หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรียกโดยย่อว่า หอประชุมจุฬาฯ เป็นหอประชุมใหญ่ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีความเป็นมาคู่กับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมาอย่างยาวนาน อีกทั้งยังมีเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์เกิดขึ้นที่อาคารแห่งนี้หลายเหตุการณ์ หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งอยู่ภายในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร
หอประชุมจุฬาฯ เป็นสิ่งปลูกสร้างที่เป็นองค์ประกอบสำคัญของภูมิทัศน์ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำให้เกิดการปรับภูมิทัศน์โดยรอบ เช่น การขุดสระน้ำด้านหน้าประตูใหญ่ ตัดถนนรอบสนามรักบี้และสร้างลานพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระปิยมหาราชและสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2545 สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ได้มอบรางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่นให้แก่หอประชุมจุฬาฯ
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จพระราชดำเนินมาทรงดนตรีพระราชทานแก่นิสิตที่หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นแห่งแรกก่อนที่กิจกรรมนี้จะมีขึ้นในอีกหลายมหาวิทยาลัยในเวลาต่อมา เป็นที่มาของวันทรงดนตรี
หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นสัญลักษณ์ที่โดดเด่นคู่มหาวิทยาลัยมาตั้งแต่ก่อสร้างแล้วเสร็จ ในปี พ.ศ. 2482 นิสิตและบุคลากรของจุฬาฯ ล้วนผูกพันและมีโอกาส ได้เข้าร่วมพิธีกรรมและกิจกรรมอันหลากหลายที่อาคารหลังนี้ นับตั้งแต่กิจกรรมแรกของการเป็นนิสิต คือพิธีปฐมนิเทศนิสิตใหม่ พิธีปฐมนิเทศนิสิตหอพักของหอพักนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พิธีไหว้ครู เปิดเทศกาลงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ–ธรรมศาสตร์ จนกระทั่งเมื่อสำเร็จการศึกษา อาคารหลังนี้ก็เป็นสถานที่ประกอบพิธีพระราชทานปริญญาบัตร นอกจากนี้ยังใช้เป็นที่จัดกิจกรรมทางศิลปวัฒนธรรมในวาระสำคัญต่าง ๆ ทั้งในระดับมหาวิทยาลัยและระดับชาติ
หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งอยู่ด้านหลังพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระปิยมหาราชและสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า(พระบรมราชานุสาวรีย์สองรัชกาล) ด้านหน้าของหมู่อาคารเทวาลัย หรืออาคารมหาจุฬาลงกรณ์และอาคารมหาชิราวุธ ใจกลางพื้นที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยฝั่งตะวันออกของถนนพญาไท ทำให้ที่ตั้งของอาคารหอประชุมอยู่ในแขวงปทุมวันไม่ใช่แขวงวังใหม่ซึ่งเป็นที่ตั้งอย่างเป็นทางการของมหาวิทยาลัย
มีลักษณะเป็นอาคารสถาปัตยกรรมไทย ที่ตัวอาคารมีลักษณะคล้ายกับอุโบสถวัดราชาธิวาสราชวรวิหาร ที่สมเด็จฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงออกแบบ กล่าวคือมีการดัดแปลงศิลปะขอมผสมผสานกับศิลปะไทยและใช้หลังคากระเบื้องเคลือบสีเช่นเดียวกับที่พบในอุโบสถวัด ผังเป็นรูปสี่เหลี่ยม เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก มีผนังก่ออิฐ ภายในอาคารเป็นโถงชั้นเดียว ด้านหน้ายกพื้นเป็นเวที มีอัฒจันทร์อยู่ด้านหลังและด้านข้างทั้งสองด้าน ส่วนด้านตะวันตกทำเป็นมุขซ้อน ชั้นล่างเป็นห้องรับรอง ชั้นบนเป็นห้องประชุม มีบันไดขึ้น-ลง ทั้งภายในและภายนอก 4 บันได ภายในหอประชุมมีพระบรมสาทิสลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระผู้พระราชทานกำเนิดและพระผู้สถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นภาพเขียนด้วยสีน้ำมันประดิษฐานอยู่
หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสร้างขึ้นในสมัยจอมพลแปลก พิบูลสงคราม ดำรงตำแหน่งอธิการบดี ซึ่งมีดำริให้สร้างหอประชุมขึ้นภายในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อให้เป็นสถานที่สำหรับพระมหากษัตริย์เสด็จพระราชดำเนินมาพระราชทานปริญญาบัตร ทรงดนตรี และงานสำคัญของมหาวิทยาลัย เช่น การรับแขกบ้านแขกเมือง การประชุมสัมนาต่างๆ การแสดงละครของนิสิต ฯลฯ เริ่มสร้างขึ้นเมื่อวันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2481 โดยมีพระสาโรชรัตนนิมมานก์เป็นสถาปนิกออกแบบก่อสร้างอาคาร และพระพรหมพิจิตรเป็นผู้ออกแบบลายกนก อาคารหลังนี้แล้วเสร็จลงในวันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2482 และเปิดใช้ในวันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2482 สองปีต่อมา (พ.ศ. 2484) มหาวิทยาลัยต้องทำการซ่อมแซมหอประชุม เนื่องจากหลังคาของอาคารรั่วและพื้นหอประชุมมีน้ำซึม สร้างความเสียหายถึงเพดานและดวงโคมภายในอาคาร จนกระทั่งใน พ.ศ. 2527 มหาวิทยาลัยจึงดำเนินการบูรณะและปรับปรุงหอประชุมครั้งใหญ่ โดยปรับปรุงอาคารนี้อยู่ภายใต้ความดูแลของ รองศาสตราจารย์ ดร.ภิญโญ สุวรรณคีรี ศิลปินแห่งชาติ ด้านสถาปัตยกรรมไทย ร่วมกับคณะกรรมการอีกหลายท่าน เป็นการตกแต่งภายในใหม่ทั้งหมด พร้อมติดตั้งระบบปรับอากาศ ระบบแสง-เสียงให้มีคุณภาพดี ปรับขนาดเวทีให้ใหญ่ขึ้นและได้ประดิษฐานพระบรมสาทิสลักษณ์สีน้ำมันของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว บนผนังทั้งสองข้างของเวทีอีกด้วย
ในปี พ.ศ. 2557 เป็นการบูรณะและปรับปรุงหอประชุมครั้งใหญ่ครั้งที่สอง โดยมหาวิทยาลัยได้มอบหมายให้คณาจารย์จากคณะวิศวกรรมศาสตร์และคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ดำเนินการสำรวจความเสียหายและออกแบบเพื่อปรับปรุงอาคารหอประชุม เช่น การเสริมเสาเข็มรองรับพื้นเพื่อแก้ปัญหาการทรุดตัว ปรับปรุงระบบแสง-เสียงและการสื่อสาร เปลี่ยนและติดตั้งระบบปรับอากาศภายในใหม่ เพิ่มเติมโถงระเบียงทั้งสองข้างโดยยกระดับพื้นและผนังกระจก เปลี่ยนเก้าอี้ทั้งหมด ติดตั้งลิฟต์และปรับปรุงภูมิทัศน์โดยรอบหอประชุม เพื่อเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 100 ปี แห่งการสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
วันทรงดนตรีเกิดจากพระมหากรุณาธิคุณที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานแก่คณาจารย์และนิสิตจุฬาฯที่ได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเข้าเฝ้าฯ เพื่อถวายพระพรแด่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารีที่ประสูติเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2500 พระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้นิสิตจุฬาฯเข้าเฝ้าฯเมื่อวันที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2500 ณ เวทีลีลาศสวนอัมพร ต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้รับสั่งกับนายสันทัด ตัณฑนันทน์ หัวหน้าวงดนตรีสากล สโมสรนิสิตจุฬาฯ สมัยนั้นว่าจะนำวงลายครามมาบรรเลงที่จุฬาฯ งานวันทรงดนตรี ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงเริ่มขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2501 ที่หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ นอกจากจะทรงดนตรีแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังได้พระราชทานข้อคิดแก่นิสิตจุฬาฯ และพระราชทานความเป็นกันเอง สร้างบรรยากาศอันอบอุ่น สนุกสนานและประทับใจเป็นอย่างยิ่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯมาทรงดนตรีที่จุฬาฯ ระหว่างปี พ.ศ. 2501 – พ.ศ. 2516 เนื่องจากทรงมี พระราชภารกิจเพิ่มขึ้นจึงไม่ได้เสด็จฯมาทรงดนตรีที่มหาวิทยาลัยอีก
