อำเภอตระการพืชผล หมายถึงเมืองที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยพันธุ์ไม้นานาชนิด (ตระการ = งาม ประหลาด แปลก ๆ มีต่าง ๆ)
อำเภอตระการพืชผลตั้งอยู่ทางทิศเหนือของจังหวัดอุบลราชธานี ห่างจากตัวจังหวัด 50 กิโลเมตร และห่างจากกรุงเทพมหานคร 698 กิโลเมตร มีอาณาเขตติดต่อกับพื้นที่การปกครองข้างเคียงดังนี้
อำเภอตระการพืชผล เดิมมีฐานะเป็นเมือง ชื่อเมืองตระการพืชผล ตั้งขึ้นในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พร้อมๆกับการตั้งเมืองพิบูลมังสารหาร และเมืองมหาชนะชัย กล่าวคือ ใน พ.ศ. ๒๔๐๖ พระพรหมราชวงศา (กุทอง)เจ้าเมืองอุบลราชธานี คนที่ ๓ (พ.ศ. ๒๓๘๓-๒๔๐๖) เห็นว่าบ้านสะพือเป็นหมู่บ้านเก่าแก่และเป็นชุมชนขนาดใหญ่มีความเหมาะสมที่จะตั้งขึ้นเป็นเมือง จึงมีใบขอกราบเรียนเจ้าพระยากำแหงสงคราม เจ้าเมืองนครราชสีมา เพื่อนำความกราบบังคมทูล ขอตั้งบ้านสะพือขึ้นเป็นเมือง พระบาทสมเด็จ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาดโปรดเกล้าฯให้ตั้งบ้านสะพือ เป็นเมืองตระการพืชผล ขึ้นตรงต่อเมืองอุบลราชธานี เมื่อวันอาทิตย์ แรม ๑๑ ค่ำ เดือน ๑๒ จ.ศ.๑๒๒๕ (พ.ศ. ๒๔๐๖) และโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ท้าวสุริยวงศ์ (อ้ม) เป็นพระอมรดลใจเจ้าเมือง ให้ท้าวพรหม (บุตร) เป็นอุปฮาดท้าวสีหาจักร (ฉิม) เป็นราชวงศ์ ท้าวกุลบุตร (ท้าว) เป็นราชบุตร
บ้านสะพือที่ได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ยกฐานะเป็นเมืองตระการพืชผลในครั้งนั้น มีฐานะเป็นเมืองที่สมบูรณ์ เพราะมีการตั้งเจ้าเมือง อุปฮาด ราชวงศ์ ราชบุตร ซึ่งเป็นคณะผู้ปกครองสูงสุดของเมือง ที่เรียกว่า คณะ "อาชญาสี่" ในปี พ.ศ. ๒๔๓๐ เมืองตระการพืชผล ต้องส่งส่วยให้เมืองราชธานี(กรุงเทพ) จำนวนเงิน ๑,๓๘๘ บาท
เมืองตระการพืชผล คงฐานะเป็นเมืองและตั้งอยู่ที่บ้านสะพือมาเป็นเวลานานพอสมควร แม้ว่าจะมีการปรับปรุงการปกครองในบริเวณนี้หลายครั้ง กระทั่งปี พ.ศ. ๒๔๔๐ (ร.ศ.๑๑๖) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดเกล้าฯให้ประกาศใช้ " พระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ ร.ศ.๑๑๖ " ซึ่งมีผลใช้บังคับทั่วราชอาณาจักร กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ข้าหลวงต่างพระองค์สำเร็จราชการหัวเมืองมณฑลอิสาน จึงได้ปรับปรุงการปกครองในภูมิภาคนี้เป็นการใหญ่ โดยให้ยุบเมืองเล็กลงเป็นอำเภอ สำหรับเมืองตระการพืชผล ก็มีฐานะเป็นอำเภอขึ้นตรงต่อเมืองอุบลราชธานี มณฑลอิสานตั้งแต่นั้นมา สำหรับผู้ดำรงตำแหน่งนายอำเภอนั้น ในปี ร.ศ.๑๒๑ (พ.ศ. ๒๔๔๕)นายอำเภอตระการพืชผล คือ ท้าวสุริยะ (มั่น)
อำเภอตระการพืชผล คงสภาพเป็นอำเภอได้ไม่นาน ในปี พ.ศ. ๒๔๕๑ ทางราชการได้มีการปรับปรุงการปกครองในส่วนภูมิภาคครั้งใหญ่ อาจเนื่องจากกรณีเกิด ผีบาป - ผีบุญ ในบริเวณบ้านสะพือ ในปี พ.ศ. ๒๔๔๔-๒๔๔๕ก็เป็นได้ ทางราชการจึงได้รวมอำเภอตระการพืชผล และอำเภอพนานิคม เข้าด้วยกัน เรียกชื่อว่า อำเภอพนานิคม โดยตั้งที่ว่าการอำเภอ ที่อำเภอพนานิคม บ้านสะพือที่เคยมีฐานะเป็นเมืองตระการพืชผล หรือฐานะเป็นอำเภอตระการพืชผล ก็กลายเป็นบ้านสะพือ ตำบลสะพือ ตั้งแต่บัดนั้นมา
ใน พ.ศ. ๒๔๕๗ ทางราชการเห็นว่า ทำเลที่ตั้งที่ว่าการอำเภอพนานิคมไม่ค่อยเหมาะสม จึงได้ย้ายที่ว่าการอำเภอพนานิคม มาตั้งที่บ้านขุหลุ ตำบลขุหลุ แต่ยังคงเรียกชื่ออำเภอพนานิคมอยู่เช่นเดิม เพื่อให้ชื่ออำเภอเหมาะสมกับสถานที่ตั้งอย่างแท้จริง จึงเปลี่ยนชื่อเป็นอำเภอขุหลุ เมื่อวันที่ ๒๔ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๐
ในปี พ.ศ. ๒๔๘๒ ทางราชการได้เปลี่ยนชื่อจากอำเภอขุหลุเป็นอำเภอพนานิคมอีกครั้ง จนในปี พ.ศ. ๒๔๘๓ จึงเปลี่ยนชื่อเป็นอำเภอตระการพืชผล เพื่อความถูกต้องตามทางประวัติศาสตร์อีกครั้งหนึ่ง
ในปี พ.ศ. ๒๔๙๔ ทางราชการได้จัดตั้งกิ่งอำเภอพนานิคม (อำเภอพนา จังหวัดอำนาจเจริญในปัจจุบัน) ขึ้นใหม่ โดยแยกท้องที่ ๕ ตำบลที่เคยอยู่ในบริเวณอำเภอพนานิคมมาก่อนมาขึ้นสังกัดกิ่งอำเภอพนานิคมที่ตั้งขึ้นใหม่ ส่วนอำเภอตระการพืชผลยังคงมีฐานะเป็นอำเภอตระการพืชผล มาจนถึงปัจจุบัน