อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ เป็นอนุสาวรีย์ที่ตั้งอยู่ ณ วงเวียนหลักสี่ จุดตัดระหว่างถนนพหลโยธินกับถนนแจ้งวัฒนะและถนนรามอินทรา ตั้งอยู่ในพื้นที่แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญจัดสร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองการปราบกบฏบวรเดช โดยมีการบรรจุอัฐิทหารและตำรวจที่เสียชีวิตในเหตุการณ์ดังกล่าวไว้ภายในรวม 17 นาย จึงมีชื่อเรียกอื่นๆ ได้แก่ อนุสาวรีย์ปราบกบฏ อนุสาวรีย์ 17 ทหารและตำรวจ อนุสาวรีย์หลักสี่ หรืออนุสาวรีย์หลวงอำนวยสงคราม
อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญได้รับการออกแบบโดยหลวงนฤมิตรเลขการ อาจารย์ประจำโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า โดยยึดหลักทางการเมืองของรัฐบาล 5 ประการ คือ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ กองทัพ และรัฐธรรมนูญ การก่อสร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2479 มีการทำพิธีเปิดในวันที่ 15 ตุลาคม ปีเดียวกัน โดยพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ทรงประกอบพิธีเปิด
มีการปรับปรุงพื้นที่บริเวณโดยรอบอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญอยู่หลายครั้งโดยกรมทางหลวง เพื่อลดปัญหาการจราจรติดขัดโดยรอบอนุสาวรีย์ อาทิ การปรับภูมิทัศน์เป็นสี่แยกและการขุดอุโมงค์ลอดอนุสาวรีย์ ในอนาคต มีโครงการก่อสร้างสะพานลอยข้างอนุสารีย์เพื่อเชื่อมต่อถนนแจ้งวัฒนะและถนนรามอินทรา และโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าบีทีเอส (สายสีเขียว) และรถไฟฟ้าโมโนเรล สายสีชมพู
อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ เคยใช้เป็นสถานที่เพื่อนัดชุมนุมทางการเมืองของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ แดงทั้งแผ่นดิน (นปช.) ในปี พ.ศ. 2553 นอกจากนี้ยังมีประเพณีตักบาตรวันขึ้นปีใหม่ ณ บริเวณอนุสาวรีย์แห่งนี้เป็นประจำทุกปี
ในสมัยพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของไทย ได้เกิดความขัดแย้งทางการเมืองขึ้น สืบเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทยในปี พ.ศ. 2475 โดยพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช อดีตเสนาบดีกระทรวงกลาโหม รวมทั้งนายทหารอื่นๆ ซึ่งไม่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว จึงก่อการรัฐประหารโดยนำกองทหารเพชรบุรี โคราช และอุดร บุกเข้ายึดพื้นที่เขตดอนเมืองและบางเขนไว้ ภายหลังการปราบกบฏแล้วนั้น รัฐบาลจึงมีดำริก่อสร้างอนุสาวรีย์เพื่อบรรจุอัฐินายทหารและตำรวจของรัฐบาลที่เสียชีวิตในการปฏิบัติการดังกล่าว จึงดำเนินการก่อสร้างอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญในราวปี พ.ศ. 2479 โดยหลวงนฤมิตรเลขการเป็นผู้ออกแบบอนุสาวรีย์ ซึ่งก่อสร้างแล้วเสร็จและทำพิธีเปิดในวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2479 โดยพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ทรงประกอบพิธีเปิด
