อำเภอแม่สะเรียง (คำเมือง: ) เป็นหนึ่งใน 7 อำเภอของจังหวัดแม่ฮ่องสอน จัดเป็นอำเภอที่มีความสำคัญของจังหวัดแม่ฮ่องสอน เนื่องจากมีที่ตั้งอยู่ห่างจากตัวจังหวัด (อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน) มากถึงประมาณ 164 กิโลเมตร โดยสภาพพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นหุบเขาสลับซับซ้อน ประกอบกับเป็นอำเภอที่ติดกับชายแดนไทยพม่า และเป็นเมืองผ่านไปยังอำเภออื่นๆของจังหวัดแม่ฮ่องสอน
อำเภอแม่สะเรียงตั้งอยู่ทางทิศใต้ของจังหวัด มีอาณาเขตติดต่อกับเขตการปกครองข้างเคียงดังต่อไปนี้
เมืองแม่สะเรียงมีชื่อในประวัติศาสตร์ว่า เมืองยวมใต้ หรือ เมืองยวม เคยเป็นที่ตั้งชุมชนมาไม่น้อยกว่า 600 ปี และเป็นเมืองหน้าด่านที่มีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์ของอาณาจักรล้านนา เคยมีบุคคลสำคัญของเมืองยวมหลายคนที่มีบทบาทอยู่ในประวัติศาสตร์และเป็นมหาราชแห่งอาณาจักรล้านนา คือ "ท้าวลก" (เป็นภาษาบาลี มีความหมายว่าเป็นราชบุตรองค์ที่ 6 ของพระราชบิดา) ผู้ครองเมืองยวมใต้ในรัชกาลพญาสามฝั่งแกน กษัตริย์อาณาจักรล้านนา ต่อมาท้าวลกได้รับการสนับสนุนจากขุนนางเมืองเชียงใหม่ชื่อ นายสามเด็กย้อย (เป็นบุตรคนที่ 3 ของพ่อแม่ นามตัวว่า "เด็กย้อย") ลอบชิงราชบัลลังก์จากพระราชบิดา โดยเนรเทศพระราชบิดาไปอยู่เมืองสาด ซึ่งตั้งอยู่ทิศเหนือของอำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ ไปประมาณ 60 กิโลเมตร (ปัจจุบันอยู่ในรัฐฉานของประเทศพม่า)
ต่อมาพระเจ้าติโลกราช (ท้าวลก) ได้เป็นมหาราชที่ยิ่งใหญ่ของอาณาจักรล้านนา ขยายอาณาเขตกว้างใหญ่ไพศาล ทิศเหนือตีได้เมืองเชียงรุ่ง (มณฑลยูนนาน ประเทศจีน) เมืองเชียงตุง (รัฐฉาน ประเทศพม่า) ทิศตะวันตกได้รัฐฉานทั้งหมด ทิศตะวันออกได้ล้านช้าง ทิศใต้จรดชายแดนกับอยุธยา โดยในปี พ.ศ. 2023 กองทัพหน้าของพระองค์จำนวน 40,000 นายอาจหาญสู้ศึกชนะกองทัพไดเวียต (เวียดนาม) ซึ่งยกพลมหึมาร่วม 200,000 นาย ยึดได้ล้านช้าง แล้วตรงเข้ามาเชียงใหม่ ครั้งนั้น กองทัพหน้าแสดงปรีชาสามารถในการรบจนทัพไดเวียตแตกพ่าย แม่ทัพนายกองถูกฆ่าตายเป็นจำนวนมาก บ้างก็ถูกจับเป็นเชลย กิตติศัพท์เลื่องลือทราบถึงจักรพรรดิจีนพระนามเซี่ยนซงหรือเฉิงฮั่วแห่งราชวงศ์หมิง (พ.ศ. 2007-2030) ยอมรับในพระเดชานุภาพ จึงมีพระราชโองการแต่งตั้งให้พระเจ้าติโลกราช เป็นเสมือนรองจักรพรรดิ (ลำดับที่ 2) โดยจารึกในพระสุพรรณบัฏ (แผ่นทองคำ) ความว่า "...ที่ใดก็ตามที่ปรากฏศัตรูขึ้นในแปดทิศของจักรวรรดิ์แห่งจักรพรรดิ์อุทิปวา ผู้ครองทุกสิ่งภายใต้สวรรค์ ท้าวล้านนา เจ้าฟ้าแห่งนครเชียงใหม่ มีอำนาจจะปราบปรามและลงโทษศัตรูนั้นได้" ในปี พ.ศ. 2522 ให้มีพระราชอำนาจจัดการปราบปรามกษัตริย์ต่าง ๆ ในด้านทิศตะวันตก พร้อมกับให้เสนาบดีผู้ใหญ่ 2 คน เดินทางมานครเชียงใหม่เพื่อมอบตราตั้งของจักรพรรดิจีนพร้อมเครื่องประกอบเกียรติยศจำนวนมาก อาทิ เครื่องราชอิสริยาภรณ์ เครื่องประดับเศียร ทับทรวง คาดหน้าผาก กรรเจียกจรจำหลักลาย ศิราภรณ์ สร้อยคอ เพชร ฯลฯ
หมื่นด้ามพร้าคด นายช่างเอกของพระเจ้าติโลกราชที่ได้ฝากฝีมือไว้ในผลงานชิ้นเยี่ยมที่ยังคงอยู่ไว้ในปัจจุบันอัน ได้แก่ พระเจดีย์เจ็ดยอดที่วัดเจ็ดยอดและพระเจ้าแข้งคม ที่ประดิษฐานอยู่ที่วัดศรีเกิดจังหวัดเชียงใหม่
เทพสิงห์ วีระบุรุษแห่งเมืองยวมผู้สร้างวีรกรรมอันห้าวหาญในการคุมกำลังพลเข้าล้างอำนาจของพม่าในล้านนาได้สำเร็จ
เมืองยวมเคยเป็นถิ่นฐานอาศัยของชนเผ่าดั้งเดิม คือ คนพื้นเมือง ละว้า และกะเหรี่ยง ต่อมาในปี พ.ศ. 2443 ทางราชการได้ยกฐานะขึ้นเป็นอำเภอเรียกชื่อว่า อำเภอเมืองยวม จนกระทั่งปี พ.ศ. 2467 ทางราชการได้พิจารณาเห็นว่าชื่ออำเภอเมืองยวมนั้นไปพ้องกับอำเภอขุนยวมซึ่งอยู่ในจังหวัดเดียวกัน จึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น อำเภอแม่สะเรียง ตามชื่อของลำน้ำแม่สะเรียงที่ไหลผ่านอำเภออีกสายหนึ่งแทน อำเภอแม่สะเรียงในอดีตยังเคยเป็นอำเภอที่มีพื้นที่มากที่สุดในประเทศไทย (ปัจจุบันอำเภอที่มีพื้นที่มากที่สุดในประเทศไทยคือ อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก) แต่ต่อมาได้มีการเปลี่ยนแปลงพื้นที่การปกครองดังนี้
พ.ศ. 2491 แยกพื้นที่ตำบลท่าสองยางมาตั้งเป็นกิ่งอำเภอท่าสองยาง และโอนให้มาขึ้นกับอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก
พ.ศ. 2507 แยกพื้นที่ตำบลแม่ลาน้อย อำเภอแม่สะเรียง รวมกับตำบลแม่ลาหลวง อำเภอขุนยวมมาตั้งเป็นกิ่งอำเภอแม่ลาน้อย
อำเภอแม่สะเรียงเป็นอำเภอชายแดนที่มีอาณาเขตติดต่อกับประเทศพม่าทางทิศตะวันตกตลอดแนวระยะทาง 166 กิโลเมตร มีแม่น้ำสาละวินกั้นเขตแดนระยะทาง 101 กิโลเมตร มีสันเขาขุนแม่ลอง เสาหินดอยผาตั้ง เป็นเส้นกั้นเขตแดนทางบกระยะทาง 65 กิโลเมตร สภาพพื้นที่โดยทั่วไปเป็นป่าเขาทุรกันดาร พื้นที่ราบลุ่มที่เหมาะสมกับการตั้งชุมชนและทำการเกษตรส่วนใหญ่อยู่ในตำบลแม่ยวม ตำบลแม่คง ตำบลบ้านกาศ และตำบลแม่สะเรียง มีพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเล 800-1,200 เมตร(Highland) มีภูมิอากาศที่หนาวเย็นตลอดปี เหมาะสมแก่การปลูกพืชเมืองหนาวที่ตำบลแม่เหาะ และป่าแป๋ มีแม่น้ำไหลผ่านจำนวน 3 สาย ได้แก่ แม่น้ำยวม แม่น้ำแม่สะเรียง และแม่น้ำสาละวิน (แม่น้ำคง) ที่ไหลจากทิเบต ประเทศจีน