เกาะยอ เป็นเกาะหนึ่งที่ตั้งอยู่กลางทะเลสาบสงขลาตอนล่าง มีฐานะเป็นตำบลหนึ่งในอำเภอเมือง จังหวัดสงขลา ตัวเกาะมีพื้นที่ทั้งหมด 15 ตารางกิโลเมตร หรือ 9,275 ไร่ ประชากรเป็นชาวไทยเชื้อสายจีน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม
เกาะยอ มีผลิตภัณฑ์จากหัตถกรรมที่มีชื่อเสียงคือ ผ้าทอเกาะยอ ที่มีลวดลายเป็นเอกลักษณ์ โดยเฉพาะลาย "ราชวัตถ์" ที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานชื่อลายผ้าดังกล่าว
เกาะยอ ปรากฏหลักฐานการมีอยู่ครั้งแรกจากแผนภาพการกัลปนาวัดพะโคะ ที่เขียนขึ้นช่วงปี พ.ศ. 2223 ถึง พ.ศ. 2242 ระบุชื่อว่า "เข้าก้อะญอ" ปรากฏอยู่ปลายสุดของแผนที่ เป็นภาพเขาเกาะยอที่มีพรรณไม้บนภูเขาแต่ไม่ปรากฏรูปสัตว์ป่า และปรากฏอีกครั้งในแผนที่เมืองสงขลาที่เขียนขึ้นในปี พ.ศ. 2230 โดยมองเดียร์ เดอลามาร์ วิศวกรชาวฝรั่งเศส ในแผนที่นี้ปรากฏชุมชนบนเกาะ 9 แห่งบริเวณที่ราบเชิงเขารอบเกาะ ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ตั้งของบ้านนาถิน, บ้านท้ายเสาะ, บ้านท่าไทร, บ้านสวนทุเรียน และบ้านนอก
ชนกลุ่มแรกที่อพยพเข้ามาอยู่ ว่ากันว่าเป็นชาวจีนจากบ้านน้ำกระจาย, บ้านน้ำน้อย และบ้านทุ่งหวัง ซึ่งตั้งถิ่นฐานกันมาอย่างน้อยก็ร่วมสมัยกรุงศรีอยุธยาแล้ว ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ มีวัดในพุทธศาสนา 4 แห่ง มีสำนักสงฆ์, ศาลเจ้าจีน และสถานปฏิบัติธรรมอย่างละหนึ่งแห่ง ทั้งนี้เกาะยอมีประเพณีโบราณสืบทอดกันมาคือ ประเพณีแห่เดือนสิบ และประเพณีขึ้นเขากุฎ
ด้านการศึกษา มีโรงเรียนตั้งอยู่บนเกาะยอสองแห่ง คือ โรงเรียนวัดแหลมพ้อ และโรงเรียนวัดท้ายยอ ส่วนด้านสาธารณสุข มีสถานีอนามัยสองแห่งที่บ้านสวนทุเรียนและบ้านท่าไทร
เกาะยอตั้งอยู่กลางทะเลสาบสงขลาตอนล่าง มีเนื้อที่รวมทั้งพื้นน้ำ 17.95 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 11,220 ไร่ และมีเนื้อที่เฉพาะพื้นดินเพียง 15 ตารางกิโลเมตร หรือ 9,375 ไร่ พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาและเนินเขา สูง 10 ถึง 151 เมตร มีที่ราบขนาดน้อยโดยเป็นที่ราบเนินเขาริมชายฝั่ง บนเกาะมีแหล่งน้ำธรรมชาติน้อยต้องขุดบ่อน้ำโดยใช้น้ำจากใต้ดิน
จากที่นี่ห่างจากที่ว่าการอำเภอเมืองสงขลา 20 กิโลเมตรทางบก และ 6 กิโลเมตรหากเป็นทางเรือ การเดินทางทางบกใช้สะพานติณสูลานนท์ ข้ามมาจากฝั่งอำเภอเมืองและอำเภอสิงหนครได้
ประชากรส่วนใหญ่มีอาชีพรับจ้าง และเกษตรกรรม อาทิประมงและทำสวนผลไม้ มีอาชีพเสริมคือการค้าขายและอุตสาหกรรมในครัวเรือน อาชีพประมงมีทั้งออกเรือไปจับปลาและการเลี้ยงปลาในกระชัง ส่วนผลไม้บนเกาะยอที่มีชื่อเสียงอาทิ จำปาดะ และละมุด โดยเฉพาะจำปาดะที่สามารถนำมาแปรรูปเป็นของทอดเช่นเดียวกับกล้วยแขก ส่วนงานหัตถกรรมที่มีชื่อเสียงคือ ผ้าทอเกาะยอ ที่มีลวดลายเป็นเอกลักษณ์ โดยเฉพาะลาย "ราชวัตถ์" ที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานชื่อลายผ้าดังกล่าว
ตำบลเกาะยอ แบ่งเขตการปกครองเป็น 9 หมู่บ้าน มีประชากรทั้งหมด 4,459 คน (สำรวจเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2550) ได้แก่