อาสนวิหาร หรือ มหาวิหาร(อังกฤษ: Cathedral; ฝรั่งเศส: Cath?drale; เยอรมัน: Kathedrale/Dom; อิตาลี: Cattedrale/Duomo) คือคริสต์ศาสนสถานที่เป็นทีตั้งของ “คาเทดรา” เป็นที่ที่คริสต์ศาสนิกชนใช้ทำการนมัสการพระเจ้า (โดยเฉพาะในคริสตจักรที่มีการจัดระเบียบองค์การแบบอิปิสโคปัล เช่น โรมันคาทอลิก อีสเทิร์นออร์ทอดอกซ์ แองกลิคัน และลูเทอแรน มหาวิหารจะเป็นโบสถ์ประจำตำแหน่งของบิชอป ที่ใช้เป็นศูนย์กลางของมุขมณฑลซึ่งเป็นเขตปกครองของบิชอป
คำว่ามหาวิหารใช้ได้หลายความหมาย บางมหาวิหารของคริสตจักรปฏิรูปที่สกอตแลนด์ซึ่งปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของคริสตจักรแห่งสกอตแลนด์ยังใช้คำว่าเรียกตัวเองว่ามหาวิหารอยู่ทั้งที่โบสถ์นั้นไม่มีตำแหน่งมุขนายกประจำ ฉะนั้นในบางกรณีคำว่ามหาวิหารจึงใช้เรียกโบสถ์ที่ไม่ได้เป็นที่ตั้งอาสนะของบิชอปแต่มีลักษณะใหญ่โตน่าประทับใจ
นิกายอีสเทิร์นออร์ทอดอกซ์จะไม่ใช้คำว่ามหาวิหารแต่จะใช้คำว่าโบสถ์ใหญ่ (the great church) แต่เมื่อแปลเป็นภาษาอังกฤษก็จะใช้คำว่า “cathedral” เมื่อพูดถึงโบสถ์ใหญ่
นิกายออเรียนทัลออร์ทอดอกซ์จะไม่มีมหาวิหารอย่างที่ว่าแต่จะมีโบสถ์หลักเช่นโบสถ์เซนต์มาร์กที่ไคโรซึ่งก็เรียกกันว่า “cathedral” เช่นกัน
มหาวิหารหลายแห่งในทวีปยุโรปไม่เรียกตัวเองว่ามหาวิหารแต่จะเรียกตัวเองว่า Minster หรือ M?nster เช่น ที่เมืองยอร์ก หรือ ลิงคอล์น ในประเทศอังกฤษ แต่คนทั่วไปก็ยังเรียกทั้งสองแห่งนี้ว่า “มหาวิหาร” ในประเทศเยอรมนี ทั้งสองคำนี้มีรากมาจากคำว่า monasterium ใน ภาษาละติน เพราะแต่เดิมมหาวิหารเหล่านี้เคยอยู่ภายใต้การปกครองของแคนัน (canon) ที่อยู่ในชุมชนนั้นหรืออาจจะเคยเป็นแอบบีย์มาก่อนการปฏิรูปศาสนาฝ่ายโปรเตสแตนต์
คำว่า "cathedral" มาจากคำนามภาษาละติน "cathedra" (นั่ง หรือ เก้าอี้) ที่หมายถึงสถานที่ที่มี ที่นั่ง หรือ บัลลังก์ของมุขนายกหรืออัครมุขนายก ในสมัยโบราณเก้าอี้เป็นสัญลักษณ์ของผู้สอน ฉะนั้นบิชอปในฐานะที่เป็นผู้สอนศาสนาและมีหน้าที่การปกครองจึงมีบัลลังก์
คำว่า "cathedral" ถึงแม้ว่าจะใช้เป็นคำนามในปัจจุบัน แต่เดิมเป็นคำคุณศัพท์ขยายคำว่าโบสถ์ เช่น "cathedral church" จากภาษาละตินว่า "ecclesia cathedralis" ที่นั่งของบิชอปในมหาวิหารจะตั้งเด่นอยู่ภายในโบสถ์เพราะเป็นสัญลักษณ์สำคัญของอำนาจการปกครองของบิชอปเอง บัลลังก์บิชอปบางหลังจะสลักเสลาอย่างสวยงาม เช่นที่ มหาวิหารเอ็กซีเตอร์ ประเทศอังกฤษ เป็นงานฉลุไม้ที่สูงใหญ่สามารถถอดเป็นชิ้นๆได้ เป็นบัลลังก์อยู่ใต้ซุ้ม
