สี่แผ่นดิน เป็นนวนิยายของหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช มีเนื้อหาอิงประวัติศาสตร์ไทยในช่วงรัชกาลที่ 5 ถึงรัชกาลที่ 8 (ที่มาของคำว่า "สี่แผ่นดิน") นับเป็นนวนิยายที่มีชื่อเสียงมากที่สุดเล่มหนึ่งของไทย[ต้องการอ้างอิง] เป็นเรื่องราวของพลอย โดยเขียนทีละตอนลงหนังสือพิมพ์สยามรัฐ
หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมชให้สัมภาษณ์กองบรรณาธิการนิตยสารถนนหนังสือ ฉบับวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2528 ว่า "แม่พลอยเป็นคนที่ไม่มีสิทธิของผู้หญิงเลย ไม่เคยเรียก ไม่เคยร้อง แล้วแม่พลอยนี่เป็นคนที่เชยที่สุด คุณจะว่านางเอกก็นางเอก แต่เป็นคนเชยที่สุด แม่พลอยถ้าแกอยู่มาจนถึงทุกวันนี้ แกก็ลูกเสือชาวบ้าน แกจะไปรำละครบ้าๆ บอๆ ถึงขนาดนั้น" และ "ที่นี่คนอ่านคนไทย ปลื้มอกปลื้มใจ เห็นแม่พลอยเป็นคนประเสริฐเลิศลอย ก็เพราะคนไทยก็เป็นคนแบบนั้น ยังไม่ได้ไปถึงไหนเลย คนอ่านส่วนมากก็เป็นระดับแม่พลอย โง่ฉิบหายเลย จะบอกให้ สี่แผ่นดินถึงได้ดัง"
พลอยเกิดในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว บิดาของ พลอย ชื่อ พระยาพิพิธ ฯ มารดา ชื่อ แช่ม เป็นเอกภรรยาของพระยาพิพิธ ฯ แต่ไม่ใช่ฐานะคุณหญิง เพราะคุณหญิงท่าน ชื่อ เอื้อม เป็นคนอัมพวา ได้กลับไปอยู่บ้านเดิมของท่านเสียตั้งแต่ก่อนพลอยเกิด เหลืออยู่แต่บุตรของคุณหญิง 3 คน อยู่ในบ้าน คือ คุณอุ่น พี่สาวใหญ่ อายุ 19 ปี คุณชิดพี่ชายคนรอง อายุ 16ปี คุณเชย พี่สาวคนเล็กแต่แก่กว่าพลอย 2 ปี พลอยมีพี่ชายร่วมมารดาหนึ่งคน ชื่อ เพิ่ม อายุ 12 ปี และมีน้องสาวคนละมารดาซึ่งเกิดจากแวว ภรรยาคนรองจาก แม่แช่ม ชื่อ หวาน อายุ 8 ปี ในบรรดาพี่น้องร่วมบิดา พลอยจะคุ้นเคยกับคุณเชยเป็นพิเศษ เพราะอายุรุ่นราวคราวเดียวกัน ส่วนคุณอุ่นพี่สาวใหญ่นั้น พลอยเห็นว่าเป็นผู้ที่น่าเกรงขาม เพราะเธออยู่บนตึกร่วมกับเจ้าคุณพ่อ ซึ่งเจ้าคุณพ่อก็ไว้วางใจว่าเป็นลูกสาวใหญ่ จึงให้ถือกุญแจแต่ผู้เดียว และจัดการกับการจับจ่ายใช้สอยทุกอย่างภายในบ้าน ส่วนคุณชิดและพ่อเพิ่ม พลอยเกือบจะไม่รู้จักเสียเลยเพราะคุณชิดไม่ค่อยอยู่บ้าน และพ่อเพิ่มนั้นดูจะสวามิภักดิ์คุณชิดมากกว่าพี่น้องคนอื่น ซึ่งพ่อเพิ่มต้องแอบไปมาหาสู่มิให้แม่แช่มเห็นเพราะถ้าแม่แช่มรู้ทีไรเป็นเฆี่ยนทุกที ส่วนหวานน้องคนละแม่ยังเด็กเกินไปที่พลอยจะให้ความสนใจเจ้าคุณพ่อได้ปลูกเรือนหลังหนึ่งให้แม่แช่มกับลูก ๆ อยู่ใกล้กับตัวตึกในบริเวณบ้าน มีบ่าวซึ่งแม่แช่มช่วยมาไว้ใช้ทำงานบ้านต่าง ๆ ชื่อ นางพิศ
ตั้งแต่พลอยจำความได้จนถึงอายุ 10 ขวบ พลอยมีความรู้สึกว่า แม่และคุณอุ่นมีเรื่องตึง ๆ กันอยู่เสมอ ซึ่งก่อนที่แม่พลอยจะออกจากบ้าน พลอยสังเกตเห็นว่ามีความตึงเครียดระหว่างแม่และคุณอุ่นมากกว่าปกติ จนกระทั่งคืนหนึ่งแม่ได้เข้ามาปลุกพลอยแล้วบอกว่าจะเอาพลอยไปถวายตัวกับเสด็จ ส่วนพ่อเพิ่มเจ้าคุณพ่อไม่ยอมให้เอาไป คืนนั้นแม่เก็บของอยู่กับนางพิศทั้งคืน พอรุ่งสางแม่ให้นางพิศขนของไปไว้ที่ศาลาท่าน้ำ และให้พลอยไปกราบลาเจ้าคุณพ่อ เมื่อพลอยลาเจ้าคุณพ่อเสร็จแล้วก็เดินมาที่ศาลาท่าน้ำ เพื่อลงเรือโดยมีพ่อเพิ่มนั่งร้องไห้อยู่ที่ศาลาท่าน้ำ พอเรือแล่นออกไป พลอยก็รู้สึกตื่นตาตื่นใจกับสิ่งต่าง ๆ ที่เห็น จนกระทั่งมาถึงที่ท่าพระ แม่แช่มก็พาพลอยขึ้นจากเรือแล้วเดินเลาะกำแพงวังไปสักครู่หนึ่งก็เลี้ยวเข้าประตูชั้นนอก พลอยนั้นตื่นตาตื่นใจยิ่งขึ้น เพราะภายในบริเวณวังนั้นเต็มไปด้วยตึกใหญ่โตมหึมา ผู้คนยักเยียดเบียดเสียดกันตลอด แล้วเดินเลาะกำแพงวังไปจนของที่วางขายก็มีมากมาย พอมาถึงกำแพงสูงทึบอีกชั้นหนึ่ง จะมีประตูบานใหญ่เปิดกว้างอยู่ คนที่เดินเข้าออกประตูล้วนเป็นผู้หญิงทั้งสิ้น แม่แช่มเดินข้ามธรณีประตูเข้าไปข้างในแล้ว แต่พลอยเดินข้ามธรณีประตูด้วยความพะว้าพะวัง จึงทำให้เท้าที่ก้าวออกไปยืนอยู่บนธรณีประตู พลอยตกใจมากวิ่งร้องไห้ไปหาแม่แช่ม แม่แช่มจึงพาพลอยไปกราบที่ธรณีประตูเสียก็หมดเรื่องพลอยได้รู้มาทีหลังว่า หญิงที่ทำหน้าที่เฝ้าประตูวังและดูแลความสงบเรียบร้อยในวังนั้น ชาววังทั่วไปเรียกกันว่า "โขลน"
แม่แช่มพาพลอยเดินไปเรื่อย ๆ ผ่านที่ต่าง ๆ มากมาย ในที่สุดก็มาถึงตำหนักของเสด็จ แม่จะพาพลอยไปหาคุณสายก่อน ซึ่งเป็นข้าหลวงก้นตำหนักของเสด็จคุณสายเป็นข้าหลวงตั้งแต่เสด็จท่านยังทรงพระเยาว์ เสด็จจึงมอบให้คุณสายช่วยดูแลกิจการส่วนพระองค์ทุกอย่าง และดูแลว่ากล่าวข้าหลวงทุกคนในตำหนัก เมื่อพลอยได้พบกับคุณสายแล้ว พลอยก็รู้สึกว่าคุณสายเป็นคนใจดีมาก ไม่ถือตัวว่าเป็นคนโปรดของเสด็จ และยังคอยช่วยเหลือข้าหลวงตำหนักเดียวกันเสมอ คุณสายหาข้าวหาปลาให้แม่แช่มกับพลอยกิน แล้วคุณสายก็จัดการเย็บกระทงดอกไม้เพื่อให้พลอยนำไปถวายตัวกับเสด็จ เมื่อพลอยถวายตัวกับเสด็จเสร็จแล้ว คุณสายก็แนะนำให้พลอยรู้จักกับช้อย ซึ่งเป็นหลานของคุณสาย ช้อยอายุรุ่นราวคราวเดียวกันกับพลอย ช้อยเป็นลูกของพี่ชายของคุณสาย ชื่อ นพ มียศเป็นคุณหลวง แม่ของช้อย ชื่อ ชั้น ช้อยมีพี่ชายอยู่หนึ่งคน ชื่อ เนื่อง ช้อยนั้นเป็นเด็กที่ซุกซนและมีเพื่อนฝูงมาก พลอยจึงเข้ากับช้อยได้ดีทีเดียว พลอยอยู่ในวังได้หลายวันแล้ว ก็ได้รับความรู้ใหม่ ๆ ได้เห็นของใหม่ ๆ อย่างไม่มีที่สิ้นสุด
คุณสายให้พลอยเรียนหนังสือพร้อมกับช้อย ชื่อ มูลบรรพกิจ และคุณสายก็ได้สอนทำสิ่งต่าง ๆ ให้เสมอ เช่น การเจี่ยนหมากจีบพลูยาว ใส่เชี่ยนหมากเสวยของเสด็จ ตลอดจนดูแลเครื่องทรงต่าง ๆ ตอนกลางคืน คุณสายให้พลอยไปถวายงานพัดเสด็จตามปกติตอนกลางวันเป็นเวลาว่าง นอกจากคุณสายจะมีอะไรมาให้ทำเป็นพิเศษหรืออารมณ์ไม่ดี ซึ่งตอนกลางวันเป็นเวลาที่พลอยจะได้ติดตามช้อยออกไปเที่ยวนอกตำหนักไปหาเพื่อนฝูงหรือวิ่งเล่น ช้อยช่วยทำให้พลอยคลายเหงาและช่วยชักนำสิ่งที่น่าสนใจต่าง ๆ มาให้พบเห็นหรือได้รู้จักอยู่เสมอ ในที่สุดวันที่พลอยเฝ้าคอยด้วยความประหวั่นใจก็มาถึง เมื่อแม่แช่มจะออกจากวังและได้ทูลลาเสด็จแล้ว พลอยเสียใจอย่างมาก แต่เสด็จก็ทรงเมตตาพลอย ฝากให้คุณสายช่วยดูแลพลอย นอกจากนี้ยังมีช้อยที่คอยอยู่เป็นเพื่อนพลอย ทำให้พลอยรู้สึกดีขึ้น ในวันหนึ่งช้อยได้ชวนพลอยออกไปหาพ่อและพี่ชายของช้อย ซึ่งจะมาเยี่ยมทุกวันพระกลางเดือน ทำให้พลอยรู้สึกรักและผูกพันกับครอบครัวของช้อยไปโดยไม่รู้ตัว วันหนึ่งแม่แช่มได้มาเยี่ยมพลอยถึงในวังพร้อมกับของฝากมากมาย แม่บอกว่าแม่กำลังทำการค้าขายอยู่ที่ฉะเชิงเทรากับญาติห่าง ๆ ชื่อ ฉิม และต่อมาพลอย ก็รู้มาว่า แม่แช่มได้แต่งงานกับพ่อฉิมแล้ว ซึ่งแม่ก็ได้ตั้งท้องแล้ว คุณสายได้พาพลอยไปหาเจ้าคุณพ่อ เพื่อคุยเรื่องงานโกนจุกของพลอยที่เสด็จทรงเมตตาโกนจุกประทานให้ ซึ่งเจ้าคุณพ่อก็ไม่ได้ขัดข้องงานโกนจุกนั้นจะจัดขึ้นที่บ้านของช้อย และทั้งพลอยและช้อยก็ได้โกนจุกพร้อมกัน เจ้าคุณพ่อของพลอยก็มาร่วมงานนี้ด้วย งานโกนจุกนั้นผ่านไปได้ด้วยดี
เมื่อคุณสาย พลอย และช้อย กลับจากบ้านช้อยมาถึงตำหนักของเสด็จ เสด็จก็มีรับสั่งให้คุณสายขึ้นไปเฝ้าบนตำหนักทันที เสด็จจึงบอกเรื่องที่แม่แช่มตายแล้วที่ฉะเชิงเทรา และมอบภาระให้คุณสายเป็นผู้บอกพลอยให้ทราบ ห้าปีให้หลังจากวันที่แม่แช่มตาย พลอยก็ยังอยู่ที่ตำหนักของเสด็จ พลอยอายุได้ 15 ปีเศษแล้ว นับว่าเป็นสาวเต็มตัว และถ้าใครเห็นก็ต้องชมว่า สวยเกินที่คาดไว้ ส่วนช้อยเมื่อเป็นสาวแล้วก็ไม่ได้ทำให้นิสัยของช้อยเปลี่ยนไปได้เลย ช้อยยังคงเป็นคนสนุกสนานร่าเริง และมีความคิดเป็นของตนเองอย่างแต่ก่อน ซึ่งทั้งพลอยและช้อยได้สละความเป็นเด็กย่างเข้าสู่ความเป็นผู้ใหญ่อย่างสมบูรณ์
การที่พลอยสนิทสนมกับช้อย ทำให้พลอยนั้นสนิทกับครอบครัวของช้อยด้วย พี่เนื่องซึ่งเป็นพี่ชายของช้อยได้หลงรักพลอยเข้า จึงทำให้พี่เนื่องมักจะตามพ่อนพมาเยี่ยมช้อยกับพลอย เมื่อพี่เนื่องเรียนทหารจบ พี่เนื่องจึงเปิดเผยความรู้สึกที่มีกับพลอยทำให้พลอยเขินอายไม่กล้าที่จะเจอหน้าพี่เนื่องอีก พลอยหลบหน้าพี่เนื่องอยู่พักใหญ่ จนกระทั่งพี่เนื่องถูกส่งตัวไปรับราชการที่นครสวรรค์ ทำให้พลอยยอมออกมาพบพี่เนื่องเพื่อร่ำลา พลอยจึงเตรียมผ้าแพรเพลาะที่พลอยเคยห่มนอนให้พี่เนื่อง ซึ่งพี่เนื่องได้ให้สัญญากับพลอยว่าจะกลับมาแต่งงานกับพลอย
นอกจากครอบครัวของช้อยแล้ว ญาติของพลอยที่ยังติดต่อกับพลอยอยู่ก็คือพ่อเพิ่ม ซึ่งตอนนี้ได้รับราชการอยู่ที่กรมพระคลัง หอรัษฎากรพิพัฒน์ และคุณเชยซึ่งหลังจากที่พี่เนื่องไปนครสวรรค์ได้ไม่กี่วัน คุณเชยก็แวะมาเยี่ยมพลอยที่วัง ซึ่งขณะนั้นในพระบรมมหาราชวังก็จัดให้มีงานขึ้นที่สวนศิวาลัยพอดี ซึ่งงานนี้ได้จัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ เพราะพระเจ้าอยู่หัวเสด็จกลับจากประพาสยุโรป การจัดงานจึงเป็นไปตามแบบฝรั่ง พลอยจึงพาคุณเชยไปเที่ยวงานที่สวนศิวาลัย และในงานนี้เองทำให้พลอยได้พบกับ คุณเปรม ซึ่งคุณเปรมก็แอบมองพลอยตลอดเวลาจนทำให้พลอยรู้สึกไม่พอใจ หลังจากวันนั้นคุณเปรมก็ได้สืบเรื่องราวของพลอย จนรู้ว่าพลอยเป็นลูกสาวของพระยาพิพิธฯ มีพี่ชายก็คือ พ่อเพิ่ม
คุณเปรมได้ทำความรู้จักกับพ่อเพิ่มจนกลายเป็นเพื่อนกัน ซึ่งพ่อเพิ่มพยายามจะแนะนำคุณเปรมให้กับพลอย แต่พลอยปฏิเสธและไม่สนใจ จนกระทั่งวันหนึ่ง พลอยได้รับข่าวของพี่เนื่องมาว่า พี่เนื่องกำลังจะแต่งงานกับสมบุญ ลูกสาวแม่ค้าขายข้าวแกง พลอยรู้สึกเสียใจมาก แต่ก็สามารถทำใจได้ คุณเปรมได้พ่อเพิ่มช่วยเป็นพ่อสื่อให้ แต่พลอยก็ยังไม่สนใจคุณเปรม คุณเปรมจึงเข้าหาทางผู้ใหญ่ โดยให้พ่อเพิ่มพาไปเที่ยวที่บ้าน จึงได้พบกับพระยาพิพิธฯเจ้าคุณพ่อของพลอย และได้พูดคุยกันอย่างถูกคอ หลังจากนั้นไม่นานคุณอานุ้ยซึ่งเป็นญาติผู้ใหญ่ของคุณเปรมก็ได้มาทาบทามสู่ขอพลอยจากเจ้าคุณพ่อ ซึ่งท่านก็ไม่ได้ปฏิเสธคุณเปรม และนำเรื่องมาปรึกษากับคุณสายให้คุณสายไปทูลถามเสด็จ เสด็จก็ทรงอนุญาต แต่พลอยนั้นกลับปฏิเสธการแต่งงาน เพราะไม่รู้ว่าควรจะทำอย่างไรดี พลอยจึงนำเรื่องนี้ไปปรึกษาช้อย ซึ่งช้อยนั้นอยากให้พลอยแต่งงานตามที่ผู้ใหญ่ต้องการ เพราะช้อยเห็นว่าคุณเปรมนั้นรักพลอยจริง ๆ และอีกอย่างก็เพื่อให้พี่เนื่องรู้ว่า พลอยก็ไม่ใช่คนสิ้นไร้ไม้ตอกด้วยเหตุผลทั้งหมดนี้ จึงทำให้พลอยตัดสินใจยอมแต่งงานกับคุณเปรมตามที่ผู้ใหญ่ต้องการ
เมื่อพลอยแต่งงานกับคุณเปรมแล้ว ก็ได้ย้ายมาอยู่ที่บ้านคลองพ่อยมซึ่ง เป็นบ้านของคุณเปรม วันหนึ่งคุณเปรมพาพลอยไปพบกับตาอ้น ซึ่งเป็นลูกชายของคุณเปรมที่เกิดกับบ่าวในบ้านพลอยไม่ได้คิดโกรธคุณเปรมเลย และยังกลับนึกรักและเอ็นดูตาอ้น พลอยจึงขอคุณเปรมรับตาอ้นเป็นลูกของตน พลอยได้เลี้ยงดูตาอ้นเสมือนลูกของพลอยคนหนึ่ง หลังจากนั้นไม่นานพลอยก็ตั้งท้องตาอั้น ซึ่งเป็นผู้ชายและเป็นลูกคนแรกของพลอย แต่หลังจากพลอยคลอดตาอั้นได้ไม่นาน เจ้าคุณพ่อก็ตาย
เมื่อสิ้นเจ้าคุณพ่อแล้ว คุณเชยก็ทนอยู่กับคุณอุ่นที่บ้านคลองบางหลวงไม่ได้ จึงตัดสินใจหนีตามหลวงโอสถไป ทำให้พลอยรู้สึกไม่สบายใจเลย เพราะเป็นห่วงคุณเชยเมื่อเสร็จงานศพของเจ้าคุณพ่อแล้ว พลอยจึงพาตาอั้นเข้าวังเพื่อไปถวายตัวต่อเสด็จ และขอประทานชื่อ เสด็จนั้นทรงตั้งชื่อให้ตาอั้นว่า ประพันธ์ พลอยจึงตั้งชื่อให้ตาอ้นว่า ประพนธ์
พอตาอั้นอายุได้ขวบกว่า ๆ พลอยก็ตั้งท้องลูกคนที่สอง แต่ช่วงที่พลอยตั้งท้องลูกคนที่สองอยู่นั้น พระเจ้าอยู่หัวก็ประชวรและเสด็จสวรรคตในเวลาต่อมา
ห้าปีต่อมา เมื่อตาอ้นอายุได้ 7 ขวบ ตาอั้นอายุได้ 5 ขวบ และตาอ๊อดลูกชายคนที่สองของพลอยอายุได้ 3 ขวบ พลอยก็คลอดลูกคนที่สาม เป็นผู้หญิงและตั้งชื่อว่า ประไพ ในช่วงนั้นก็มีเหตุการสำคัญคือสงครามโลกครั้งที่ 1 แต่ตัวพลอยเองก็ไม่ได้รู้เรื่องอะไรมาก นอกจากที่ว่าเป็นเรื่อง “ฝรั่งรบกัน” ที่ทำให้ข้าวของแพง
หลังจากนั้นวันหนึ่ง คุณอุ่นซึ่งไม่ได้ติดต่อกันตั้งแต่พ่อของพลอยเสียก็มีขอความช่วยเหลือ พลอยจึงรับปากช่วยเหลืออีกทั้งเสนอให้คุณอุ่นย้ายมาอยู่ด้วยกันทำให้คุณอุ่นซึ้งในน้ำใจและความไม่อาฆาตพยาบาทของพลอยมากจนถึงกับร้องไห้
สองปีต่อมาคุณเปรมก็ส่งอั้นและอ๊อดไปเรียนนอก ส่วนอ้นอยากเรียนทหารจึงไปเรียนโรงเรียนทหาร จากนั้นพลอยก็ได้แต่นั่งคอยที่จะรับจดหมายจากลูก ๆ ในช่วงราชการใหม่นี้พลอยก็ได้สังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงหลาย ๆ อย่าง คุณเปรมนั้นแต่งตัวพิธีพิถันกว่าที่เคยในรัชกาลก่อน และมาวันหนึ่งก็ได้มาบอกให้พลอยไว้ผมยาว เพราะในหลวงท่านโปรด และต่อมาก็บอกให้แม่พลอยนุ่งผ้าซิ่นแทนผ้าโจงกระเบน ทำให้พลอยไม่กล้าออกจากบ้านอยู่นาน
