เงินพดด้วง
พดด้วง เป็นเงินตราของไทยโบราณ ใช้แลกเปลี่ยนหมุนเวียนในประเทศไทยเป็นเวลายาวนาน ประมาณกว่า 600 ปี ตั้งแต่กรุงสุโขทัย อยุธยาจนถึง กรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น โดยทำจากแท่งเงินบริสุทธิ์ตามน้ำหนักพิกัดของราคา ทุบปลายทั้งสองข้างให้งอเข้าหากัน มีรูปร่างคล้ายลูกปืนโบราณ ชาวต่างประเทศเรียกเงินชนิดนี้ว่า “Bullet Coin” ในสมัยสุโขทัย ยังไม่มีการผูกขาดการผลิต เงินพดด้วง จึงมีความหลากหลายในเนื้อเงินที่ใช้ทำ ตลอดจนน้ำหนักและขนาด ต่อมา ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ทางการจึงห้ามราษฎรผลิตเงินตราขึ้นเอง เงินพดด้วงจึงได้มาตรฐาน และมีตราประทับ 2 ดวงเป็นสำคัญ คือ ตราประจำแผ่นดินและตราประจำรัชกาล เงินพดด้วงใช้หมุนเวียนอยู่เป็นระยะเวลายาวนาน จนถึงในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) การค้าเฟื่องฟู การผลิตเงินพดด้วงด้วยแรงงานคน ไม่สามารถจะผลิตได้ทันความต้องการ ด้วยความจำเป็นต้องรีบผลิตเงินตราจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สั่งเครื่องทำเหรียญกษาปณ์เข้ามา แต่ก็ยังให้ใช้เงินพดด้วงต่อไป จนมีการประกาศยกเลิก วันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2447 และให้ใช้เหรียญกษาปณ์กลมแบนตามแบบของยุโรปเป็นเงินตราของประเทศไทย
อ่านบทความฉบับสมบูรณ์ได้ที่ http://th.wikipedia.org/wiki/เงินพดด้วง
|