ทหารผู้ยากแห่งพระคริสต์และพระวิหารแห่งโซโลมอน (ละติน: Pauperes commilitones Christi Templique Solomonici) หรือที่รู้จักกันในชื่ออัศวินเทมพลาร์ หรือคณะแห่งพระวิหาร (ฝรั่งเศส: Ordre du Temple หรือ Templiers) เป็นคณะทหารคริสตชนที่มีชื่อเสียงโด่งดังที่สุด เป็นองค์กรที่คงอยู่เกือบสองศตวรรษในสมัยกลาง
คณะได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการจากคริสตจักรโรมันคาทอลิกราวปี ค.ศ. 1129 คณะกลายเป็นองค์การที่ได้รับบริจาคทรัพย์สินอย่างมากมายตลอดคริสตจักรและเติบโตอย่างรวดเร็วทั้งในแง่สมาชิกและอำนาจ ลักษณะพิเศษของอัศวินเทมพลาร์คือเสื้อคลุมไร้แขนสีขาวที่มีกางเขนสีแดงอยู่บนเสื้อ อัศวินเทมพลาร์นับเป็นหนึ่งในหน่วยรบที่มีฝีมือที่สุดในสงครามครูเสด สมาชิกของคณะที่ไม่ได้เป็นทหารมีหน้าที่จัดการโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจขนาดใหญ่ตลอดศาสนจักร สร้างสรรค์เทคนิคทางการเงินที่เป็นต้นแบบของธนาคาร และสร้างป้อมปราการมากมายทั่วยุโรปและแผ่นดินศักดิ์สิทธิ์
การดำรงอยู่ของเทมพลาร์เชื่อมโยงอย่างมากกับสงครามครูเสด เมื่อสูญเสียดินแดนศักดิ์สิทธิ์คณะก็ได้รับการสนับสนุนน้อยลง ข่าวลือเกี่ยวกับพิธีกรรมลับในการรับเข้าเป็นสมาชิกเทมพลาร์สร้างความหวาดระแวงและพระเจ้าฟิลิปที่ 4 แห่งฝรั่งเศส ผู้ซึ่งเป็นหนี้เทมพลาร์มหาศาลได้หาประโยชน์จากสถานการณ์นี้ ในปี ค.ศ. 1307 สมาชิกของคณะหลายคนในฝรั่งเศสถูกจับกุม ทรมานให้ยอมรับสารภาพและถูกเผาที่หลักประหาร ภายใต้การกดดันจากพระเจ้าฟิลิป สมเด็จพระสันตะปาปาเคลเมนต์ที่ 5 ได้สั่งสลายคณะในปี ค.ศ. 1312 การหายไปของทันทีทันใดของส่วนหลักในโครงสร้างพื้นฐานของยุโรปก่อให้เกิดความคาดเดาไปต่าง ๆ นานาและกลายเป็นตำนานซึ่งทำให้ชื่อของ "เทมพลาร์" คงอยู่จนถึงทุกวันนี้
หลังจากยึดครองเยรูซาเลมจากสงครามครูเสดครั้งที่ 1 ในปี ค.ศ. 1099 คริสต์ศาสนิกชนผู้แสวงบุญจำนวนมากได้เดินทางมาสักการะเยี่ยมชมสิ่งที่พวกเขาเรียกว่าแผ่นดินศักดิ์สิทธิ์ อย่างไรก็ตามแม้ว่าเมืองเยรูซาเลมจะอยู่ภายใต้การรักษาความปลอดภัย แต่อาณาจักรโดยรอบกลับไม่เป็นเช่นนั้น กลับมีโจรผู้ร้ายชุกชุม ทำให้ผู้แสวงบุญถูกฆ่าตายเป็นอันมากบางครั้งถึงร่วมร้อยคน เมื่อพวกเขาพยายามเดินทางตามเส้นทางจากชายฝั่งของจาฟฟา (Jaffa) ไปสู่ดินแดนศักดิ์สิทธิ์
ราวปี ค.ศ. 1119 อัศวินชาวฝรั่งเศสผู้ผ่านศึกในสงครามครูเสดครั้งที่ 1 อูกแห่งปาแย็ง (Hugues de Payens) และกอดเฟรย์แห่งเซนต์โอแมร์ (Godfrey de Saint-Omer) ญาติของเขาเสนอที่จะจัดตั้งคณะนักบวชอารามิกเพื่อปกป้องผู้แสวงบุญพระเจ้าบอลวินด์ที่ 2 แห่งเยรูซาเลมทรงเห็นด้วยกับคำขอและมอบพื้นที่ให้จัดตั้งกองบัญชาการบนภูเขาเทมเพิล (Temple Mount) ในมัสยิดอัลอักซา (Al Aqsa Mosque) ที่ยึดมาได้ ภูเขาเทมเพิลมีความลึกลับที่เชื่อกันว่ามันตั้งอยู่บนซากพระวิหารแห่งโซโลมอน ดังนั้นนักรบสงครามครูเสดจึงเรียกมัสยิดอัลอักซาเป็นพระวิหารแห่งโซโลมอน และจากสถานที่นี้คณะจึงนำมาตั้งเป็นชื่อ คณะทหารผู้ยากแห่งพระคริสต์และพระวิหารแห่งโซโลมอน หรือ "คณะอัศวินแห่งพระวิหาร (Templar knights)" ขณะนั้นคณะมีอัศวินเพียงเก้านาย มีแหล่งเงินทุนอันน้อยนิดและต้องอาศัยเงินบริจาคเพื่อความอยู่รอด สัญลักษณ์อัศวิน 2 นายขี่ม้าตัวเดียวกัน แสดงออกถึงความขัดสนของภาคี
แต่เหล่าอัศวินเทมพลาร์ก็ไม่ได้ขัดสนยากจนนานนัก เมื่อเขาได้รัปการอุปถัมภ์จากนักบุญแบร์นาร์แห่งแกลร์โว ผู้เป็นคนสำคัญของศาสนจักรและเป็นหลานชายของอ็องเดรแห่งมงบาร์ (Andr? de Montbard) เขากล่าวและเขียนเกลี้ยกล่อมในนามของพวกเขา และใน ปี ค.ศ. 1129 ที่การประชุมสภาสังคายนาแห่งทรอยส์ คณะก็ได้การรับรองอย่างเป็นทางการจากพระศาสนจักร และด้วยการนี้เทมพลาร์ก็ได้รับการสนับสนุนบริจาคตลอดทั้งพระศาสนจักร ไม่ว่าจะเป็นเงิน ที่ดิน ธุรกิจ และบุตรชายผู้มีตระกูลจากครอบครัวที่กระตือรือล้นที่อยากจะช่วยต่อสู้ในดินแดนศักดิ์สิทธิ์ ผลประโยชน์ที่สำคัญที่สุดของคณะได้รับในปี ค.ศ. 1139 เมื่อสารตราพระสันตะปาปาของสมเด็จพระสันตะปาปาอินโนเซนต์ที่ 2 Omne Datum Optimum ได้ให้คณะอยู่เหนือกฎหมายท้องถิ่น ด้วยอำนาจนี้หมายความว่าเหล่าเทมพลาร์สามารถผ่านแดนได้โดยอิสระ ไม่จำเป็นต้องจ่ายค่าภาษีใด ๆ และไม่อยู่ภายใต้อำนาจผู้ใดยกเว้นพระสันตะปาปา
ด้วยภารกิจที่ชัดเจนและทรัพยากรที่เพียงพอ คณะได้เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว บ่อยครั้งที่เทมพลาร์รับบทกองกำลังหน่วยรุกซึ่งเป็นกุญแจสำคัญในการรบของสงครามครูเสด ด้วยความที่เป็นอัศวินเกราะหนักบนม้าศึกจึงใช้โจมตีทำลายแนวต้านทานของข้าศึก หนึ่งในชัยชนะที่สร้างชื่อในปี ค.ศ. 1177 ระหว่างยุทธการที่ม็องต์กิซาร์ด เมื่ออัศวินเทมพลาร์ 500 นายได้ช่วยยัดเยียดความปราชัยแก่กองทัพของศอลาฮุดดีนที่มีทหารมากกว่า 26,000 นาย
แม้ว่าหน้าที่อันดับแรกของคณะจะเป็นเรื่องการทหารแต่ก็มีสมาชิกจำนวนน้อยที่เป็นนักรบ ผู้ที่เหลืออื่น ๆ จะกระทำหน้าที่ในตำแหน่งสนับสนุนให้ความช่วยเหลืออัศวินและจัดการโครงสร้างพื้นฐานทางการเงิน แม้สมาชิกของคณะแห่งพระวิหารจะสาบานว่าจะดำรงตนอย่างสมถะ แต่ก็ต้องจัดการควบคุมทรัพย์สินจากการบริจาคที่มีอย่างมากมาย ขุนนางผู้สนใจเข้าร่วมในสงครามครูเสดอาจปล่อยให้เทมพลาร์เข้ามาจัดการทรัพย์สินของเขาในขณะที่เขาออกไปร่วมรบ ด้วยทรัพย์สินที่สะสมด้วยวิธีนี้ตลอดทั้งคริสตจักรและอาณาจักรครูเสด ในปี ค.ศ. 1150 ภาคีได้สร้างตราสารเครดิตสำหรับผู้แสวงบุญที่จะจาริกไปดินแดนศักดิ์สิทธิ์ ผู้แสวงบุญจะฝากสิ่งของมีค่าไว้ที่เทมพลาร์สาขาท้องถิ่นก่อนเดินทาง และรับเอกสารแสดงค่าของสิ่งที่ฝากไว้ เมื่อไปถึงดินแดนศักดิ์สิทธิ์ก็แสดงเอกสารนี้เพื่อรับเงินคืน การจัดการในรูปแบบนี้แสดงถึงรูปแบบตอนต้นของธนาคาร อาจเป็นระบบอย่างเป็นทางการครั้งแรกที่รองรับการใช้เช็ค มันช่วยให้ผู้แสวงบุญมีความปลอยภัยยิ่งขึ้นทำให้พวกเขาไม่เป็นที่ดึงดูดหัวขโมย และยังมีส่วนช่วยเหลือสนับสนุนกองทุนของเทมพลาร์อีกด้วย
จากการผสมผสานกันของการรับบริจาคและธุรกิจการค้า เทมพลาร์ได้สร้างเครือข่ายการเงินไปทั่วคริสตจักร เขาได้มาซึ่งที่ดินขนาดใหญ่ทั้งในยุโรปและตะวันออกกลาง ซื้อและจัดการไร่นาและไร่องุ่น สร้างโบสถ์และปราสาท มีส่วนร่วมในอุตสาหกรรมการผลิต นำเข้า และส่งออก มีกองเรือเป็นของตนเอง และณ จุดหนึ่ง พวกเขายังเป็นเจ้าของเกาะทั้งหมดของไซปรัส คณะอัศวินเทมพลาร์มีคุณสมบัติที่จะเป็นบรรษัทข้ามชาติแห่งแรกของโลก
ในตอนกลางของคริสต์ทศวรรษที่ 1100 กระแสสงครามได้พลิกผัน โลกมุสลิมได้เป็นปึกภายใต้ผู้นำที่เก่งกาจอย่างศอลาฮุดดีน และได้เกิดความแตกร้าวท่ามกลางกลุ่มคริสตชนทั้งที่เกี่ยวข้องและในดินแดนศักดิ์สิทธิ์ บางครั้งอัศวินเทมพลาร์ถูกนำไปเปรียบกับคณะทหารคริสตชนอื่นอีกสองคณะคือคณะอัศวินฮอสปิทัลเลอร์และคณะอัศวินทิวทัน และเป็นทศวรรษแห่งการอาฆาตล้างผลาญกันเองทำให้สถานะภาพของคริสตชนอ่อนแอลงทั้งทางการเมืองและการทหาร หลังจากเทมพลาร์ได้เข้าร่วมทำการรบที่ประสบความล้มเหลวหลายครั้ง รวมถึงยุทธการที่เขาแห่งฮัททิน กำลังศอลาฮุดดีนก็สามารถยึดเยรูซาเลมในปี ค.ศ. 1187 นักรบครูเสดยึดเมืองคืนมาได้สำเร็จในปี ค.ศ. 1229 โดยปราศจากความช่วยเหลือของเหล่าเทมพลาร์ แต่ก็รักษาไว้ได้เพียงช่วงสั้น ๆ เท่านั้น ในปี ค.ศ. 1244 จักรวรรดิควาริซเมียน (Khwarezmian Empire) ได้เข้ายึดครองเยรูซาเลม และเมืองก็ไม่กลับเป็นของตะวันตกอีกเลยจนกระทั่งปี ค.ศ. 1917 เมื่อบริเตนได้ยึดมันมาจากจักรวรรดิออตโตมัน
เทมพลาร์โดนบังคับให้ย้ายกองบัญชาการไปยังเมืองอื่นๆในตอนเหนือ เช่น ท่าเรือของเอเคอร์ซึ่งพวกเขาตั้งมั่นได้จนถึงศตวรรษถัดมา แต่พวกเขาก็ต้องศูนย์เสียที่มั่นอีกครั้งในปี ค.ศ. 1291 และได้ย้ายต่อไปที่เทอร์โทซา (Tortosa, ปัจจุบันคือประเทศซีเรีย) และแอสริส (Atlit) ซึ่งที่มั่นสุดท้ายบนแผ่นดินใหญ่ กองบัญชาการได้ย้ายไปสู่ลิมาสซอล? (Limassol) บนเกาะของไซปรัส พวกเขายังคงพยายามรักษากองทหารไว้บนเกาะอาร์วัด (Arwad) ซึ่งเป็นเกาะเล็ก ๆ ซึ่งอยู่นอกชายฝั่งของเทอร์โทซา ในปี ค.ศ. 1300 ได้มีความพยายามเข้าร่วมรบในความพยายามประสานงานร่วมกันทางทหารกับมองโกล ร่วมกับกองกำลังโจมตีที่อาร์วัด ในปี ค.ศ. 1302 หรือ 1303 เทมพลาร์ได้สูญเสียเกาะให้กับทหารทาสชาวอียิปต์ในยุทธการที่อาร์วัด เมื่อสูญเสียเกาะไป นักรบครูเสดก็สูญเสียที่หยั่งเท้าสุดท้ายในแผ่นดินศักดิ์สิทธิ์
เมื่อภารกิจทางทหารของคณะด้อยความสำคัญลง การสนับสนุนจากองค์กรก็เริ่มลดลง มันเป็นสถานะการณ์ที่ซับซ้อน การดำรงอยู่ของพวกเขาทำให้เทมพลาร์กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันตลอดทั้งคริสตจักร ที่ตั้งของเทมพลาร์ขององค์กรกว่าร้อยแห่งกระจายอยู่ทั่วทั้งยุโรปและตะวันออกใกล้ ทำให้พวกเขาสามารถเข้าถึงได้ในระดับท้องถิ่น เทมพลาร์ยังคงบริหารจัดการกิจการทั้งหลายของพวกเขา และชาวยุโรปหลายต่อหลายคนได้ติดต่อกับเครือข่ายของเทมพลาร์ในทุก ๆ วัน เช่น ทำงานในไร่นาหรือไร่องุ่นของเทมพลาร์ หรือ ใช้ภาคีต่างธนาคารในการฝากสิ่งของมีค่า คณะยังคงอยู่เหนือรัฐบาลท้องถิ่น สถานภาพของคณะในทุกหนแห่งประหนึ่งเป็น "รัฐภายในรัฐ (state within a state)" แม้ว่าจะไม่ได้มีภารกิจที่กำหนดแน่ชัด ทหารประจำการของคณะก็สามารถผ่านพรมแดนได้อย่างอิสระ ซึ่งสถานะการณ์นี้ได้สร้างความตึงเครียดอย่างมากกับขุนนางยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่เทมพลาร์แสดงความสนใจที่จะตั้งรัฐอารามขึ้นเหมือนอย่างอัศวินทิวทันกระทำในปรัสเซีย (Prussia) และอัศวินฮอสปิทัลเลอร์กระทำกับโรดส์
ในปี ค.ศ. 1305 สมเด็จพระสันตะปาปาเคลเมนต์ที่ 5 พระสันตะปาปาองค์ใหม่ชาวฝรั่งเศสได้ส่งจดหมายถึงผู้นำคณะอัศวินเทมพลาร์ ฌักแห่งมอแล (Jacques de Molay) และผู้นำอัศวินฮอสปิทัลเลอร์ ฟูล์กแห่งวีลลาเรต (Fulk de Villaret) เพื่อหารือเกี่ยวกับความเป็นไปได้ของการรวมทั้งสองภาคเข้าด้วยกัน แต่ทั้งสองไม่เห็นด้วย แต่สมเด็จพระสันตะปาปาเคลเมนต์ยังคงยืนกรานในความคิดนี้ และในปี ค.ศ. 1306 สมเด็จพระสันตะปาปาได้เชิญผู้นำทั้งสองไปฝรั่งเศสเพื่อหารือเกี่ยวกับเรื่องนี้อีกครั้ง ฌักได้ไปถึงก่อนในต้นปี ค.ศ. 1307 แต่ฟูล์กกลับมาสายไปหลายเดือน ขณะรอ ฌักและสมเด็จพระสันตะปาปาเคลเมนต์ได้หารือถึงค่าใช้จ่ายที่ได้กระทำเมื่อสองปีก่อนโดยเทมพลาร์ที่ถูกขับออก ทั้งสองตกลงกันว่าเป็นค่าใช้จ่ายเท็จ แต่สมเด็จพระสันตะปาปาเคลเมนต์เขียนถึงพระเจ้าฟิลิปที่ 4 แห่งฝรั่งเศสเพื่อขอความช่วยเหลือในการสืบสวน พระเจ้าฟิลิปผู้ซึ่งเป็นหนี้เทมพลาร์จำนวนมหาศาลจากการทำสงครามกับประเทศอังกฤษ ตัดสินใจที่จะยึดตามข่าวลือเพื่อประโยชน์ส่วนพระองค์ และเริ่มกดดันคริสตจักรให้ดำเนินเอาผิดต่อคณะ ตามหนทางเพื่อให้พระองค์พ้นจากหนี้
ในวันศุกร์ที่ 13 ตุลาคม ค.ศ. 1307 (บางครั้งเชื่อมโยงกับความเชื่อที่ว่าเป็นต้นกำเนิดของวันศุกร์ที่ 13) พระเจ้าฟิลิปสั่งให้จับกุมฌักและเหล่าเทมพลาร์อีก 20 คนในฝรั่งเศสในเวลาเดียวกัน เทมพลาร์โดนตั้งข้อกล่าวหามากมาย (ประกอบไปด้วย ละทิ้งศาสนา บูชารูปเคารพ นอกรีต พิธีกรรมลามกและรักร่วมเพศ ทุจริตและฉ้อโกงทางการเงิน และ ปิดบังอำพราง) จำเลยหลายคนรับสารภาพถึงข้อกล่าวหาเหล่านั้นภายใต้ทัณฑ์ทรมาน คำสารภาพภายใต้การขู่บังคับนี้ก่อให้เกิดเรื่องอื้อฉาวไปทั่วปารีส หลังจากการข่มขู่กดดันอย่างหนักหน่วงจากพระเจ้าฟิลิป สมเด็จพระสันตะปาปาเคลเมนต์ได้ประกาศสารตราพระสันตะปาปา (Pastoralis Praeeminentiae) ในวันที่ 22 พฤศจิกายน ค.ศ. 1307 โดยสั่งให้กษัตริย์คริสตชนในทวีปยุโรปทำการจับกุมเหล่าเทมพลาร์และยึดทรัพย์สินของพวกเขา
สมเด็จพระสันตะปาปาเคลเมนต์ได้เรียกประชุมเพื่อพิจารณาไต่สวนว่าเทมพลาร์มีความผิดจริงหรือเป็นผู้บริสุทธิ์และปลดปล่อยเทมพลาร์จากการสอบสวนหาความผิดด้วยการทรมาน มีเทมพลาร์หลายคนได้ปฏิเสธข้อกล่าวหา บางคนมีประสบการณ์ทางด้านกฎหมายเพียงพอที่จะปกป้องตัวเองจากการสอบสวน แต่ในปี ค.ศ. 1310 พระเจ้าฟิลิปขัดขวางความพยายามนี้ และบังคับใช้คำสารภาพก่อนหน้าทำการเผาเทมพลาร์ทั้งเป็นหลายสิบคนที่หลักประหารในปารีส
ด้วยพระเจ้าฟิลิปได้ทรงขู่คุกคามด้วยกำลังทางทหารต่อสมเด็จพระสันตะปาปาเพื่อให้สมเด็จพระสันตะปาปาปฏิบัติตามความประสงค์ของพระองค์ สุดท้ายสมเด็จพระสันตะปาปาเคลเมนต์ทรงยอมตกลงที่จะยุบคณะโดยอ้างถึงเรื่องอื้อฉาวที่ได้จากการรับสารภาพ ณ ที่การประชุมสภาสังคายนาแห่งเวียนน์ในปี ค.ศ. 1312 สมเด็จพระสันตะปาปาได้ประการชุดสารตราพระสันตะปาปาซึ่งประกอบด้วย '"Vox in excelso" ซึ่งเป็นการยุบคณะอย่างเป็นทางการ และ "Ad providam" ซึ่งเป็นการส่งมอบทรัพย์สินของเทมพลาร์ทั้งหมดให้แก่ฮอสปิทัลเลอร์
สำหรับผู้นำของคณะอย่างผู้นำอาวุโส ฌักแห่งมอแล ผู้ซึ่งรับสารภาพภายใต้ทัณฑ์ทรมานได้ถอนถ้อยแถลงของเขา เพื่อนของเขา เชอฟเฟรย์แห่งชาร์เนย์ (Geoffrey de Charney) ผู้ตั้งกฎแห่งนอร์ม็องดี ได้ทำตามตัวอย่างของฌักและยืนยันในความบริสุทธิ์ของเขา ทั้งคู่ถูกประกาศว่ามีความผิดฐานเป็นพวกนอกรีตและตัดสินประหารชีวิตด้วยการเผาทั้งเป็นที่หลักประหารในปารีสในวันที่ 18 มีนาคม ค.ศ. 1314 ฌักยังคงไม่ยอมจำนนจนถึงที่สุด และร้องขอให้มัดเขาในทิศทางที่จะหันหน้าสู่มหาวิหารน็อทร์-ดามและมัดมือเขาไว้ในท่าของผู้กำลังอธิษฐาน ตามตำนานกล่าวว่า เขาได้ตะโกนเรียกสมเด็จพระสันตะปาปาเคลเมนต์และพระเจ้าฟิลิปจากกองไฟว่าจะได้พบเขาในเร็ววันก่อนจะได้พบพระเจ้า สมเด็จพระสันตะปาปาเคลเมนต์สวรรคตในหนึ่งเดือนให้หลัง และพระเจ้าฟิลิปสวรรคตจากอุบัติเหตุจากการล่าสัตว์ในสิ้นปีนั้น
เมื่อผู้นำคนสุดท้ายของคณะได้จากไป เหล่าเทมพลาร์ทั่วทั้งยุโรปบ้างการถูกจับและสอบสวนภายใต้การสืบสวนในนามสมเด็จพระสันตะปาปา (ไม่มีการพิสูจน์ว่ามีความผิด) บ้างกับไปเข้าร่วมกับคณะทหารอื่นอย่างอัศวินฮอสปิทัลเลอร์ หรือปลดประจำการและได้รับอนุญาตให้อยู่อย่างสงบในวันที่เหลืออยู่ บางคนอาจหนีไปยังพื้นที่อื่นที่นอกเหนือการควบคุมของสมเด็จพระสันตะปาปา เช่น สกอตแลนด์ หรือ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งเป็นดินแดนนอกศาสนา ส่วนองค์กรเทมพลาร์ในประเทศโปรตุเกสเพียงแค่เปลี่ยนชื่อจากคณะอัศวินเทมพลาร์ไปเป็นคณะอัศวินแห่งพระคริสต์
เทมพลาร์เป็นคณะนักบวชอารามิกคล้ายกับคณะซิสเตอร์เชียนของแบร์นาร์ ซึ่งสามารถพิจารณาเป็นองค์กรระหว่างประเทศองค์กรแรกในยุโรป โครงสร้างขององค์กรมีโซ่แห่งอำนาจที่แข็งแกร่ง ประเทศหลัก ๆ ที่มีเทมพลาร์ (ฝรั่งเศส, อังกฤษ, อารากอง, โปรตุเกส, ปัวตู, ปูเกลีย, เยรูซาเลม, ตริโปลี, แอนติออก, อ็องฌู, ฮังการี, และ โครเอเชีย) แต่ละประเทศจะมีผู้บังคับการของคณะสำหรับเทมพลาร์ในแต่ละพื้นที่ ผู้บังคับการทั้งหมดจะอยู่ภายใต้ผู้นำสูงสุดซึ่งดำรงตำแหน่งตลอดชีวิต ผู้คอยควบคุมทั้งกองกำลังทางทหารของคณะในฝั่งตะวันออกและทางการเงินที่ถือครองอยู่ในฝั่งตะวันตก จำนวนสมาชิกในองค์กรไม่มีตัวเลขที่แน่นอน แต่มีการประมาณกันว่าช่วงที่คณะขึ้นสู่จุดสูงสุดน่าจะมีสมาชิกราว 15,000 ถึง 20,000 คน ซึ่งหนึ่งในสิบเป็นอัศวิน
แบร์นาร์แห่งแกลร์โวซ์และผู้นำคนแรก อูกแห่งปาแย็ง เป็นผู้ได้กำหนดระเบียบความประพฤติของคณะแห่งพระวิหารหรือที่รู้จักกันในนักประวัติศาสตร์สมัยใหม่ว่า Latin Rule (วินัยฉบับละติน) มีทั้งสิ้น 72 ข้อที่จำกัดความถึงพฤติกรรมในอุดมคติของอัศวิน เช่น ชนิดของเครื่องแต่งกายที่สวมใส่และจำนวนม้าที่สามารถมีได้ อัศวินจะรับประทานอาหารในความเงียบ รับประทานเนื้อสัตว์ไม่เกินสามมื้อต่อสัปดาห์ และไม่แตะต้องตัวสตรีใดแม้แต่สมาชิกในครอบครัวของตนเอง ผู้นำของคณะได้รับ "ม้า 4 ตัว, และอนุศาสนาจารย์ 1 คนและเสมียน 1 คน กับม้า 3 ตัว, และทหาร 1 คนกับม้า 2 ตัว, และสุภาพบรุษรับใช้สำหรับถือโล่ห์และหอกของเขา, กับม้า 1 ตัว" เมื่อคณะโตขึ้น แนวทางจำนวนมากก็ถูกเพิ่มเข้ามา จากเดิมที่มีเพียง 72 ข้อเป็นหลายร้อยข้อในท้ายที่สุด
ระดับในเทมพลาร์แบ่งออกเป็น 3 ระดับคือ อัศวินขุนนาง ทหารที่มีชาติกำเนิดต่ำกว่า และนักบวช อัศวินต้องเป็นการสืบเชื้อสายและสวมเสื้อคลุมไร้แขนสีขาว พวกเขามีอุปกรณ์ครบครันอย่างทหารม้าเกราะหนักกับม้าสามหรือสี่ตัวและผู้ติดตามหนึ่งถึงสองคน ผู้ติดตามปกติจะไม่ใช่สมาชิกของคณะแต่จะเป็นคนนอกที่ได้รับการว่าจ้างมาช่วงระยะเวลาหนึ่ง ในคณะระดับต่ำกว่าอัศวินจะเป็นทหารซึ่งมาจากคนชั้นที่ต่ำกว่าในสังคม พวกเขามีอุปกรณ์อย่างทหารม้าเกราะเบากับม้าหนึ่งตัว หรือรับผิดชอบในหน้าที่อื่น เช่น บริหารทรัพย์สินของคณะหรือ ทำงานรับใช้หนัก ๆ และค้าขาย อนุศาสนาจารย์ซึ่งเป็นระดับที่เหลือ ผู้บวชเป็นบาทหลวงมีหน้าที่ดูแลความต้องการทางจิตวิญญาณของเทมพลาร์
อัศวินสวมเสื้อคลุมที่มีรูปกางเขนสีแดงและเสื้อคลุมไร้แขนสีขาว ทหารสวมเสื้อชั้นนอกสีดำมีกางเขนสีแดงทั้งด้านหน้าและด้านหลังและเสื้อคลุมไร้แขนสีดำหรือสีน้ำตาล เสื้อคลุมไร้แขนสีขาวถูกมอบหมายให้เทมพลาร์ใช้ที่การประชุมสภาสังคายนาแห่งทรอยส์ในปี ค.ศ. 1129 และกางเขนน่าจะเพิ่มเข้าไปบนเสื้อผ้าเมื่อเริ่มสงครามครูเสดครั้งที่ 2ในปี ค.ศ. 1147 เมื่อสมเด็จพระสันตะปาปายูจีนที่ 3 พระเจ้าหลุยส์ที่ 7 แห่งฝรั่งเศส และขุนนางอื่น ๆ ได้เข้าร่วมประชุมของเหล่าเทมพลาร์ชาวฝรั่งเศสที่กองบัชญาการใหญ่ของพวกเขาใกล้กรุงปารีส ตามกฎแล้ว อัศวินต้องสวมเสื้อคลุมไร้แขนสีขาวตลอดเวลา ถึงขั้นห้ามดื่มกินจนกว่าจะสวมเสื้อคลุมเสียก่อน
การเข้าเป็นสมาชิก หรือที่รู้จักกันในชื่อการต้อนรับ (receptio) ในคณะ เป็นพันธะที่ลึกซึ้งและพิธีการที่เคร่งขรึม ถึงกับทำลายขวัญบุคคลภายนอกจากการเข้าร่วมพิธีการซึ่งกระตุ้นข้อสงสัยของพนักงานสอบสวนในสมัยยุคกลางระหว่างการสอบสวนในภายหลัง
สมาชิกใหม่ต้องยกทรัพย์สมบัติและสินค้าทั้งหมดแก่ภาคีอย่างเต็มใจและให้คำสัตย์สาบานแห่งความยากจน บริสุทธิ์ กตัญญู และการเชื่อฟัง พี่น้องจำนวนมากเข้าร่วมตลอดทั้งชีวิต แต่ก็มีบางคนได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมเพียงช่วงเวลาหนึ่ง บางครั้งชายผู้แต่งงานแล้วได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมถ้าภรรยายินยอม แต่เขาจะไม่ได้รับอนุญาตให้สวมเสื้อคลุมสีขาว
กางเขนสีแดงที่เทมพลาร์ใช้บนเสื้อคลุมยาวเป็นสัญลักษณ์ของความทุกข์ทรมาน และการตายในการรบถือว่าเป็นเกียรติอย่างมากและจะได้ขึ้นสวรรค์อย่างแน่นอน มีกฎสำคัญที่นักรบของคณะไม่ควรยอมแพ้เว้นแต่ธงเทมพลาร์ได้ลดธงลงมา ยิ่งไปกว่านั้นหลังจากพวกเขาได้รวมกลุ่มกันใหม่กับคณะทหารคริสตชนอื่น เช่น อัศวินฮอสปิทัลเลอร์ หลังจากธงทั้งหมดได้ลดลงเท่านั้นพวกเขาจึงยอมออกจากสนามรบ ด้วยหลักการที่เด็ดเดี่ยวพร้อมกับชื่อเสียงของความกล้าหาญ การฝึกฝนอย่างดี และสวมเกราะหนัก ทำให้เทมพลาร์เป็นหนึ่งในกองกำลังที่น่ากลัวที่สุดในสมัยกลาง
ผู้นำ (Grand Master) เป็นตำแหน่งสูงสุดในคณะ ตำแหน่งนี้เป็นไปตลอดชีวิต ผู้นำคนแรกคืออูกแห่งปาแย็ง ผู้ก่อตั้งคณะในปี ค.ศ. 1118–1119 แต่เมื่อพิจารณาลักษณะการต่อสู้ของคณะแล้วผู้ครองตำแหน่งมักถือครองเพียงช่วงสั้น ๆ เกือบทั้งหมดของผู้นำเสียชีวิตขณะดำรงตำแหน่งและหลายคนเสียชีวิตระหว่างการรบ เช่น ในระหว่างสงครามชิงเมืองอัสคาลอนในปี ค.ศ. 1153 เบบาร์ดแห่งตรองเมอเลย (Bernard de Tremelay) ได้นำเทมพลาร์ 40 คนล่วงเข้าไปในกำแพงเมืองแต่กองทัพครูเสดที่เหลือไม่ได้ติดตามเข้าไป เหล่าเทมพลาร์รวมถึงผู้นำถูกล้อมจับและประหารโดยตัดคอ ผู้นำเทมพลาร์ เชราร์ดแห่งรีเดอฟอร์ด (G?rard de Ridefort) ถูกประหารโดยตัดคอโดยศอลาฮุดดีนในปี ค.ศ. 1189 ที่สงครามชิงเมืองเอเคอร์
ผู้นำกำกับดูแลการดำเนินงานทั้งหมดของคณะ ประกอบไปด้วยการรณรงค์ทางทหารในดินแดนศักดิ์สิทธิ์และในยุโรปตะวันออก และธุรกิจการเงินและธุรกิจการค้าของเทมพลาร์ยุโรปตะวันตก ผู้นำบางคนยังดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการสนามรบ แม้ว่าจะเป็นการกระทำที่ไม่ฉลาดนัก ความผิดพลาดหลายครั้งของเชราร์ดซึ่งเป็นผู้นำในการรบมีส่วนทำให้พ่ายแพ้อย่างยับเยินที่ยุทธการฮัททิน ผู้นำคนสุดท้ายคือฌักแห่งมอแล ถูกเผาที่หลักประหารในปารีสในปี ค.ศ. 1314 โดยคำสั่งพระเจ้าฟิลิปที่ 4 แห่งฝรั่งเศส
ด้วยภารกิจทางทหารและแหล่งการเงินที่แผ่กว้าง อัศวินเทมพลาร์มีกองทุนมหาศาลสำหรับสร้างสิ่งก่อสร้างจำนวนมากทั่วยุโรปและดินแดนศักดิ์สิทธิ์ สิ่งก่อสร้างหลายแห่งยังคงยืนหยัดอยู่จนถึงปัจจุบัน หลายแห่งมีคำว่า "เทมเพิล (Temple)" อยู่ในชื่อเพราะมีความเกี่ยวข้องกับเทมพลาร์มาหลายศตวรรษ เช่น ผืนดินของเทมพลาร์บางแห่งในลอนดอนซึ่งภายถูกเช่าโดยทนายความ เป็นเหตุนำมาซึ่งชื่อของประตูเทมเพิลบาร์ (Temple Bar) และสถานีรถไฟใต้ดินเทมเพิล รวมถึงสองในสี่แห่งของเนติบัณฑิตยสภาของอังกฤษ (Inns of Court) ซึ่งเป็นสถานฝึกสอนเนติบัณฑิตคือเทมเพิลใน (Inner Temple) และ เทมเพิลกลาง (Middle Temple)
สิ่งที่โดดเด่นทางสถาปัตยกรรมของสิ่งก่อสร้างของเทมพลาร์คือการใช้รูปของ "อัศวินสองนายขี่ม้าตัวเดียวกัน" ซึ่งเป็นตัวแทนความขัดสนของอัศวิน และสิ่งก่อสร้างทรงกลมที่ออกแบบคล้ายกับโบสถ์แห่งสุสานศักดิ์สิทธิ์ (Church of the Holy Sepulchre) ในเยรูซาเลม
อัศวินเทมพลาร์ถูกนำไปเชื่อมโยงกับตำนานที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับความลึกลับเหนือหลักการทั่วไปที่สืบย้อนไปตั้งแต่สมัยโบราณ มีการกระพือข่าวลือแม้แต่ช่วงสมัยของเทมพลาร์เอง นักเขียนฟรีเมสันได้เพิ่มความคิดคาดเดาของพวกเขาลงไปในงานเขียนในคริสต์ศตวรรษที่ 19 และยังมีการเพิ่มเติมเสริมแต่งในนวนิยายยอดนิยม เช่น ไอแวนโฮ (Ivanhoe) ฟูโกล์ แพนดูลัม (Foucault's Pendulum) และ รหัสลับดาวินชี ภาพยนตร์สมัยใหม่ เช่น ปฏิบัติการเดือดล่าขุมทรัพย์สุดขอบโลก และ ขุมทรัพย์สุดขอบฟ้า 3 ตอน ศึกอภินิหารครูเสด หรือในวิดีโอเกม เช่น Broken Sword และ Assassin's Creed
หลายตำนานของเทมพลาร์เกี่ยวข้องกับกองบัญชาการในยุคต้น ๆ บนภูเขาเทมเพิลในเยรูซาเลมซึ่งมีการคาดเดากันว่าเทมพลาร์อาจพบเรลิกบางอย่างที่นั่น เช่น จอกศักดิ์สิทธิ์ หรือ หีบแห่งพันธสัญญา นั่นก็คือเทมพลาร์ต้องครอบครองสิ่งศักดิ์สิทธิ์บางอย่างอยู่แน่นอน โบสถ์หลายแห่งนั้นยังคงแสดงวัตถุมงคลศักดิ์สิทธิ์ เช่น กระดูกนักบุญ เศษผ้าสวมใส่โดยนักบวชผู้ศักดิ์สิทธิ์ หรือกะโหลกของมรณสักขี (martyr) เทมพลาร์ก็ทำเช่นเดียวกัน มีบันทึกของเทมพลาร์ว่ามีกางเขนแท้ (True Cross) ชิ้นหนึ่งที่มุขนายกแห่งเอเคอร์นำติดตัวเข้าสู่การรบที่พบกับความย่อยยับที่เขาแห่งฮัททิน เมื่อการรบยุติลง ศอลาฮุดดีนได้ยึดเรลิกชิ้นนี้ไป ภายหลังนักรบสงครามครูเสดได้ไถ่คืนกลับมาเมื่อมุสลิมยอมจำนนที่เมืองเอเคอร์ในปี ค.