อำเภอกันตัง เป็นอำเภอเก่าแก่อำเภอหนึ่งในจังหวัดตรัง คำว่า "กันตัง" สันนิษฐานว่าเป็นคำในภาษามาเลย์
กันตัง เป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดตรัง ที่ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำตรัง ห่างจากตัวเมืองตรังเพียง 24 กิโลเมตร ในอดีตกันตังเป็นเมืองท่าสำคัญแห่งหนึ่งทางฝั่งมหาสมุทรอินเดีย เป็นศูนย์กลางการคมนาคมทางน้ำสำคัญมาแต่โบราณ เมื่อพระยารัษฎานุประดิษฐมหิศรภักดีมารับตำแหน่งใน พ.ศ. 2433 ได้ดำเนินการพัฒนาเมืองตรัง (กันตัง) ทุกด้าน โดยมีจุดมุ่งหมายจะทำให้เป็นเมืองค้าขาย เริ่มจากการย้ายเมืองจากตำบลควนธานีไปตั้งที่ตำบลกันตัง และสร้างความเจริญแก่เมืองตรัง (กันตัง) อย่างมาก การพัฒนาในสมัยพระยารัษฎาฯ ที่จะนำไปสู่ความเป็นเมืองท่าค้าขายมีอยู่หลายด้าน เริ่มจากการแก้ปัญหาความไม่สงบเรื่องโจรผู้ร้ายและการส่งเสริมอาชีพพื้นฐานคือการเกษตร เริ่มต้นจากเกษตรยังชีพในครัวเรือน และขยายเป็นเกษตรเพื่อการค้า โดยใช้กุศโลบายต่าง ๆ และระบบกลไกของรัฐ เช่น การยกเว้นเก็บภาษีอากรและการเกณฑ์แรงงานแก่ผู้บุกเบิกทำนา จนสามารถส่งข้าวขายปีนังได้ ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านี้ ชาวเมืองขาดแคลนข้าว ต้องซื้อจากปีนังอยู่เสมอ การสร้างถนนและสะพานก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนสินค้าในท้องถิ่น และส่งขายต่างประเทศทางท่าเรือกันตัง พระยารัษฎาฯ ส่งเสริมบริษัทตัวแทนซื้อขายสินค้าที่ท่าเรือกันตัง สินค้าสำคัญในสมัยนั้น ได้แก่ เป็ด ไก่ สุกร โค กระบือ พริกไทย ข้าว ตับจาก ไม้เคี่ยม ไม้โปรง เป็นต้น
การพัฒนาของพระยารัษฎาฯ สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงในส่วนกลางที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงปฏิรูประบบราชการ และนำพาชาติเข้าสู่การพัฒนาให้เทียบทันอารยประเทศ การก่อสร้างทางรถไฟสายใต้ที่กำหนดให้มีทางแยกจากทุ่งสงมุ่งสู่ท่าเรือกันตังเริ่มสร้างตั้งแต่ พ.ศ. 2444 ส่วนในสายแยกตั้งแต่ทุ่งสงถึงกันตัง เปิดการโดยสารระหว่างกันตัง-ห้วยยอด วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2456 และต่อมา เปิดการโดยสารระหว่างห้วยยอด-ทุ่งสง ในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2446 (นับปีแบบเก่า ขึ้นศักราชใหม่เดือนเมษายน เดือนมกราคมเป็นเดือนที่ 10 ของปี) เส้นทางรถไฟนี้ส่งเสริมนโยบายเมืองท่าค้าขายของพระยารัษฎาฯ ได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ พระยารัษฎาฯ ยังได้มองการณ์ไกล ที่จะทำให้กันตังเป็นท่าเรือค้ากับต่างประเทศได้เต็มศักยภาพ โดยเสนอทางรัฐบาลจัดสร้างท่าเรือน้ำลึก แต่ไม่ได้รับการสนับสนุนใน พ.ศ. 2435 ซึ่งเป็นปีที่สถาปนากระทรวงมหาดไทย และเริ่มการปกครองระบบมณฑลขึ้นเป็นครั้งแรก หัวเมืองฝ่ายทะเลตะวันตกเดิมเปลี่ยนเป็นมณฑลภูเก็ต เมืองตรังเป็นส่วนหนึ่งของมณฑลภูเก็ต
ในปี พ.ศ. 2434 ทางการได้ยุบเมืองปะเหลียนรวมกับเมืองตรัง ต่อมามีประกาศข้อบังคับลักษณะการปกครองท้องที่ ร.ศ.115 (พ.ศ. 2439) แบ่งท้องที่การปกครองเป็นอำเภอ จังหวัดตรังมี 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมือง (กันตัง) อำเภอบางรัก อำเภอเขาขาว (ห้วยยอด) อำเภอสิเกา และอำเภอปะเหลียน มีตำบลรวม 109 ตำบล
ต่อมา พ.ศ. 2444 พระยารัษฎาฯ ได้รับแต่งตั้งเป็นข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลภูเก็ต มีผู้ว่าราชการเมืองตรังต่อจากพระยารัษฎาฯ 5 คน พอถึง พ.ศ. 2458 สมัยที่พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (สิน เทพหัสดินฯ) เป็นผู้ว่าราชการเมือง มหาอำมาตย์โท พระยาสุรินทรราชา (ม.ร.ว.สิทธิ์ สุทัศน์ฯ) เป็นสมุหเทศาภิบาลมณฑลภูเก็ต เห็นว่าเมืองที่กันตังอยู่ในทำเลไม่เหมาะสม เนื่องจากตอนสงครามโลกครั้งที่ 1 เรือดำน้ำของเยอรมันชื่อเอ็มเด็น ได้ลอยลำยิงถล่มปีนัง หากมีสงครามเกิดขึ้นอีก เมืองตรังอาจจะถูกยิงเช่นปีนัง รวมทั้งพื้นที่ลุ่ม และมีโรคระบาด หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ เมืองตรัง พ.ศ. 2458 แล้ว จึงขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตย้ายเมืองไปตั้งที่อำเภอบางรัก และได้ย้ายไปเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2458
ปัจจุบันกันตังยังคงเป็นเมืองท่าที่สำคัญของจังหวัดตรัง โดยมีการส่งสินค้าประเภทตู้คอนเทนเนอร์ผ่านท่าเทียบเรือกันตังโดยใช้เรือลากจูง ให้บริการระหว่างเส้นทางกันตัง-ปีนัง-กันตัง สัปดาห์ละ 2 เที่ยว โดยสินค้าที่ส่งผ่านท่าเรือกันตังจะเป็นยางพาราและไม้ยางพาราแปรรูป นอกจากนี้แล้วยังมีสินค้าเทกองประเภทแร่ยิปซัมและถ่านหิน
อำเภอกันตังตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของจังหวัด มีอาณาเขตติดต่อกับเขตการปกครองข้างเคียงดังต่อไปนี้
ชาวกันตังเป็นอำเภอที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์แห่งหนึ่ง โดยมีทั้งชาวไทยถิ่นใต้ ชาวไทยเชื้อสายจีน และชาวไทยเชื้อสายมลายู ซึ่งอาศัยอยู่ร่วมกันมายาวนานด้วยกันอย่างสันติสุข และแต่ละเชื้อชาติก็จะมีมีประเพณีที่สำคัญแตกต่างกันไป
อำเภอกันตังเป็นอีกหนึ่งอำเภอที่มีประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน จึงมีสถานที่ท่องเที่ยวที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจดังนี้
ในสมันสงครามโลกครั้งที่ 2 ควนตำหนักจันทร์ได้ใช้เป็นที่ตั้งทัพของกองกำลังทหารญี่ปุ่น หลังจากสิ้นสุดสงครามอาคารต่าง ๆ ได้ถูกรื้อถอนจนไม่เหลือร่องรอย ต่อมาได้ใช้พื้นที่นี้ส่วนหนึ่งสร้างดรงเรียนกันตังพิทยา ส่วนเนินเขาถูกปรับปรุงเป็นสวนสาธารณะเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจ และเป็นที่ออกกำลังกายของชาวเมืองกันตัง มีไม้ดอกไม้พันธ์หลายชนิด บนยอดสามารถมองเห็นทิวทัศน์ตัวเมืองกันตังและแม่น้ำกันตังได้อย่างชัดเจน