ฝาง (คำเมือง: ) เป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูง ประชากรมีทั้งชาวไทยพื้นราบและชาวไทยภูเขา อำเภอฝางเป็นอำเภอศูนย์กลางความเจริญในเขตเชียงใหม่ตอนบน มีอำเภอบริวารคือ อำเภอแม่อายและอำเภอไชยปราการ มีประชากรมากที่สุดเป็นอันดับสองของจังหวัดเชียงใหม่ รองจากอำเภอเมืองเชียงใหม่ มีทั้งประชากรจริงและประชากรแฝง อีกทั้งยังสามารถเดินทางไปจังหวัดเชียงรายได้อย่างสะดวกหลายช่องทาง ทำให้อำเภอฝางจะได้รับความเจริญจากจังหวัดเชียงรายจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจชายแดนจีนตอนใต้-อินโดจีนในอนาคต
ในปี พ.ศ. 2552 อำเภอฝางได้รับการเสนอเพื่อพิจารณาจัดตั้งเป็นศูนย์กลางของจังหวัดฝาง โดยรวมเอาอำเภอใกล้เคียงเข้าด้วยกันตอนนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณา ซึ่งปัจจุบันอยู่ในระหว่างรอพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎร
เดิมอำเภอฝางเป็นที่ตั้งของเมืองฝาง ซึ่งเป็นเมืองหลวงในอดีต มีอายุนับพันปีในตำนานโยนกกล่าวไว้ว่า เมืองฝาง ถูกสร้างขึ้นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 1184 โดยเจ้าลวจังกราช เป็นหัวเมืองทางตอนเหนือของอาณาจักรล้านนา พญามังรายหรือพ่อขุนเม็งรายมหาราชทรงเคยเสด็จมาปกครองเมืองฝางและประทับอยู่ที่เมืองนี้(ก่อนหน้านั้นเมืองฝางอาจจะเป็นเมืองร้างหรือถูกพญามังรายเข้ายืดจากเจ้าเมืององค์ก่อนหรือไม่ยังไม่ทราบแน่ชัด) พระองค์ทรงเตรียมกำลังพลก่อนที่จะยกทัพไปตีเมืองหริภุญชัย สร้างเวียงกุมกาม และสร้างเมืองนพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 1839 เรียกสั้นๆ ว่า นครเชียงใหม่ต่อไป ดังนั้นเมืองฝางจึงเป็นเมืองโบราณที่มีอายุนับพันปี ปัจจุบันยังปรากฏหลักฐานทางประวัติศาสตร์คือ กำแพงเมืองและคูเมือง แบบเดียวกับในเมืองเชียงใหม่
อำเภอฝางเคยเป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดเชียงราย แต่ถูกโอนมาสังกัดจังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2468 ด้วยเหตุผลเรื่องการคมนาคมและการติดต่อราชการ อำเภอฝางได้มีการสร้างที่ว่าการอำเภอฝางขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 15 เมษายน 2488 และปัจจุบันได้มีการสร้างอาคารที่ว่าการอำเภอฝางขึ้นใหม่ เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2540 โดยยังคงเก็บรักษาอาคารที่ว่าการอำเภอฝาง หลังเก่าไว้ให้คนรุ่นหลังได้ชื่นชมอันเนื่องมาจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถเสด็จเยี่ยมราษฎร ณ อาคารแห่งนี้เมื่อปีพุทธศักราช 2501 ต่อมาได้มีการแยกกิ่งอำเภอออกคือ กิ่งอำเภอแม่อายในปีพ.ศ. 2510 ก่อนที่ยกฐานะขึ้นเป็นอำเภอแม่อายในปีพ.ศ. 2516 ต่อมาได้แยกกิ่งอำเภออีกคือกิ่งอำเภอไชยปราการในปีพ.ศ. 2531 และได้ยกฐานะขึ้นเป็นอำเภอไชยปราการในปีพ.ศ. 2537
ดอยอ่างขาง เป็นที่ตั้งของสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง ซึ่งมีโครงการวิจัยผลไม้ ไม้ดอกเมืองหนาว งานสาธิตพืชไร่ พืชน้ำมัน โดยมุ่งที่หาผลิตผลที่มีคุณค่าพอที่จะทดแทนการปลูกฝิ่นของชาวเขา และทำการส่งเสริมพัฒนาอาชีพเกษตรกรรมแก่ชาวเขาในบริเวณใกล้เคียง โดยมีชาวเขาเผ่าต่างๆ ได้แก่ เผ่ามูเซอดำ ปะหล่อง จีนฮ่อ และไทยใหญ่ นักท่องเที่ยวสามารถเที่ยวชมแปลงทดลองปลูกไม้ผลเมืองหนาว ได้แก่ ท้อ บ๊วย พลัม ฯลฯ พืชผักเมืองหนาว งานสาธิตพืชไร่ เช่น แคร์รอท ผักสลัดต่างๆ สวนสมุนไพร แปลงดอกไม้ เช่น คาร์เนชั่น กุหลาบ แอสเตอร์ เบญจมาศ ฯลฯ โรงบรรจุผลไม้เพื่อส่งจำหน่ายและสหกรณ์ของโครงการ ซึ่งจำหน่ายผลิตผลที่ปลูกในบริเวณโครงการให้แก่นักท่องเที่ยวตามฤดูกาล
ดอยอ่างขาง เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่โดดเด่นของจังหวัดเชียงใหม่ อยู่ในเขตพื้นที่ตำบลแม่งอน อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ อยู่ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ไปทางทิศเหนือ 137 กม. แยกซ้ายเข้าไปอีก 25 กม. ดอยอ่างขางเป็นเทือกดอยสูงติดกับสันเขาพรมแดนประเทศพม่า จุดเด่นที่นักท่องเที่ยวไปเยือนดอยอ่างขางคือการไปเที่ยวชมดอกไม้เมืองหนาวภายโครงการฯ สถานีเกษตรดอยอ่างขางได้รับการจัดตั้งเมื่อปี 2512 ตามแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อวิจัยพืชเมืองหนาวเพื่อส่งเสริมให้ชาวเขาปลูกทดแทนฝิ่นและหยุดการทำลายป่า ดอยอ่างขางมีลักษณะเป็นแอ่งที่ราบในหุบเขาลักษณะเหมือนท้องกะทะหรือเหมือนอ่าง อยู่ที่ระดับความสูงประมาณ 1,400 เมตร ภายในโครงการมีสิ่งที่น่าสนใจมากมาก เช่น แปลงปลูกไม้ดอกไม้ประดับกลางแจ้ง แปลงปลูกไม้ในร่ม แปลงทดลองกุหลาบ แปลงปลูกผัก แปลงปลูกผักในร่ม สวนท้อ สวนบ๊วย ป่าซากุระ ป่าเมเปิ้ล พระตำหนักดอยอ่างขาง
พิพิธภัณฑ์โรงงานหลวงที่ ๑ (ฝาง) ก่อตั้งขึ้นจากพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงต้องการเผยแพร่พระราชอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เกี่ยวกับการลดพื้นที่ปลูกพืชเสพติดโดยสันติวิธี และพระราชวิสัยทัศน์ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวไทยภูเขา รวมทั้ง วิธีการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม บนพื้นที่สูงภาคเหนือ อย่างรอบด้าน ครบวงจร และยั่งยืน ของพระองค์
เนื่องจาก พิพิธภัณฑ์ฯ มีลักษณะเป็นพิพิธภัณฑ์พื้นที่ที่มีชีวิต (living SITE MUSEUM) สถานที่ที่ผู้สนใจสามารถเยี่ยมชมและศึกษาเรียนรู้ จึงประกอบไปด้วย
๑. อาคารพิพิธภัณฑ์ฯ เป็นพื้นที่จัดแสดงนิทรรศการ วัตถุสะสม และเก็บรวบรวมข้อมูล อันเกี่ยวข้องกับมูลนิธิโครงการหลวง โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ ๑ (ฝาง) และ บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด
๒. อาคารโรงงานหลวงฯ เป็นพื้นที่จัดแสดงสายการผลิตและกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของผลิตภัณฑ์ “ดอยคำ” เช่น ลิ้นจี่กระป๋อง สตรอว์เบอร์รีอบแห้ง น้ำดื่มบริสุทธิ์ เสาวรสแช่แข็ง และบ๊วยดอง เป็นต้น รวมทั้ง แปลงสาธิตวัตถุดิบ
๓. ชุมชนบ้านยาง อดีตเคยเป็นถิ่นอาศัยของชาวยาง (ปะกากะญอ) แต่ถูกชาวจีนยูนนานที่อพยพหนีภัยสงครามการเมืองจากประเทศจีน เข้ามาลงหลักปักฐานพึ่งพระบรมโพธิสมภารเมื่อกว่า ๕๐ ปีที่ผ่านมา ซึ่งมีเอกลักษณ์โดดเด่นด้านวัฒนธรรม ความหลากหลายของเชื้อชาติและศาสนา รวมทั้ง การฟื้นฟูสภาพแวดล้อมและธรรมชาติ เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากอุทกภัยน้ำป่า
นอกจากจะได้เรียนรู้ประวัติความเป็นมาของแนวทางการพัฒนาประเทศของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแล้ว ยังมีปรัชญาที่ประธานมูลนิธิโครงการหลวง (หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี) สรุปความจากแนวพระราชดำริที่ว่า ผลสัมฤทธิ์ของมูลนิธิโครงการหลวงคือการ “ช่วยชาวเขา ช่วยชาวเรา ช่วยชาวโลก” นั้นหมายความว่าอย่างไร
พิพิธภัณฑ์ฯ ตั้งอยู่ที่ตีนดอยอ่างขาง แยกจากทางขึ้นสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง ไปประมาณ ๒ กิโลเมตร ใช้เวลาในการเที่ยวชมประมาณ ๑ ชั่วโมง นอกจากนั้น ยังมีคำบรรยายภาพและนิทรรศการ ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษอีกด้วย
อุทยานแห่งชาติดอยฟ้าห่มปก มีพื้นที่อยู่ในเขตท้องที่ ตำบลม่อนปิ่น อำเภอฝาง อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ ลักษณะภูมิประเทศสลับซับซ้อน เป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาผีปันน้ำ เป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์ประกอบด้วยพันธุ์ไม้ สัตว์ป่าและของป่าหลายชนิด มีจุดเด่นทางธรรมชาติที่งดงาม เช่น ถ้ำห้วยบอน บ่อน้ำร้อน น้ำพุร้อน ห้วยแม่ใจ เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญอีกแห่งหนึ่ง ของจังหวัดเชียงใหม่ และสามารถเดินทางเข้าไปเที่ยวได้โดยสะดวกสบาย มีเนื้อที่ประมาณ 380 ตารางกิโลเมตร หรือ 237,500 ไร่ ได้ประกาศจัดตั้งเป็น "อุทยานแห่งชาติแม่ฝาง" เมื่อวันที่4 กันยายน 2543
โป่งน้ำร้อนฝางเป็นบ่อน้ำร้อนธรรมชาติเกิดจากความร้อนใต้ดิน มีไอร้อนคุกรุ่นอยู่ตลอดเวลา อุณหภูมิของน้ำประมาณ 40-88 องศาเซสเซียล มีจำนวนมากมายหลายบ่อในพื้นที่ประมาณ 10 ไร่ (บ่อใหญ่มีไอน้ำร้อนพุ่งขึ้นสูงถึง 40-50 เมตร) อุทยานแห่งชาติได้จัดบริการห้องอาบน้ำแร่และอบไอน้ำ บ่อน้ำร้อนจะอยู่ก่อนถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติเล็กน้อย และทางอุทยานแห่งชาติได้จัดให้มีเส้นทางศึกษาธรรมชาติขึ้นเขาผ่านป่าเบญจพรรณมาถึงบ่อน้ำร้อน ระยะทางประมาณ 1.2 กิโลเมตร
ตั้งอยู่ในเขต อุทยานแห่งชาติแม่ฝาง เป็นน้ำตกหินปูนขนาดเล็กที่สวยงามมีการไหลของน้ำที่สม่ำเสมอ ชั้นบนสุดมีความสูงกว่า 10 เมตร บริเวณน้ำตกมีถ้ำขนาดเล็กๆ พอให้คนเข้าไปนั่งเล่นได้ 3-4 คน เพดานถ้ำมีน้ำหยดตลอดเวลาและเกิดเป็นหินงอกเล็กๆ ไปทั่ว ตั้งอยู่บริเวณเดียวกับหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ มฝ.3 (น้ำตกโป่งน้ำดัง) บ้านแม่สูนน้อย ตำบลแม่สูน อำเภอฝาง ต้องเดินตามเส้นทางเดินป่าไปสู่น้ำตก ระยะทางไป-กลับ ประมาณ 1.5 กิโลเมตร ระหว่างทางผ่านป่าดิบแล้งที่ร่มครึ้มด้วยไม้ใหญ่ บางช่วงต้องเดินข้ามลำธารที่มีน้ำใสไหลเย็น
ถ้ำห้วยบอนตั้งอยู่ในเขต อุทยานแห่งชาติแม่ฝาง เป็นถ้ำขนาดใหญ่ มีหินงอกหินย้อยที่สวยงามมาก มีความลึกจากปากถ้ำหนึ่งถึงอีกปากถ้ำหนึ่งประมาณ 324 เมตร กว้างประมาณ 20-30 เมตร ภายในถ้ำไม่มีจุดอันตรายต่อผู้เข้าชม ประมาณกลางถ้ำจะพบโถงถ้ำใหญ่ซึ่งจุคนได้ประมาณ 40-50 คน สภาพถ้ำเต็มไปด้วยเสาหินและหินงอกหินย้อยขนาดต่างๆ และบริเวณใกล้เคียงมีถ้ำเล็กถ้ำน้อยประมาณ 10 ถ้ำ อยู่ห่างจากอำเภอฝางประมาณ 12 กิโลเมตร สามารถเดินทางโดยทางเท้าจากบ่อน้ำร้อนระยะทางประมาณ 4 กิโลเมตร
วัดเจดีย์งามสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2021 เดิมเป็นวัดร้าง ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2475 ท่านพระครูโสภณเจติยาราม อดีตเจ้าคณะอำเภอฝาง ได้ทำการบูรณะพัฒนาขึ้นมาเป็นวัด เดิมชื่อว่า “วัดหัวกาด” ต่อมาชื่อว่า “วัดหนองไผ่” (จากคำบอกเล่าถวายของพระเดชพระคุณพระเทพวรสิทธาจารย์ เจ้าอาวาสวัดสำเภอ อดีตเจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่)และตั้งชื่อใหม่ว่า “วัดเจดีย์งาม” ตามองค์พระธาตุเจดีย์งาม ได้รับพระราชทานพัทธสีมา เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2475 เขตพัทธสีมา กว้าง 60 เมตร ยาว 80 เมตร และเมื่อวันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2541 ได้มีพระบรมราชองค์การโปรดเกล้าฯ ให้วัดเจดีย์งามได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา ซึ่งมีความกว้าง 20 เมตร ยาว 30 เมตร ประกาศเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2542
