หม่อมยิ่ง (พระยศเดิม: พระเจ้าพี่นางเธอ พระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์ อรรคราชสุดา; 21 มกราคม พ.ศ. 2395 — 2 กันยายน พ.ศ. 2429) พระราชธิดาองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อันประสูติแต่เจ้าจอมมารดาแพ
ต่อมาพระองค์ได้ถูกลดพระอิสริยยศเป็น หม่อมยิ่ง หลังมีเรื่องอื้อฉาวเนื่องจากทรงตั้งครรภ์กับอดีตพระภิกษุที่เคยเข้ามาเทศนาในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ภายหลังพระองค์ได้จำสนม (คุกฝ่ายใน) จนกระทั่งสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2429
หม่อมยิ่ง หรือ พระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์ อรรคราชสุดา ประสูติเมื่อวันพุธที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2395 เป็นพระราชธิดาพระองค์ที่สามในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาแพ (สกุลเดิม ธรรมสโรช) ชาววังออกพระนามว่า เสด็จพระองค์ใหญ่ หรือ เสด็จพระองค์ใหญ่ยิ่ง มีพระอนุชาและพระขนิษฐาร่วมมารดา ได้แก่ พระองค์เจ้าพักตร์พิมลพรรณ, พระองค์เจ้าเกษมสันต์โสภาคย์, พระองค์เจ้ามนุษยนาคมานพ และพระองค์เจ้าบัญจบเบญจมา
พระองค์เป็นพระราชธิดาพระองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ได้รับพระราชทานสร้อยพระนามว่า "อรรคราชสุดา" ซึ่งมีพระราชธิดาเพียง 3 พระองค์ใหญ่เท่านั้นที่ได้รับพระราชทานสร้อยพระองค์ โดยอีก 2 พระองค์ ได้แก่ พระองค์เจ้าทักษิณชา นราธิราชบุตรีในเจ้าจอมมารดาจันทร์ และพระองค์เจ้าโสมาวดี ศรีรัตนราชธิดาในเจ้าจอมมารดาเที่ยง นอกจากนี้พระนามของทั้งสามพระองค์ยังสอดคล้องกันโดยเรียงตามพระชนมายุ ได้แก่ พระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์, พระองค์เจ้าทักษิณชา และพระองค์เจ้าโสมาวดี ซึ่งถือเป็นกลุ่มพระราชธิดาที่ใกล้ชิดสนิทสนมกับพระราชบิดามากกว่าพระราชธิดาพระองค์อื่น
เมื่อมีพระชันษาราว 5-7 ปี พระองค์ได้ประสบอุบัติเหตุขณะโดยเสด็จพระราชบิดา พร้อมกับพระพี่น้อง อีก 3 พระองค์คือ พระองค์เจ้าทักษิณชา, พระองค์เจ้าโสมาวดี และสมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ ขณะประทับบนรถม้าพระที่นั่งเพื่อทอดพระเนตรความเรียบร้อยบริเวณใกล้พระบรมมหาราชวัง แต่เมื่อรถม้าพระที่นั่งเข้ามาตามถนนด้านประตูวิเศษไชยศรีใกล้ทางเลี้ยวไปยังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ม้าได้ตื่นเสียงแตรเสียงกลอง ทำให้รั้งไม่อยู่ สายบังเหียนขาดไปข้างหนึ่งรถพระที่นั่งจึงเสียการทรงตัวแล้วพลิกคว่ำลง จากอุปัทวเหตุดังกล่าวพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระเจ้าลูกเธอทั้งสี่ได้รับบาดเจ็บทุกพระองค์ ดังปรากฏดังนี้
“...ชายจุฬาลงกรณ์ศีรษะแตกสามแห่งแต่น้อย บางแห่งฟกบวมบ้าง ยิ่งเยาวลักษณ์เท้าเคล็ดห้อยยืนในเวลานี้ไม่ได้ ขัดยอกที่สันหลังด้วย แต่มีแผลเล็กน้อย โสมาวดีก็เป็นแผลบ้าง หลังบวมแห่งหนึ่ง... แต่ทักษิณชาป่วยมากจะเป็นอะไรทับก็สังเกตไม่ได้ หลังเท้าขวาฉีกยับเยินโลหิตตกมากทีเดียว...”
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระราชธิดาได้ทรงศึกษาเล่าเรียนวิชาการสมัยใหม่และภาษาอังกฤษ ทรงเปิดโอกาสให้พระราชบุตรทั้งหลายคบหาสมาคมกับชาวต่างประเทศทั้งหญิงชาย
โดยเฉพาะเหล่าราชธิดารุ่นใหญ่ คือ พระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์, พระองค์เจ้าทักษิณชา และพระองค์เจ้าโสมาวดี มักทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้โดยเสด็จพระราชดำเนินออกสมาคมเช่นการต้อนรับแขกเมือง ดังที่เซอร์แฮรี ออด ผู้สำเร็จราชการมลายูของอังกฤษประจำเมืองสิงคโปร์ซึ่งมีโอกาสเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรสุริยุปราคาที่ตำบลหว้ากอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมื่อ พ.ศ. 2411 โดยเขาได้บันทึกเกี่ยวกับการออกสมาคมของราชธิดารุ่นใหญ่ ดังนี้
“...พระเจ้าลูกเธอพระองค์หญิง ๓ พระองค์ ที่มีพระชนมายุสูงกว่า [สมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์] ก็ทรงพระโฉมศุภลักษณ์ เสียแต่เสวยหมาก ถ้าไม่ย้อมพระทนต์ [ให้ดำ] ตามธรรมเนียมของชาวสยามแล้ว ต้องชมว่าเป็นสตรีที่ทรงกัลยาณีเลิศลักษณ์ทีเดียว พระกิริยามารยาทก็น่าชมและตรัสภาษาอังกฤษได้ทุกพระองค์ ขณะเมื่อท่านเจ้าเมือง [เซอร์แฮรี ออด] เข้าเฝ้าพระเจ้าแผ่นดินอยู่นั้น พระเจ้าลูกเธอทั้งพระองค์หญิงและพระองค์ชาย ได้ทรงต้อนรับพวกที่ไปกับท่านเจ้าเมืองที่ในท้องพระโรง ทรงแจกการ์ดและพระรูปถ่ายแก่พวกเหล่านั้น และทรงแสดงความหวังในที่พระเจ้าแผ่นดินจะได้เสด็จประพาสเมืองสิงคโปร์...”
พระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์มีข่าวอื้อฉาว เนื่องจากเมื่อครั้งยังเป็นดรุณีแรกรุ่นได้เสด็จไปฟังเทศน์ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระที่เทศน์ชื่อ พระภิกษุโต ปรากฏว่าพระองค์เจ้าหญิงพระองค์นี้และพระโตมีจิตปฏิพัทธ์เสน่หาต่อกัน ต่อมาพระโตได้สึกออกไป พระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์จึงได้จัดหาตึกให้ทิดโตพำนักอยู่แถวถนนเจริญกรุง ทิดโตได้ปลอมตัวเป็นหญิงและลอบปีนเข้าหาพระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์ในพระที่นั่งศิวาลัยมหาปราสาท จนเกิดเรื่องอื้อฉาวเนื่องจากพระองค์เจ้าหญิงพระองค์นี้ทรงมีครรภ์ แรกเริ่มชาววังโจษกันว่าพระองค์หญิงประชวรด้วยโรคท้องมาน เล่ากันว่าเจ้าจอมมารดาเปี่ยมได้ขอให้พระองค์หญิงเปิดพระภูษาเพื่อดูพระนาภี เมื่อเจ้าจอมมารดาเปี่ยมเห็นเช่นนั้นจึงทูลว่า "ขอประทานโทษเถอะนะเพคะ มองดูแล้วเหมือนกับคนท้องไม่มีผิด" พระองค์หญิงก็ทรงตอบว่า "ก็ดูเถอะค่ะ โรคเวรโรคกรรมอะไรก็ไม่รู้"
ไม่นานหลังจากนั้นพระองค์ก็ประสูติพระโอรสในตำหนัก แล้วเอาเด็กใส่กระโถนปิดฝาเอาไว้ พอดีพระเจ้าน้องนางเธอพระองค์หนึ่งเสด็จมาเยี่ยม แต่ได้ทรงเปิดดูกระโถนก็ทรงเห็นเด็กแดง ๆ ความจึงแตก ดังปรากฏในจดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน ลงวันที่ 19 กุมภาพันธ์ จ.ศ. 1245 (พ.ศ. 2429) บันทึกไว้ว่า
เกิดเป็นที่เสื่อมเสียพระเกียรติยศ คือพระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์ซึ่งเดิมว่าเป็นโรคท้องมานนั้น ปวดครรภ์แลคลอดออกมาเป็นลูกชาย ที่เรือนภายในพระบรมมหาราชวัง สมเด็จกรมพระภาณุพันธุ กรมหมื่นนเรศร กรมหมื่นอดิศร กรมหลวงเทวะวงศ์ ได้จัดการที่จะชำระพิจารณาที่ได้เกิดขึ้นต่อไป แต่ลูกนั้นเอาออกไปไว้วังกรมหมื่นอดิศรอุดมเดช
เวลา ๑๐ ทุ่ม สมเด็จกรมพระภาณุพันธุ์วงศ์วรเดช กรมหลวงเทวะวงศ์ได้ออกไปเมืองเพชรบุรี นำความนี้ออกไปกราบบังคมทูลพระกรุณา
ส่วนการภายใน กรมหมื่นอดิศรได้สืบสาวชำระ ได้ตัวอีเผือกบ่าวพระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์ ซึ่งเป็นผู้ชักสื่อ แลอ้ายโตผู้ล่วงพระราชอาญามาถาม ได้ความว่ารักใคร่กันมา แลยังเป็นภิกษุอยู่ในวัดราชประดิษฐ์ จนอ้ายโตสึกมา พระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์ได้หาตึกให้อยู่ที่ถนนเจริญกรุง แล้วลอบปีนเข้าไปในพระที่นั่งศิวาลัยมหาปราสาท เข้าไปนอนอยู่กับพระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์ ๔ คราว คราวละ ๒ คืนบ้าง ได้มีเรื่องราวโดยพิสดาร
ไม่กี่วันต่อมาเมื่อความทราบถึงฝ่าละอองธุลีพระบาทพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแล้ว ได้เสด็จออกสั่งเรื่องความผิดในวังคราวนี้ ดังปรากฏในจดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน ตรงกับวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2429 ความว่า
“๔ ทุ่มเศษ เสด็จออกทรงสั่งเรื่องคลอดลูก ว่าด้วยพระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์ประพฤติการชั่วอย่างอุกฤษฎ์ อย่างนี้เป็นมหันตโทษ ควรริบราชบาตรเป็นหลวง ถอดจากยศบรรดาศักดิ์ลงพระราชอาญา ๙๐ ที ประหารชีวิต แต่ทรงพระมหากรุณาอยู่ จึงโปรดเกล้าฯ ให้ริบราชบาตรสวิญญาณกทรัพย์อวิญญาณกทรัพย์เป็นของหลวง สำหรับจ่ายซ่อมแปลงพระอารามแลสิ่งที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าทรงสร้างไว้ แลให้ยกโทษเฆี่ยน ๙๐ ประหารชีวิต ให้ออกจากยศบรรดาศักดิ์ลงเป็นหม่อม เอาท้ายชื่อคือเยาวลักษณ์อรรควรสุดาออกเสีย เรียกแต่หม่อมยิ่งคำเดียว...”
อย่างไรก็ตามพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็มีพระกรุณาด้วยทรงเห็นว่าเป็นเชื้อพระวงศ์ฝ่ายใน ประกอบกับก่อนหน้านี้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเคยมีพระราชกระแสเมื่อครั้งยังดำรงพระอิสริยยศเป็น กรมขุนพินิตประชานาถ ความว่า "...ถ้าเจ้าได้เป็นใหญ่ในแผ่นดิน ในกระบวนพี่น้องทั้งหมด จะมีพระองค์หญิงหนึ่งองค์ และพระองค์ชายอีกหนึ่งองค์ ทรงกระทำความผิดเป็นมหันตโทษ ขอให้ไว้ชีวิตพระองค์เจ้าพี่น้องทั้งสองพระองค์ด้วย..." ดังนั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระราชทานอภัยโทษเฆี่ยน 90 ที (3 ยก) กับโทษประหารเสียด้วย แต่โปรดเกล้าให้ริบราชบาตรสวิญญาณกทรัพย์, อวิญญาณกทรัพย์ เข้าเป็นของหลวงสำหรับซ่อมแซมพระอารามและสิ่งก่อสร้างที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างไว้ ทั้งถอดยศพระองค์เจ้าให้เป็นหม่อมเรียกอย่างสามัญชน และให้จำสนม (คุกฝ่ายใน) นอกจากนั้นให้ทำตามลูกขุนผู้พิจารณาปรับโทษ ดังปรากฏในจดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน ตรงกับวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2429 มีข้อความตอนหนึ่งว่า
"เวลาบ่าย ๔ โมงเศษ เสด็จออกรับสั่งเรื่องหม่อมยิ่ง ซึ่งลูกขุนปรึกษาวางบทลงโทษ หม่อมยิ่ง อ้ายโต อีเผือก ผู้ล่วงพระราชอาญามีความผิดเป็นมหันตโทษ ให้ริบราชบาตรสวิญญาณกทรัพย์อวิญญาณกทรัพย์เป็นของหลวง ให้ลงพระอาญา ๓ ยก ๙๐ ที เอาตัวไปประหารชีวิตอย่าให้ผู้ใดดูเยี่ยงอย่างนั้น หม่อมยิ่งแลอีเผือกผู้ชักสื่อ ให้งดโทษประหารชีวิต นอกนั้นให้ทำตามลูกขุนปรับแล้วเสด็จขึ้น"
ส่วนทิดโต กล่าวกันว่าทิดโตพูดจาโอหังมาก จึงถูกตบด้วยกะลาทั้งขนซึ่งถือเป็นการลงโทษที่รุนแรงมาก และสุดท้ายก็ต้องรับโทษตามกฎมณเฑียรบาลทุกประการ โดยตัดศีรษะที่วัดพลับพลาไชย (ปัจจุบันคือบริเวณข้างธนาคารกรุงเทพจำกัด สาขาพลับพลาไชย)
หม่อมยิ่งถูกจำสนมจนกระทั่งเสียชีวิตในช่วงปี พ.ศ. 2429 (บ้างว่าสิ้นชีพในโทษปีกุน พ.ศ. 2430) ก่อนการเสียชีวิตของหม่อมยิ่ง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวยังทรงมีความหม่นหมองในพระราชหฤทัยแม้เหตุการณ์จะผ่านมาแล้วก็ตาม มีพระราชหัตถเลขาถึงสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ที่ทรงระบายความทุกข์เกี่ยวความบาดหมางกับวังหน้า และมีข้อความส่วนหนึ่งกล่าวถึงหม่อมยิ่ง ความว่า "...เห็นท่านพระองค์ใหญ่ยิ่งเยาวลักษณ์ครั้งนี้ก็โซม [โทรม] มากทีเดียว กลัวหม่อมฉันจะเป็นบ้าง แต่จะเพียงนั้นหรือจะยิ่งกว่าก็ไม่ทราบ..." อันแสดงให้เห็นถึงความทุกข์ร้อนตรอมพระทัยของหม่อมยิ่ง รวมทั้งความไม่สบายพระราชหฤทัยของพระเจ้าแผ่นดินจากเหตุการณ์ครั้งนั้น
หลังจากกรณีอันอื้อฉาวของหม่อมยิ่งเป็นต้นมานั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงออกกฎมณเฑียรบาลใหม่เพิ่มขึ้นอีก 2 ข้อ เพื่อมิให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวซ้ำรอยขึ้นอีก คือ พระที่จะมาเทศน์ที่วัดพระแก้วได้ต้องเป็นพระธรรมกถึก ที่มีอายุเกิน 45 ปี และเจ้านายฝ่ายในที่ได้รับพระบรมราชานุญาตให้ออกมาฟังเทศน์ที่วัดพระแก้วได้ ต้องเป็นสตรีสูงอายุที่มีอายุมากกว่า 40 ดังปรากฏข้อความในพระราชบัญญัติเกี่ยวกับพระภิกษุสงฆ์และพระราชสำนักฝ่ายใน ความว่า
"ห้ามมิให้พระภิกษุสงฆ์ที่มีพรรษาต่ำกว่ายี่สิบ [หมายถึงบวชไม่ถึง 20 ปี] ห้ามมิให้เข้าในพระบรมมหาราชวังชั้นใน ส่วนฝ่ายหญิงอุบาสิกาผู้ใฝ่พระธรรมเพียงไรก็ตาม ถ้าอายุต่ำกว่า ๔๐ ปีแล้วไซร้ ห้ามมิให้ออกมาฟังเทศน์ ถือุโบสถศีลที่วัดพระศรีรัตนศาสดารามเป็นอันขาด ประกาศมา ณ วันศุกร์ เดือน ๓ แรม ๑๑ ค่ำ ปีจอ อัฐศก ศักราช ๑๒๔๘ อันเป็นวันที่ ๖๖๔๔ ในรัชกาลปัจจุบัน"