อุณรุทร้อยเรื่อง เป็นวรรณคดีขนาดสั้น แต่งในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ มีชื่อเสียงรู้จักกันดีในหมู่ผู้นิยมบทกลอน[ใครกล่าว?] ประพันธ์โดย คุณสุวรรณ กวีหญิงผู้มีชื่อเสียงมาก[ใครกล่าว?] ท่านหนึ่งในแวดวงวรรณคดีของไทย
อุณรุทร้อยเรื่องเป็นกลอนบทละครที่แต่งด้วยอารมณ์ขัน ไม่ได้ตั้งใจที่จะใช้แต่งละครจริงๆ กวีได้นำตัวละครร้อยกว่าชื่อจากวรรณคดีเรื่องต่างๆ มาร้อยโยงเป็นเรื่องเดียวกัน โดยใช้สำนวนภาษาที่ไพเราะ เป็นที่รู้จักและท่องจำกันอย่างแพร่หลายในยุคที่แต่งนั้น ทว่าเวลาที่แต่งเรื่องไม่ปรากฏหลักฐาน แต่เชื่อกันว่าน่าจะแต่งในสมัยรัชกาลที่ 4 ช่วงต้นรัชกาล
เหตุที่เรียกวรรณคดีเรื่องนี้ ว่า อุณรุทร้อยเรื่อง เพราะวรรณคดีเรื่องนี้ขึ้นต้นด้วยตัวละครชื่อ อุณรุท และมีการเอ่ยถึงตัวละครจากวรรณคดีจำนวนมาก โดยมีตัวละครนับได้ 144 ตัว และมาจากวรรณคดีเรื่องต่างๆ ถึง 51 เรื่อง โดยมากเป็นตัวละครจากเรื่องที่คุ้นเคยกันดีในเวลานั้น เช่น จากเรื่อง พระอภัยมณี รามเกียรติ์ อิเหนา ไกรทอง เป็นต้น
พระยายักษ์ชื่อท้าวกรุงพาณ ครองรัตนานคร ประพฤติเป็นพาล ก่อความเดือดร้อนแก่เหล่าเทวดาและนางฟ้า ครั้งหนึ่งทำอุบายลอบเข้าชมนางสุจิตรามเหสีของพระอินทร์ พระอิศวรต้องทูลเชิญพระนารายณ์อวตารลงมาเกิดในเมืองณรงกา ทรงพระนามว่าพระบรมจักรกฤษณ์ มีมเหสีชื่อจันทมาลีและพระโอรสชื่อไกรสุท ต่อมาพระไกรสุทได้อภิเษกกับนางรัตนา มีโอรสชื่ออุณรุท ซึ่งได้อภิเษกกับนางศรีสุดา
นางสุจิตรามีความแค้นเคืองท้าวกรุงพาณ ปรารถนาจะจุติไปเกิดในโลกมนุษย์เพื่อแก้แค้น พระอินทร์จึงพานางไปเฝ้าขอพรจากพระอิศวร นางได้รับเทวบัญชาให้ไปเกิดในดอกบัว ฤๅษีสุธาวาสเก็บไปเลี้ยงก็ตั้งชื่อว่านางอุษา ต่อมาท้าวกรุงพาณก็ขอไปเลี้ยงดูเป็นธิดาบุญธรรม วันหนึ่งพระอุณรุทได้พานางศรีสุดาประพาสป่าล่าสัตว์ พระอินทร์ให้มาตุลีแปลงเป็นกวางทองมาล่อ นางศรีสุดาใคร่ได้กวางทองจึงของให้พระอุณรุทไล่จับ กวางทองจึงแสร้งหนีไปทางด้านที่พระอุณรุทสกัดอยู่ พระอุณรุทให้นางศรีสุดากลับเข้าเมืองไปก่อน ส่วนพระองค์จะไล่จับกวางต่อไป โดยมีราชบริพาธส่วนหนึ่งตามเสด็จ จนได้พักแรมที่ร่มไทรใหญ่
ก่อนบรรทมพระอุณรุทบวงสรวงขอพรพระไทรเทพารักษ์ พระไทรทรงเมตตาอุ้มไปสมนางอุษาและสะกดไม่ให้ทั้งสองพูดจากัน พอใกล้รุ่งก็อุ้มพระอุณรุทกลับมาที่เดิม พระอุณรุทก็คร่ำครวญถึงนางอุษา จนพระพี่เลี้ยงต้องพากลับเมือง ฝ่ายนางอุษาก็เศร้าโศกถึงพระอุณรุท นางศุภลักษณ์พรพี่เลี้ยงใคร่ทราบว่าชายใดที่นางอุษาหลงรัก จึงวาดรูปเทวดาและกษัตริย์ให้นางชี้ตัว ครั้นทราบว่าเป็นพระอุณรุทจึงเหาะมาสะกดไว้ที่พระตำหนัก ทศมุขอนุชาของนางอุษาทราบความจึงไปบอกท้าวกรุงพาณบิดา ท้าวกรุงพาณขอให้ท้าวกำพลนาค ซึ่งเป็นสหายมาร่วมรบกับพระอุณรุท ท้าวกำพลนาคจับพระอุณรุทมัดตอนหลับแล้วนำไปประจานที่ยอดปราสาท เทวดาทั้งหลายทราบข่าวก็พากันไปกราบทูลพระบรมจักรกฤษณ์ พระองค์ทรงครุฑมาช่วยพร้อมกับมอบธำมรงค์วิเศษไว้ให้
พระอุณรุทปราบท้าวกรุงพาณได้แล้วอภิเษกทศมุขขึ้นครองเมืองแทน พระอุณรุทกับนางอุษากลับไปครองเมืองณรงกา นางศรีสุดาเกิดหึงแต่ก็สามารถประนีประนอมในภายหลังได้ พระอุณรุทกลับไปคล้องช้างไดนางกินรีห้านางและปราบวิทยาธรชื่อวิรุฯเมศ ครั้นได้ช้างเผือกแล้วก็กลับมาครองเมืองเป็นสุขสืบมา