อุทยานแห่งชาติออบหลวง เป็นอุทยานแห่งชาติแห่งหนึ่งในพื้นที่อำเภอจอมทอง อำเภอฮอด และอำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ตั้งอยู่ห่างจากตัวจังหวัดเชียงใหม่ไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ราว 100 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ 553 ตารางกิโลเมตร (345,625 ไร่) พื้นที่ส่วนใหญ่ของอุทยานเป็นภูเขาสลับซับซ้อนและสูงชัน มีอาณาเขตติดต่อกับอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ แหล่งน้ำหลักคือลำน้ำแม่แจ่ม ซึ่งมีลักษณะเป็นเกาะแก่งเมื่อไหลผ่านหุบเขา ในอุทยานมีป่าไม้อุดมสมบูรณ์ จำแนกได้หลายประเภท สามารถพบสัตว์ป่าได้หลายชนิด เช่น เลียงผา เสือ หมี เป็นต้น นอกจากนี้ภายในอุทยานแห่งชาติยังมีน้ำพุร้อน น้ำตก ถ้ำ และแหล่งโบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์
แรกเริ่มกรมป่าไม้ได้ทำการจัดตั้ง "วนอุทยานออบหลวง" ขึ้นในบริเวณอุทยานแห่งชาติในปัจจุบัน ตั้งแต่วันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2509 ครอบคลุมพื้นที่ตำบลหางดง อำเภอฮอด และตำบลบ้านแปะ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ อยู่ในความดูแลของสำนักงานป่าไม้เขตเชียงใหม่ โดยกรมป่าไม้เห็นว่าบริเวณนี้มีสภาพภูมิประเทศที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ ประกอบด้วยโขดผา ลำน้ำที่ไหลผ่านหลืบเขาที่ชาวบ้านเรียกกันมาก่อนหน้านี้ว่า ออบหลวง ซึ่งเป็นภาษาท้องถิ่นแปลว่า ช่องแคบขนาดใหญ่ ตามลักษณะภูมิประเทศ ในอดีตพื้นที่ดังกล่าวเป็นสถานที่พักของคนงานบริษัทบอร์เนียว ซึ่งคอยเก็บไม้สักที่ลำเลียงมาตามลำน้ำแม่แจ่ม
ต่อมากรมป่าไม้ได้โอนวนอุทยานออบหลวงมาอยู่ในความดูแลของกองอุทยานแห่งชาติ สังกัดกรมป่าไม้ หลังจากนั้นในปี พ.ศ. 2531 กองอุทยานแห่งชาติได้ทำการสำรวจพื้นที่เพิ่มเติมรอบวนอุทยานเพื่อจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ พื้นที่เพิ่มเติมรอบวนอุทยานประกอบด้วย ป่าจอมทอง ป่าแม่แจ่ม–แม่ตื่น และป่าแม่แจ่ม ทั้งหมดแต่เดิมเป็นป่าถาวรของชาติตามมติคณะรัฐมนตรี พ.ศ. 2509 จากนั้นได้ยกฐานะเป็นป่าสงวนแห่งชาติโดยเรียงลำดับเวลาดังนี้ ป่าแม่แจ่ม–แม่ตื่นเมื่อปี พ.ศ. 2509 ป่าจอมทองเมื่อปี พ.ศ. 2510 และป่าแม่แจ่มเมื่อปี พ.ศ. 2517 ป่าทั้งหมดมีสภาพสมบูรณ์ รวมพื้นที่ประมาณ 630 ตารางกิโลเมตร เมื่อทำการสำรวจเสร็จสิ้น กองอุทยานแห่งชาติได้รวมป่าข้างต้นทั้งหมดเข้ากับวนอุทยานฯและจัดตั้งเป็น อุทยานแห่งชาติออบหลวง เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2534 ถือเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 68 ของประเทศ
อุทยานแห่งชาติออบหลวงมีพื้นที่ตำบลดอยแก้ว ตำบลสบเตี๊ยะ ตำบลแม่สอย ตำบลบ้านแปะ อำเภอจอมทอง ตำบลกองแขก อำเภอแม่แจ่ม และตำบลหางดง ตำบลนาคอเรือ ตำบลบ่อหลวง อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ มีอาณาเขตติดต่อดังนี้
พื้นที่อุทยานแห่งชาติออบหลวงส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูงชันและสลับซับซ้อน มีที่ราบน้อยมาก กลุ่มภูเขาวางตัวในแนวเหนือ–ใต้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาถนนธงชัย มีอาณาเขตติดต่อกับดอยอินทนนท์ พื้นที่อยู่สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางระหว่าง 280–1,980 เมตร ยอดเขาที่สูงที่สุดอยู่ทางตอนเหนือของพื้นที่ ภูเขาที่สำคัญได้แก่ ดอยผาดำ ดอยเลี่ยม ดอยปุยหลวง ดอยคำ เป็นต้น แหล่งน้ำที่สำคัญคือ ลำน้ำแม่แจ่ม ซึ่งเป็นเขตแบ่งอำเภอจอมทองและอำเภอฮอด ไหลผ่านกลางพื้นที่อุทยานแห่งชาติจากทิศตะวันตกไปตะวันออก เฉพาะในเขตอุทยานแห่งชาติมีความยาวประมาณ 27 กิโลเมตร แม่น้ำไม่คดเคี้ยวมาก ภูมิประเทศที่แม่น้ำไหลผ่านมีลักษณะเป็นหุบเขา ตลิ่งแม่น้ำในอุทยานแห่งชาติมีลักษณะเป็นเกาะแก่ง มีโขดหินขนาดใหญ่ เกิดจากการกัดเซาะของน้ำ แหล่งน้ำอื่นในอุทยานแห่งชาติได้แก่ ห้วยแม่แตะ ห้วยแม่เตี๊ยะ ห้วยแม่สอย ห้วยแม่แปะ ห้วยแม่จร ห้วยแม่หึด ห้วยแม่หลวง ห้วยแม่นาเปิน ห้วยแม่บัวคำ ห้วยแม่ลอน ห้วยบง ห้วยแม่ฮอด ห้วยทราย และห้วยแม่ป่าไผ่ บางส่วนไหลลงแม่น้ำแม่แจ่ม ซึ่งในที่สุดก็ลงมารวมกับแม่น้ำปิงทั้งหมด ถือเป็นต้นน้ำลำธารที่สำคัญของแม่น้ำปิงตอนล่าง
บริเวณออบหลวงเป็นหินแปรเกรดสูง มีขนาดต่าง ๆ กัน เกิดจากการแปรสัณฐานในช่วงยุคไทรแอสซิก (200–250 ล้านปีก่อน) หินที่เป็นองค์ประกอบของพื้นที่ได้แก่ หินแกรนิต แกรโนไดออไรท์ สลับกับหินบะซอลต์และหินตระกูลแกรนิตชนิดมิคมาไทด์ ซึ่งประกอบด้วย แร่ควอตซ์และเฟลด์สปาร์ จากยุคไทรแอสซิกและครีเทเชียส สำหรับท้องน้ำของลำน้ำแม่แจ่มมีเกาะแก่ง หินขนาดต่าง ๆ ริมฝั่งแม่น้ำบางช่วงมีหาดทราย เกิดจากน้ำพัดพาตะกอนมาสะสม นอกจากนี้ยังพบก้อนหินกลมประเภทกรวดท้องน้ำของหินควอร์ตไซต์ ควอตซ์ แจสเปอร์ เป็นต้น
ในอุทยานแห่งชาติออบหลวงสามารถพบป่าไม้ได้หลายประเภท แตกต่างตามระดับความสูง จำแนกได้ดังนี้
ปัจจุบันมีสัตว์ป่าเหลืออยู่จำนวนน้อย เนื่องจากสภาพป่าส่วนใหญ่เป็นป่าเต็งรังและป่าเบญจพรรณ มีภูเขาสูงชันสลับซับซ้อน มีที่ราบและทุ่งหญ้าน้อย สัตว์ป่าที่สามารถพบเห็นได้ เช่น เลียงผา เสือ หมี กวางป่า หมูป่า เก้ง ชะนี ลิง ชะมด กระต่ายป่า นิ่ม ตะกวด นกประมาณสองร้อยชนิด เช่น นกกางเขนบ้าน นกกางเขนดง นกพญาไฟ นกเขาใหญ่ นกเขาเขียว นกดุเหว่า นกหัวขวาน นกกะปูด นกขุนทอง นกแก้ว เหยี่ยวรุ้ง นกยูง ไก่ฟ้า ไก่ป่า นกกระทา นกคุ่ม นกเขียวก้านตอง นกกระเต็น นกปรอดหัวโขน และนกกินแมลงหลายชนิด สัตว์เลื้อยคลานที่พบได้แก่ ตะกวด แย้ ในลำน้ำแม่แจ่มพบปลาชุกชุมและมีหลายชนิด ปลาที่สำคัญได้แก่ ปลาจิ้งจอก ปลาค้อ
เป็นหินขนาดใหญ่ชนิดแกรนิตชนิดมิคมาไทด์ทั้งแท่ง ปรากฏออกสีน้ำตาลดำ ขนาดยาว 300 เมตร สูง 80 เมตร มีลักษณะคล้ายช้างตัวใหญ่นอนหมอบอยู่ ห่างจากออบหลวงไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 400 เมตร บนยอดดอยเป็นจุดชมวิว สามารถมองเห็นน้ำตกแม่บัวคำ ออบหลวง และทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 108 ด้านตะวันตกของดอยผาช้างมีเพิงผาคล้ายถ้ำ เรียกว่า "ถ้ำผาช้าง" คาดว่าเป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ พบภาพเขียนรูปสัตว์และคนหลายภาพ เขียนด้วยสีขาวและสีแดงอมดำเข้ม กรมศิลปากรยืนยันว่าเป็นครั้งแรกที่พบภาพเขียนโบราณในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน ซึ่งพบเมื่อปี พ.ศ. 2527 โดยนายสายันต์ ไพรชาญจิตร และนายประทีป เพ็งตะโก นักโบราณคดีของกองโบราณคดี สันนิษฐานว่าภาพเขียนมีอายุราว 7,500–8,500 ปี
เป็นเส้นทางเดินเท้าศึกษาธรรมชาติระยะทาง 1,200 เมตร เริ่มต้นจากออบหลวง จากการสำรวจโดยกองโบราณคดี กรมศิลปากร ร่วมมือกับทีมวิจัยจากประเทศฝรั่งเศศ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2527 ได้ขุดค้นพบโบราณวัตถุและหลักฐานทางโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์จำนวนมาก เช่น เครื่องมือหินกระเทาะทำจากหินกรวดท้องน้ำ แกนและสะเก็ดหิน ขวานหินขัด ชิ้นส่วนเครื่องประดับ ภาชนะสัมฤทธิ์ ภาชนะดินเผาลายเชือกทาบ ทั้งยังพบโครงกระดูกมนุษย์ในยุคสัมฤทธิ์ มีอายุระหว่าง 2,500–3,500 ปีก่อนคริสตกาล