ภาษาถิ่น หรือ สำเนียง คือ ภาษาเฉพาะของท้องถิ่นใดท้องถิ่นหนึ่งที่มีรูปลักษณะเฉพาะตัวทั้งถ้อยคำและสำเนียงเป็นต้น
เช่น ในแต่ละภาคของประเทศไทยมีภาษาถิ่นประจำภาคนั้น ดังนี้ ภาคเหนือมีภาษาถิ่นพายัพเช่น ปิ๊กบ้าน ภาคอีสานมีภาษาถิ่นอีสานเช่น เมื่อบ้าน ภาคใต้มีภาษาถิ่นใต้เช่น หลบเริน และภาคกลางมีภาษาไทยกลางเช่น กลับบ้าน เป็นต้น ทั้งนี้ ทุกภาษาถิ่นในประเทศไทยคงใช้คำศัพท์และไวยากรณ์ที่สอดคล้องกัน แต่มักจะแตกต่างกันในเรื่องของวรรณยุกต์ ถ้อยคำ และสำเนียง เป็นต้น ซึ่งนับเป็นเอกลักษณ์ของภาษาถิ่นนั้น
หากพื้นที่ของผู้ใช้ภาษานั้นกว้างก็จะมีภาษาถิ่นหลากหลาย และมีภาษาถิ่นย่อย ๆ ลงไปอีก ซึ่งภาษาถิ่นนั้นมักเป็นเรื่องของภาษาพูดหรือภาษาท่าทาง มากกว่า
การกำหนดภาษาหลักหรือภาษาถิ่นนั้น นักภาษาศาสตร์จะพิจารณาคุณลักษณะในเชิงภาษาเท่านั้น ตัวอย่างเช่น ภาษาไทย และภาษาลาวถือว่าต่างก็เป็นภาษาถิ่นของกันและกัน (อาจนับภาษาใดภาษาหนึ่งเป็นภาษาหลักก็ได้ โดยไม่มีนัยสำคัญทางภาษาศาสตร์) แต่เนื่องจากภาษาถิ่นทั้งสองอยู่ในพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ของสองประเทศ โดยทั่วไปจึงถือว่าเป็นคนละภาษา
หากลักษณะแปรผันของภาษาถิ่นนั้น เป็นเพียงลักษณะของเสียง ในทางภาษาศาสตร์จะเรียกว่า สำเนียง ไม่ใช่ ภาษาถิ่น ซึ่งในบางครั้งก็ยากที่จะจำแนกว่าภาษาในท้องถิ่นหนึ่งๆ นั้น เป็นภาษาย่อยของถิ่นหลัก หรือเป็นเพียงสำเนียงท้องถิ่นเท่านั้น