กำหนดการของพิธีพระราชทานปริญญาบัตรในปีนั้นมีว่า ในวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2493 เวลา 14.00 น. พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จเข้าสู่หอประชุม ทรงจุดเทียนชนวนที่แท่นบูชา พลโทมังกร พรหมโยธี นายกสภามหาวิทยาลัยถวายรายงานเกี่ยวกับมหาวิทยาลัย หลังจากนั้นจึงทูลเกล้าฯ ถวายปริญญารัฐศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ถือเป็นปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ใบแรกที่ทูลเกล้าถวายในรัชสมัยของพระองค์
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสร้างพระเกี้ยวองค์จำลองจากพระเกี้ยวองค์จริงที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเป็นพิจิตรเลขา (สัญลักษณ์ประจำรัชกาล) ประจำพระองค์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจิมและทรงพระสุหร่ายพระเกี้ยวก่อนพระราชทานแก่มหาวิทยาลัยต่อหน้าประชาคมจุฬาฯ ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรประจำปีการศึกษา 2531 เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2532 ณ หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล เสด็จฯ มาพระราชทานปริญญาบัตรเมื่อวันที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2489 ณ หอประชุมจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย นับเป็นการพระราชทานปริญญาบัตรที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยครั้งแรกและครั้งเดียวของรัชกาลนี้
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงได้รับปริญญาอักษรศาสตรบัณฑิต เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง เหรียญทอง หลังพระองค์ทรงสำเร็จการศึกษาจากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2520 ณ หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
นายบิล คลินตัน ประธานาธิบดีสหรัฐ พร้อมด้วยนางฮิลลารี คลินตัน ภริยา เดินทางมายังจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539 เพื่อเข้าร่วมพิธีมอบปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์แด่นายบิล คลินตัน ณ หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
นายลินดอน บี. จอห์นสัน ประธานาธิบดีสหรัฐ เดินทางมายังจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยพร้อมด้วยเลดี เบิร์ด จอห์นสัน ภริยา เดินทางมายังจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2510 เพื่อเข้าร่วมพิธีมอบปริญญารัฐศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์แด่นายลินดอน บี. จอห์นสัน ณ หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเคยได้รับเลือกจากชมรมส่งเสริมโทรทัศน์ ให้เป็นสถานที่จัดงานประกาศผลรางวัลโทรทัศน์ทองคำครั้งแรก และได้รับเลือกอีก 5 ครั้ง ในหลายปีถัดมา
ใช้ถนนพญาไทและถนนอังรีดูนังต์มายังจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยถนนพญาไทจะเข้าประตูใหญ่ด้านหน้าบริเวณสระน้ำได้สะดวกที่สุด หากใช้ถนนถนนอังรีดูนังต์สามารถเข้าประตูบริเวณคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ โดยจะสังเกตอาคารสถาปัตยกรรมไทย
เนื่องจากหอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอยู่ในพื้นที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ที่จะเดินทางมาจึงสามารถใช้รถประจำทางสายที่ผ่านจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้
อ่านบทความฉบับสมบูรณ์ได้ที่ http://th.wikipedia.org/wiki/หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย