อาชญากรรมสงคราม (อังกฤษ: war crime) คือ การละเมิดฝ่าฝืนจารีตประเพณีหรือกฎในการยุทธ ซึ่งหมายความรวมถึงพฤติการณ์ดังต่อไปนี้แต่มิได้จำกัดอยู่เท่านี้ คือ การฆ่าคน ทุเวชปฏิบัติ การเนรเทศหรือการเทครัวของพลเรือนแห่งดินแดนที่สามารถยึดได้ไปเป็นทาส คนงาน หรือกรรมการเป็นต้น ตลอดจนการฆ่าหรือการทุเวชปฏิบัติซึ่งเชลยศึก การสังหารตัวประกัน การทำลายล้างบ้านเรือน ไร่นา เรือกสวน เป็นต้น โดยขาดความยับยั้ง กับทั้งการทำให้เสียหายอย่างรุนแรงซึ่งอาวุธยุทธภัณฑ์
ก่อนหน้าจะมีการประดิษฐ์และนิยามคำ "อาชญากรรมสงคราม" ขึ้นอย่างเป็นทางการ มีการใช้คำหลายคำเรียกพฤติการณ์ในลักษณะนี้ เช่น คำว่า "ความสับปลับ" (อังกฤษ: perfidy) ซึ่งนิยมใช้กันมากว่าหลายทศวรรษ เป็นต้น คำเรียกทั้งหลายเหล่านี้ยังเคยได้รับการรับรองจากสหประชาชาติด้วย เช่น ใน อนุสัญญานครเฮก ฉบับ พ.ศ. 2442 และ พ.ศ. 2450 ส่วนคำ "อาชญากรรมสงคราม" นั้นวิวัฒนามาจากกรณีหายนะที่เนือร์นแบร์ก โดยปรากฏในธรรมนูญกรุงลอนดอนว่าด้วยคณะตุลาการทหารระหว่างประเทศซึ่งได้รับการพิมพ์เผยแพร่เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2488 เป็นแห่งแรก
ปัจจุบัน อาชญากรรมสงครามเป็นอำนาจหน้าที่ของศาลอาญาระหว่างประเทศที่จะดำเนินกระบวนยุติธรรม แต่ก่อนหน้านี้ระหว่างที่ประชาคมโลกกำลังช่วยกันประดิษฐ์ศาลดังกล่าว เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะตุลาการเฉพาะกิจระหว่างประเทศ จนกระทั่งธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศมีผลใช้บังคับในวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2545