อนุสาวรีย์ได้รับการออกแบบโดยหลวงนฤมิตรเลขการ อาจารย์ประจำโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า โดยออกแบบลักษณะเป็นเสา และสื่อถึงหลักทางการเมืองของรัฐบาล 5 ประการ คือ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ กองทัพ และรัฐธรรมนูญ เสาของอนุสาวรีย์มีลักษณะคล้ายลูกปืน สื่อความหมายถึงกองทัพ ประดับกลีบบัว 8 ซ้อนขึ้นไป 2 ชั้น บนฐานรูปแปดเหลี่ยมซึ่งหมายถึงทิศทั้งแปดตามคติพราหมณ์ ฐานของอนุสาวรีย์มี 4 ทิศ มีบันไดวนรอบฐาน ส่วนบนสุดของเสาอนุสาวรีย์เป็นพานรัฐธรรมนูญซึ่งหมายถึง รัฐธรรมนูญ
ผนังของเสาแต่ละด้านของอนุสาวรีย์มีการจารึกและประดับในเรื่องราวที่ต่างกันไป โดยผนังด้านทิศตะวันตกหรือผนังที่อยู่ด้านหน้าของถนนพหลโยธินมีการจารึกรายนามของทหารและตำรวจ 17 นายที่เสียชีวิต ด้านทิศใต้เป็นรูปแกะสลักของครอบครัวชาวนาคือ พ่อ แม่ และลูก โดย ผู้ชายถือเคียวเกี่ยวข้าว ผู้หญิงถือรวงข้าว และเด็กถือเชือก ซึ่งสื่อถึงชาติและประชาชนในชาติ ด้านทิศเหนือเป็นรูปธรรมจักรซึ่งหมายถึงศาสนา และด้านทิศใต้เป็นแผ่นทองเหลืองจารึกโคลงสยามานุสติ ซึ่งเป็นโคลงพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งสื่อถึงพระมหากษัตริย์
การจราจรบริเวณโดยรอบอนุสาวรีย์มีความเนื่องแน่น จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2536 กรมทางหลวงได้ปรับปรุงทางจราจรบริเวณอนุสาวรีย์โดยทุบพื้นที่โดยรอบเหลือเพียงแต่เสาอนุสาวรีย์ ทำเป็นสี่แยก ต่อมาได้ยกเลิกการใช้สี่แยกดังกล่าวเนื่องจากได้ขุดอุโมงค์ลอดอนุสาวรีย์แทน ในปี พ.ศ. 2553 กรมทางหลวงได้ดำเนินการก่อสร้างสะพานลอยในบริเวณวงเวียนหลักสี่ ซึ่งอาจส่งผลให้ต้องเคลื่อนย้ายตัวอนุสาวรีย์ออกไปจากบริเวณเดิม กลุ่มนักอนุรักษ์โบราณคดี และกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ตลอดจนชาวบ้านได้รวมตัวกันคัดค้านการเคลื่อนย้ายดังกล่าว หากทว่ากรมทางหลวงได้อ้างว่าได้พูดคุยกับกรมศิลปากรแล้ว แต่กรมศิลปากรปฏิเสธและไม่มีนโยบายที่จะเคลื่อนย้ายโบราณสถานที่ขึ้นทะเบียนแล้ว นอกจากนี้ ในอนาคตยังมีโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียว (รถไฟฟ้าบีทีเอส สายสุขุมวิท) เชื่อมต่อจากสถานีหมอชิตผ่านบริเวณอนุสาวรีย์ดังกล่าว และจะมีการก่อสร้างรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพูอีกด้วย
นอกจากการสร้างอนุสาวรีย์เพื่อเป็นที่รำลึกแล้วนั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเหรียญเหรียญพิทักษ์รัฐธรรมนูญ (ใช้อักษรย่อว่า พ.ร.ธ.) เป็นเหรียญสำหรับพระราชทานเป็นบำเหน็จกล้าหาญ แก่ผู้ช่วยเหลือราชการทั้งฝ่ายทหาร และ พลเรือนในการปราบกบฏบวรเดช คณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้ตราใน "พระราชบัญญัติเหรียญพิทักษ์รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2476" ขึ้นใช้ไว้ ตั้งแต่วันประกาศ ในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป คือ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2476 ปัจจุบันเป็นเหรียญที่พ้นสมัยพระราชทาน
อ่านบทความฉบับสมบูรณ์ได้ที่ http://th.wikipedia.org/wiki/อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