กล้ามเนื้อหัวใจตายเหตุขาดเลือด (อังกฤษ: Myocardial infarction) หรือ กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน (อังกฤษ: Acute myocardial infarction; AMI) หรือรู้จักกันว่า อาการหัวใจล้ม (heart attack) เกิดจากการไหลของเลือดเพื่อเลี้ยงส่วนของหัวใจถูกรบกวนทำให้เซลล์กล้ามเนื้อหัวใจบางส่วนตาย ซึ่งส่วนมากเกิดจากการอุดกั้นของหลอดเลือดโคโรนารีที่เลี้ยงหัวใจอันเป็นผลจากโรคท่อเลือดแดงและหลอดเลือดแดงแข็ง ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาอาจทำให้กล้ามเนื้อหัวใจเสียหายหรือตาย (เนื้อตายเหตุขาดเลือด) ได้
อาการของกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันที่พบบ่อยได้แก่เจ็บหน้าอกกะทันหัน ซึ่งมักร้าวไปยังแขนซ้ายหรือด้านซ้ายของคอ อาการหายใจลำบาก คลื่นไส้ อาเจียน ใจสั่น เหงื่อออก และวิตกกังวลที่มักอธิบายว่ารู้สึกเหมือนเคราะห์ร้ายใกล้เข้ามา อาการเหล่านี้พบในผู้หญิงพบน้อยกว่าในผู้ชาย ซึ่งมักพบอาการหายใจลำบาก อ่อนแรง รู้สึกอาหารไม่ย่อย และเหนื่อยล้า ราว 1 ใน 4 ของผู้ป่วยกล้ามเนื้อหัวใจตายจะไม่มีอาการ คือไม่มีอาการปวดเค้นหน้าอกหรืออาการอื่นเลย
ผู้ป่วยที่สงสัยจะได้รับการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ การถ่ายภาพเอกซเรย์ทรวงอก และการตรวจเลือดเพื่อดูความเสียหายของกล้ามเนื้อหัวใจ โดยตัวชี้วัดความเสียหายของกล้ามเนื้อหัวใจที่ใช้บ่อยคือ สัดส่วนครีเอตินไคเนส-เอ็มบี (creatine kinase-MB; CK-MB) และระดับโทรโปนิน (troponin) การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจจะช่วยให้แพทย์แยกระหว่าง ST elevation MI (STEMI) และ non-ST elevation MI (non-STEMI)
การรักษาผู้ป่วยที่สงสัยกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันได้แก่การให้ออกซิเจน แอสไพริน และไนโตรกลีเซอรีนชนิดอมใต้ลิ้น หากจำเป็นต้องใช้ยาระงับปวดเพิ่มมักพิจารณาให้มอร์ฟีน ซัลเฟตการทบทวนวรรณกรรมในปี ค.ศ. 2009 เกี่ยวกับการให้ออกซิเจนอัตราการไหลสูงเพื่อรักษากล้ามเนื้อหัวใจตายพบว่าการให้ออกซิเจนอัตราการไหลสูงเพิ่มอัตราเสียชีวิตและขนาดของกล้ามเนื้อหัวใจที่ตาย ทำให้เกิดข้อสงสัยถึงการแนะนำให้ใช้ออกซิเจนในการรักษาเป็นกิจวัตร ผู้ป่วย STEMI ส่วนใหญ่รักษาได้ด้วยยาสลายลิ่มเลือดหรือการขยายหลอดเลือดโคโรนารีทางผิวหนัง (Percutaneous coronary intervention; PCI) ส่วนผู้ป่วย NSTEMI รักษาด้วยยาแม้ว่ามักจะทำ PCI ในระหว่างผู้ป่วยพักในโรงพยาบาล ในผู้ป่วยที่มีการอุดกั้นหลอดเลือดโคโรนารีหลายตำแหน่งและผู้ป่วยที่เสถียรหรือในผู้ป่วยฉุกเฉินน้อยรายอาจพิจารณาทำการผ่าตัดทางเลี่ยงหลอดเลือดโคโรนารีหรือที่เรียกกันว่า การผ่าตัดบายพาส
กล้ามเนื้อหัวใจตายนับเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของทั้งผู้ชายและผู้หญิงทั่วโลก โดยปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญคือโรคหัวใจและหลอดเลือดที่เคยเป็นมาก่อน, อายุมาก, การสูบบุหรี่, ไขมันชนิดไตรกลีเซอไรด์และไลโปโปรตีนชนิดความหนาแน่นต่ำ (low-density lipoprotein; LDL) ในเลือดสูง และมีระดับ ไลโปโปรตีนชนิดความหนาแน่นสูง (high-density lipoprotein; HDL) ในเลือดต่ำ, เบาหวาน, ความดันโลหิตสูง, โรคอ้วน, โรคไตเรื้อรัง, หัวใจล้มเหลว, การดื่มสุรามากเกิน, การใช้สารเสพติดบางชนิด เช่น โคเคนและเมทแอมเฟตามีน และระดับความเครียดเรื้อรัง
พยากรณ์โรคของ MI อาจแตกต่างกันได้มากในผู้ป่วยแต่ละคน ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของผู้ป่วย ตำแหน่งและขนาดของกล้ามเนื้อหัวใจที่ขาดเลือด และการรักษา ในสหรัฐอเมริกาช่วง ค.ศ. 2005-2008 มีการเก็บข้อมูลพบว่ามัธยฐานการเสียชีวิตที่ 30 วัน ของผู้ป่วย MI อยู่ที่ 16.6% (10.9-24.9) การนำค่าต่างๆ ที่ตรวจได้ในห้องฉุกเฉินมาประเมินจะทำให้สามารถแบ่งผู้ป่วยออกเป็นกลุ่มๆ ตามความเสี่ยงของการเกิดผลไม่พึงประสงค์หลังการรักษาได้ งานวิจัยชิ้นหนึ่งพบว่าผู้ป่วยชนิดความเสี่ยงต่ำ 0.4% เสียชีวิตที่ 90 วัน หลังได้รับการรักษา ในขณะที่ผู้ป่วยความเสี่ยงสูงเสียชีวิต 21.1%
โรคกล้ามเนื้อหัวใจ: ขยาย (จากสุรา) ? หนาตัวผิดปกติ ? ถูกจำกัด (เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบแบบโลฟเฟลอร์, โรคแอมีลอยด์ของหัวใจ, ไฟโบรอีลาสโตซิสของเยื่อบุหัวใจ)