อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ ตั้งชื่อตามพระยาสุรินทราชา (นกยูง วิเศษกุล) เทศาเมืองภูเก็ต ผู้ค้นพบเกาะ เป็นอุทยานแห่งชาติที่ตั้งอยู่ในเขตจังหวัดพังงา มีลักษณะเป็นหมู่เกาะในทะเลอันดามัน อยู่ติดกับชายแดน ไทย - พม่า มีพื้นที่ประมาณ 84375 ไร่ ร้อยละ 76 ของพื้นที่เป็นทะเล ส่วนที่เหลือเป็นแผ่นดิน ประกอบด้วยเกาะ 5 เกาะ คือ เกาะสุรินทร์เหนือ เกาะสุรินทร์ใต้ เกาะไข่ (เกาะตอรินลา) เกาะกลาง (เกาะปาจุมบา) เกาะรี (เกาะสต๊อก) และ 1 กองหินปริ่มน้ำ คือกองหินริเชลิว เป็นอุทยานแห่งชาติเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2524 เป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 29 ของประเทศไทย
อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์นับว่ามีธรรมชาติที่สมบูรณ์ทั้งบนบกและในทะเล มีทั้งป่าดิบชื้น ป่าชายหาด ป่าชายเลนมาประจบกับแนวปะการัง แนวปะการังมีความสมบูรณ์ เหมาะสำหรับชมปะการังน้ำตื้น โดยกองหินริเชริว เหมาะสำหรับดำน้ำลึก เป็นแหล่งสมบูรณ์ด้วยธรรมชาติใต้ทะเล มีปลาหลายชนิด มีโอกาสพบฉลามวาฬ ช่วงเวลาที่เหมาะกับการท่องเที่ยว คือ เดือนพฤศจิกายนถึง เดือนเมษายน และ หอยมือเสือ ปูเสฉวน นกกระแตผีชายหาด นกชาปีไหน รวมทั้งสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น บ่าง
หมู่เกาะสุรินทร์ จะเป็นเกาะที่วางตัวอยู่ในกลุ่มอ่าวขนาดใหญ่ ดังนั้นจึงสามารถที่จะเป็น ที่บังคลื่นลมได้ดี ทั้งสองฤดู คือ ฤดูร้อน และฤดูฝน จึงเป็นแหล่งกำเนิดแนวปะการังน้ำตื้น ที่มีความอุดมสมบูรณ์ และมีขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศไทย นอกจากนี้ยังมีหมู่บ้านของชาวเลเลกลุ่มสุดท้ายที่ยังดำรงวัฒนธรรมดั้งเดิมมากที่สุด คือ "มอแกน" หรือ "ยิบซีแห่งท้องทะเล" ประมาณ 200 คนปัจจุบันได้ตั้งหมู่บ้านอยู่ที่เกาะสุรินทร์ใต้ ขายของที่ระลึกให้นักท่องเที่ยว และบางส่วนทำงานเป็นลูกจ้างของอุทยานฯ
อ่านบทความฉบับสมบูรณ์ได้ที่ http://th.wikipedia.org/wiki/อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์