จากนั้นไม่กี่ปี ตาอั้นก็เรียนจบ และกำลังจะกลับมาบ้าน ส่วนตาอ้นนั้นออกเป็นทหารต้องไปประจำหัวเมืองต่างจังหวัด แต่พลอยก็ต้องตกใจเมื่อตาอั้นกลับมาจริง ๆ พร้อมกันภรรยาแหม่มชื่อ ลูซิลล์
หลังจากรัชกาลที่ 6 เสด็จสวรรคต คุณเปรมก็ล้มป่วยอยู่หลายวัน และความสนใจต่อสิ่งต่าง ๆ ความกระหายที่เป็นแรงผลักดันของชีวิตก็ลดน้อยลง จนพลอยต้องเปลี่ยนมาเป็นฝ่ายชักชวนให้คุณเปรมสนใจสิ่งต่าง ๆ ผ่านไปไม่นาน ตาอ๊อดก็เรียนจบกลับมาเมืองไทย และไม่นานคุณเปรมก็ออกจากราชการ หลังจากนั้นก็เป็นคนหงุดหงิดง่าย สิ่งที่คุณเปรมพอจะสนใจอยู่อย่างเดียวก็คือการขี่ม้า และมาวันหนึ่งคุณเปรมก็ตกม้าและเสียชีวิตลง
ตั้งแต่ที่ตาอั้นกลับมาก็มีความคิดอย่างหนึ่งที่ทำให้แม่พลอยตกใจ ซึ่งก็คือความคิดเกี่ยวกับบ้านเมืองของตาอั้น ซึ่งก็คือความคิดเสรีนิยมและเกี่ยวกับการปกครองแบบประชาธิปไตยที่ได้ไปเรียนรู้ตอนไปเรียนเมืองนอก ในช่วงนั้นผู้คนก็ต่างพูดกันเรื่องเกี่ยวกับคำทำนายที่ว่าพระมหากษัตริย์จะสิ้นพระราชอำนาจ หลังจากนั้นไม่นาน ประเทศไทยก็ได้เปลี่ยนระบอบการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย
พอเปลี่ยนการปกครองได้สองเดือนเศษ ตาอ้นก็กลับมาเยี่ยมบ้าน และก็มีเรื่องให้พลอยกลุ้มใจ เพราะตาอ้นนั้นมีความเห็นตรงข้ามกับการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองอย่างรุนแรง และคิดว่าตาอั้นเป็นพวกกบฏ ไม่มีความจงรักภักดี จนถึงกับทำให้สองพี่น้องทะเลาะกันใหญ่โตและไม่คุยกัน จากนั้นไม่นาน ตาอ้นก็ไปรบร่วมกับฝ่ายที่ต่อต้านคณะราษฎร และถูกจับ เป็นนักโทษประหาร และรัชกาลที่ 7 ก็สละราชสมบัติ
ประไพหมั้นกับคุณเสวีซึ่งเป็นเพื่อนของตาอั้น และแต่งงานกัน หลังจากนั้นตาอ้นก็ถูกส่งตัวไปอยู่เกาะตะรุเตา ตาอ๊อดก็ถูกกดดันโดยพี่น้องทำให้ต้องออกไปทำงานรับราชการ แต่ก็ทำอยู่ได้ไม่นานแล้วก็ลาออก แล้วจึงตัดสินใจไปทำงานที่เหมืองกับเพื่อนที่ปักษ์ใต้
จากนั้นไม่นาน ก็เกิดสงครามโลกครั้งที่สอง แต่พลอยก็ยังไม่รู้สึกว่าเป็นเรื่องใกล้ตัว จนกระทั่งวันหนึ่งที่ทหารญี่ปุ่นเริ่มเข้ามาในเมืองไทย เมืองไทยจึงเจรจาและตกลงเป็นฝ่ายญี่ปุ่น
อยู่มาวันหนึ่ง รัฐบาลก็ได้ออกกฎให้ทุกคนใส่หมวกเวลาออกจากบ้าน และห้ามกินหมากพลู รวมทั้งให้เริ่มมีการกล่าวคำว่า “สวัสดี” เป็นคำทักทาย และใช้คำว่า “ฉัน ท่าน จ๊ะ จ๋า” เมื่อพูดกับคนอื่น โดยบอกว่าเป็นการมี “วัฒนธรรม” เพื่อให้ชาติเจริญ
ต่อมาไม่นาน พลอยก็ได้รู้ว่าตาอั้นได้หย่ากับลูซิลส์แล้วและกำลังไปมีเมียแล้วชื่อสมใจ และมีลูกสองคนคือแอ๊ดและแอ๊วโดยที่ไม่กล้าบอกแม่พลอยเพราะกลัวแม่จะไม่ถูกใจ แม่พลอยจึงดีใจและรีบไปรับหลานและลูกสะใภ้มาอยู่ที่บ้าน แต่พอมาอยู่บ้านก็อยู่อย่างสงบได้เพียงไม่นานก็เริ่มมีเครื่องบินมาทิ้งระเบิด ทำใหบ้านของแม่พลอยต้องขุดหลุมหลบภัยและต้องคอยระวังตื่นมากลางดึกและไปหลบในหลุมเมื่อได้ยินเสียงเครื่องบิน จนมาครั้งหนึ่งที่พลอยหลบอยู่ในหลุมและรู้สึกถึงความสั้นสะเทือนรุนแรงมาก เมื่อพอพลอยออกมาจากหลุมแล้วก็ได้เห็นว่าบ้านของพลอยเองได้โดนระเบิดเข้าเสียแล้ว จากนั้นพลอยจึงต้องย้ายไปอยู่ที่บ้านคลองบางหลวงซึ่งเป็นบ้านเกิด พอย้ายบ้านมาได้ไม่นานพลอยก็ได้ข่าวว่าตาอ๊อดเจ็บหนักด้วยโรคมาลาเรีย ตาอ้นที่เพิ่งได้รับการปล่อยตัวจึงไปอยู่ดูแลตาอ๊อดและยังไม่ได้กลับบ้าน จากนั้นไม่นานตาอ้นก็กลับมาบ้านพร้อมกลับข่าวร้ายว่าตาอ๊อดได้ตายเสียแล้ว อ้นจึงตัดสินใจบวชให้แก่อ๊อด
หลังจากนั้นพลอยก็เจ็บอยู่นานหลายเดือน จนกระทั่ง รัชกาลที่ 8 สวรรคตอย่างกะทันหัน เมื่อได้ทราบข่าวการสวรรคตพลอยก็สิ้นใจไปดุจใบไม้แก่ที่ร่วงโรยหลุดลอยไปกับสายน้ำในคลองบางหลวง ผู้เขียนได้ขมวดปมตรงท้ายว่าสี่แผ่นดินนั้นช่างเป็นเวลาที่ยาวนานเหลือเกินชีวิตพลอยได้ผ่านสิ่งต่าง ๆ มานานานัปการและมากพอแล้วที่จะลาจากโลกนี้ไปเพราะเครื่องยึดเหนี่ยวจิดใจคือองค์พระมหากษัตริย์ได้เสด็จสวรรคตไปอย่างกะทันหัน
นักวิจารณ์กล่าวว่า สี่แผ่นดิน สะท้อนประวัติศาสตร์ยุคใหม่ของไทยได้ดียิ่ง[ต้องการอ้างอิง] แม้จำกัดอยู่ในมุมมองที่แม่พลอยรับรู้ เนื่องด้วยเป็นคนในรั้วในวังและไม่มีบทบาททางการเมือง เรื่องราวจึงอยู่ในแวดวงกลุ่มชนชั้นนำในสมัยนั้น
วิจารณ์บุคลิกของตัวละคร ว่าตาอ๊อดนั้นเหมือน ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ผู้ประพันธ์ ส่วนตาอั้น ถอดแบบมาจากจากพี่ชายของผู้ประพันธ์คือ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช แม่พลอยตามเนื้อเรื่องมาจากก๊กฟากคะโน้น หมายถึงตระกูลบุนนาค หนึ่งในต้นตระกูลของผู้ประพันธ์ด้วย จึงนับได้ว่าแม่พลอย เป็นญาติข้างหนึ่งของผู้ประพันธ์ ซึ่งในบทโต้ตอบในหนังสือพิมพ์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ยอมรับข้อเท็จจริงดังกล่าว[ต้องการอ้างอิง]
ละครโทรทัศน์ครั้งแรกทาง ช่อง 4 บางขุนพรหม โดยมีสุพรรณ บูรณพิมพ์ เป็นผู้กำกับการแสดง นำแสดงโดย สุพรรณ บูรณพิมพ์ และ อาคม มกรานนท์ ร่วมด้วย สุธัญญา ศิลปเวทิน, ชูศรี มีสมมนต์, สุทิน บัณฑิตกุล, ทม วิศวชาติ, ศรินทิพย์ ศิริวรรณ, สุลาลีวัลย์ สุวรรณทัต, สาหัส บุญหลง, มนัส บุญยเกียรติ, วงษ์ ศรีสวัสดิ์, มาลี เวชประเสริฐ, ศรีนวล แก้วบัวสาย, จุฑารัตน์ จินรัตน์, สมควร กระจ่างศาสตร์, ประภาพรรณ นาคทอง
สี่แผ่นดินฉบับละครเวที (นักศึกษา) โดย ยุทธนา มุกดาสนิท นำแสดงโดย สุวัฒนา ชมบุญ รับบท แม่พลอย, สุพัตรา นาคะตะ รับบท แม่ช้อย, สวัสดิ์ มิตรานนท์ รับบท เพิ่ม, สมชาย อนงคณะตระกูล รับบท อั้น ฯลฯ เปิดการแสดงครั้งแรกเมื่อวันที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2516 ณ หอประชุมเล็ก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ชมจองบัตรล่วงหน้าเต็มทุกรอบ เป็นแถวยาวออกมานอกประตูมหาวิทยาลัยด้านท่าพระจันทร์ ประสบความสำเร็จอย่างสูงจนมีเสียงเรียกร้องให้กลับมาอีก
ครั้งที่สองทาง สถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 นำแสดงโดย พัชรา ชินพงสานนท์ และ ประพาศ ศกุนตนาค ร่วมด้วย สุมาลี ชาญภูมิดล และ รจิต ภิญโญวนิชย์ ออกอากาศทุกวันศุกร์ ช่วงหัวค่ำ สุพรรณ บูรณพิมพ์ นำมากำกับฯ อีกครั้ง
ครั้งที่ 3 ทาง สถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 สร้างโดยกนกวรรณ ด่านอุดม ในนามของคณะรัศมีดาวการละคร กำกับการแสดงโดย กัณฑรีย์ น. สิมะเสถียร นำแสดงโดย นันทวัน เมฆใหญ่ และ ภิญโญ ทองเจือ
ร่วมด้วย นันทพร อัมผลิน, นพพล โกมารชุน, อุทุมพร ศิลาพันธ์, วิฑูรย์ กรุณา, หทัยรัตน์ อมตะวณิชย์, ผดุงศรี โสภิตา, พิริยวัตร เพ็ชรกล้า, นัยนา คชแสง, ส. อาสนจินดา , สุมาลี ชาญภูมิดล, ศักดิ์ รอดริน, เศรษฐา ศิระฉายา, สมจิตต์ ทรัพย์สำรวย, มนัส บุญยเกียรติ, วิชา วัชระ, นภาพร หงสกุล, ชูศักดิ์ สุธีรธรรม, วุฒิ คงคาเขตร, จุรี โอศิริ, อำนวย ศิริจันทร์, ระจิต ภิญโญวนิช, พิไลพร เวชประเสริฐ, แอปเปิ้ล จินดานุช, น้อง อิศรางกูรฯ, สมคิด หงสกุล
ในปีเดียวกัน หนังสือพิมพ์บ้านเมืองได้จัดงานประกาศผลรางวัล “ทีวีตุ๊กตาทองมหาชน” ละครสี่แผ่นดินได้รับรางวัลทั้งสิ้น 3 รางวัล คือ ดารายอดนิยมฝ่ายชาย คือ นพพล โกมารชุน, นักแสดงรุ่นเยาว์ยอดนิยม ได้แก่ ด.ญ.พิไลพร เวชประเสริฐ (แม่พลอยวัยเด็ก) และรางวัลบทประพันธ์ยอดนิยม คือ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช
ครั้งที่ 4 ทางสถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 นำแสดงโดย จินตหรา สุขพัฒน์ นางเอกภาพยนตร์และละครอันดับหนึ่งของประเทศไทย คู่กับ ฉัตรชัย เปล่งพานิช ประสบความสำเร็จทั้งเรทติ้งและรางวัลมากที่สุด โดยเฉพาะจินตหรา ผู้ประพันธ์ได้กล่าวว่า "นี่ล่ะแม่พลอยของฉัน"
ร่วมด้วย เพ็ญพิสุทธิ์ คงสมุทร, ธิติมา สังขพิทักษ์, ธัญญา โสภณ, อานนท์ สุวรรณเครือ, ตฤณ เศรษฐโชค, สถาพร นาควิลัย, รอน บรรจงสร้าง, พลรัตน์ รอดรักษา, ตรีรัก รักการดี, พาเมล่า เบาว์เด้น, ศานติ สันติเวชชกุล, กษมา นิสสัยพันธ์, สมมาตร ไพรหิรัญ, สมภพ เบญจาธิกุล, นันทวัน เมฆใหญ่, พงษ์ลดา พิมลพรรณ, พิราวรรณ ประสพศาสตร์, รัตนาภรณ์ อินทรกำแหง, เฉลา ประสพศาสตร์, ทัศน์วรรณ เสนีย์วงศ์ ณ อยุธยา, สุเชาว์ พงษ์วิไล, ณัฐนี สิทธิสมาน, อรอุไร เทียนเงิน, ปริศนา กล่ำพินิจ, มนัส บุณยเกียรติ, เกศิณี วงษ์ภักดี, อารดา ศรีสร้อยแก้ว, จิระวดี อิศรางกูร ณ อยุธยา, ด.ญ. ชุมพิชา ชัยสรกานต์, ด.ญ. กัญญาลักษณ์ บำรุงรักษ์, ด.ญ. ปานิศา วิชุพงษ์, ด.ช. กิตติเทพ บุณยเกียรติ, อภิชาติ รัตนถาวร, ด.ช. ธนิสร อำไพรัตนพล, ด.ญ. วรพรรณ จิตตะเสนีย์, ด.ช. มนตรี เนติลักษณ์, ด.ช. พีรพันธุ์ สุขประยูร
ออกอากาศส่วนที่ 1 ทุกวันพุธ-พฤหัสบดี 20.50-21.50 น. 1 พฤษภาคม - 4 กรกฎาคม 2534 ส่วนที่ 2 ทุกวันศุกร์-อาทิตย์ เวลา 20.45 – 21.30 น. 12 กรกฎาคม - 3 พฤศจิกายน 2534 ส่วนที่ 3 ทุกวันจันทร์-พฤหัสบดี 20.35-21.05 น.4 พฤศจิกายน - 9 ธันวาคม 2534
รางวัลโทรทัศน์ทองคำ ครั้งที่ 6 ประจำปี 2534 ซึ่งประกาศเมื่อวันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2535 จินตหรา สุขพัฒน์คว้ารางวัลดารานำฝ่ายหญิงจากบท “แม่พลอย”
ครั้งที่ 5 ทางโมเดิร์นไนน์ทีวี กำกับโดย หม่อมหลวงพันธุ์เทวนพ เทวกุล บริษัท ทูแฮนส์ จำกัด ดำเนินงาน ได้รับคำชมเรื่องฉากและเครื่องแต่งกายที่สมจริงเนื่องจากมีทุนสร้างสูงมาก นำแสดงโดย สิริยากร พุกกะเวส และ ธีรภัทร์ สัจจกุล และได้มีการนำมารีรันอีกครั้งในปี 2559 ทางช่อง pptv (เริ่ม 18 พฤษภาคม 2559)
ร่วมด้วย หม่อมหลวงสราลี กิติยากร, ชาคริต แย้มนาม, เกริกพล มัสยวานิช, เพ็ญเพชร เพ็ญกุล, นินนาท สินไชย, สุจิรา อรุณพิพัฒน์, นิรุตติ์ ศิริจรรยา, สะแกวัลย์ ยงใจยุทธ, ชลิดา เถาว์ชาลี, ชุดาภา จันทเขตต์, พุฒิพงศ์ พรหมสาขา ณ สกลนคร, ดารณีนุช โพธิปิติ, ธัญญา โสภณ, ศักราช ฤกษ์ธำรงค์, วรวุฒิ นิยมทรัพย์, มยุรี อิสระเสนา ณ อยุธยา, ตฤณ เศรษฐโชค, อรไพลิน พึ่งพันธ์, กฤณ โพธิปิติ, กฤตยชญ์ ทิมเนตร, ชวิษฐ์ อำนวยเรืองศรี, ชินภัทร พึ่งพันธ์, มิเชล เบอร์แมน, ณัฐพร สุภาโชค, รุจิษยา ทิณรัตน์, มณิศา บุงกสิกร, รวิสุต มันตะเสรี
สี่แผ่นดินถูกนำไปสร้างเป็นละครเวที ณ โรงละครเมืองไทยรัชดาลัย เธียเตอร์ โดย ถกลเกียรติ วีรวรรณ บิ๊กบอสซีเนริโอ สร้างเป็นละครเพลงครั้งแรก ร่วมฉลอง 100 ปีชาตกาลหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ผู้ประพันธ์ ในชื่อว่า สี่แผ่นดิน เดอะมิวสิคัล
นำแสดงโดย สินจัย เปล่งพานิช รับบท "แม่พลอย" เกรียงไกร อุณหะนันทน์ ในบท "คุณเปรม", นภัทร อินทร์ใจเอื้อ (กัน เดอะสตาร์) คู่ พิมดาว พานิชสมัย เป็น "คุณเปรม-แม่พลอย" ในวัยหนุ่มสาว ร่วมด้วย อาณัตพล ศิริชุมแสง (อาร์ เดอะสตาร์), สิงหรัตน์ จันทร์ภักดี (สิงโต เดอะสตาร์), ยุทธนา เปื้องกลาง (ตูมตาม เดอะสตาร์) เป็นบุตรธิดา ส่วน "แม่ช้อย" เพื่อนสนิทของแม่พลอย รับบทโดย รัดเกล้า อามระดิษ ("แม่พลอย" วัยเด็ก รับบทโดย น้องพินต้า-ณัฐนิช รัตนเสรีเกียรติ)
เริ่มแสดง 30 พฤศจิกายน 2554 ถึง 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 หลังจากได้รับการตอบรับอย่างสูงในด้านยอดผู้ชม ทางทีมงานจึงได้มีการตัดสินใจเพิ่มรอบการแสดงจนครบ 100 รอบ ให้ตรงกับ 100 ปี ชาตกาลของหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช โดยรอบสุดท้ายจะมีขึ้นในวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2555
ในปี พ.ศ. 2557 สี่แผ่นดิน เดอะมิวสิคัลเปิดแสดงอีกครั้งเพราะเข้ากับสถานการณ์บ้านเมือง พร้อมเปลี่ยนนักแสดงใหม่เพื่อต้องการความแปลกใหม่ ซึ่งประกอบด้วย เบญจณัฏฐ์ อักษรนันทน์ รับบทเป็น "แม่พลอย" ในวัยสาว, ศรัณยู วินัยพานิช (ไอซ์ ศรัณยู) รับบท อั้น ประพันธ์, โสตถิพันธุ์ คำลือชา (อาเมน เดอะสตาร์) รับบท อ๊อด ประพจน์ และแม่พลอยวัยเด็กรับบทโดย น้องว่าน-ภัทราวดี สุขโขทัย และ น้องพายพาย-กุลรภัส พัฒนบำรุงรส เริ่มแสดง 17 กรกฎาคม 2557
ในปี พ.ศ. 2559 ทาง พีพีทีวี นำสี่แผ่นดินฉบับปี พ.ศ. 2546 ออกอากาศอีกครั้งด้วยระบบความคมชัดสูงโดยออกอากาศทุกวันพุธและพฤหัสบดี เวลา 19.30 - 21.00 น. และออกอากาศซ้ำทุกวันอังคารและวันพุธ เวลา 10.00 - 11.30 น. เริ่มตอนแรกในวันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2559 จนกระทั่งหลังจากการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช กสทช.มีประกาศให้โทรทัศน์ทุกช่องงดรายการบันเทิง 30 วันเพื่อร่วมแสดงความอาลัย พีพีทีวีจึงนำสี่แผ่นดินฉบับปี พ.ศ. 2546 มาออกอากาศซ้ำอีกครั้งหนึ่ง