เขื่อนสิรินธร เป็นเขื่อนดินเอนกประสงค์ที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า ตั้งอยู่ในอำเภอสิรินธร (เดิมคือ อำเภอพิบูลมังสาหาร) จังหวัดอุบลราชธานี
เขื่อนสิรินธร เริ่มก่อสร้างในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2511 และมีการวางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2512 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เชิญพระนามของ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ขนานนาม เขื่อนว่า “สิรินธร” โดยตัวเขื่อน และระบบส่งไฟฟ้าระยะแรก สร้างเสร็จในปี พ.ศ. 2514
ในวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดเขื่อนสิรินธร จากนั้นเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2515 สำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ได้ส่งมอบเขื่อนสิรินธรให้อยู่ในความรับผิดชอบของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ดังเช่นปัจจุบัน
เขื่อนสิรินธร เป็นเขื่อนหินถมแกนดินเหนียว สร้างปิดกั้นแม่น้ำลำโดมน้อยอันเป็นสาขา ของแม่น้ำมูล ที่บริเวณแก่งแซน้อย ตำบลช่องเม็ก อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี ตัวเขื่อนมีความสูง 42 เมตร ยาว 940 เมตร สันเขื่อนกว้าง 7.5 เมตร อ่างเก็บน้ำ มีพื้นที่ประมาณ 288 ตารางกิโลเมตรสามารถกักเก็บน้ำได้ 1,966.5 ล้านลูกบาศก์เมตร ที่ระดับกักเก็บน้ำสูงสุด 142.2 เมตร (จากระดับน้ำทะเลปานกลาง) โรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสิรินธร ติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าไว้ 3 เครื่อง ขนาดกำลังผลิตเครื่องละ 12,000 กิโลวัตต์ รวมกำลังผลิตทั้งสิ้น 36,000 กิโลวัตต์
นอกประโยชน์ในการผลิตกำลังไฟฟ้าแล้ว เขื่อนสิรินธรยังเป็นแหล่งประมง และแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดอุบลราชธานี โดยบริเวณเขื่อนได้มีการจัดสร้าง "สวนสิรินธร" เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อปี พ.ศ. 2533 โดยมีพิธีเปิดสวนอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จเป็นประธาน