รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปัจจุบัน (พ.ศ. 2550) ซึ่งร่างขึ้นโดย องค์กรซึ่งได้รับแต่งตั้งจากคณะผู้ยึดอำนาจการปกครองขณะนั้น ระบุไว้ในมาตรา 4 ว่า "ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคลย่อมได้รับความคุ้มครอง" มาตรา 26 ถึง 69 ได้บรรยายขอบเขตของสิทธิเฉพาะในบางด้าน เช่น ความยุติธรรมทางอาญา การศึกษา การไม่เลือกปฏิบัติ ศาสนา และเสรีภาพในการแสดงออก
รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันฟื้นสิทธิต่าง ๆ ที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 รับรองโดยชัดแจ้ง ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวได้สรุปสิทธิต่าง ๆ เป็นเสรีภาพในการพูด เสรีภาพสื่อ การชุมนุมโดยสงบ สมาคม ศาสนาและขบวนการภายในประเทศและต่างประเทศ
มีการริเริ่มสิทธิใหม่ ๆ ในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ซึ่งรวมถึงสิทธิในการเข้าถึงการศึกษาแบบให้เปล่า สิทธิในชุมชนท้องถิ่น และสิทธิในการต่อต้านโดยสันติซึ่งการกระทำใด ๆ ที่เป็นไปเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ สิทธิเด็ก คนชรา ผู้พิการ และความเสมอภาคทางเพศ เสรีภาพของสารสนเทศ สิทธิในสาธารณสุข การศึกษาและสิทธิผู้บริโภคก็ได้รับการรับรองเช่นกัน รวมแล้ว มีสิทธิที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 รับรอง 40 สิทธิ เปรียบเทียบกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 ที่รับรองเพียง 9 สิทธิ
ในรายงานของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลไทยเป็นต้นเหตุของการละเมิดสิทธิมนุษยชนในหลายกรณี โดยเฉพาะในจังหวัดชายแดนใต้ ในสงครามปราบปรามยาเสพติด ในการจับและจองจำผู้ต้องหา ในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังในเรือนจำ และในการจำกัดเสรีภาพการแสดงออก ในบางครั้งเจ้าหน้าที่ที่กระทำผิดอาจถูกจับและลงโทษหรือปลดออก แต่สิทธิการได้รับยกเว้นโทษตามกฎอัยการศึก พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 และพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 เป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้เจ้าหน้าที่ไม่ถูกลงโทษตามสมควร ส่วนการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยคนทั่วไปและอาชญากรได้แก่ การค้ามนุษย์ การบังคับค้าบริการทางเพศ การเลือกปฏิบัติ โดยผู้ถูกละเมิดได้แก่ ผู้ลี้ภัย แรงงานต่างชาติ แรงงานเด็ก สตรี กลุ่มชาติพันธุ์ ชนกลุ่มน้อย ผู้พิการ
การค้ามนุษย์เป็นปัญหาสำคัญในประเทศไทย ซึ่งมีทั้งการล่อลวงและการลักพาชายจากกัมพูชาโดยนักค้ามนุษย์และขายให้แก่เรือประมงผิดกฎหมายซึ่งจับปลาในอ่าวไทยและทะเลจีนใต้ ชายเหล่านี้ได้รับสัญญาว่าจะได้ทำงานที่มีรายได้ดีกว่า แต่กลับถูกบังคับให้ทำงานเป็นทาสบนเรือนานถึง 3 ปี การค้าเด็กก็เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่สำคัญในประเทศไทยเช่นกัน โดยบังคับให้เด็กที่ถูกลักพาซึ่งมีอาจมีอายุน้อยเพียง 4 ปีเป็นทาสเพื่อบริการทางเพศในนครใหญ่อย่างกรุงเทพมหานครและภูเก็ต กิจกรรมดังกล่าวแพร่กระจายมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ชนบทของประเทศ
หลังการรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2549 ประชาชนถูกลิดรอนเสรีภาพในการแสดงออกและเดินทางอย่างรุนแรง กองทัพสั่งห้ามการชุมนุมทางการเมืองและไม่อนุญาตให้วิพากษ์วิจารณ์ในสื่อ กิจกรรมทางการเมืองทุกประเภทถูกสั่งห้ามเช่นกัน พันธมิตรสื่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAPA) หมายเหตุว่า สภาพแวดล้อมด้านสื่อของประเทศไทยก่อนเกิดรัฐประหารถือว่าเป็นสื่อที่เสรีและมีชีวิตชีวาที่สุดประเทศหนึ่งในเอเชีย แต่เสื่อมลงอย่างรวดเร็วหลังการยึดอำนาจของฝ่ายทหาร พันธมิตรสื่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ชี้ว่า มีการปิดสถานีวิทยุชุมชนราว 300 แห่งทั่วประเทศ การสกัดกั้นช่องข่าวเคเบิลเป็นระยะ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อปรากฏข่าวเกี่ยวกับทักษิณ ชินวัตรหรือวิพากษ์วิจารณ์รัฐประหาร) และการระงับเว็บไซต์ไทยบางเว็บที่อภิปรายถึงการเข้าแทรกแซงประชาธิปไตยไทยของกองทัพ SEAPA ยังชี้ว่า ขณะที่ดูเหมือนจะไม่มีการปราบปรามนักหนังสือพิมพ์ และผู้สื่อข่าวทั้งต่างชาติและชาวไทยเหมือนจะมีอิสระที่จะสัญจร สัมภาษณ์ และรายงานรัฐประหารตามที่เห็นสมควร แต่การเซ็นเซอร์ตัวเองยังเป็นปัญหาอยู่ในห้องข่าวของไทย
มีการรายงานปัญหาต่าง ๆ ในจังหวัดภาคใต้ เกี่ยวกับความไม่สงบในภาคใต้ของประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่ได้รับความสนใจมาก ทนายความสิทธิมนุษยชนมุสลิม สมชาย นีละไพจิตร มีรายงานว่าถูกก่อกวน ขู่ จนหายสาบสูญโดยถูกบังคับไปในท้ายที่สุด เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2547 หลังเขากล่าวหาว่าถูกทรมานโดยกำลังความมั่นคงของรัฐ ใน พ.ศ. 2549 นายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร กล่าวว่า เขาเชื่อว่าสมชายเสียชีวิต และกำลังความมั่นคงของรัฐดูเหมือนจะมีส่วนรับผิดชอบ จนสุดท้ายมีตำรวจถูกกล่าวหาว่ามีส่วนในการเสียชีวิตของสมชาย 5 นาย แม้ว่าการไต่สวนจะจบด้วยการพิพากษาลงโทษ 1 คน ซึ่งมีการกลับคำพิพากษาในชั้นอุทธรณ์ ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2554 คำตัดสินดังกล่าวถูกคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนเอเชียประณาม และอังคณา นีละไพจิตร ภรรยาของสมชาย ประกาศเจตนาของเธอว่าจะอุทธรณ์คดีต่อไปถึงชั้นฎีกา
สงครามยาเสพติดของรัฐบาลเมื่อ พ.ศ. 2546 เป็นเหตุให้มีวิสามัญฆาตกรรมกว่า 2,500 คน ที่ต้องสงสัยว่าเป็นผู้ค้ายาเสพติด สภาพเรือนจำและศูนย์กักกันผู้อพยพประจำจังหวัดบางแห่งมีคุณภาพเลว ใน พ.ศ. 2547 กว่า 1,600 คนเสียชีวิตในเรือนจำหรือในการควบคุมตัวของตำรวจ ในจำนวนนี้ 131 คน เสียชีวิตเพราะการกระทำของตำรวจ