กัลยาณิวัฒนา (คำเมือง: ) เป็นเขตการปกครองระดับอำเภอลำดับที่ 25 ของจังหวัดเชียงใหม่ และอันดับที่ 878 ของประเทศไทย จัดตั้งเมื่อ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2552 โดยพระราชกฤษฎีกาตั้งอำเภอกัลยาณิวัฒนา จังหวัดเชียงใหม่ พ.ศ. 2542 และตั้งที่ว่าการอำเภอ ณ ตำบลแจ่มหลวง
อำเภอกัลยาณิวัฒนาเป็นอำเภอที่กระทรวงมหาดไทยได้กำหนดให้เป็น "โครงการอำเภอกัลยาณิวัฒนา เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554" ซึ่งดำเนินการโดยสำนักนโยบายและแผน สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานในสังกัดกระทรวงมหาดไทย โดยมีวัตถุประสงค์ให้อำเภอกัลยาณิวัฒนาเป็นอำเภอต้นแบบในการพัฒนาที่ยั่งยืน
โครงการที่จะจัดตั้งอำเภอใหม่ในพื้นที่ดังกล่าวสามารถสืบย้อนไปได้ถึง พ.ศ. 2536 โดยเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2546 สภาตำบลตำบลบ้านจันทร์ได้เสนอแยกกิ่งอำเภอออกจากสามตำบลในอำเภอแม่แจ่ม ได้มีการเตรียมการจัดตั้งกิ่งอำเภอใหม่เป็นเวลาหลายปี แต่ด้วยวิกฤตการณ์ทางการเงินในเอเชีย พ.ศ. 2540 ได้ทำให้อำเภอใหม่ทั้งหมดที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาถูกรัฐบาลยกเลิกไปเพื่อหลีกเลี่ยงค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม ก่อนที่จะกลับเข้าสู่ระเบียบการพิจารณาอีกครั้งในปี พ.ศ. 2548 โดยได้มีการจัดทำข้อเสนอและการศึกษาโดยจังหวัดเชียงใหม่และกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย
วันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2551 คณะรัฐมนตรีไทยเห็นว่าพื้นที่ตำบลบ้านจันทร์ ตำบลแม่แดด และตำบลแจ่มหลวง แห่งอำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ เป็นพื้นที่การท่องเที่ยว มีเนื้อที่ 674.58 ตารางกิโลเมตร และประชากร 10,561 คน มีการจัดตั้งโครงการพระราชดำริหลายโครงการ มีสภาพภูมิประเทศเป็นป่าและภูเขาสูงชัน ทุรกันดาร การคมนาคมติดต่อเพื่อขอรับบริการต่างๆ จากหน่วยงานของรัฐ ณ ที่ว่าการอำเภอแม่แจ่ม เป็นไปด้วยความยากลำบาก การให้บริการของเจ้าหน้าที่ไม่สามารถให้บริการได้อย่างทั่วถึงครอบคลุมทุกพื้นที่ ประกอบกับพื้นที่ดังกล่าวประสบปัญหาด้านความสงบเรียบร้อย เรื่องยาเสพติด และปัญหาด้านการลักลอบการตัดไม้ทำลายป่า จึงเห็นชอบให้แยกพื้นที่ดังกล่าวมาจัดตั้งเป็นอำเภอใหม่ มีวัตถุประสงค์เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ โดยเฉพาะ
อย่างไรก็ดี วันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่ออำเภอที่จะจัดตั้งขึ้นใหม่นั้นตามที่กระทรวงมหาดไทยขอพระราชทาน ว่า "อำเภอกัลยาณิวัฒนา" แทนชื่อเดิมที่ใช้ว่า "วัดจันทร์"
เนื่องจากข้อเท็จจริงที่ว่ามีโครงการในพระราชดำริในพื้นที่ตำบลบ้านจันทร์ อำเภอที่จัดตั้งขึ้นใหม่นี้จึงไม่จำเป็นจะต้องจัดตั้งเป็นกิ่งอำเภอก่อนที่จะพัฒนาจนกลายเป็นอำเภอโดยสมบูรณ์ ที่ว่าการอำเภอกำลังอยู่ในระหว่างการก่อสร้างในหมู่ 2 ตำบลแจ่มหลวง จนกระทั่งก่อสร้างเสร็จ สภาตำบลบ้านจันทร์จะถูกใช้เป็นที่ว่าการอำเภอชั่วคราว
ดังนั้น เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2552 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่าง "พระราชกฤษฎีกาตั้งอำเภอกัลยาณิวัฒนา จังหวัดเชียงใหม่" ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชลงพระปรมาภิไธยเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2552 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 126 ตอนที่ 97 ก หน้า 7 ลงวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2552 และมีผลใช้บังคับในวันรุ่งขึ้น โดยปรากฏเหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ว่า
"...โดยที่ตำบลแจ่มหลวง ตำบลบ้านจันทร์ และตำบลแม่แดด อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ มีท้องที่กว้างขวาง มีชุมชนและชุมนุมการค้าหนาแน่น มีสภาพเจริญขึ้นกว่าเดิมมาก แต่เนื่องจากมีภูมิประเทศตั้งอยู่ห่างไกล ทำให้ประชาชนไม่ได้รับความสะดวกในการติดต่อราชการ สมควรแยกตำบลดังกล่าวออกจากอำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ และรวมตั้งเป็น อำเภอกัลยาณิวัฒนา จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อประโยชน์แก่การปกครอง การให้บริการของรัฐ ความสะดวกของประชาชน และเพื่อส่งเสริมให้ท้องที่มีความเจริญยิ่งขึ้น ตลอดจนเพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้"
อำเภอกัลยาณิวัฒนา ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของจังหวัดเชียงใหม่ สภาพพื้นที่โดยทั่วไปเป็นป่าและภูเขาสูงชันล้อมรอบ ตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ สภาพป่าเป็นป่าเบญจพรรณ มีอากาศหนาวเย็นตลอดทั้งปี เป็นพื้นที่ป่าไม้และภูเขา 378,245 ไร่ การเกษตร 30,391 ไร่ ที่อยู่อาศัย 3,327 ไร่ และพื้นที่โล่งสาธารณะ 4,635 ไร่ มีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 1,225 มิลลิเมตรต่อปี ฝนตกเฉลี่ย 122 วันต่อปี
อำเภอกัลยาณิวัฒนาประกอบด้วยชุมชนชาวเขาหลายเผ่า เช่น กะเหรี่ยง ม้ง ลีซอ เป็นต้น ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำไร่ ทำนา ทำสวน และการทอผ้าเป็นอาชีพเสริม