อำเภอ (Amphoe) เป็นหน่วยการปกครองในประเทศไทย ลำดับรองมาจากจังหวัด จัดตั้งขึ้นโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา มีฐานะเป็นราชการบริหารส่วนภูมิภาค ตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน โดยในแต่ละอำเภอจะแบ่งส่วนย่อยออกเป็น ตำบล
การบริหารงานอำเภอ มีนายอำเภอ เป็นหัวหน้าปกครองบังคับบัญชา และมีหัวหน้าส่วนราชการประจำอำเภอที่กระทรวง กรมส่งมาประจำในอำเภอ และปลัดอำเภอ เป็นผู้ช่วยในการปฏิบัติหน้าที่ มีที่ทำการอยู่ที่ "ที่ว่าการอำเภอ"
ในปัจจุบันประเทศไทยมี 878 อำเภอใน 76 จังหวัด จำนวนประชากรในแต่ละอำเภอจะมีจำนวนต่างกันไป เช่น อำเภอเมืองสมุทรปราการมีประชากร 525,982 คน ขณะที่อำเภอเกาะกูด (จังหวัดตราด) มีประชากรเพียง 2,450 คน (พ.ศ. 2557)
นายอำเภอ เป็นตำแหน่งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ประเภทอำนวยการ ระดับต้น (ระดับ 8) ยกเว้นอำเภอเมือง และอำเภอที่มีความเจริญทางเศรษฐกิจสูง นายอำเภอจะเป็นข้าราชการ ประเภทอำนวยการ ระดับสูง (ระดับ 9) มีอำนาจหน้าที่ในการบังคับบัญชาส่วนราชการในอำเภอ และกำกับดูแลการบริหารงานขององค์การบริหารส่วนตำบลในสังกัด
การบรรจุและแต่งตั้งนายอำเภอ จะใช้วิธีการสอบคัดเลือกปลัดอำเภอ (หรือเทียบเท่า) เพื่อเข้ารับการศึกษาในโรงเรียนนายอำเภอ สังกัดวิทยาลัยการปกครอง เป็นเวลาราว 5 เดือน จากนั้นจึงเรียกบรรจุแต่งตั้งตามลำดับผลการเรียนที่สอบได้
ปลัดอำเภอ (เจ้าพนักงานปกครอง) เป็นตำแหน่งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ประเภทวิชาการ ระดับปฏิบัติการ (ระดับ 3-5) ระดับชำนาญการ (ระดับ 6-7) จนถึงระดับชำนาญการพิเศษ (ระดับ 8) มีหน้าที่เป็นผู้ช่วยปฏิบัติงานของนายอำเภอ
การบรรจุและแต่งตั้งปลัดอำเภอ (เจ้าพนักงานปกครอง) ปฏิบัติการ จะใช้วิธีการเปิดสอบแข่งขันจากบุคคลทั่วไปที่มีคุณวุฒิทางด้านนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์ บริหารรัฐกิจ หรือสาขาอื่นๆ ที่กำหนดให้สมัครได้ ส่วนปลัดอำเภอ (เจ้าพนักงานปกครอง) ชำนาญการพิเศษ จะบรรจุและแต่งตั้งจากบุคคลที่ผ่านการศึกษาจากโรงเรียนนายอำเภอมาแล้ว หรือเรียกว่า "ปลัดอาวุโส"
อำเภอเมือง เป็นอำเภอพิเศษ มีลักษณะคล้ายกับเมืองหลวงของจังหวัด จะเป็นที่ตั้งของหน่วยงานสำคัญระดับจังหวัด (รวมทั้ง ศาลากลางจังหวัด ด้วย) อำเภอเมืองจึงมักจะมีความเจริญ และประชากรหนาแน่นกว่าอำเภออื่น ๆ ในภาษาราชการ อำเภอเมืองในแต่ละจังหวัด จะต้องเรียกชื่อ โดยมีชื่อจังหวัดต่อท้าย เช่น อำเภอเมืองชุมพร อำเภอเมืองเชียงใหม่ อำเภอเมืองศรีสะเกษประชากรในบางจังหวัด จะไม่นิยมเรียกอำเภอเมืองของตนว่า อำเภอเมือง แต่ "มักจะ" เรียก ชื่อจังหวัดนั้น ๆ แทน เช่น ไปขอนแก่น สำหรับคนในจังหวัดขอนแก่น ย่อมหมายถึง เดินทางไปอำเภอเมืองของจังหวัดขอนแก่น (หรืออาจเรียกชื่ออื่นในท้องถิ่นแทน) เช่น โคราชหรือบ้านดอน[ต้องการอ้างอิง]
มีเพียงจังหวัดเดียวในประเทศไทยที่ไม่มีอำเภอเมือง คือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา แต่มีอำเภอพระนครศรีอยุธยาแทน (เดิมชื่ออำเภอรอบกรุง ต่อมาเปลี่ยนเป็นอำเภอกรุงเก่า ก่อนจะเปลี่ยนมาใช้ชื่อปัจจุบัน) อำเภอที่มีชื่อเหมือนกับจังหวัด คือ อำเภอพระนครศรีอยุธยา แต่ทีไม่ใช่เป็นที่ตั้งของศาลากลางจังหวัดเหมือน อำเภอเมืองของจังหวัดอื่นๆ