พุทธศักราช 2536 ได้มีการสร้างอุโบสถขึ้นมา 1 หลังโดยทำการวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2536 โดยพระเดชพระคุณเจ้าประคุณสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วงวรปุญญมหาเถระ ป.ธ.9) เจ้าอาวาสวัดปากน้ำภาษีเจริญ เจ้าคณะใหญ่หนเนือได้เมตตาเป็นประธานวางศิลาฤกษ์ ซึ่งเป็นอุโบสถหลังนี้สร้างด้วยศิลปะแบบไทยล้านนาผสมศิลปะแบบภาคกลาง โดยใช้ไม้สักแกะสลักลงรักปิดทองผนังด้านนอกอุโบสถเขียนลายรดน้ำ ประกอบเป็นภาพลายรดน้ำ พระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุยเดช ส่วนผนังด้านในอุโบสถแกะสลักเป็นภาพทศชาติ และมหาชาติทำการลงรักปิดทอง และเขียนภาพไตรภูมิพระร่วง ขนบธรรมเนียมประเพณีชาวล้านนาในอดีต และวิถีชีวิตขนบธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรมชาวไทเขินเมืองเชียงตุง พร้อมกันนี้ยังได้เขียนภาพประวัติของพ่อขุนเม็งรายมหาราชผู้ปกครองเมืองฝางไว้ในอุโบสถด้วย
อุโบสถหลังนี้ใช้เวลาในการก่อสร้างเป็นระยะเวลา 7 ปี (2536-2542) จึงจะแล้วเสร็จ โดยมีช่างผู้ชำนาญการในการแกะสลักไม้สักทองจำนวน 5 ชุด สิ้นทุนทรัพย์ในการก่อสร้างเป็นจำนวนเงิน 22 ล้าน 5 แสนบาท
อนุสาวรีย์ พระเจ้าฝางอุดมสิน – พระนางสามผิว (บ่อน้ำซาววา)ตั้งอยู่ที่ สวนสุขภาพ หน้าวัดพระบาทอุดม ตำบลเวียง อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่
ตามหลักฐานที่ค้นพบหลายๆแห่งระบุว่า พระเจ้าฝางอุดมสิน พระนามเดินชื่อ “พระยาเชียงแสน” เป็นพระราชบุตรของพระเจ้าเมืองเชียงแสน ได้มาปกครองเมืองฝาง ในปี พ.ศ. 2172 ศักราชได้ 99 ตั๋ว เดือนแปดแรม 13 ค่ำ พระเจ้าฝางพร้อมด้วยพระชายาซึ่งมีพระนามว่า “พระนางสามผิว” ซึ่งเป็นบุตรีของเจ้าเมืองล้านช้าง (เวียงจันทร์)ซึ่งมีพระศิริโฉมงดงามเป็นที่เลื่องลือไปทั่วสารทิศว่าพระองค์มีผิวพระวรกายถึงสามผิว ในแต่ละวันคือตอนเช้าจะมีผิวขาวดังปุยฝ้าย ในตอนบ่ายจะมีสีแดงดังลูกตำลึงสุก และในตอนเย็นผิวพระวรกายของพระนางจะเป็นสีชมพูดุจดอกปุณฑริก(ดอกบัวขาบ)
พระเจ้าฝาง พระนางสามผิว มีพระราชธิดาองค์หนึ่งมีพระนามว่า “พระนางมัลลิกา” ในขณะที่พระองค์มาปกครองเมืองฝางนั้น เมืองฝางยังคงเป็นเมืองขึ้นของพม่า พระเจ้าฝางจึงทรงมีความคิดที่จะกอบกู้อิสรภาพให้แก่เมืองฝาง โดยให้ส้องสุมผู้คนและได้ตระเตรียมอาวุธเสบียงกรัง โดยไม่ยอมส่งส่วยและขัดขืนคำสั่งของพม่า ซึ่งทางพม่าได้ล่วงรู้ว่าเมืองฝางคิดจะแข้งข้อต่อตน จึงได้ยกกองทัพมาปราบ โดยกษัตริย์พม่าแห่งกรุงอังวะพระนามว่า “พระเจ้าภะวะสุทโธธรรมราชา” เป็นแม่ทัพใหญ่นำกองทัพเข้าตีเมืองฝางในปี พ.ศ. 2176 ศักราชได้ 955 ตั๋ว พระเจ้าฝางนำกองทัพป้องกันเมืองอย่างแข็งขัน ทำให้พระเจ้าภะวะสุทโธธรรมราชาเข้าตีเมืองไม่ได้
พระเจ้าภะวะสุทโธธรรมราชาจึงได้เปลี่ยนแผนการรบใหม่โดยนำกำลังทหารล้อมเมืองไว้ พร้อมทั้งตั้งค่ายอยู่บนเนินด้านทิศเหนือของเมืองฝาง คือที่ตั้งศาลจังหวัดฝาง เรือนจำจังหวัดฝาง สำนักงานที่ดินจังหวัดเชียงใหม่ สาขาฝาง สถานีตำรวจภูธรอำเภอฝาง หรือที่เราเรียกว่า “เวียงสุทโธ” ในปัจจุบันนี้ แล้วสั่งให้ทหารระดมยิงธนูไฟ (ปืนใหญ่) เข้าใส่เมืองฝางทำให้บ้านเมืองฝางเกิดระส่ำระส่าย ประชาชนเสียขวัญและทหารล้มตายลงเป็นจำนวนมาก
