อัตถิภาวนิยม (อังกฤษ: existentialism) คือ แนวคิดทางปรัชญาที่พิจารณาว่าปัจเจก ตัวตน ประสบการณ์ของปัจเจกแต่ละคน และความพิเศษอันเป็นหนึ่งเดียวของสิ่งที่กล่าวมา เป็นสิ่งที่สำคัญและเป็นพื้นฐานทำความเข้าใจกับธรรมชาติของการมีอยู่ของมนุษย์ ปรัชญาแนวนี้โดยทั่วไปจะแสดงให้เห็นถึงความเชื่อในอิสรภาพ และยอมรับในผลสืบเนื่องจากการกระทำของปัจเจก และยังเชื่อว่าปัจเจกจะต้องรับผิดชอบกับทางเลือกที่ได้เลือกไว้ด้วย นักคิดแนวอัตถิภาวนิยมนั้นให้ความสำคัญกับอัตวิสัย (subjectivity) และมองว่ามนุษย์นั้นเป็นสิ่งที่ดำเนินชีวิตอยู่ในโลกที่ไม่ได้มีอะไรพิเศษ และมักเต็มไปด้วยความไม่ชัดเจน
คำว่า “อัตถิภาวะ” สารานุกรมปรัชญา กล่าวไว้ว่า มาจากศัพท์มคธ อัตถิ = เป็นอยู่ + ภาวะ = สภาพ ตรงกับศัพท์ภาษาอังกฤษ existence ซึ่งแปรรูปมาจากศัพท์ภาษาละตินว่า existential (ex = จาก + stare = ยืน ) แปลว่า ความมีอยู่
สารนุกรมปรัชญาให้คำอธิบายถึงแนวคิดนี้ว่า "เป็นลัทธิที่ถือว่าการค้นคว้าหาสารัตถะ ทำให้ผู้คิด ออกจากความเป็นจริง ความเป็นจริงที่แท้ก็คือ 'อัตถิภาวะ' ของแต่ละบุคคลซึ่งมีสิ่งแวดล้อมและสภาพซึ่งตนเองได้สะสมไว้โดยตัดสินใจเลือก" นักปรัชญาที่สำคัญของลัทธินี้เช่น เซอเรน เคียร์เคอกอร์ (S?ren Kierkegaard), คาร์ล แจสเปอร์ส (Karl Jaspers), มาร์ติน ไฮเด็กเกอร์ (Martin Heidegger), ฌ็อง-ปอล ซาทร์ (Jean-Paul Sartre) และ เกเบรียล มาร์เซล (Gabriel Marcel) นักปรัชญาอัตถิภาวนิยมไม่ตั้งใจเสนอคำสอนให้ใครยอมรับเป็นสัจธรรม แต่เสนอเพื่อปลุกใจและกระตุ้นให้ผู้อ่านคิดสร้างปรัชญาของตนขึ้นมาเอง มีวิธีการมองเห็นปัญหาของตนเอง และมีวิธีการหาคำตอบให้แก่ตนเอง รวมความว่าผู้เขียนปรัชญาอัตถิภาวนิยมเขียนอย่างเป็นตัวของตัวเอง เพื่อให้ผู้อ่านรู้จักเป็นตัวของตัวเองด้วย