ตามกฎหมายศาสนจักรของนิกายโรมันคาทอลิก ความสัมพันธ์ระหว่างบิชอปกับมหาวิหารเปรียบได้กับความสัมพันธ์ระหว่างศิษยาภิบาลกับโบสถ์ประจำเขตแพริช ทั้งสองต่างก็มีอำนาจเหนือเขตที่กำหนดไว้ บิชอปมีอำนาจควบคุมมุขมณฑล ศิษยาภิบาลมีหน้าที่ควบคุมเขตแพริช ทั้งสองต่างก็มีความรับผิดชอบต่อสิ่งก่อสร้าง บิชอปมีความรับผิดชอบต่อมหาวิหาร ศิษยาภิบาลมีความรับผิดชอบต่อโบสถ์ เมื่อใช้กฎการเปรียบเทียบที่ว่านี้เพื่อจะเปรียบเทียบว่ามหาวิหารก็คือโบสถ์หนึ่งในเขตการปกครองหนึ่งซึ่งโบสถ์อื่นๆ ในเขตนั้นก็จะมามีส่วนเกี่ยวข้องกันด้วย
บางครั้งตำแหน่งของมุขนายกมหานครที่มีความสำคัญและความรับผิดชอบสูงและปริมุขนายกอื่นอยู่ในความรับผิดชอบก็จะเรียกว่า "Primate" เช่น บิชอปของมหาวิหารแคนเทอร์เบอรีและมหาวิหารยอร์กที่ประเทศอังกฤษ และมหาวิหารรูอ็องที่ประเทศฝรั่งเศส แต่มหาวิหารของ "Primate" ก็ยังคงเป็นมหาวิหาร "Metropolitical Cathedral" มิได้เป็น "Primatial Cathedral" อย่างที่ตำแหน่งระบุไว้
มหาวิหารที่อยู่ในระดับ Primatial Cathedral จริงๆ ก็ได้แก่ มหาวิหารลียง ที่ประเทศฝรั่งเศส ที่รู้จักกันในนามของ "La Primatiale" และ มหาวิหารลุนด์ (Lund) ที่ ประเทศสวีเดน มหาวิหารลิอองนอกจากจะปกครองมุขมณฑลของตนเองแล้วก็ยังมีความรับผิดชอบต่อบิชอปประจำมุขมณฑลเซ็นส์ (Sens) และอัครมุขมณฑลปารีสด้วย มาจนถึงการปฏิวัติฝรั่งเศส ขณะที่มหาวิหารลุนด์มี มหาวิหารอุปป์ซาลา (Uppsala Cathedral) อยู่ในความรับผิดชอบนอกจากมุขมณฑลของตนเอง
นอกจากตำแหน่ง "Primate" แล้ว ก็ยังมีตำแหน่งอัครบิดร ซึ่งเป็นตำแหน่งของบิชอปประจำเขตอัครบิดรเวนิส ประเทศอิตาลี และเขตอัครบิดรลิสบอน ประเทศโปรตุเกส มหาวิหารที่เป็นแต่อัครบิดรแต่ชื่อโดยไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งอัครบิดรก็มี มหาวิหารนักบุญยอห์น ลาเตรัน ที่กรุงโรม เพราะที่นั่นถือว่าที่กรุงโรมมีพระสันตะปาปาเป็นอัครบิดรอยู่แล้ว แต่เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2006 สมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 ทรงยกเลิกตำแหน่ง "อัครบิดรตะวันตก" ของท่านเอง
บางโบสถ์ที่ถูกยกเลิกการเป็นมหาวิหารแล้วควรจะเรียกว่า "โปรโตคาธีดราล" แต่ก็ยังเรียกกันอยู่ว่า "มหาวิหาร" ก็มี เพราะเรียกกันมาจนติด เช่นมหาวิหารอันท์เวิร์พ(Antwerp) ที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ที่ตำแหน่งบิชอปถูกยกเลิกไปตั้งแต่การปฏิวัติฝรั่งเศส
ในสมัยกลางบิชอปและเคลอจีผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับมหาวิหาร จะอยู่ด้วยกันกันอย่างชุมชนซึ่งไม่เชิงเป็นอารามตามความหมายดั้งเดิมของคำนี้ แต่กระนั้นก็ยังเรียกตัวเองว่า “monasterium” การใช้คำนี้บางครั้งทำให้เกิดความสับสน อย่างเช่น มหาวิหารยอร์กในประเทศอังกฤษที่ไม่มีบาทหลวงและเคลอจีประจำอยู่ แต่เรียกตัวเองว่า “โบสถ์ประจำเมือง” หรืออาราม ในสมัยนั้นเคลอจีมักจะมีที่อยู่เป็นของตนเองนอกบริเวณโบสถ์และบางครั้งอาจจะมีภรรยาด้วย
เมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 8 Chrodegang (ค.ศ. 743 - ค.ศ. 766) บิชอปแห่งเมืองเม็ทซ (Metz) ประเทศฝรั่งเศส รวบรวมวินัยของเคลอจีของมหาวิหาร ซึ่งเป็นที่เป็นที่ยอมรับเป็นข้อปฏิบัติกันทั่วไปที่ประเทศเยอรมนีและบริเวณอื่นของทวีปยุโรป แต่กฎนี้ไม่เป็นที่นิยมใช้กันในประเทศอังกฤษ ตามกฎของ Chrodegang เคลอจีของมหาวิหารควรจะอยู่ภายใต้หลังคาเดียวกันและต้องอยู่ภายใต้การปกครองของเจ้าหน้าที่พิเศษที่แต่งตั้งขึ้น กฎของ Chrodegang ปรับปรุงมาจาก “วินัยของนักบุญเบเนดิกต์” (Rule of St Benedict) เมื่อ จีซา (Gisa) ชาวลอแรน (แขวงหนึ่งของประเทศฝรั่งเศส) มาดำรงตำแหน่งบิชอปแห่งเว็ลส์ (Wells) ในประเทศอังกฤษ ระหว่างปีค.ศ. 1061 - ค.ศ. 1088 ท่านก็พยายามเอากฎ Chrodegang เข้ามาใช้ปฏิบัติที่มหาวิหารเว็ลส์ประเทศอังกฤษแต่ก็ไม่สำเร็จ
ระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 10 ถึง 11 เคลอจีประจำมหาวิหารแบ่งเป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกใช้ชีวิตอยู่กันในอารามเป็นคณะนักพรต เช่น คณะเบเนดิกติน มหาวิหารแบบนี้เรียกว่ามหาวิหารแบบอาราม (Monastic) อีกกลุ่มหนึ่งเป็นคณะเคลอจีที่ไม่ได้ถือคำปฏิญาณใดๆ นอกจากการปฏิบัติตามกฎหมายศาสนจักรโดยทั่วไป ฉะนั้นเคลอจีประจำมหาวิหารประเภทหลังจึงเรียกกันว่า “แคนัน” (Canon) มหาวิหารแบบหลังนี้รู้จักกันว่ามหาวิหารแบบเซคิวลาร์ (secular)
เมื่อปลายยุคกลางมหาวิหารในประเทศเยอรมนีและอังกฤษมักจะเป็นแบบอาราม ในประเทศเดนมาร์กเริ่มแรกก็มหาวิหารทั้งหมดก็เป็นแบบอารามสังกัดคณะเบเนดิกติน ยกเว้นมหาวิหาร B?rglum ซึ่งขึ้นอยู่กับคณะ Praemonstratensian ซึ่งเป็นคณะย่อยของคณะออกัสติเนียน หลังจากการปฏิรูปศาสนามหาวิหารเหล่านี้ก็เปลี่ยนเป็นมหาวิหารแบบเซคิวลาร์ เช่นเดียวกับเดนมาร์ก ที่ประเทศสวีเดนมหาวิหารอุบสลาแต่เดิมขึ้นอยู่กับคณะเบเนดิกติน มาเปลี่ยนเป็นเซคิวลาร์ ประมาณปีค.ศ. 1250 จากนั้นประเทศสวีเดนก็มีคำสั่งให้มหาวิหารทุกแห่งในประเทศนั้นเลิกขึ้นกับอารามและเปลี่ยนมาเป็นเซคิวลาร์ และให้ตั้งสภาเคลอจี (Chapter) ที่มีแคนันอย่างน้อยสิบห้าคนต่อ
ในยุคกลางที่ประเทศฝรั่งเศสมหาวิหารมักจะเป็นแบบอาราม แต่ก็มาเปลี่ยนเป็นมหาวิหารแบบเซคิวลาร์ กันเกือบหมดเมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 17 มหาวิหารสุดท้ายที่เปลี่ยนคือมหาวิหารซีส์ (Seez) ซึ่งแต่เดิมขึ้นอยู่กับคณะออกัสติเนียน มาจนถึงปีค.ศ. 1547 เมื่อสมเด็จพระสันตะปาปาปอลที่ 3 ทรงอนุญาตให้เปลี่ยนมหาวิหารที่เหลือก็มาเปลี่ยนเป็นแบบเซคิวลาร์กันหมดระหว่างการปฏิรูปศาสนาฝ่ายโปรเตสแตนต์
ในกรณีของมหาวิหารแบบอาราม การปกครองจะขึ้นกับคณะนักบวชที่อารามนั้นสังกัด และสมาชิกทุกคนของอารามจะต้องอาสัยอยู่แต่ภายในอารามเท่านั้น ส่วนการปกครองของมหาวิหารแบบเซคิวลาร์จะมาจากสภาเคลอจี เช่น Dean, Precentor, Chancellor และ Tresurer
ยกเว้นเกาะอังกฤษประมุขของมหาวิหารแบบเซคิวลาร์จะมีดำรงตำแหน่ง “Provost” (หรือ praepositus, Probst, อื่นๆ) Provost นอกจะมีหน้าที่รักษากฎภายในโบสถ์แล้วก็ยังมีหน้าที่ดูแลเจ้าหน้าที่อื่นๆ ในสภาเคลอจีของมหาวิหาร หน้าที่เกี่ยวกับศาสนพิธี และที่ดินที่เป็นของโบสถ์ หน้าที่หลังนี้ทำให้ Provost บางคนละเลยหน้าที่ ทำให้เกิดมีการตั้งตำแหน่งใหม่ขึ้นที่เรียกว่า Dean ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบเรื่องหลังนี้ บางกรณีทางโบสถ์ก็จะยุบตำแหน่ง Provost แต่มหาวิหารที่ยังมี Provost เป็นประมุข บางทีก็ดำรงตำแหน่ง Archdeacon ด้วยและเป็นหัวหน้าของสภาเคลอจี
ตำแหน่ง Provost นี้ใช้กันแพร่หลายในประเทศเยอรมัน แต่ไม่ใช้กันในประเทศอังกฤษบิชอป จีซา (Gisa) พยายามเอาตำแหน่งนี้มาใช้ที่มหาวิหารเวลส์ในฐานะหัวหน้าของสภาเคลอจี แต่ต่อมาตำแหน่ง Provost นี้ก็ไปขึ้นกับเคลอจีอื่น ตำแหน่ง Provost ที่มหาวิหารเบเวอร์ลี (Beverley Minster) เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของตำแหน่งนี้ แต่ Provost ที่เบเวอร์ลีเป็นเจ้าหน้าที่ภายนอกที่มีอำนาจปกครองโบสถ์แต่ไม่มีที่นั่งในบริเวณที่สวดมนต์ภายใน (choir) และไม่มีสิทธิออกเสืยง
ในประเทศเยอรมนีและสแกนดิเนเวียและบางโบสถ์ทางตอนใต้ของประเทศฝรั่งเศส ตำแหน่ง Provost เป็นตำแหน่งสำหรับหัวหน้าของสภาเคลอจี ระหว่างการปฏิวัติฝรั่งเศส ฝรั่งเศสมีมหาวิหาร 136 มหาวิหาร แต่เพียง 38 แห่งที่อยู่ใกล้เยอรมนีหรือทางใต้ที่สุดเท่านั้นที่มีตำแหน่ง Provost เป็นหัวหน้ากลุ่มเจ้าหน้าที่ปกครองโบสถ์ ที่มหาวิหารอื่นตำแหน่ง Provost เป็นตำแหน่งย่อยขึ้นอยู่กับตำแหน่งอื่น มหาวิหารโอเทิง มหาวิหารลียง มหาวิหารชาทร์ ต่างก็มี Provost สองคนที่ขึ้นอยู่กับตำแหน่งอื่น