พระเจ้าฝาง พระนางสามผิว ทั้งสองพระองค์ทรงคิดว่าสาเหตุของการเกิดศึกในครั้งนี้ ต้นเหตุนั้นเกิดจากพระองค์ทั้งสองแท้ๆที่คิดจะกอบกู้อิสรภาพ ทำให้ประชาชนต้องได้รับความเดือดร้อนและการกระทำครั้งนี้ก็ไม่สำเร็จ ทั้งสองพระองค์จึงตัดสินพระทัยสละพระชนม์ชีพเพื่อปกป้องผู้คนเมืองฝางให้พ้นจากความอดอยากและการถูกเข่นฆ่าจากกองทัพของพระเจ้าภะวะสุทโธธรรมราชา
และในคืนนั้นคือวันขึ้น 5 ค่ำ เดือน 6 เหนือปี พ.ศ. 2180 ศักราชได้ 999 ตั๋ว พระเจ้าฝางพร้อมด้วยพระนางสามผิว จึงได้สละพระชนม์ชีพ ด้วยการกระโดดบ่อน้ำซาววา และในตอนรุ่งสางของวันนั้น กองทัพพระเจ้าภะวะสุทโธธรรมราชาก็ตีและบุกเข้าทางกำแพงเมืองด้านทิศเหนือของเมืองฝางได้สำเร็จ เมื่อรำลึกถึงวีรกรรมของพระเจ้าฝาง พระนางสามผิว ที่ทรงสละพระชนม์ชีพเพื่อปกป้องประชาชนของพระองค์ พระเจ้าภะวะสุทโธธรรมราชาจึงได้ออกคำสั่งมิให้ทหารของพระองค์ ทำร้ายเข่นฆ่าชาวเมืองฝางอีก และได้ยกกองทัพกลับไปกรุงอังวะ ประเทศพม่า โดยมิได้ยึดครองเมืองฝางแต่ประการใด
เพื่อเป็นการน้อมรำลึกพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน คณะลูกเสือชาวบ้านพร้อมด้วยผู้ที่เคารพนับถือในสองพระองค์ท่าน จึงได้ร่วมกันสร้างอนุสาวรีย์พระเจ้าฝาง-พระนางสามผิวขึ้น ณ ด้านหน้าบ่อน้ำซาววา ในปี พ.ศ. 2522 โดยก่อสร้างด้วยปูน ต่อมาได้มีการสร้างอนุสาวรีย์ขึ้นใหม่โดยให้ทำการหล่อด้วยโหละ เมื่อปลายปี พ.ศ. 2539 ถึง พ.ศ. 2540 เพื่อจะได้เป็นที่เคารพสักการะของผู้คนตลอดปี
อำเภอฝางถือว่าเป็นอำเภอที่มีความสำคัญของจังหวัดเชียงใหม่เพราะมีสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญมากมาย เช่น ดอยอ่างขาง ดอยผ้าห่มปก โป่งน้ำร้อน เป็นต้น อำเภอฝางยังเป็นอำเภอที่ปลูกส้มมากเป็นลำดับแรก ๆ ของประเทศไทย เป็นต้นกำเนิดของ ส้มสายน้ำผึ้ง ส้มพันธุ์ใหม่ที่มีรสชาติดี จนทำให้ส้มกลายเป็นพืชเศรษฐกิจหลักของอำเภอฝาง และสวนส้มยังกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก อำเภอฝางยังเป็นแหล่งที่ค้นพบบ่อน้ำมันดิบแห่งแรกของประเทศไทย มีการขุดเจาะน้ำมันขึ้นมาใช้เป็นเวลากว่า 100 ปีแล้ว จนถึงปัจจุบันนี้ มีการสร้างโรงกลั่นน้ำมัน และพิพิธภัณฑ์ปิโตรเลียม ผู้สนใจสามารถเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์และศูนย์การเรียนรู้ด้านปิโตรเลียมและพลังงานอื่น ๆ ของกรมการพลังงานทหาร ณ ศูนย์พัฒนาปิโตรเลียมภาคเหนือ อำเภอฝาง ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
อำเภอฝางตั้งอยู่ทางทิศเหนือของจังหวัดเชียงใหม่บนถนนสายเชียงใหม่–ฝาง (ถนนโชตนา) ระยะทางห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ 154 กิโลเมตร การคมนาคมของอำเภอฝาง ทางบก มีทางหลวงแผ่นดินที่สำคัญ คือ