ชนอลามานนิ (อังกฤษ: Alamanni หรือ Allemanni หรือ Alemanni) เดิมเป็นกลุ่มสหพันธ์ของกลุ่มชนเจอร์มานิคที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในบริเวณลุ่มแม่น้ำไมน์ในเยอรมนีปัจจุบัน หลักฐานแรกที่กล่าวถึงชนกลุ่มนี้มาจากบันทึกถึงชน “อลามานนิคัส” (Alamannicus) ที่สรุปกันว่าเขียนโดยจักรพรรดิคาราคัลลาผู้ปกครองจักรวรรดิโรมันระหว่างปี ค.ศ. 211 ถึงปี ค.ศ. 217 ที่อ้างว่าเป็นฝ่ายที่ได้รับการพ่ายแพ้ในยุทธการ ลักษณะความสัมพันธ์ระหว่างอลามานนิและจักรวรรดิโรมันเดิมไม่เป็นที่ทราบแน่นอน แต่เป็นความสัมพันธ์ในทางรุกราน เมื่ออลามานนิเข้าโจมตีจังหวัดโรมันเจอร์มาเนียเหนือ (Germania Superior) ทุกครั้งที่ได้โอกาส โดยทั่วไปแล้วอลามานนิก็เอาตัวอย่างของชนแฟรงค์ในการโจมตีจังหวัดโรมัน ซึ่งมีผลทำให้หยุดยั้งการคืบเข้ามาบริเวณทางตอนเหนือของลุ่มแม่น้ำไรน์ตอนใต และในที่สุดก็เข้าโจมตีจังหวัดโรมันเจอร์มาเนียใต้ (Germania Inferior)
ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 1 แม่น้ำไรน์กลายเป็นเขตแดนระหว่างโรมันกอลและดินแดนเจอร์มาเนีย ชนเจอร์มานิค, เคลต์ และชนเผ่าผสมเค้ลต์-เจอร์มานิคตั้งถิ่นฐานอยู่บนสองฝั่งของแม่น้ำไรน์ โรมันแบ่งดินแดนนี้ออกเป็นสองเขต “เจอร์มาเนียเหนือ” ที่ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของแม่น้ำ และ “เจอร์มาเนียใต้” ที่ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของแม่น้ำไรน์
เจอร์มาเนียเหนือรวมบริเวณระหว่างตอนบนของแม่น้ำไรน์และตอนบนของแม่น้ำดานูบ โรมันเรียกบริเวณนี้ว่า “Agri Decumates” ที่ไม่ทราบที่มาของชื่อ นักวิชาการบางท่านก็แปลว่า “ดินแดนสิบตำบล” (the ten cantons)แต่จะเป็นตำบลของผู้ใดก็ไม่เป็นที่ทราบ
บริเวณนอกจักรวรรดิโรมันของเจอร์มาเนียเหนือเรียกว่า “พรมแดนเจอร์มานิคัส” (Limes Germanicus) ฝ่ายอลามานนิมักจะข้ามพรมแดนเข้าไปโจมตีเจอร์มาเนียเหนือและคืบต่อไปยังบริเวณ “ดินแดนสิบตำบล” ในบริเวณป่าดำ สหพันธ์กลุ่มอลามานนิเข้าไปตั้งถิ่นฐานอยู่ในบริเวณอัลซาซในคริสต์ศตวรรษที่ 5 และขยายตัวต่อไปยังที่ราบสูงสวิส (Swiss Plateau) และบางส่วนของบริเวณบาวาเรียและออสเตรียปัจจุบัน และไปถึงหุบเขาในบริเวณเทือกเขาแอลป์ในคริสต์ศตวรรษที่ 8
จากหนังสือ “ประวัติศาสตร์ออกัสตา” (Historia Augusta) สหพันธ์อลามานนิในคริสต์ศตวรรษที่ 3 ยังเรียกตนเองว่า “เจอร์มานิ” (Germani) โพรคิวลัสผู้พยายามโค่นราชบัลลังก์ในปี ค.ศ. 280 ได้รับชื่อเสียงในกอลจากการได้รับชัยชนะโดยใช้วิธีต่อสู้แบบสงครามกองโจรต่ออลามานนิ หลังจากนั้นอลามานนิก็ก่อตัวเป็นชาติอลามานเนีย (Alamannia) ที่บางครั้งก็เป็นอิสระจากแฟรงค์ แต่ส่วนใหญ่แล้วก็อยู่ภายใต้การปกครองของแฟรงค์ คำที่เรียกชาวเยอรมันและภาษาเยอรมันในภาษาฝรั่งเศสคือคำว่า “Allemagned” และ “Allemand”, ภาษาโปรตุเกส “Allemagned” และ “Alem?o” และ ภาษาสเปน “Alemania” และ “Alem?n” ที่ต่างก็มีรากมาจากชื่อที่ใช้เรียกชนเยอรมันสมัยแรก ภาษาเปอร์เชียและอาหรับก็เรียกชนเยอรมันว่า “Almaani” และประเทศเยอรมนีว่า “Almaania” ในภาษาตุรกี “Alman” สำหรับภาษา และ “Almanya” สำหรับประเทศ
อาณาบริเวณของอลามานนิมักจะแผ่ขยายอย่างกว้างไกลที่ทำให้มีชนเผ่าที่มาจากที่มาต่างๆ กัน ในสมัยยุคกลางตอนต้นอลามานนิแบ่งระหว่างอาณาจักรสังฆราชแห่งสตราสบวร์กที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 614, ดินแดนของอาณาจักรสังฆราชแห่งออกสเบิร์กที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 736, อาณาจักรสังฆราชแห่งไมนซ์ที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 745 และ อาณาจักรสังฆราชแห่งบาเซิลที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 805 กฎหมายของอลามานนิได้รับการบัญญัติในรัชสมัยของชาร์เลอมาญในฐานะอาณาจักรดยุคแห่งอลามานเนียในชวาเบีย ในปัจจุบันผู้ที่สืบเชื้อสายมาจากอลามานนิตั้งถิ่นฐานอยู่ใน: ฝรั่งเศส (อัลซาซ), เยอรมนี (ชวาเบียและบางส่วนของบาวาเรีย), สวิตเซอร์แลนด์ และ ออสเตรีย ภาษาเยอรมันที่ใช้พูดกันในบริเวณนี้ก็มีลักษณะที่มีสำเนียงเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง