แองโกล-นอร์มัน (อังกฤษ: Anglo-Norman) คือผู้สืบเชื้อสายจากชาวนอร์มันผู้ปกครองอังกฤษหลังจากที่ได้รับชัยชนะในการรุกรานอังกฤษโดยดยุควิลเลียมแห่งนอร์ม็องดีในปี ค.ศ. 1066 แม้ว่าจะมีนอร์มันมาตั้งถิ่นฐานอยู่บ้างก่อนหน้านั้นแล้ว หลังจากยุทธการเฮสติงส์ผู้รุกรานชาวนอร์มันและลูกหลานก็เข้ามาตั้งถิ่นฐานในฐานะกลุ่มชนที่แตกต่างจากกลุ่มชนที่ตั้งถิ่นฐานอยู่แล้วในอังกฤษ ผู้ที่ตั้งถิ่นฐานเหล่านี้ต่อมาก็กลืนไปกับผู้ที่ตั้งถิ่นฐานอยู่อยู่แต่เดิมและมาใช้ภาษาพูดที่เรียกว่าภาษาแองโกล-นอร์มัน
ชัยชนะของชาวนอร์มันต่ออังกฤษเป็นชัยชนะของผู้พิชิตที่มีวัฒนธรรมและภาษาต่างจากวัฒนธรรมและภาษาของอังกฤษในหลายกรณี และเป็นการรุกรานที่แตกต่างจากการรุกรานของไวกิงตรงที่ผู้รุกรานชาวไวกิงเป็นชนกลุ่มที่มีเชื้อสายและภาษาพูดที่ใกล้เคียงกันกับที่ใช้ในอังกฤษ
ความแตกต่างนี้ทำให้ผู้ตั้งถิ่นฐานชาวนอร์มันไม่มีความรู้สึกเกี่ยวพันกับผู้ตั้งถิ่นฐานในอังกฤษโดยเฉพาะผู้ที่ที่มีเชื้อสายเดนมาร์ก ผู้ที่เป็นผู้ต่อต้านการยึดครองของนอร์มันอย่างเหนียวแน่นจากกลุ่มที่ว่านี้ หลังจากที่ได้รับชัยชนะแล้วดยุควิลเลียมก็กำจัดขุนนางผู้มีอำนาจทั้งขุนนางเดนส์และขุนนางอังกฤษแทบทั้งสิ้น โดยแต่งตั้งขุนนางนอร์มันเองขึ้นแทนและก่อตั้งระบบการปกครองแบบ “ระบบเจ้าครองนคร” ขึ้นในแทนที่ (แต่นักประวัติศาสตร์ยังถกเถียงกันว่า “ระบบเจ้าครองนคร” เป็นระบบที่ใช้ในอังกฤษมาตั้งแต่ก่อนหน้าที่นอร์มันจะเข้ามายึดครองแล้ว ฉะนั้นความคิดในเรื่องการปกครองระบบเจ้าครองนคร (Feudalism) ว่าเริ่มใช้กันเมื่อใดในอังกฤษจึงยังเรื่องที่ยังตกลงกันไม่ได้)
ขุนนางแองโกล-แซกซันเป็นจำนวนมากสูญเสียทั้งตำแหน่งและอาณาบริเวณการปกครอง อันที่จริงแล้วชนทุกระดับชั้นในอังกฤษก็ถูกเลื่อนฐานะลงในสังคมไปตามๆ กัน ในขณะเดียวกันขุนนางแองโกล-นอร์มันใหม่ก็เข้ามามีอำนาจแทนที่ และต่างก็ได้รับพระราชทานที่ดินที่ยึดมาจากขุนนางแองโกล-แซกซันเดิม ขุนนางแองโกล-นอร์มันบางคนก็ยังคงรักษาการใช้ “เดอ” นำหน้าที่หมายถึงผู้ปกครองอาณาบริเวณที่ตามด้วยชื่อบริเวณ แต่ขุนนางอื่นก็รับชื่ออาณาบริเวณที่ใช้กันในท้องถิ่นอยู่แล้วมาเป็นชื่อของตน
แต่สิ่งที่สำคัญรองจากสิ่งที่สำคัญที่สุดของความมีชัยชนะต่ออังกฤษของนอร์มันคือเป็นการนำอังกฤษเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของแผ่นดินใหญ่ยุโรป โดยเฉพาะการเป็นส่วนหนึ่งของบริเวณที่ยังมีอิทธิพลทางด้านภาษาและวัฒนธรรมที่ยังหลงเหลืออยู่ของโรมัน อังกฤษในสมัยแองโกล-แซกซันและนอร์สเป็นอังกฤษที่มีความสัมพันธ์กับวัฒนธรรมท้องถิ่น แต่อังกฤษภายใต้การปกครองของนอร์มันเป็นอังกฤษของภาษาตระกูลโรมานซ์และวัฒนธรรมของโรมันโบราณ ซึ่งจะเห็นได้จากภาษาที่ใช้, สถาปัตยกรรมการก่อสร้างแบบโรมาเนสก์ และการปกครองระบบเจ้าครองนครที่มาแทนที่การปกครองที่ไม่มีระบบเท่าใดนักของอังกฤษในระหว่างยุคมืด แต่สิ่งที่แน่นอนคืออังกฤษในสมัยนอร์มันเป็นอังกฤษที่แตกต่างจากอังกฤษสมัยก่อนหน้านั้นที่เป็นอังกฤษที่มีอิทธิพลจากภายนอก
นอกจากนั้นแล้วชัยชนะของชาวนอร์มันต่ออังกฤษก็ยังเป็นการเปลี่ยนระบบการทหารในอังกฤษทั้งทางลักษณะและวิธีการรบ หลังจากการยึดครองนายทหารแองโกล-แซกซันเดิมโดยเฉพาะชนรุ่นหลังจากการพ่ายแพ้ที่ยุทธการเฮสติงส์ผู้ไม่มีอนาคตความก้าวหน้าถ้าอยู่ต่อไปในอังกฤษภายใต้การปกครองของผู้ชนะ ก็เริ่มลี้ภัยไปต่างประเทศอังกฤษโดยสนับสนุนของดยุควิลเลียมผู้พิชิตและพระโอรสวิลเลียม รูฟัสเพื่อความปลอดภัยของราชอาณาจักร กลุ่มแรกที่ลี้ภัยคือกลุ่มที่ไปเดนมาร์ก อีกจำนวนหนึ่งก็ลี้ภัยไปสมทบกับกลุ่มวารันเจียน (Varangians) ในคอนแสตนติโนเปิล
แต่โดยทั่วไปแล้วทหารแองโกล-แซกซันก็มิได้ถูกปลดอาวุธกันไปทั้งหมด ดยุควิลเลียมแห่งนอร์ม็องดีทรงจัดให้ทหารราบแซ็กซอนได้รับการฝึกโดยทหารม้านอร์มันในยุทธวิธีการต่อต้านข้าศึกบนหลังม้า ซึ่งทำให้เกิดกองทัพแองโกล-นอร์มันที่ประกอบด้วยขุนนางที่เป็นเจ้านายนอร์มันบนหลังม้าโดยมีไพร่พลเป็นทหารราบแซ็กซอนผู้บางครั้งก็มีเชื้อสายเจ้านายเท่าเทียมกับผู้นำ, ทหารราบจากชาวบ้าน, ทหารรับจ้าง และนักผจญภัยจากส่วนอื่นๆ ของทวีปยุโรป
เจ้านายนอร์มันรุ่นต่อๆ มาที่เติบโตขึ้นในอังกฤษก็เริ่มรับวัฒนธรรมแซ็กซอนบางอย่างเข้ามาใช้เช่นการไว้ผมยาวขึ้นหรือการไว้หนวดซึ่ทำให้เป็นที่ไม่ค่อยพึงพอใจในบรรดาเจ้านายนอร์มันรุ่นเก่า (คำว่า “cniht” (อัศวิน) ในภาษาแองโกล-แซกซัน มิได้มีความหมายเช่นเดียวกับคำว่า “chevalier” (ความเป็นอัศวิน/ความเป็นวีรบุรุษ) ของการใช้คำเดียวกันในฝรั่งเศสมาจนกระทั่งปลายยุคกลาง ในคริสต์ศตวรรษที่ 14, นักปรัชญาจอห์น ไวคลิฟฟ์ (John Wycliffe) ใช้คำว่า “knyytis” (อัศวิน) ในการกล่าวถึงผู้ถืออาวุธเท่านั้น จนกระทั่งเมื่อมาถึงคริสต์ศตวรรษ 15 เท่านั้นที่คำว่า “อัศวิน” (knight) เริ่มจะมีความหมายเป็นนัยยะว่าหมายถึงนายทหารม้าผู้เป็นเจ้านายและมีความหมายที่ใกล้เคียงกับคำว่า “ความเป็นอัศวิน” (Chivalry) มากขึ้น)
การพิชิตของแองโกล-นอร์มันในคริสต์ศตวรรษที่ 12 นำมาซึ่งประเพณีและวัฒนธรรมที่เผยแพร่ไปยังไอร์แลนด์ คาโรลซึ่งเป็นการร้องรำทำเพลงของนอร์มันโดยมีผู้ร้องนำล้อมรอบด้วยผู้เต้นรำที่ร้องโต้ด้วยเพลงเดียวกัน การการร้องรำทำเพลงของนอร์มันนี้ก็ทำไปทุกเมืองที่นอร์มันได้รับชัยชนะในไอร์แลนด์
ความรู้สึกขัดแย้งระหว่างความเป็นนอร์มันและความเป็นแซ็กซอนจะรุนแรงเท่าใดนั้นก็ยังเป็นเรื่องที่นักประวัติศาสตร์ถกเถียงกันอยู่ ในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ความขัดแย้งนี้กล่าวว่าเป็นความขัดแย้งที่มาจากทั้งสองฝ่ายที่เห็นได้จากตำนานที่เป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลายในเรื่อง “โรบิน ฮูด” (Robin Hood) และในนวนิยายเรื่อง “ไอแวนโฮ” (Ivanhoe) โดยเซอร์วอลเตอร์ สกอตต์ (Walter Scott) ซึ่งอาจจะเป็นทัศคติที่ค่อนข้างจะเกินความจริงไปบ้าง ความรู้สึกทางอคติที่แสดงออกโดยนักประวัติศาสตร์อังกฤษร่วมสมัยออร์เดริค ไวทาลิส (Orderic Vitalis) ใน “ประวัติศาสตร์ทางศาสนา” (Ecclesiastical Historii) จะเห็นได้จากการกล่าวสรรเสริญชาวอังกฤษผู้ต่อต้านดยุควิลเลียมแห่งนอร์ม็องดี (สมเด็จพระเจ้าวิลเลียมที่ 1 แห่งอังกฤษ) นอกจากนั้นก็ยังมีกฎหมายที่เรียกว่า “ค่าปรับการฆาตกรรมนิรนาม” (Murdrum) ที่เดิมเป็นกฎหมายของเดนส์ที่นำมาใช้ในอังกฤษภายใต้การปกครองของพระเจ้คานูท ที่นอร์มันนำกลับมาใช้โดยปรับหมู่บ้านที่เกิดการฆาตกรรมชาวนอร์มันอย่างลับๆ (หรือผู้ถูกฆาตกรรมที่ไม่ทราบชื่อที่กฎหมายสรุปว่าต้องเป็นนอร์มันโดยปริยายนอกจะพิสูจน์ได้ว่าไม่ใช่) เป็นจำนวนหนึ่งไฮห์ หรือ 46 มาร์ค หรือ ราว ?31
แต่ไม่ว่าจะมีความชิงชังกันอย่างไรหรือเท่าใด ในที่สุดชนสองกลุ่มนี้ก็กลืนกันเป็นชนกลุ่มเดียวกันจากการอยู่ร่วมกันและการแต่งงาน ชาวนอร์มันเริ่มมีความรู้สึกตนว่าเป็นแองโกล-นอร์มัน ความแตกต่างก็มาหายไปแทบหมดสิ้นเมื่อสงครามร้อยปีเกิดขึ้น และภายในคริสต์ศตวรรษที่ 15 ชาวแองโกล-นอร์มันก็กลืนกับแองโกล-แซกซัน และกลายมาเป็นชาวอังกฤษ
หมู่เกาะแชนเนลเป็นบริเวณสุดท้ายที่ยังคงรักษาวัฒนธรรมแองโกล-นอร์มันและภาษามาจนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 19 เมื่ออิทธิพลอังกฤษเริ่มเข้ามาแทนที่โดยผู้ที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานที่พูดภาษาอังกฤษและการคมนาคมจากแผ่นดินใหญ่ที่สะดวกขึ้น
การตั้งถิ่นฐานของชาวแองโกล-นอร์มันในอังกฤษเลยไปถึงการตั้งถิ่นฐานในเวลส์ และทำให้เกิดการสร้างป้อมปราการหลายป้อมโดยดยุควิลเลียมแห่งนอร์ม็องดีเพื่อปราบปรามชาวเวลส์แต่ก็ไม่ทรงประสบความสำเร็จเท่าใดนัก หลังจากนั้นดินแดนที่เป็นพรมแดนระหว่างเวลส์และอังกฤษที่เรียกว่ามาร์ชก็ได้รับอิทธิพลจากนอร์มันมากขึ้น นอกจากการตั้งถิ่นฐานแล้วก็ยังมีการเผยแพร่คริสต์ศาสนาเข้าไปในเวลส์โดยนักบวชในนิกายเช่นซิสเตอร์เชียนที่มาจากฝรั่งเศสและนอร์ม็องดี ที่ไปตั้งสำนักสงฆ์ในบริเวณต่างๆ ทั่วเวลส์ ภายในคริสต์ทศวรรษ 1400 ผู้ดีชาวเวลส์จำนวนมากก็มีเชื้อสายนอร์มัน นอกจากนั้นอัศวินแคมเบอร์-นอร์มันที่ไปรุกรานไอร์แลนด์ก็มาจากที่มั่นในเวลส์
ขุนนางแองโกล-นอร์มันที่เข้าไปตั้งถิ่นฐานในไอร์แลนด์ ในคริสต์ศตวรรษที่ 12 เริ่มด้วยการไปสนับสนุนฐานะของกษัตริย์ท้องถิ่น Diarmuid MacMorrough ที่เรียกกันในภาษาอังกฤษใหม่ว่าเดอร์ม็อท แม็คเมอร์โรห์ (Dermot MacMurrough) แม็คเมอร์โรห์ทูลขอสมเด็จพระเจ้าเฮนรีที่ 2 แห่งอังกฤษ ให้ส่งริชาร์ด เดอ แคลร์ เอิร์ลแห่งเพมโบรคที่ 2 (Richard de Clare, 2nd Earl of Pembroke) หรือที่รู้จักกันในนาม “Strongbow” ไปช่วยสร้างความมั่นคงในการเป็นกษัตริย์ที่ไลน์สเตอร์ ริชาร์ด เดอ แคลร์เสียชีวิตไม่นานหลังจากไปรุกรานไอร์แลนด์แต่ผู้ที่ติดตามไปด้วยยังคงอยู่ต่อไปในไอร์แลนด์เพื่อสนับสนุนพระเจ้าเฮนรี และพระราชโอรสจอห์นในฐานะลอร์ดแห่งไอร์แลนด์ ในบรรดาผู้ตั้งถิ่นฐานชาวนอร์มันที่สำคัญในระยะแรกก็มีทีโอบอลด์ วอลเตอร์ (Theobald Walter, 1st Baron Butler) ผู้ได้รับพระราชทานตำแหน่งสืบตระกูลบัตเลอร์แห่งไอร์แลนด์ในปี ค.ศ. 1177 โดยพระเจ้าเฮนรี ชาวนอร์มันที่ไปตั้งถิ่นฐานในไอร์แลนด์ส่วนใหญ่มาจากเวลส์ไม่ใช่จากอังกฤษ ฉะนั้นแคมเบอร์-นอร์มันจึงเป็นคำที่ใช้เรียกชนกลุ่มนี้
อ่านบทความฉบับสมบูรณ์ได้ที่ http://th.wikipedia.org/wiki/อังกฤษสมัยแองโกล-นอร์มัน