สำนักงานประกันสังคม (อังกฤษ: Social Security Office) จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2533 เพื่อให้ประเทศไทยมีการประกันสังคมอย่างเต็มรูปแบบ โดยลูกจ้างจะได้รับความคุ้มครอง ทั้งในเรื่องการประสบอันตราย หรือเจ็บป่วยทุพพลภาพ และตาย ทั้งนี้เนื่องและไม่เนื่องจากการทำงาน รวมไปถึงการคลอดบุตรสงเคราะห์บุตร ชราภาพ และการว่างงาน เฉกเช่นเดียวกับประเทศอื่น ๆ โดยมีนายอำพล สิงหโกวินท์ เป็นเลขาธิการคนแรก
สำนักงานประกันสังคม เริ่มต้นเมื่อมีประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103 ลงวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2515 ได้ระบุให้มี "กองทุนเงินทดแทน" ในกรณีที่ลูกจ้างประสบอันตราย สูญเสียอวัยวะ ทุพพลภาพ และเสียชีวิต ซึ่งกองทุนดังกล่าวได้ริเริ่มเก็บเงินสมทบเข้ากองทุน ในปี พ.ศ. 2517 โดยเริ่มในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เฉพาะสถานประกอบการที่มีลูกจ้างมากกว่า 20 ราย ต่อมาเมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2545 ได้ขยายความคุ้มครองโดยขอความร่วมมือให้สถานประกอบการที่มีลูกจ้างมากกว่า 1 ราย ต้องเก็บเงินสมทบเข้ากองทุนเงินทดแทน
กองทุนเงินทดแทน จะจ่ายค่าชดเชยในกรณีที่ขาดรายได้มากกว่า 3 วัน แต่ไม่ถึง 1 ปี ร้อยละ 60 ของรายได้ต่อวันของลูกจ้าง กรณีพิการจะจ่ายให้ไม่เกิน 8 ปี ร้อยละ 60 ของรายได้ต่อวันของลูกจ้าง กรณีทุพพลภาพจะจ่ายให้ไม่เกิน 15 ปี ร้อยละ 60 ของรายได้ต่อวันของลูกจ้าง และหากเสียชีวิตจะจ่ายให้ในระยะเวลา 8 ปี หลังเสียชีวิต ร้อยละ 60 ของรายได้ต่อวันของลูกจ้าง ค่าทำศพผู้ประกันตนรายละ 30,000 บาทโดยคิดจากค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ คูณด้วย 100
คำว่า "ประกันสังคม" เริ่มใช้ในประเทศไทยประมาณ พ.ศ. 2480 พร้อมๆ กับคำว่าสังคมสงเคราะห์ โดยหลักการและแนวทางมีการนำมาใช้ปฏิบัตินานแล้วเช่น การที่ชาวบ้านช่วยกันเรี่ยไรเงินรวบรวมเป็นเงินก้อน เพื่อช่วยเหลือเป็นค่าทำศพให้แก่สมาชิกในชุมชนเดียวกันที่ถึงแก่กรรม
สำนักงานประกันสังคม ประกอบด้วยกรรมการฝ่ายนายจ้าง กรรมการฝ่ายลูกจ้าง และกรรมการจากภาครัฐบาล และอยู่ภายใต้พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม คุ้มครองแรงงาน ฉบับที่ 4 พ.ศ. 2554 พระราชบัญญัติการกลับเป็นผู้ประกันตน พ.ศ. 2554 พระราชบัญญัติกองทุนเงินทดแทน พ.ศ. 2537 (ฉบับแก้ไขปรับปรุง)
ความหมายของการประกันสังคมในสมัยปัจจุบันคือ โครงการที่จัดตั้งขึ้นโดยรัฐบาล มีวัตถุประสงค์ที่จะสร้างความมั่นคงหรือหลักประกันให้แก่ประชาชน โดยมีวิธีการจัดเก็บรายได้ส่วนหนึ่งจากประชาชนที่มีรายได้ เงินที่เก็บนี้นำมาสมทบรวมกันเป็นกองทุนกลาง นำมาใช้จ่ายเป็นค่าทดแทนให้แก่ประชาชนตามเงื่อนไขที่กำหนดเงินที่เรียกเก็บนี้หากเป็นกรณีเก็บจากผู้ที่ทำงานรับจ้าง ก็ให้นายจ้างจ่ายสมทบเท่ากับที่ลูกจ้างจ่ายเสมอ และในทุกกรณีรัฐบาลจะจ่ายสมทบด้วยแต่เป็นจำนวนเงินน้อยกว่าที่นายจ้างจ่ายเสมอ และเป็นจำนวนเงินน้อยกว่าที่ลูกจ้างจ่ายเสมอ
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติและนายกรัฐมนตรีอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 มาตรา 44 ออกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 40/2558 แต่งตั้งคณะกรรมการในสำนักงานประกันสังคมดังนี้ลงวันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558 คณะกรรมการประกันสังคม ที่ปรึกษาของคณะกรรมการประกันสังคม คณะกรรมการการแพทย์ และคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน จะมีวาระ 2 ปี ระหว่าง 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558 - 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560
ปัจจุบันอัตราเรียกเก็บอยู่ที่ร้อยละ 5 โดยลูกจ้างต้องต่ายสำหรับกรณี เจ็บป่วย ทุพพลภาพ ตาย คลอดบุตร ร้อยละ 1.5 สงเคราะห์บุตรและชราภาพ ร้อยละ 3 และ กรณีว่างงาน ร้อยละ 0.5เช่นเดียวกับนายจ้างที่ต้องจ่ายให้ลูกจ้างกรณี เจ็บป่วย ทุพพลภาพ ตาย คลอดบุตร ร้อยละ 1.5 สงเคราะห์บุตรและชราภาพ ร้อยละ 3 และ กรณีว่างงาน ร้อยละ 0.5 ในขณะที่รัฐบาลจ่ายกรณีเจ็บป่วย ทุพพลภาพ ตาย คลอดบุตร ร้อยละ 0.5 สงเคราะห์บุตรและชราภาพ ร้อยละ 0.5 และ กรณีว่างงาน ร้อยละ 0.25
นอกจากนั้นสำนักงานประกันสังคมยังได้มีส่วนในการช่วยเหลือบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้แก่นายจ้างและลูกจ้างในประเทศต่าง ๆ เฉพาะประเทศไทยสำนักงานประกันสังคมได้ดำเนินนโยบายที่หยืดหยุ่นในการเรียกเก็บเงินจากนายจ้างและลูกจ้างโดยเรียกเก็บให้ต่ำลงกว่าร้อยละ 5 ในบางครั้งบางคราวเช่นกรณีอุทกภัยในประเทศไทย พ.ศ. 2554 เพื่อช่วยเหลือลูกจ้างและนายจ้างหรือกรณีการเพิ่มขึ้นของค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งจะมีผลในปี พ.ศ. 2556
กองทุนเงินประกันสังคม สำนักงานประกันสังคมได้บริหารเงินในกองทุนให้ได้กำไรโดยผ่านการลงทุนในรูปแบบต่าง ๆ และมีหน้าที่รายงานผลการลงทุน ในปี พ.ศ. 2551 ระหว่างเกิดวิกฤติสินเชื่อซับไพรม์ สำนักงานประกันสังคมรายงานกำไรจากการลงทุนว่าได้กำไรถึง 367 ล้านบาท ซึ่งหากเทียบกับกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการในปีเดียวกันพบว่ามีความแตกต่างเป็นอย่างมาก โดยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการบริหารเงินสมาชิกปี 51 ขาดทุน 74,000 ล้านบาท
สำนักงานประกันสังคมได้ขยายการคุ้มครองยาในบัญชีสำหรับผลผู้ทางสุขภาพจิต หรือผู้ป่วยจิตเวชโดยสามารถเบิกยาในบัญชีได้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 และในวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2554 สำนักงานประกันสังคมเพิ่มสิทธิประโยชน์บริการทางการแพทย์ กรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน ผู้ประกันตนเข้ารับการรักษาโรงพยาบาลอื่น ซึ่งไม่ใช่โรงพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง