ประเทศไทยขึ้นชื่อว่าอดกลั้นและเป็นมิตรต่อกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศมากที่สุดประเทศหนึ่งในทวีปเอเชีย โดยที่กิจกรรมทางเพศของเพศเดียวกันนั้นชอบด้วยกฎหมายมาตั้งแต่ พ.ศ. 2500 รัฐบาลไทยยังส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติท่องเที่ยวในประเทศไทยเพราะต้อนรับกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศอย่างดี ทว่า การเลือกปฏิบัติและการดูถูกเหยียดหยามกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศก็ยังปรากฏอยู่กว้างขวางในสังคมไทย
ปัจจุบันสิทธิของกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศยังไม่มีการรับรองและคุ้มครองในทางกฎหมายเทียบเท่ากับบุคคลต่างเพศ แต่ก็มีความพยายามจากนักวิชาการและกลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อรณรงค์การออกกฎหมายคุ้มครองสิทธิดังกล่าว ทั้งนี้ หากประเทศไทยผ่านร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต จะทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศแรกในทวีปเอเชียที่มีการรับรองสถานะความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลเพศเดียวกัน
กิจกรรมทางเพศของกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศนั้นกำหนดให้เป็นความผิดมาอย่างน้อยตั้งแต่ พ.ศ. 2451 เนื่องจากได้มีการประกาศใช้กฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. 127 ขึ้น โดยในมาตรา 242 บัญญัติไว้ว่า
"ผู้ใดทำชำเรา ผิดธรรมดามนุษย์ ด้วยชายก็ดี หญิงก็ดี หรือทำชำเราด้วยสัตว์เดียรฉานก็ดี ท่านว่ามันมีความผิด ต้องรวางโทษจำคุกตั้งแต่สามเดือนขึ้นไปจนถึงสามปี แลให้ปรับตั้งแต่ห้าสิบบาทขึ้นไป จนถึงห้าร้อยบาท ด้วยอีกโสดหนึ่ง"
เหตุผลสำคัญในการตรากฎหมายลักษณะอาญาฯ และบัญญัติโทษดังกล่าวสืบเนื่องมาจากความพยายามของรัฐไทยที่ต้องการให้ระบบกฎหมายของไทยสอดคล้องกับธรรมเนียมปฏิบัติของมหาอำนาจยุโรปในสมัยนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหราชอาณาจักรสมัยวิคตอเรีย แต่กระนั้น จากหลักฐานก็ไม่ปรากฏว่ามีการดำเนินคดีทางศาลอันเกี่ยวเนื่องกับความผิดนี้แต่อย่างใด และตำรวจไทยเองก็มองข้ามกิจกรรมทางเพศของบุคคลเพศเดียวกัน ตราบเท่าที่เป็นกิจกรรมที่ได้รับความยินยอมจากทั้งคู่
อย่างไรก็ดี ในวันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2499 ได้มีการประกาศใช้ประมวลกฎหมายอาญาแทนที่กฎหมายลักษณะอาญาฉบับเดิม โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2500 เป็นต้นไป และไม่ปรากฏว่ามีบทบัญญัติที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับมาตรา 242 ของกฎหมายลักษณะอาญาในประมวลกฎหมายฉบับใหม่ ส่งผลให้กิจกรรมทางเพศของกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศนั้นชอบด้วยกฎหมายไปโดยปริยายตั้งแต่ พ.ศ. 2500 เป็นต้นไป
เมื่อวันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2545 กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ได้ออกหนังสือที่ สธ 0605/375 รับรองว่าบุคคลรักเพศเดียวกันมิได้ถือเป็นผู้มีความผิดปกติทางจิตหรือป่วยเป็นโรคแต่อย่างใด โดยอ้างอิงถึงองค์การอนามัยโลก (WHO) และตามบัญชีจำแนกโรคระหว่างประเทศ ICD-10 ฉบับแก้ไข ครั้งที่ 1 ไทย-อังกฤษ เล่มที่ 1 (ก) ตารางการจัดกลุ่มโรค องค์การอนามัยโลก ซึ่งได้เอาลักษณะความสัมพันธ์ระหว่างคนรักเพศเดียวกันออกจากกลุ่มคนที่มีความผิดปกติทางจิต
ในปี พ.ศ. 2550 ได้มีการปรับปรุงแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาอีกครึ่งหนึ่ง โดยได้เพิ่มนิยามคำว่า "กระทำชำเรา" ในมาตรา 276 ให้ครอบคลุมถึง "การใช้อวัยวะเพศของผู้กระทำกระทำกับอวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือช่องปากของผู้อื่น หรือการใช้สิ่งอื่นใดกระทำกับอวัยวะเพศหรือทวารหนักของผู้อื่น" ซึ่งเป็นการคุ้มครองทั้งผู้ชายและผู้หญิงจากการถูกกระทำชำเรา เพราะความในกฎหมายฉบับเดิมคุ้มครองเฉพาะผู้หญิงที่ถูกผู้ชายกระทำเท่านั้น
ต่อมาเมื่อวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2554 ศาลปกครองกลางพิพากษาให้กระทรวงกลาโหมเพิกถอนคำว่า "เป็นโรคจิตถาวร" ในใบรับรองผลการตรวจเลือกทหารกองเกิน (สด. 43), ใบสำคัญสำหรับคนจำพวกที่ 4 (สด.5) และใบสำคัญให้รับราชการทหาร (สด.9) ของบุคคลที่ยังไม่ผ่าตัดแปลงเพศ แต่มีการเสริมหน้าอก เนื่องจากคำดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งนี้ กระทรวงกลาโหมจึงแก้ข้อความในพระราชบัญญัติราชการทหาร พ.ศ. 2497 เป็น "ภาวะเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิด" แทน เพื่อแสดงให้เห็นว่าบุคคลดังกล่าวไม่อาจเข้ารับราชการทหารได้ตามที่กฎหมายกำหนดต่อไป
ในวันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2558 ก็ได้มีการประกาศพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 ลงในราชกิจจานุเบกษา เพื่อคุ้มครองผู้ถูกเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ และป้องกันมิให้มีการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ โดยมีผลใช้บังคับในอีก 180 วัน หรือตั้งแต่วันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2558 เป็นต้นไป ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ที่ประเทศไทยได้ตกลงเข้าเป็นประเทศภาคีสมาชิก
กฎหมายฉบับนี้คุ้มครอง "บุคคลที่มีการแสดงออกที่แตกต่างจากเพศโดยกำเนิด" จากการถูกเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมอันได้แก่ การแบ่งแยก กีดกัน หรือจำกัดสิทธิประโยชน์ใดๆ ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม จากการกำหนดนโยบาย กฎ ระเบียบ หรือวิธีปฏิบัติของหน่วยงานของรัฐ องค์กรเอกชนหรือบุคคลใด และเปิดโอกาสให้บุคคลผู้เสียหายมีสิทธิยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการวินิจฉัยฯ เพื่อดำเนินการระงับและป้องกันการเลือกปฏิบัติ รวมทั้งการชดเชยและเยียวยาอีกด้วย
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 และ 2550 ได้บัญญัติคุ้มครองบุคคลจากการถูกเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมในเรื่องเพศ สภาพทางกาย และสถานะของบุคคลไว้อย่างกว้างๆ (มาตรา 30) และสามารถใช้สิทธิและเสรีภาพของตนได้ เท่าที่ไม่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น ไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญ และไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน (มาตรา 28)
ในกระบวนการยกร่างร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับใหม่ คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญได้เสนอให้ใส่คำว่า เพศสภาพ ลงไปในมาตรา 34 ของร่างรัฐธรรมนูญเพื่อคุ้มครองเสรีภาพของกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ อย่างไรก็ตามคณะกรรมาธิการสามัญพิจารณาศึกษา เสนอแนะ และรวบรวมความเห็นเพื่อการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้มีความเห็นว่าควรตัดคำดังกล่าวออกไปเนื่องจาก "การกำหนดในเรื่องการเลือกปฏิบัติโดยไม่ธรรมต่อบุคคล เพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ เพศ อายุ เป็นต้นนั้น ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 สามารถตีความในเชิงคุ้มครองสิทธิได้อย่างกว้างขวางอยู่แล้ว” อย่างไรก็ตาม ก็ยังไม่เป็นที่สรุปว่าคำดังกล่าวจะถูกใส่ไว้ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ เนื่องจากการตัดสินใจอยู่ที่สภาปฏิรูปแห่งชาติและคณะรัฐมนตรี
ยิ่งไปกว่านั้น มาตรา 38 ของร่างรัฐธรรมนูญได้บัญญัติว่า "สิทธิของบุคคลในการสมรสและในครอบครัวย่อมได้รับการคุ้มครอง" ซึ่งได้เพิ่ม "สิทธิในการสมรส" ขึ้นมาจากรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2550 ที่ได้คุ้มครองสิทธิในครอบครัวเพียงอย่างเดียว แต่ทว่า คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญที่มีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธานฯ ได้ตัดสิทธิในการสมรสออก ตามคำขอของคณะรัฐมนตรีที่เสนอให้ตัดออกเพราะกังวลว่าจะทำให้เกิดความเข้าใจผิดต่อสิทธิในการสมรสระหว่างบุคคลเพศเดียวกันที่สังคมและวัฒนธรรมไทยยังไม่เป็นไปตามการให้สิทธิไว้อย่างบางประเทศ
ในปัจจุบัน การสมรสระหว่างบุคคลเพศเดียวกันในประเทศไทยนั้นไม่สามารถกระทำได้ เนื่องจากยังไม่มีกฎหมายรองรับ และขัดต่อมาตรา 1448 และ 1458 ของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งได้บัญญัติไว้ว่า "การสมรสจะทำได้ต่อเมื่อชายและหญิงมีอายุสิบเจ็ดปีบริบูรณ์แล้ว" และ "การสมรสจะทำได้ต่อเมื่อชายหญิงยินยอมเป็นสามีภริยากัน" ตามลำดับ ยิ่งไปกว่านั้น การใช้คำของประมวลกฎหมายดังกล่าวในมาตราอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องนั้น ได้กำหนดใช้เฉพาะคำว่า "ชาย" และ "หญิง" ไว้โดยตลอด ส่งผลให้คู่ครองเพศเดียวกันยังไม่สามารถจดทะเบียนสมรสได้
เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2555 นายนที ธีระโรจนพงษ์และคู่ชีวิตได้ยื่นคำร้องขอจดทะเบียนสมรส ณ ที่ว่าการอำเภอเมืองเชียงใหม่ แต่อย่างไรก็ตาม ทางอำเภอเมืองเชียงใหม่ไม่สามารถจดทะเบียนสมรสให้ทั้งคู่ได้ เนื่องจากขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในหมวดเงื่อนไขแห่งการสมรส
อย่างไรก็ตาม ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ได้มีการรณรงค์ผลักดันร่างพระราชบัญญัติการจดทะเบียนคู่ชีวิตของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ หรือเป็นที่รู้จักในชื่อ "ร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต" เพื่อเปิดทางให้คู่ครองเพศเดียวกันทำการสมรสกันอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งถ้าหากมีการประกาศใช้กฎหมายฉบับนี้ จะทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศแรกในทวีปเอเชียที่มีการรับรองสถานะความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลเพศเดียวกัน
การรณรงค์ต่างๆ ประกอบไปด้วยการจัดเสวนาหัวข้อ "ประเทศไทยจะกลายเป็นชาติแรกในเอเชีย ที่ผ่านกฎหมายจดทะเบียนคู่ชีวิตหรือไม่" (Could Thailand become the first Asian country to legalize same-sex civil unions?) เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2556 ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (FCCT), เสวนาหัวข้อ “ทำไมต้องมี พ.ร.บ.คู่ชีวิต (ฉบับประชาชน) เพื่อการแต่งงานที่เท่าเทียมในสังคมไทย” เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557 ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร, เสวนาหัวข้อ “ร่างพรบ.คู่ชีวิต ฉบับภาคประชาชน ถึงไหน อย่างไร จะผ่านหรือไม่?” เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558 เป็นต้น
เมื่อช่วงบ่ายของวันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2558 ได้มีการจัดงาน Gender&LGBTIQs in Modern Society โดยกลุ่ม Cafe Democฯ ที่หอนิทรรศการศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก็ได้มีทหารทั้งในและนอกเครื่องแบบจากมณฑลทหารบกที่ 33 จังหวัดเชียงใหม่เข้าตรวจสอบการ?งาน และกำชับผู้จัดงานและวิทยากรในงานเสวนาห้ามพูดประเด็นทางการเมือง นายชานันท์ ยอดหงษ์ นักศึกษาระดับปริญญาเอก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และนักวิชาการด้านเพศ หนึ่งในวิทยากรงานเสวนาได้โพสต์ผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์เฟซบุ๊กว่า การที่เจ้าหน้าที่พยายามระงับการจัดงานเสวนาทางวิชาการในครั้งนี้ ถือว่าเป็นการคุกคามทางวิชาการ
ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวจะรับรองความสัมพันธ์ของบุคคลเพศเดียวกันในรูปแบบคู่ชีวิต (Civil union) ไม่ใช่การสมรส (Same-sex marriage) แต่อย่างใด เพียงแต่มีสิทธิและหน้าที่เทียบเท่ากับการสมรสของชายหญิง โดยมีเนื้อหาในเบื้องต้นดังนี้
กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม และคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎรได้ดำเนินการจัดทำประชาพิจารณ์ รับฟังความคิดเห็นภาคประชาชนในร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว โดยได้ทำการสำรวจบุคคลกว่า 1,153 คนในช่วงปี พ.ศ. 2556 โดยมีผลสำรวจดังนี้
ปัจจุบันกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศได้ถูกเสียดสีเหยียดหยามผ่านคำศัพท์และประโยคต่างๆ ทั้งในชีวิตประจำวันและทางเครือข่ายสังคมออนไลน์ เช่น
เมื่อปลายเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2558 ในช่วงเวลาเดียวกับศาลสูงสุดสหรัฐที่ได้มีคำพิพากษาให้การสมรสเพศเดียวกันชอบด้วยกฎหมายทั่วประเทศในคดีโอเบอร์เกอเฟล วี. ฮ็อดเจส และเครือข่ายสังคมออนไลน์เฟซบุ๊กได้รณรงค์เฉลิมฉลองผ่านแคมเปญ Celebrate Pride โดยเปลี่ยนรูปโปรไฟล์ของตนเป็นสีรุ้ง ซึ่งคนไทยจำนวนมากได้เข้าร่วมโครงการนี้ ทางด้านไอศกรีมวอลล์ ประเทศไทยจึงได้เลือกใช้ภาพ "ไอศกรีมถั่วดำ" พื้นหลังสีรุ้งโพสต์ลงในหน้าหลักของตน พร้อมกับคำบรรยายภาพว่า "วอลล์สนับสนุนทุกความรักนะคร้าบ" และแฮชแท็คว่า #lovewins
เหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลให้คนไทยจำนวนมากแสดงความไม่พอใจ เนื่องจากคำว่า "ถั่วดำ" เป็นคำที่เสียดสีกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ แม้ว่าภายหลังทางไอศกรีมวอลล์จะได้ลบรูปภาพดังกล่าวและแถลงการขอโทษผ่านเครือข่ายออนไลน์ดังกล่าวเป็นที่เรียบร้อย แต่คนไทยจำนวนหนึ่งก็ยังคงไม่พอใจไอศกรีมวอลล์ เนื่องจากการกระทำครั้งนี้มิใช่ครั้งแรก เพราะในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ทางไอศกรีมวอลล์ก็ได้เคยลงภาพ "ไอศกรีมถั่วดำ" พร้อมข้อความ "เพื่อน...ตูรักมึงนะ" และ "พี่รู้มั้ย..ชั้นมารอพี่ที่สีลมทุกวันเลยนะ" มาก่อนหน้านี้แล้ว
อ่านบทความฉบับสมบูรณ์ได้ที่ http://th.wikipedia.org/wiki/สิทธิของกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศในประเทศไทย