อศาสนา (อังกฤษ: Irreligion) หมายความว่า ภาวะที่ไม่นับถือศาสนา ไม่มีศาสนา ไม่แบ่งแยกศาสนา หรือเป็นปรปักษ์ต่อศาสนา ผู้ที่มีภาวะดังกล่าวเรียก อศาสนิกชน
ว่ากันตามแต่ละนิยามหรือความเข้าใจของบุคคล อศาสนาอาจเข้าใจได้ว่าหมายถึง อเทวนิยม (atheism), เทวนิยม (deism), อไญยนิยม (agnosticism), ศาสนวิมตินิยม (religious skepticism) หรือ โลกียมนุษยนิยม (secular humanism) เป็นต้น สำหรับในบางสังคมอาจไม่ยอมรับภาวะอศาสนา หรืออาจมีอคติต่ออศาสนิกชน เช่นการเหมารวมว่าอศาสนิกชนหรือคนที่ไม่มีศาสนาทั้งหมดคือคนที่ชั่วร้าย เป็นต้น บ่อยครั้งที่มีผู้วิพากษ์วิจารณ์ว่าผู้ก่อเหตุอาชญากรรมหรือผู้ก่อการร้ายเป็นผู้ที่ไม่มีศาสนา แม้ว่าผู้ก่อเหตุจะแสดงตัวว่ามีศาสนาก็ตาม
อศาสนิกชนอาจมีความเข้าใจในภาวะอศาสนาเท่า ๆ กับศาสนิกชน เช่น ผู้นับถือลัทธิมนุษยนิยมมีความเชื่ออย่างลึกซึ้งยิ่งในวัตรปฏิบัติของตนเองพอ ๆ กับความลึกซึ้งของความเชื่อที่ศาสนิกชนมีต่อศาสนาของตน เป็นต้น
ถึงแม้ว่าคนที่ระบุว่าตนเองเป็นอศาสนิกชนจะมิได้รับนับถือศาสนาใด ๆ แต่อศาสนิกชนบางกลุ่มยังคงเชื่อถือในเทวะหรือผีสางนางไม้เป็นต้น เช่น คนที่นับถือผีหรือเชื่อโชคลาง แต่ไม่ได้ประกอบพิธีกรรมใด ๆ หรือไม่ได้เป็นศาสนิก เป็นต้น
พึงทราบว่า ในบางประเทศเช่น ซาอุดิอาระเบีย บังคับให้พลเมืองต้องเป็นศาสนิกชน หรือ ประเทศไทย อศาสนิกชนอาจถูกระบุโดยบุคคลอื่นว่าเป็นพุทธศาสนิกชน หรือในบางสังคมที่ไม่ยอมรับภาวะอศาสนาอาจมีผู้ที่ไม่เปิดเผยว่าตนเป็นอศาสนิกชนในการสำรวจข้อมูลหรือการทำสำมะโนประชากร ดังนั้น จำนวนของอศาสนิกชนในโลกนี้จึงยังไม่อาจระบุให้เป็นที่แน่นอนได้