ฮิซบุลลอฮ์ (อังกฤษ: Hezbollah; อาหรับ: ??? ????? "พรรคแห่งอัลลอฮ์") สื่อเมืองไทยสะกด ฮิซบอลเลาะห์ หรือ ฮิซบอลลาห์ เป็นองค์กรและพรรคการเมืองของชาวมุสลิมชีอะฮ์ในเลบานอน ซึ่งมีกองทัพของตนเอง ก่อตั้งในปี ค.ศ. 1982 อันเป็นปีที่อิสราเอลบุกรุกเลบานอน โดยมีจุดประสงค์เพื่อขับไล่กองทัพอิสราเอลที่ยึดครองเลบานอน จนสามารถต่อสู้และขับไล่ทัพอิสราเอลออกจากเลบานอนได้ในปี ค.ศ. 2000 เลขาธิการใหญ่ของพรรคฮิซบุลลอฮ์คือ ซัยยิด ฮะซัน นัศรุลลอหฺ
การก่อตั้งฮิซบุลลอฮ์ได้รับแรงบันดาลใจจากความสำเร็จในการปฏิวัติอิสลามของ อะยะตุลลอหฺ โคไมนี ผู้นำอิหร่านในสมัยนั้น โดยวัตถุประสงค์ในการก่อตั้งก็เพื่อปกป้องอนาธิปไตยของมุสลิม และปกป้องมาตุภูมิเลบานอนให้พ้นจากการรุกรานของชาวอิสราเอล ฮิซบุลลอฮ์ก่อตั้งโดยกลุ่มอุละมาอ์ในพรรคอัลอะมัล ที่ได้แยกตัวออกมาตั้งพรรคการเมืองต่างหาก พรรคอะมัลเป็นการเมืองของมุสลิมชีอะฮ์ ที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลซีเรีย เมื่อพรรคฮิซบุลลอฮ์มีสมาชิกและฐานเสียงมากขึ้น ซีเรียก็ให้การสนับสนุนเทียบเท่ากับพรรคอัลอะมัล
ในช่วงแรกของการก่อตั้ง ฮิซบุลลอฮ์เป็นเพียงขบวนการใต้ดิน จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1985 จึงมีการประกาศสถานภาพของกลุ่มอย่างเป็นทางการต่อสาธารณชน เนื่องจากพรรคฮิซบุลลอฮ์เน้นนโยบายอิสลามที่สนับสนุนความปรองดองระหว่างชาวเลบานอน เคารพสิทธิเสรีภาพของทุกศาสนาและลัทธิ และต่อสู้การรุกรานของอิสราเอล ฮิซบุลลอฮ์จึงเป็นที่ยอมรับของชาวเลบานอน
ผู้ทีที่มีอิทธิพลต่ออุดมการณ์ของฮิซบุลลอฮ์คือ อายะตุลลอหฺ มุฮัมมัด ฮุเซน ฟัฎลุลลอหฺ แต่ไม่ปรากฏว่าผู้ใดเป็นผู้นำ จนกระทั่งได้เริ่มมีการเลือกตั้งผู้นำในเวลาต่อมา เลขาธิการใหญ่ของพรรคคนแรก คือ เชค ศุบฮีย์ อัฏตุฟัยลีย์ (1989-1991) และ ซัยยิด อับบาส อัลมูสะวีย์ (1991-1992) ที่ถูกอิสราเอลลอบสังหาร
สหรัฐอเมริกาและอิสราเอลระบุว่า กลุ่มฮิซบุลลอฮ์ได้รับความช่วยเหลือทางด้านการเงินและการเมือง รวมทั้งด้านอาวุธและการฝึกฝนจากอิหร่านและซีเรีย ซึ่งทางซีเรียเองก็ยอมรับว่าให้การสนับสนุนฮิซบุลลอฮ์จริงแต่ปฏิเสธเรื่องการส่งอาวุธให้
พรรคฮิซบุลลอฮ์ได้รับการสนับสนุนจากชาวมุสลิมในเลบานอนเป็นอย่างดี ในเวลาปัจจุบันมีเก้าอี้ในรัฐสภาเลบานอน 23 ที่นั่ง จากทั้งหมด 128 ที่นั่ง ฮิซบุลลอฮ์มีนโยบายสาธารณะหลัก ๆ คือการสร้างโรงพยาบาล สร้างสถานศึกษา และให้บริการด้านสังคมอื่น ๆ
ฮิซบุลลอฮ์ถูกรัฐบาลสหรัฐอเมริกาและรัฐบาลอิสราเอล ขึ้นบัญชีดำว่าเป็นกลุ่มก่อการร้ายไม่ต่างจากกลุ่มฮามาสของปาเลสไตน์ แม้ว่าฮิซบุลลอฮ์จะมีสถานะอันชอบธรรมถึงขั้นสามารถส่งตัวแทนลงเลือกตั้ง และเข้าร่วมรัฐบาลเลบานอนได้ก็ตาม โดยรัฐบาลสหรัฐอเมริกาเชื่อว่า กลุ่มฮิซบุลลอฮ์เป็นผู้อยู่เบื้องหลังการจับตัวประกันชาวอเมริกันหลายต่อหลายครั้ง แม้ว่าจะไม่สามารถหาหลักฐานมายืนยันได้ก็ตาม เช่นเดียวกับรัฐบาลอิสราเอลที่เป็นไม้เบื่อไม้เมากับกลุ่มกองกำลังดังกล่าวตลอดเวลา
ผลงานชิ้นสำคัญอย่างหนึ่งของกลุ่มฮิซบุลลอฮ์คือ การขับไล่อิสราเอลออกจากพื้นที่ทางตอนใต้ของเลบานอน เดือนพฤษภาคม ปี ค.ศ. 2000 ซึ่งอิสราเอลยึดครองมาตั้งแต่การรุกรานครั้งที่ 2 ในปี ค.ศ. 1982 และทางสหประชาชาติก็ได้ประกาศให้พื้นที่บริเวณดังกล่าวเป็นของเลบานอน
ความบาดหมางระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮิซบุลลอฮ์ยังไม่สิ้นสุด เพราะพรรคฮิซบุลลอฮ์ยังต่อสู้เพื่อให้อิสราเอลถอนทัพออกจาก 'ชีบาฟาร์ม' ซึ่งชาวเลบานอนได้เคยยื่นหลักฐานต่อสหประชาชาติว่าเป็นส่วนหนึ่งของเลบานอน ด้วยเหตุนี้ การประทะกันระหว่างกลุ่มฮิซบุลลอฮ์กับกองทัพอิสราเอลจึงเกิดขึ้นเป็นระยะ ๆ
ในปี ค.ศ. 2004 กลุ่มฮิซบุลลอฮ์ได้แลกเปลี่ยนนักโทษกับอิสราเอลหลังผ่านพ้นการเจรจาอันยาวนานถึง 3 ปี โดยอิสราเอลได้ปล่อยตัวนักโทษมากกว่า 400 คน และคืนศพของนักรบเลบานอน 59 ศพ เพื่อแลกกับนักธุรกิจชาวอิสราเอลที่ถูกลักพาตัวไป 1 คน และศพของทหารอิสราเอลอีก 3 ศพ ล่าสุด ชนวนเหตุที่ทำให้สถานการณ์ของทั้ง 2 ฝ่ายเริ่มร้อนระอุขึ้นอีกครั้งก็คือ การที่กลุ่มฮิซบุลลอฮ์ได้จับตัวทหารอิสราเอล 2 คน และสังหารทหารยิวอีก 8 คน เมื่อวันพุธที่ 12 ก.ค. 2006 หลังจากที่อิสราเอลได้จับกุมคณะรัฐมนตรีของปาเลสไตน์ ทำให้อิสราเอลถือเป็นข้ออ้างในการโจมตีเลบานอนเพื่อเป็นการตอบโต้ทันที แม้ว่าตามความเป็นจริงแล้วอิสราเอลได้เตรียมตัวโจมตีก่อนหน้านั้นก็ตาม[ต้องการอ้างอิง]อิสราเอลได้ยกสามเหล่าทัพโจมตีเลบานอน เริ่มต้นด้วยการโจมตีท่าอากาศยานเบรุต และสถานีโทรทัศน์อัลมะนารของฮิซบุลลอฮ์