สภาที่ปฤกษาราชการแผ่นดิน (Council of State หรือ Supreme Council of the State) เป็นสภาที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้แต่งตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2417 ประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 12 คน มีหน้าที่ถวายคำปรึกษาและความคิดเห็นต่างๆ ด้านนิติบัญญัติ โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นประธานในที่ประชุม เมื่อข้อราชการใดเป็นที่เห็นชอบของเสียงส่วนใหญ่ในที่ประชุม ก็ให้ออกเป็นกฎหมายบังคับใช้ต่อไป
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตรา พระราชบัญญัติเคาน์ซิลออฟสเตด พุทธศักราช ๒๔๑๗ ระบุที่มาของสมาชิกสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน ว่า
พระบาทสมเดจพระเจ้าอยู่หัว จะทรงตั้งราชตระกูล แลข้าราชการซึ่งมีตระกูล แลผู้มีสติปัญญาว่องไวเฉียบแหลมรอบรู้ในราชกิจการต่างๆ ที่มีชื่อเสียงปรากฏ เปนที่ปฤกษาราชการแผ่นดิน ซึ่งเรยกตามภาษาอังกฤษว่า เคาน์ซิลลอร์ออฟสเตด ตั้งแต่ ๑๐ นายขึ้นไป ไม่ให้เกิน ๒๐ นายออกไป...
ผลงานร่างกฎหมายที่สำคัญของเคาน์ซิลออฟสเตด ได้แก่ การออกพระราชบัญญัติเกษียณอายุลูกทาสลูกไทย ประกาศเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2417 เพื่อกำหนดค่าตัวลูกทาสให้สูงสุดตอนเป็นเด็ก แล้วมีค่าตัวลดลงทุกปีจนหลุดพ้นเป็นไทได้จนหมดประเทศ เมื่อวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2448
ต่อมาเคาน์ซิลออฟสเตดไม่กล้าถวายความเห็นในข้อกฎหมาย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ยุบเลิกสภาที่ปฤกษาราชการแผ่นดิน จากนั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชบัญญัติรัฐมนตรี ร.ศ. 113 ขึ้นในปี พ.ศ. 2437 เพื่อจัดตั้ง รัฐมนตรีสภา ให้มี รัฐมนตรี ทำหน้าที่ถวายคำปรึกษา เกี่ยวกับการออกแบบและการแก้ไขกฎหมายเก่า และคิดทำกฎหมายใหม่แทนเคาน์ซิลออฟสเตด