ศ. 1191 นอกจากนี้เป็นที่รู้กันว่าเทมพลาร์ได้ครอบครองศีรษะของนักบุญยูฟีเมียแห่งคาล์เซดอน (Saint Euphemia of Chalcedon) มีประเด็นของเรลิกที่พบระหว่างการสืบสวนพวกเทมพลาร์ ตามเอกสารการพิจารณาคดีหลายฉบับระบุบการสักการะรูปเคารพบางชนิด เช่น แมว ศีรษะมนุษย์ที่มีเครา หรือในบางกรณีเป็นบาโฟเมต (Baphomet) ข้อกล่าวหาเหล่านี้ นำไปสู่ความเชื่อในปัจจุบันที่ว่าเทมพลาร์ฝึกฝนการใช้เวทมนตร์คาถา อย่างไรก็ตาม นักวิชาการส่วนใหญ่ในปัจจุบันได้อธิบายว่าชื่อบาโฟเมตจากเอกสารพิจารณาคดีเป็นการสะกดชื่อมุหัมมัด (Mahomet) ผิดในภาษาฝรั่งเศส
จอกศักดิ์สิทธิ์ได้เข้ามาเกี่ยวพันกับเทมพลาร์ราวคริสต์ศตวรรษที่ 12 นิยายวีรคติที่เกี่ยวกับจอกศักดิ์สิทธิ์เรื่องแรก Le Conte du Graal (เรื่องเล่าของจอกศักดิ์สิทธิ์) ซึ่งเขียนขึ้นราว ค.ศ. 1180 โดยเครเตียง เดอ ทรัว ผู้มาจากที่แห่งเดียวกันกับสถานที่ซึ่งที่ประชุมสภาสังคายนาแห่งทรอยส์ (Council of Troyes) ได้สนับสนุนคณะเทมพลาร์อย่างเป็นทางการ สิบสองปีหลังจากนั้น Parzival นิทานของวอลฟรัม ฟอน เอสเชนบัค (Wolfram von Eschenbach) ได้อ้างถึงเหล่าอัศวินที่เรียกว่า "Templeisen (เทมไพลเซน)" ซึ่งมีหน้าที่ปกป้องอาณาจักรแห่งจอกศักดิ์สิทธิ์ วีรบุรุษอื่นที่เกี่ยวข้องกับการค้นหาจอกศักดิ์สิทธิ์ เซอร์กาลลาเฮด (วรรณกรรมศตวรรษที่ 13 ประพันธ์โดยนักพรตจากคณะซิสเตอร์เชียนแห่งนักบุญแบร์นาร์) ที่ได้รับการพรรณาภาพที่ปรากฏบนโล่เป็นรูปกางเขนแห่งนักบุญจอร์จ ซึ่งคล้ายกับตราของเทมพลาร์ นอกจากนี้ วรรณกรรมชิ้นนี้ยังได้แสดงถึงว่าจอกศักดิ์สิทธิ์นั้นเป็นเรลิกศาสนาคริสต์ ตำนานเริ่มมาจากเทมพลาร์มีกองบัญชาการอยู่ที่ภูเขาเทมเพิลในเยรูซาเลม พวกเขาต้องมีการขุดเพื่อค้นหาเรลิกและพบจอกศักดิ์สิทธิ์ จากนั้นนำไปเก็บรักษาในที่รับและพิทักษ์มันไว้ด้วยชีวิต อย่างไรก็ตาม ในเอกสารสอบสวนเทมพลาร์ที่แพร่หลาย ไม่มีประโยคใดเอ่ยถึงสิ่งใดที่มีส่วนคล้ายจอกศักดิ์สิทธิ์นั้นเลย มันอาจถูกทิ้งไว้ในการครอบครองของเทมพลาร์ และไม่มีหลักฐานว่าเทมพลาร์เขียนนิยายวีรคติเรื่องจอกศักดิ์สิทธิ์ ในความเป็นจริง นักวิชาการกระแสหลักส่วนใหญ่เห็นว่าเรื่องของจอกศักดิ์สิทธิ์เป็นเพียงที่นิยายวรรณกรรมที่เริ่มแพร่หลายในยุคกลาง
สำหรับตำนานอื่นที่มีการอ้างว่ามีความเกี่ยวข้องกับเทมพลาร์คือผ้าห่อศพแห่งตูริน ในปี ค.ศ. 1357 ผ้าห่อศพแห่งตูรินปรากฏตนต่อสาธารณชนครั้งแรกโดยขุนนางที่รู้จักกันในชื่อเชอฟฟรีย์แห่งชาร์เนย์ (Geoffrey of Charney) ซึ่งแหล่งข่าวบางแหล่งกล่าวว่าเป็นสมาชิกในครอบครัวของหลานชายเชอฟเฟรย์แห่งชาร์เนย์ผู้ถูกเผาทั้งเป็นที่หลักประหารพร้อมฌักแห่งมอแล ต้นกำเนิดของผ้าห่อศพยังคงเป็นที่ขัดแย้ง แต่ใน ค.ศ. 1988 การวิเคราะห์ด้วยการหาอายุจากคาร์บอนกัมมันตรังสีแสดงว่าผ้าห่อศพสร้างขึ้นในระหว่าง ค.ศ. 1260 - 1390 ซึ่งเป็นช่วงครึ่งศตวรรษสุดท้ายในการคงอยู่ของเทมพลาร์ ความเที่ยงตรงของวิธีการตรวจสอบอายุยังก่อให้เกิดคำถาม และอายุของผ้าห่อศพแห่งตูรินยังคงเป็นหัวข้อในการอภิปรายอย่างแพร่หลาย