประเทศต่างๆไม่ถือว่ามีมูลค่าด้วยตัวของมันเอง แต่ผู้ค้ายอมรับตัวเงินเนื่องจากสามารถนำไปแลกเปลี่ยนเป็นทองคำได้ ตัวอย่างเช่น ธนบัตรดอลล่าร์สหรัฐในอดีตจะมีการประทับตรารับรองบนธนบัตรว่าสามารถนำไปแลกเป็นแร่เงินได้จากรัฐบาล
มาตรฐานทองคำได้ถูกเลิกใช้ไปบางส่วนภายหลังการนำข้อตกลงเบรตตันวูดส์มาใช้ ภายใต้ระบบนี้เงินสกุลใหญ่ทุกสกุลจะถูกตรึงให้มีอัตราคงที่กับเงินดอลลาร์ ในขณะที่เงินดอลลาร์จะถูกผูกติดอยู่กับทองคำในอัตรา 35 ดอลล่าร์สหรัฐต่อออนซ์ ระบบเบรตตันวูดส์มีอันเป็นที่สิ้นสุดลงในปี 1971 ทำให้ประเทศส่วนใหญ่เปลี่ยนไปใช้ระบบเงินกระดาษที่รัฐบาลไม่ต้องถือเงินทุนสำรอง ซึ่งหมายถึงการที่เงินตรามีค่าตามที่กฎหมายของแต่ละประเทศเป็นผู้กำหนด
ศาสตราจารย์ไวท์ (Lawrence H. White) และฮาเยค (F. A. Hayek) ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านประวัติศาสตร์ของระบบเศรษฐกิจได้กล่าวไว้ว่า หากระบบเศรษฐกิจขึ้นอยู่กับมาตรฐานทองคำโอกาสที่ประเทศจะพบอัตราเงินเฟ้อสูงกว่าร้อยละ 2 ต่อปีนั้นมีอยู่น้อยมาก อย่างไรก็ตามในอดีตที่ผ่านมา สหรัฐต้องพบกับอัตราเงินเฟ้อที่สูงกว่า 2% หลายครั้งและจุดที่สูงที่สุดของอัตราเงินเฟ้อเกิดขึ้นภายใต้มาตรฐานทองคำ เมื่อเทียบกับอัตราเงินเฟ้อภายหลังจากที่มาตรฐานทองคำได้ถูกยกเลิกไปแล้ว ภายใต้ระบบมาตรฐานทองคำ อัตราเงินเฟ้อ (หรือภาวะเงินฝืด) ในระยะยาวจะถูกกำหนดโดยอัตราการเติบโตของปริมาณของทองคำที่ถูกผลิตขึ้น จึงมีผู้วิจารณ์ว่าระบบทองคำทำให้เกิดความผันผวนของอัตราเงินเฟ้อ และนโยบายการเงินจะถูกกำหนดจากผลผลิตการทำเหมืองแร่ทองคำเป็นหลัก
การควบคุมค่าจ้างและราคาสินค้านั้นเป็นอีกหนึ่งวิธีที่มีการนำมาใช้เพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อในอดีต การควบคุมค่าจ้างและราคาสินค้ามักจะทำให้เกิดผลดีในช่วงภาวะสงครามเมื่อนำมาใช้ร่วมกับการปันส่วนอาหารและเครื่องบริโภค อย่างไรก็ตามในบริบทอื่นๆ ผลลัพธ์ของการควบคุมราคาสินค้ามีทั้งดีและร้าย ตัวอย่างความล้มเหลวของการควบคุมเงินเฟ้อด้วยวิธีนี้สามารถเห็นได้อย่างชัดเจนในกรณีการกำหนดค่าจ้างและการควบคุมราคาโดยประธานาธิบดีบดี ริชาร์ด นิกสัน ในปีค.ศ. 1972 ในขณะที่ตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จจะเห็นได้จากข้อตกลงราคาสินค้าและค่าจ้างของออสเตรเลีย และข้อตกลงวาสเสนน่าของประเทศเนเธอร์แลนด์
โดยทั่วไปการควบคุมค่าจ้างและราคาสินค้าจะถูกมองว่าเป็นเพียงมาตรการชั่วคราวซึ่งสามารถนำมาใช้เฉพาะในกรณีพิเศษ และจะมีประสิทธิภาพก็ต่อเมื่อใช้ร่วมกับนโยบายที่ออกแบบมาเพื่อแก้ต้นเหตุของภาวะเงินเฟ้อ ยกตัวอย่างเช่น ประเทศเข้าสู่ภาวะสงครามก่อให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ จึงใช้การควบคุมค่าจ้างและราคาสินค้าชั่วคราว ในขณะที่รัฐบาลควรออกนโยบายแก้ปัญหาต้นเหตุของภาวะเงินเฟ้อซึ่งก็คือการยุติหรือการมีชัยชนะจากสงคราม การควบคุมค่าจ้างและราคาสินค้าก่อให้เกิดความเสียหายแก่ระบบเศรษฐกิจอย่างมาก เนื่องจากเป็นการส่งสัญญาณที่บิดเบี้ยวไปยังตลาด การบังคับให้ขายสินค้าในราคาต่ำมักจะเป็นต้นเหตุของการจำกัดการกระจายและการขาดแคลนสินค้า และการทำให้นักลงทุนไม่อยากนำสินค้ามาขายในอนาคต ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการขาดแคลนสินค้าให้เพิ่มขึ้นมากกว่าเดิม หากจะใช้การวิเคราะห์ทางเศรษฐศาสตร์อาจกล่าวได้ว่าผลิตภัณฑ์หรือบริการใด ๆ ที่มีราคาต่ำจะมีการบริโภคสูง และเมื่อเป็นเช่นนั้น ปริมาณของผลิตภัณฑ์นั้นๆในตลาดจะลดต่ำลง หากไม่มีการปรับตัวของราคาสินค้าให้กลับมา ณ จุดเดิมก็จะไม่เกิดการลงทุนเพื่อผลิตผลิตภัณฑ์นั้นๆเพิ่มเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดในอนาคต และจะส่งผลให้เกิดการขาดแคลนสินค้าอย่างรุนแรงในระยะยาว