ประวัติของมหาวิหารในประเทศอังกฤษแตกต่างกันเป็นบางอย่างจากประวัติของมหาวิหารในประเทศอื่นๆในทวีปยุโรป อังกฤษมีมหาวิหารน้อยกว่าประเทศอื่นๆในยุโรปเช่นฝรั่งเศสหรืออิตาลี แต่ตัววิหารจะมีขนาดค่อนข้างใหญ่กว่าเมื่อเทียบกับประเทศอื่น เมื่อสมัยการปฏิวัติฝรั่งเศส ฝรั่งเศสมีมหาวิหาร 136 มหาวิหารในขณะที่อังกฤษมีเพียง 27
ประเทศอังกฤษตามกฎแล้วจะห้ามสร้างมหาวิหารในหมู่บ้าน ฉะนั้นสถานที่มีมหาวิหารจึงได้รับแต่งตั้งขึ้นเป็นเมืองไม่ว่าจะเป็นสถานที่ขนาดไหน บางครั้งเราจึงพบว่ามหาวิหารบางมหาวิหารจะตั้งอยู่ในเมืองที่ค่อนข้างเล็กแต่จะเรียกตัวเองว่า "นครอาสนวิหาร" ("cathedral city") เช่น "เมืองมหาวิหารเว็ลส์" ที่เป็นที่ตั้งของมหาวิหารเว็ลส์ ตัวเมืองเวลส์จะไม่ใหญ่ไปกว่าเมืองเล็กๆ หรือเมืองอีลี ที่ตั้งมหาวิหารอีลีซึ่งเป็นมหาวิหารขนาดใหญ่ที่สร้างแบบศิลปะยุคกลาง
การที่เกาะอังกฤษ (British Isles) เป็นเกาะที่มีเนื้อที่น้อย แทนที่จะแบ่งมุขมณฑลอย่างชัดเจนเช่นประเทศอื่นในทวีปยุโรป อังกฤษใช้ระบบ "มุขมณฑลเคลื่อนที่" โดยจะแบ่งมุขมณฑลตามที่ตั้งของกลุ่มชน เช่น บิชอปของชาวแซกซันใต้ หรือชาวแซกซันตะวันตก "คาเทดรา" จะเป็นแบบที่ย้ายไปไหนมาไหนได้ตามการเคลื่อนย้ายของชุมชน
ตัวอย่างของการเปลี่ยนแปลงมุขมณฑลจะเห็นได้จากการการประชุมบิชอปที่ลอนดอน เมื่อปี ค.ศ. 1075 ที่อาร์ชบิชอปลองฟรอง (Lanfranc) เป็นประธาน ผลจากการประชุมทำให้มีการย้ายหรือเปลี่ยนแปลงมุขมณฑลในบางเขต เช่น มีคำสั่งให้บิชอปของกลุ่มชนแซ็กซอนใต้ย้ายจากมุขมณฑลเซลซี (Selsey) ไปอยู่ที่ชิคเชสเตอร์ ให้บิชอปแห่งวิลท์เชอร์และดอร์เซ็ทย้ายคาเทดรา" จากแชร์บอร์น (Sherborne) ไปโอลด์เซรัม (Old Sarum) (ใกล้เมืองซอลส์บรี (Salisbury)) และให้บิชอปแห่งเมอร์เซีย (Mercia) ย้ายมหาวิหารจากลิคฟิลด์ (Lichfield) ไปเชสเตอร์ (Chester) การย้ายบิชอปเหล่านี้ทำให้เราเห็นร่องรอยการย้ายถิ่นฐานของชนกลุ่มต่างๆ เช่น การแบ่งมุขมณฑลที่ไอร์แลนด์ของมีธ (Meath) ซึ่งมีผลทำให้เขตมีธไม่มีมหาวิหาร และออสซอรี (Ossory) ที่มหาวิหารอยู่ที่คิลเค็นนี (Kilkenny) มุขมณฑลสกอตแลนด์ก็เช่นเดียวกันเป็นมุขมรฑลแบบเคลื่อนที่
ระหว่างปลาย คริสต์ศตวรรษที่ 11 ถึงคริสต์ศตวรรษที่ 15 อังกฤษมีมหาวิหารแบบอารามปกครองโดยนักพรตพอ ๆ กับมหาวิหารแบบเซคิวลาร์ที่ปกครองโดยสภาเคลอจีที่ประกอบด้วย แคนัน นำโดยดีน มหาวิหารบาธ (Bath) มีมุขมณฑลร่วมกับเวลส์ และมหาวิหารโคเว็นทรี (Coventry) มีมุขมณฑลร่วมกับ ลิคฟิลด์เป็นต้น
ระบบการปกครองมหาวิหารมีผลกระทบกระเทือนมากที่สุดเมื่อมีการปฏิรูปศาสนาในอังกฤษ (English Reformation) ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ทำให้ประเทศอังกฤษแยกตัวมาจากการปกครองของนิกายโรมันคาทอลิก โบสถ์ที่เคยขึ้นตรงต่อคริสตจักรคาทอลิกก็ย้ายมาขึ้นกับคริสตจักรแห่งอังกฤษ การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้เป็นเหตุการณ์ที่สำคัญที่สุดเหตุการณ์หนึ่งในประวัติศาสตร์ของอังกฤษ ที่มีผลกระทบกระเทือนอย่างรุนแรงต่อสถานภาพของมหาวิหารทั่วทั้งเกาะอังกฤษ ไม่ว่าจะเป็นด้านวัตถุหรือรูปการปกครองของมหาวิหาร
หลังจากอังกฤษแยกตัวออกมาเป็นนิกายอิสระจากคาทอลิก พระเจ้าเฮนรีที่ 8 แห่งอังกฤษ ก็มีพระราชโองการสั่งให้ยุบอารามและยึดทรัพย์อารามทั้งหมดในประเทศอังกฤษตามการยุบอาราม ยกเว้นมหาวิหารบาธและมหาวิหารโคเว็นทรีซึ่งได้รับการสถาปนาใหม่ให้เป็นมหาวิหารแบบเซคิวลาร์ โดยมี Dean เป็นผู้ปกครองและมีแคนันระหว่าง 12 คน อย่างเช่นที่ มหาวิหารแคนเทอร์เบอรี และมหาวิหารเดอร์แรม จนลงไปถึง 4 คนที่ มหาวิหารคาร์ไลส์ (Carlisle Cathedral) ตำแหน่ง “Precentor” ที่เคยเป็นตำแหน่งสำคัญของ “ระบบเก่า” (Old Foundation) ก็ถูกลดความสำคัญลงมา
นอกจากยุบมหาวิหารเดิมแล้วพระเจ้าเฮนรีที่ 8 ทรงสร้างมหาวิหารขึ้นใหม่ 6 แห่งจากอารามเดิม แต่ละแห่งปกครองโดยแคนันประจำมุขมณฑล (secular canon) ทั้ง 6 แห่งมี เวสต์มินสเตอร์แอบบีย์ เท่านั้นที่มิได้รักษาฐานะมหาวิหารเอาไว้
โบสถ์ใหญ่ ๆ ที่ต่อมาได้รับเลื่อนฐานะเป็นมหาวิหารหลังจากการปฏิรูปศาสนาก็มี มหาวิหารเซาท์เวลล์ (Southwell cathedral) มหาวิหารซัทเธิร์ค (Southwark cathedral) มหาวิหารริพอน (Ripon cathedral) มหาวิหารเซนต์อัลบัน
ตามปกติแล้วสภาเคลอจีของมหาวิหารแบบเซคิวลาร์ จะมีตำแหน่งสำคัญสี่ตำแหน่งหรือมากกว่านอกเหนือไปจากแคนัน สี่ตำแหน่งดังกล่าวนี้คือ Dean, Precentor, Chancellor และ Treasurer ผู้ถือตำแหน่งทั้งสี่นี้เรียกรวมกันว่า quatuor majores personae จะมีที่นั่งประจำตำแหน่งเฉพาะในบริเวณที่พิธีภายในโบสถ์
นอกจากตำแหน่งดังกล่าวแล้วบางมหาวิหารก็อาจจะมีตำแหน่งอื่นเช่น Praelector, รอง dean, รอง chancellor, Succentor-canonicorum และอื่นๆ นอกจากตำแหน่งต่างๆเหล่านี้ก็มีแคนันที่ไม่มีตำแหน่งอะไร แคนันส่วนใหญ่แล้วจะมีที่อยู่นอกโบสถ์ฉะนั้นทำให้มีความแตกต่างระหว่างแคนันในโบสถ์ และแคนันที่ไม่อยู่ในโบสถ์ แคนันที่อยู่นอกโบสถ์รู้จักกันว่า prebendaries ถึงแม้จะไม่อยู่ในโบสถ์แต่ แคนันก็ยังมีตำแหน่งเป็นแคนันและยังสามารถออกเสียงในการประชุมได้
ระบบการอยู่นอกโบสถ์เช่นนี้ทำให้เกิดระบบที่เรียกว่า Vicars choral แคนันแต่ละคนจะมี Vicar ที่ทำหน้าแทน จะนั่งประจำที่ของแคนนอนในที่ทำพิธีในกรณีที่แคนันไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ และจะนั่งที่นั่งต่ำกว่าถ้าแคนนอนปฏิบัติหน้าที่ได้ Vicar ไม่มีสิทธิออกเสียงในที่ประชุมและเป็นตำแหน่งที่ปลดไม่ได้ ความสำคัญของ Vicar คือเป็นผู้ทำหน้าที่แทนแคนันเมื่อแคนนอนไม่อยู่ Vicar บางที่ก็จะจัดเป็น สภาเคลอจีของตนเอง ภายใต้การปกครองของ Dean และ สภาเคลอจีของมหาวิหาร
ความสัมพันธ์ระหว่างมุขนายกและสภาเคลอจีของมหาวิหารแบบ“เซ็คคิวลาร์” ก็ไม่ต่างกับ ความสัมพันธ์ระหว่างมุขนายกและมุขมณฑลของมหาวิหารแบบอาราม ทั้งสองกรณีเคลอจีจะทำหน้าที่เป็นปรึกษาของมุขนายกฉะนั้นโยบายทุกอย่างของมุขนายกก่อนที่จะนำมาปฏิบัติได้จะต้องได้รับการอนุมัติจากนักบวชก่อน
ในปัจจุบันเมื่อเรานีกถึงมหาวิหารเราจะนึกถึงสิ่งก่อสร้างที่ใหญ่โตโอฬารโดยเฉพาะมหาวิหารที่สร้างในยุคกลางหรือยุคเรอเนซองส์ แต่ขนาดหรือความใหญ่โตมิได้เป็นสิ่งที่กำหนดไว้ในการสร้างมหาวิหารโดยเฉพาะในปัจจุบันซึ่งถือว่าความสำคัญเหนือสุดคือความมีประโยชน์ในการใช้สอยเช่น มหาวิหารของชนเคลต์ และชนแซ็กซอน ซึ่งมักจะค่อนข้างเล็ก เช่นเดียวกับ มหาวิหารแบบไบแซนไทน์ที่เอเธนส์ ที่บางทีเรียกกันว่า Little Metropole Cathedral of Athens
แผนผังของมหาวิหารส่วนใหญ่ถ้ามองจากด้านบนจะเป็นรูปกางเขน (Latin cross) หรือ กากบาท (Greek cross) ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของหน้าที่ของมหาวิหารที่เป็นสถานที่คริสต์ชนใช้เป็นที่สักการบูชา นอกจากนั้นสิ่งก่อสร้างจะประกอบด้วยที่สำหรับบุคลากร ที่ทำคริสต์ศาสนพิธี ชาเปล ออร์แกน และสึ่งอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับประเพณีทางศาสนาและการบริหารมหาวิหาร
มหาวิหารก็เช่นเดียวกับโบสถ์คริสต์อื่นๆ จะประกอบด้วย แท่นบูชา หรือแท่นที่ใช้ในการประกอบพิธีศีลมหาสนีท, “แท่นอ่านคัมภีร์ไบเบิล” (Lectern) และ แท่นเทศน์ บางแห่งก็ยังมีอ่างศีลจุ่ม สำหรับทำพิธีล้างบาปเพี่อเป็นเครื่องหมายการยอมรับผู้ที่ถูกจุ่มหรือเจิมด้วยน้ำมนต์เข้าสู่คริสตจักร ซึ่งมักจะทำกับเด็ก การทำพิธีศึลจุ่มในบางประเทศอาจจทำในสิ่งก่อสร้างนอกตัววัดที่สร้างขึ้นเฉพาะสำหรับพิธีนี้ เช่นที่ หอล้างบาป เมืองปิซาในประเทศอิตาลี ถ้าอ่างสำหรับพิธีศีลจุ่มอยู่ในวัดก็มักจะอยู่ทางด้านตะวันตกใกล้ประตูทางเข้าวัด และจะมีที่นั่งสำหรับพระราชาคณะและที่ทำพิธีสวด
มหาวิหารแบบอารามและมหาวิหารแบบ “เซ็คคิวลาร์” บางทีจะมีระเบียงคดยื่นออกมาทางด้านข้างของวัด กันผู้ใช้จากลมและฝน เช่นที่ มหาวิหารกลอสเตอร์ เดิมบริเวณนี้ใช้เป็นที่ทำวัตร เช่น ลอกหนังสือ หรือใช้เป็นที่เดินวิปัสนา นอกจากนั้นบางมหาวิหารก็ยังมีหอประชุมนักบวช สำหรับเคลอจี ห้องประชุมที่ยังพบกันอยู่ที่ประเทศอังกฤษมักจะเป็นรูปแปดเหลี่ยม เช่นที่มหาวิหารเวลส์ บางครั้งด้านหน้ามหาวิหารจะเป็นจัตุรัสสำคัญของเมืองที่ตั้งอยุ่เช่นที่เมืองฟลอเรนซ์ หรืออาจจะตั้งอยู่ในบริเวณของมหาวิหารเองที่มีกำแพงล้อมรอบ เช่นที่มหาวิหารแคนเทอร์เบอรี หรือ มหาวิหารซอลสบรี ที่ยังเห็นกำแพงบางส่วน นอกจากตัวมหาวิหารแล้วก็อาจจะมีสิ่งก่อสร้างอื่นที่เป็นของมหาวิหารอยู่ในบริเวณเดียวกันด้วย เช่นโรงเรียน
มหาวิหารหลายแห่งมีความสวยงามทางสถาปัตยกรรมและมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์จนทำให้ได้รับเลือกจากองค์การยูเนสโกให้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก มาจนกระทั่งศตวรรษที่ 20 มหาวิหารจะเป็นสัญลักษณ์ของเมือง เพราะความใหญ่โตและส่วนใหญ่จะมีหอสูงทำให้มองเห็นได้แต่ไกล แต่ในปัจจุบันมหาวิหารส่วนใหญ่จะถูกล้อมรอบไปด้วยสิ่งก่อสร้างหรือถูกบังโดยตึกระฟ้า นอกจากมหาวิหารบางแห่งที่ชุมชนต่อต้านทางกฎหมาย โดยห้ามสิ่งก่อสร้างสูงใกล้มหาวิหารอย่างมหาวิหารโคโลญ ที่ประเทศเยอรมนี
นอกเหนือจากการเป็นสถานที่สำหรับการสักการบูชาแล้วมหาวิหารยังเป็นสิ่งที่มีคุณค่าและความสำคัญทางศิลปะและสถาปัตยกรรมเป็นอย่างมากเพราะมหาวิหารหลายแห่งใช้เวลาหลายร้อยปีจึงสร้างเสร็จ ทำให้เราได้เรียนรู้ถึงการวิวัฒนาการของศิลปะ เช่นเราจะเห็นการพัฒนาของสถาปัตยกรรมกอธิคได้อย่างชัดเจนที่มหาวิหารกลอสเตอร์ นอกจากสิ่งก่อสร้างแล้วมหาวิหารก็ยังเป็นที่สะสมวัตถุที่มีค่าเช่นหน้าต่างประดับกระจกสี ประติมากรรมไม้และหิน อนุสาวรีย์สำหรับสำหรับผู้เสียชีวิตที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ เฟอร์นิเจอร์ไม้แกะสลัก และเรลิก ต่างๆ ซึ่งมีความสำคัญทั้งทางศาสนาและศิลปะ เช่นที่มหาวิหารอาเคิน ที่เป็นที่เก็บเสื้อที่เชื่อกันว่าเป็นเสื้อที่นักบุญจอห์นแบ็พทิสต์ ใส่วันที่ท่านถูกตัดหัว นอกจากนั้นมหาวิหารยังเป็นที่ที่มีความสำคัญต่อชุมชนที่มหาวิหารตั้งอยู่เพราะมหาวิหารเป็นที่รวบรวมสิ่งของเช่น ป้าย ข้อเขียน กระจกสี หรือภาพเขียนที่บอกเล่าเรื่องราวความเป็นมาของเมืองนั้น
ความสวยงามและความสำคัญดังกล่าวนี้ทำให้มหาวิหารเป็นสิ่งดึงดูดนั่งท่องเที่ยวมาเป็นเวลาหลายร้อยปี บางมหาวิหารที่เป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวจะมีระบบเก็บค่าผ่านประตูสำหรับผู้ที่เข้าชมมหาวิหารที่มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับศาสนพิธี บางทีก็จะมีบริการมัคคุเทศก์ ร้านขายหนังสือ หรือร้านกาแฟเล็กๆ เช่นที่ มหาวิหารแห่งชาติที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี.