อุรังอุตังสุมาตรา (อังกฤษ: Sumatran orangutan; ชื่อวิทยาศาสตร์: Pongo abelii) เป็นหนึ่งในอุรังอุตังสองสปีชีส์ ซึ่งพบเฉพาะบนเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซียเท่านั้น อุรังอุตังชนิดนี้หายากและมีขนาดตัวเล็กกว่าอุรังอุตังบอร์เนียว (P. pygmaeus) อุรังอุตังสุมาตราเพศผู้มีความสูงได้ถึง 1.4 เมตร และหนัก 90 กิโลกรัม ขณะที่เพศเมียจะมีขนาดตัวเล็กกว่า โดยเฉลี่ยแล้วจะสูง 90 เซนติเมตร และหนัก 45 กิโลกรัม
เมื่อเปรียบเทียบกับอุรังอุตังบอร์เนียวแล้ว อุรังอุตังสุมาตราค่อนข้างที่จะมีพฤติกรรมกินผลไม้ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง กินแมลงมากกว่า ผลไม้ที่อุรังอุตังชนิดนี้ชื่นชอบ รวมไปถึง จิกและขนุน นอกจากนี้มันยังกินไข่นกและสัตว์มีกระดูกสันหลังขนาดเล็กด้วย อุรังอุตังสุมาตราใช้เวลากินอาหารในเปลือกต้นไม้น้อยกว่ามาก
มีการสังเกตพบว่า อุรังอุตังสุมาตราป่าในบึง Suaq Balimbing สามารถใช้เครื่องมือได้ อุรังอุตังจะหักกิ่งไม้ที่มีขนาดยาวประมาณหนึ่งฟุต จากนั้นจึงหักกิ่งอ่อนออกและเสียดสีปลายด้านหนึ่ง จากนั้น มันจะใช้แท่งไม้ดังกล่าวเพื่อขุดเข้าไปในโพรงต้นไม้เพื่อหาปลวก พวกมันยังใช้แท่งไม้แหย่ผนังรังผึ้ง โดยขยับไปมา แล้วจึงจับเอาน้ำผึ้ง นอกเหนือจากนั้น อุรังอุตังยังใช้เครื่องมือในการกินผลไม้ด้วย เมื่อผลของต้นช้างไห้สุก สันเปลือกที่แข็งของมันจะอ่อนลงจนกระทั่งเปิดออก ภายในผลของมันคือเมล็ดที่อุรังอุตังชอบกิน แต่เมล็ดจะถูกหุ้มด้วยขนคล้ายเส้นใยแก้ว ซึ่งจะสร้างความเจ็บปวดให้แก่อุรังอุตังหากกินเข้าไป อุรังอุตังที่กินผลช้างไห้จะเลือกแท่งไม้ยาวห้านิ้ว แล้วหักเปลือกไม้ออก แล้วจึงค่อย ๆ รวบรวมเส้นขนโดยใช้แท่งไม้ดังกล่าว เมื่อผลไม้ปลอดภัยที่จะกินแล้ว มันก็จะกินเมล็ดโดยใช้แท่งไม้หรือนิ้วมือ ถึงแม้ว่าบึงที่คล้ายกันจะสามารถพบได้บนเกาะบอร์เนียว แต่อุรังอุตังบอร์เนียวไม่ใช้อุปกรณ์ประเภทนี้
อุรังอุตังสุมาตราจะอาศัยและหากินบนต้นไม้มากกว่าอุรังอุตังบอร์เนียว ซึ่งอาจเป็นเพราะเนื่องจากการมีนักล่าที่มีขนาดใหญ่กว่า อย่างเช่น เสือสุมาตรา มันจึงเคลื่อนที่จากต้นไม้ต้นหนึ่งไปยังอีกต้นหนึ่งโดยห้อยโหน
อุรังอุตังสุมาตราในธรรมชาติที่มีความคุ้นเคยกับมนุษย์ จะยอมให้มนุษย์เข้าใกล้ได้มากกว่า แต่ก็ไม่ใกล้จนเกินไป ผิดจากประชากรที่อาศัยอยู่ในป่าลึกเมื่อพบมนุษย์จะรีบหนีทันที
อุรังอุตังสุมาตรา จะหักกิ่งไม้ทั้งกิ่งทำเป็นรังบนต้นไม้ โดยเลือกสถานที่ ๆ ปลอดภัย หนึ่งตัวอาจมีรังได้ถึง 3-4 แห่ง บางตัวอาจจะทำรังเพียงแค่นอนเล่น และมีพฤติกรรมย้ายรังไปเรื่อย ๆ
อุรังอุตังสุมาตราเป็นสัตว์สังคมมากกว่าอุรังอุตังบอร์เนียว กลุ่มของอุรังอุตังเหล่านี้จะรวมตัวกันเพื่อหาอาหารบนต้นจิกที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม เพศผู้โตเต็มวัยมักจะหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับเพศผู้ตัวเต็มวัยอีกตัวหนึ่ง เพศผู้ที่ยังโตไม่เต็มวัยจะพยายามจับคู่กับเพศเมีย ถึงแม้ว่าพวกมันมักจะประสบความล้มเหลวเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากเพศเมียตัวเต็มวัยสามารถหลีกหนีเพศผู้เหล่านี้ได้อย่างง่ายดาย เพศเมียตัวเต็มวัยมักจะจับคู่กับเพศผู้ตัวเต็มวัยมากกว่า
ช่วงอัตราการเกิดของอุรังอุตังสุมาตรายาวนานกว่าอุรังอุตังบอร์เนียว และถือว่ายาวนานที่สุดในหมู่พวกลิงใหญ่ อุรังอุตังสุมาตราพร้อมที่จะมีลูกเมื่ออายุได้ 15 ปี ลูกอ่อนอุรังอุตังจะอยู่ใกล้กับแม่ของมันจนกระทั่งอายุได้ 3 ปี และแม้กระทั่งหลังจากนั้น พวกมันจะยังคงรวมกลุ่มกับแม่ของมัน อุรังอุตังทั้งสองชนิดมักจะมีชีวิตอยู่หลายทศวรรษ มีประมาณการอายุขัยว่าอาจสูงถึงมากกว่า 50 ปี ค่าเฉลี่ยของการผสมพันธุ์ครั้งแรกของอุรังอุตังสุมาตราอยู่ที่ 12.3 ปี ไม่มีสัญญาณระบุถึงภาวะหมดประจำเดือนในอุรังอุตังชนิดนี้
อุรังอุตังสุมาตราเป็นสัตว์ประจำถิ่นเกาะสุมาตรา และมีถิ่นที่อยู่อาศัยจำกัดโดยเฉพาะอย่างยิ่งทางตอนเหนือของเกาะ ในธรรมชาติ อุรังอุตังสุมาตรารอดชีวิตอยู่ในจังหวัดนังกรูอาเจะห์ดารุสสลาม (NAD) ซึ่งตั้งอยู่ทางปลายเหนือสุดของเกาะ อุรังอุตังชนิดนี้เคยมีถิ่นที่อยู่อาศัยอย่างกว้างขวาง เนื่องจากพบว่ามันได้เคยอาศัยห่างออกไปทางใต้ในคริสต์ศตวรรษที่ 19 อย่างเช่น ในจำบีและปาดัง อุรังอุตังสุมาตราจำนวนน้อยยังได้อาศัยอยู่ในจังหวัดสุมาตราเหนือ ตามแนวที่ติดต่อกับ NAD โดยเฉพาะอย่างยิ่งในป่าทะเลสาบโทบา อุรังอุตังชนิดดังกล่าวได้ถูกจัดอันดับเป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ขั้นวิกฤตในบัญชีแดงของ IUCN ตั้งแต่ ค.ศ. 2000 และได้รับการพิจารณาว่าเป็นหนึ่งใน "ไพรเมตที่ใกล้สูญพันธุ์ที่สุดในโลก 25 ชนิด"
การสำรวจใน ค.ศ. 2004 ประเมินว่ามีอุรังอุตังสุมาตราเหลืออยู่ประมาณ 7,300 ตัว และปัจจุบันเหลืออยู่เพียงแห่งเดียวในโลก คือ อุทยานแห่งชาติกุนุงเลเซอร์ ซึ่งเป็นมรดกโลก