สาเหตุเบื้องต้นของสงครามโลกครั้งที่สอง คือ ความตึงเครียดเกี่ยวกับชาตินิยม ประเด็นปัญหาที่ไม่ได้รับการแก้ไข และความไม่พอใจอันเป็นผลสืบเนื่องมาจากสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง และสมัยระหว่างสงครามโลกในทวีปยุโรป รวมทั้งผลกระทบของภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1930 เหตุการณ์ต่าง ๆ ได้ลงเอยด้วยการปะทุของสงคราม ซึ่งมักเป็นที่เข้าใจว่าเป็นการบุกครองโปแลนด์ โดยนาซีเยอรมนี ความก้าวร้าวทางทหารนี้เป็นผลมาจากการตัดสินใจของผู้นำของเยอรมนีและญี่ปุ่น สงครามโลกครั้งที่สองเริ่มต้นขึ้นจากการปฏิบัติอันก้าวร้าวและบรรจบกับการประกาศสงคราม และ/หรือ การต่อต้านด้วยกำลัง
พรรคบอลเชวิค ซึ่งมีแนวคิดไม่ถือชาติและหัวรุนแรง ก้าวขึ้นสู่อำนาจในรัสเซีย เมื่อเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1917 ซึ่งหลังจากนั้น ได้มีความพยายามที่จะสนับสนุนให้มีการจัดตั้งการปกครองที่คล้ายคลึงกันในบริเวณอื่นของโลก ซึ่งประสบความสำเร็จในฮังการีและบาราเวีย การกระทำดังกล่าวนำมาซึ่งความกลัวปฏิวัติของคอมมิวนิสต์ในหลายชาติยุโรปตะวันตก ยุโรปกลาง และทวีปอเมริกา ในปี ค.ศ. 1919 ฝ่ายไตรภาคีถึงกับตั้งรัฐพรมแดนขึ้นประชิดชายแดนด้านตะวันตกของรัสเซีย โดยหวังว่าจะสามารถจำกัดคอมมิวนิสต์ไม่ให้แพร่ขยายออกมาจากรัสเซีย
ในเยอรมนีและอิตาลี ความเฟื่องฟูของฟาสซิสต์เป็นหนึ่งในสาเหตุของการเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่สองของประเทศเหล่านั้น ทั้งฟาสซิสต์ในอิตาลีและเยอรมนีต่างก็เป็นส่วนหนึ่งในปฏิกิริยาตอบโต้การจลาจลของคอมมิวนิสต์และพวกสังคมนิยม กลุ่มเหล่านี้ได้รับการสนับสนุนจากฝ่ายขวาและพวกทุนนิยม เนื่องจากว่าเป็นขบวนการซึ่งทั้งสองต่างก็อาศัยชนชั้นแรงงานและแยกพวกเขาออกจากลัทธิมาร์กซิสต์ ปัจจัยเพิ่มเติมในเยอรมนีคือความสำเร็จของพวกไฟรคอร์พส์ฝ่ายขวา ทำลายสาธารณรัฐบาวาเรียนโซเวียต ในมิวนิก ปี ค.ศ. 1919 ทหารผ่านศึกจำนวนมากเหล่านี้กลายมาเป็นส่วนประกอบของหน่วยเอสเอของพรรคนาซี ซึ่งถูกใช้เป็นกองกำลังของพรรคในการสู้รบตามท้องถนนกับชาวบ้านคอมมิวนิสต์ติดอาวุธในช่วงทศวรรษก่อนหน้า ค.ศ. 1933 ความรุนแรงตามท้องถนนจะช่วยเปลี่ยนแปลงความคิดเห็นอนุรักษนิยมสายกลางไปเป็นผู้นำอำนาจนิยมซึ่งต่อต้านคอมมิวนิสต์ ตามความต้องการของเยอรมนี เพื่อรักษาเสถียรภาพของวิถีชีวิตดั้งเดิมไว้
สหราชอาณาจักรและฝรั่งเศสนั้นได้ดำเนินแผนการของตนเพื่อเอาใจฝ่ายเยอรมนีในตอนปลายทศวรรษ 1930 ภายใต้แผนการการเอาใจฮิตเลอร์ เยอรมนีนั้นได้รับข้อเสนอว่าตนจะสามารถขยายพื้นที่ของตนไปทางทิศตะวันออกได้โดยไม่ต้องเผชิญหน้ากับความขัดแย้งจากทั้งอังกฤษและฝรั่งเศส แต่เหตุการณ์ดังกล่าวได้เพิมความทะเยอทะยานของเขาและหลังจากนั้นก็ได้เริ่มแผนการต่างๆ ซึ่งจะนำไปสู่สงครามในไม่ช้าโดยโอมอามสุดหล่ออบอุ่น
การล่าอาณานิคม คือ หลักการการผนวกดินแดนหรืออำนาจทางเศรษฐกิจ โดยส่วนใหญ่แล้วจะต้องใช้กำลังทหารเข้าช่วย ในอิตาลี เบนิโต มุสโสลินีนั้นมีความต้องการที่จะสร้างจักรวรรดิโรมันใหม่ขึ้นรอบๆ ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน กองทัพอิตาลีได้โจมตีอัลเบเนีย เมื่อต้นปี 1939 ซึ่งเป็นช่วงเริ่มต้นของสงคราม และต่อมาก็กรีซ ก่อนหน้านั้น เขาได้ออกคำสั่งให้โจมตีเอธิโอเปีย เมื่อปี 1935 มาก่อนแล้ว แต่ว่าการกระทำดังกล่าวนี้ ได้รับการตอบสนองน้อยมากจากสันนิบาตชาติและฝ่ายพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง โดยสร้างอาณาจักรของเขานั้นจะเกิดขึ้นระหว่างช่วงที่ผู้คนไม่ปรารถนาสงคราม และช่วงเศรษฐกิจตกต่ำของโลกในช่วงทศวรรษ 1930 ทางด้านเยอรมนีนั้นก็ได้เข้ามาช่วยเหลืออิตาลีหลายครั้ง อิตาลีนั้นได้รับความขมขื่นจากดินแดนเพียงน้อยนิดซึ่งได้รับหลังจากสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ระหว่างการประชุมที่เมืองแวร์ซาย อิตาลีนั้นหวังจะได้ดินแดนจำนวนมากจากจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี แต่กลับได้เพียงดินแดนสองสามเมืองเท่านั้น และคำสัญญาที่ขออัลเบเนียและเอเชียไมเนอร์ก็ถูกผู้นำฝ่ายพันธมิตรอื่นๆ ละเลย
ทางด้านเยอรมนี หลังจากสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง เยอรมนีต้องสูญเสียดินแดนให้แก่ลิทัวเนีย ฝรั่งเศส โปแลนด์ และเดนมาร์ก โดยดินแดนที่เสียไปที่เป็นที่รู้จักกันเป็นอย่างดีก็คือ ฉนวนโปแลนด์ นครเสรีดานซิก แคว้นมาเมล (รวมกับลิทัวเนีย) มณฑลโปเซน และแคว้นอัลซาซ-ลอเรนของฝรั่งเศส และดินแดนที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจมากที่สุด คือ แคว้นซิลิเซียตอนบน ส่วนดินแดนที่มีค่าทางเศรษฐกิจอีกสองแห่ง คือ ซาร์แลนด์และไรน์แลนด์ นั้นอยู่ใต้การยึดครองของฝรั่งเศส และดินแดนที่ถูกฉีกออกไปจำนวนมากนี้ คนที่ไม่ใช่ชาวเยอรมันก็เข้ามาอาศัยเป็นจำนวนมาก
ผลของการสูญเสียดินแดนดังกล่าวก่อให้เกิดความขมขื่นแก่ชาวเยอรมัน และมีความสัมพันธ์อันเลวร้ายกับประเทศเพื่อนบ้าน ภายใต้การปกครองของพรรคนาซี เยอรมนีก็เริ่มต้นการแสวงหาดินแดนเพิ่มเติม ตั้งใจที่จะฟื้นฟูดินแดนอันชอบธรรมของจักรวรรดิเยอรมนี โดยที่สำคัญก็คือ แคว้นไรน์แลนด์และฉนวนโปแลนด์ ซึ่งอาจจะนำไปสู่สงครามที่หลีกเลี่ยงไม่ได้กับโปแลนด์ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการเอาใจของฝ่ายสัมพันธมิตร ทำให้ฮิตเลอร์มั่นใจได้ว่าสงครามกับโปแลนด์จะราบรื่นไปด้วยดี และถึงแม้จะแย่กว่านั้น ก็เพียงแค่เจรจากับฝ่ายสัมพันธมิตรเท่านั้น
นอกจากนี้ ฮิตเลอร์ยังมีแนวคิดที่จะสร้างเยอรมนีอันยิ่งใหญ่ ซึ่งเขาเห็นว่าประชาชนเยอรมันควรที่จะรวมกันเป็นชาติเดียวกัน และรวมไปถึงแผ่นดินที่ชาวเยอรมันได้อาศัยอยู่นั้น โดยในตอนแรก ฮิตเลอร์ได้เพ่งเล็งไปยังออสเตรียและเชโกสโลวาเกีย หลังจากสนธิสัญญาแวร์ซาย เยอรมนีพยายามที่จะรวมตัวกับออสเตรีย แต่ก็ถูกห้ามปรามโดยฝ่ายพันธมิตร เพราะว่าในอดีต ก็เคยมีการรวมตัวเป็นรัฐเยอรมนีในปี 1871 มาก่อน เนื่องจากจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการีประกอบด้วยหลายเชื้อชาติ ดังที่เห็นได้จากปรัสเซียและออสเตรียแข่งขันกันเพื่อแย่งชิงความเป็นใหญ่ในทวีป ภายหลังจากสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ชาวออสเตรียส่วนใหญ่ก็เห็นด้วยที่จะสร้างสหภาพดังกล่าวขึ้น
ด้านสหภาพโซเวียตได้สูญเสียพื้นที่จำนวนมากจากดินแดนของจักรวรรดิรัสเซียเดิม โดยสูญเสียโปแลนด์ ฟินแลนด์ เอสตัวเนีย แลตเวีย ลิทัวเนียและโรมาเนีย ในสงครามโลกครั้งที่หนึ่งและสงครามกลางเมืองรัสเซีย รวมไปถึงดินแดนบางส่วนซึ่งสูญเสียให้แก่ญี่ปุ่น และสหภาพโซเวียตมีความต้องการอย่างยิ่งที่จะเอาดินแดนที่สูญเสียไปทั้งหมดกลับคืน
ฮังการี ซึ่งเคยเป็นพันธมิตรของเยอรมนีในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ถูกฉีกออกไปเป็นดินแดนจำนวนมหาศาล หลังจากที่ฝ่ายพันธมิตรตัดแบ่งจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการีเดิม แต่ว่าฮังการียังคงต้องการที่จะคงความเป็นมิตรต่อกันกับเยอรมนี โดยในช่วงนี้แนวคิดฮังการีอันยิ่งใหญ่ กำลังได้รับความสนับสนุนในหมู่ชาวฮังการี
โรมาเนีย ซึ่งเป็นฝ่ายพันธมิตรในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง และเป็นผู้ชนะสงคราม กลับรู้สึกว่าตนจะเป็นฝ่ายที่สูญเสียผลประโยชน์ในช่วงต้นของสงครามโลกครั้งที่สอง จากผลของสนธิสัญญาโมโลตอฟ-ริบเบนทรอพ ทำให้โรมาเนียต้องสูญเสียดินแดนทางทิศเหนือให้แก่สหภาพโซเวียต คำตัดสินกรุงเวียนนาครั้งที่สอง ทำให้โรมาเนียต้องยกแคว้นทรานซิลวาเนียตอนบนให้แก่ฮังการี และสนธิสัญญาเมืองคราโจวา โรมาเนียต้องยกแคว้นโดบรูจากมห้แก่บัลแกเรีย ในโรมาเนียเองก็มีแนวคิดโรมาเนียอันยิ่งใหญ่ ซึ่งมีเป้าหมายที่จะรวมตัวกับนาซีเยอรมนี
บัลแกเรีย ซึ่งเป็นพันธมิตรกับเยอรมนีในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ได้สูญเสียดินแดนให้แก่กรีซ โรมาเนียและยูโกสลาเวีย ในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่งและในสงครามคาบสมุทรบอลข่านครั้งที่สอง
ฟินแลนด์ ซึ่งสูญเสียดินแดนให้แก่สหภาพโซเวียตในช่วงต้นสงครามโลกครั้งที่สอง (สงครามฤดูหนาว) ดังนั้นเมื่อเยอรมนีโจมตีสหภาพโซเวียตในปี 1941 ฟินแลนด์จึงเข้าร่วมกับเยอรมนี ด้วยหวังว่าตนจะได้รับดินแดนที่สูญเสียไปทั้งหมดกลับคืนมา
ในทวีปเอเชีย จักรวรรดิญี่ปุ่นนั้นมีความต้องการที่จะยึดครองดินแดนเพิ่มเติม เนื่องจากว่าภายหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ญี่ปุ่นได้รับดินแดนเพียงน้อยนิด ถึงแม้ว่าจะได้รับอาณานิคมเดิมของเยอรมนีในจีน และหมู่เกาะอีกจำนวนหนึ่งในมหาสมุทรแปซิฟิกแล้วก็ตาม รวมไปถึงป่าสนไซบีเรีย และเมืองท่าของรัสเซีย วลาดิวอสตอก ญี่ปุ่นนั้นไม่ได้มีความต้องการดินแดนเหล่านี้เลย ยกเว้นหมู่เกาะที่ตนเองตีได้ในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
และประเทศไทย ซึ่งเสียดินแดนกว่าครึ่งประเทศให้แก่ฝรั่งเศสและสหราชอาณาจักรในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 และต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 และมีความต้องการทวงดินแดนคืนเช่นกัน
ในหลายกรณี แนวคิดการล่าอาณานิคมได้นำไปสู่สงครามโลกครั้งที่สอง โดยมีเป้าหมายไปในทางชาตินิยมในการรวมเอาดินแดนดั้งเดิมของตนคืน หรือวาดฝันถึงแผ่นดินอันยิ่งใหญ่ในวันข้างหน้า
ฟาสซิสต์ คือ แนวคิดทางการเมืองที่รัฐบาลจะมีการออกกฎข้อบังคับและการควบคุมทางเศรษฐกิจของประเทศ มีความแข็งแกร่ง และรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง ประชาชนไม่มีสิทธิ์เข้ามาเกี่ยวข้องในการตัดสินใจที่เกี่ยวข้องกับประเทศอย่างเด็ดขาด ปกครองโดยผู้เผด็จการ และมีแนวคิดเกี่ยวกับชาตินิยมอย่างแรงกล้า ในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง หลายประเทศในทวีปยุโรปอยู่ภายใต้การปกครองด้วยฟาสซิสต์ ซึ่งสรุปแนวทางการปกครองได้ว่า การปกครองที่ดีคือการควบคุมประชาชนและอุตสาหกรรมของประเทศ
ฟาสซิสต์ได้มองกองทัพว่าเป็นสัญลักษณ์ของปวงชน ซึ่งประชาชนควรจะเอาเป็นเยี่ยงอย่าง หลายประเทศฟาสซิสต์จึงมีนักการทหารเป็นจำนวนมาก และการให้ความสำคัญแก่วีรบุรุษนี่เองที่เป็นอุดมคติของฟาสซิสต์ ในหนังสือ The Doctrine of Fascism ซึ่งเขียนโดยเบนิโต มุสโสลินี เขาประกาศว่า "ฟาสซิสต์ไม่ได้มีความเชื่อในความเป็นไปได้และประโยชน์ใดๆ ในสันติภาพนิรันดรแต่อย่างใด" ฟาสซิสต์เชื่อว่าสงครามจะเป็นการทำให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมใหม่ และเริ่มเสาะแสวงหาสงคราม ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการุรกรานประเทศจากฝ่ายอักษะ ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง
สหรัฐอเมริกาได้มีแนวคิดที่จะโดดเดี่ยวทางการเมืองกับประเทศภายนอกช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง โดยที่สหรัฐอเมริกาเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับเหตุการณ์ในซีกโลกตะวันตกและมหาสมุทรแปซิฟิกเท่านั้น สหรัฐอเมริกาตัดสินใจที่จะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเมืองในทวีปยุโรป แต่ว่ายังคงมีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่แนบแน่น
ความรู้สึกของประชาชนในอังกฤษและฝรั่งเศสก็มีแนวคิดที่จะโดดเดี่ยวเช่นกัน และเบื่อหน่ายสงคราม นายเนวิล เชมเบอร์แลนด์ กล่าวถึงเชโกสโลวะเกียว่า: "โอ้ ช่างเลวร้ายและมหัศจรรย์เหลือเกินที่เราชาวอังกฤษไปขุดสนามเพลาะและพยายามใส่หน้ากากกันก๊าซพิษที่นั่น เพราะว่าความขัดแย้งอยู่ไกลจากตัวเรานัก ระหว่างคนสองจำพวกที่เราไม่รู้จัก ข้าพเจ้านั้นเป็นบุคคลแห่งสันติภาพมาจากส่วนลึกของวิญญาณของข้าพเจ้า" ภายในไม่กี่ปี โลกก็เข้าสู่สงครามเบ็ดเสร็จ
ความนิยมทางการทหารของผู้นำเยอรมนี ญี่ปุ่นและอิตาลี ได้นำไปสู่ความก้าวร้าวรุนแรง ประกอบกับที่กองทัพของทั้งสามประเทศนั้นถูกประเทศอื่นมองข้ามไป ดังที่เห็นได้จาก เยอรมนีประกาศเกณฑ์ทหารอีกครั้งในปี 1935 ด้วยเป้าหมายที่จะสร้างกำลังทหารขึ้นมาใหม่ และเป็นการขัดต่อสนธิสัญญาแวร์ซาย
ลัทธิชาตินิยม มีความเชื่อว่า คนชาติพันธุ์เดียวกันควรจะอยู่รวมกันทั้งในดินแดนเดียวกัน วัฒนธรรมเดียวกันและอยู่ร่วมกันทางมนุษยชาติ ผู้นำของเยอรมนี อิตาลีและญี่ปุ่นมักจะใช้แนวคิดดังกล่าวเพื่อให้ได้รับแรงสนับสนุนจากปวงชนในประเทศ ลัทธิฟาสซิสต์นั้นตั้งอยู่บนรากฐานของลัทธิชาตินิยม และคอยมองหา "รัฐชาติ" ที่รวมกันเป็นหนึ่งเดียวกัน ฮิตเลอร์และพรรคนาซีนำลัทธิชาตินิยมไปในเยอรมนี ซึ่งประชาชนเยอรมันได้มีศรัทธาอย่างแรงกล้า ในอิตาลี แนวคิดที่จะสร้างจักรวรรดิโรมันใหม่ขึ้นมาได้ดึงดูดชาวอิตาลีจำนวนมาก และในญี่ปุ่น ด้วยความทระนงในหน้าที่และเกียรติยศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง องค์จักรพรรดิ ได้ถูกเผยแพร่ในญี่ปุ่นมาเป็นเวลาหลายศตวรรษแล้ว
พรรคนาซีได้นำแนวคิดทางสังคมของชาร์ลส์ ดาร์วิน ได้กล่าวถึงชนชาติทัวทันและชนชาติสลาฟว่าจำเป็นต้องแย่งชิงความเป็นใหญ่ และจำเป็นต้องแย่งชิงพื้นที่และทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด โดยได้กล่าวว่าชนชาติเยอรมัน คือ "เชื้อสายอารยัน" ซึ่งมีแนวคิดอย่างชัดเจนว่าชาวสลาฟต้องตกเป็นเบี้ยล่างของชาวเยอรมัน ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ฮิตเลอร์ได้ใช้แนวคิดการแบ่งแยกเชื้อชาติดังกล่าวเพื่อพวกที่ไม่ใช่อารยัน โดยพวกที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายดังกล่าวอย่างร้ายแรง ก็คือ ชาวยิว ชาวโซเวียต และยังมีการกีดกันพวกรักร่วมเพศ ผู้ที่ทุพพลภาพ ผู้ที่มีอาการป่วยทางจิต ชาวยิปซี สมาคมฟรีเมสันและผู้นับถือคริสต์ศาสนานิกายพยานพระเยโฮวาห์
สนธิสัญญาแวร์ซายมิได้ประนีประนอมให้แก่เยอรมนีแต่อย่างใด ฝ่ายพันธมิตรผู้ชนะสงครามโลกครั้งที่หนึ่งได้พยายามทุกวิถีทางเพื่อป้องกันมิให้เยอรมนีกลับขึ้นมาท้าทายอำนาจในทวีปยุโรปอีกครั้ง
สนธิสัญญาแวร์ซายถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนาหูว่าเป็นมลทินของสงคราม เพราะเป็นการโยนความผิดให้แก่จักรวรรดิเยอรมนีและจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการีเดิม และลงโทษอย่างหนักเพื่อเรียกร้องให้พวกเขารับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสงคราม โดยผู้ชนะสงครามได้หวังว่าสนธิสัญญานี้จะได้กลายเป็นสิ่งที่สามารถธำรงสันติภาพให้เกิดขึ้นในโลกได้ ผลที่ตามมมา คือ เยอรมนีจำเป็นต้องจ่ายค่าปฏิกรรมสงครามเป็นจำนวนมหาศาล การสูญเสียดินแดนอาณานิคมทั้งหมด การจัดระเบียบทางเชื้อชาติขนานใหญ่ หลังจากนั้น เศรษฐกิจเยอรมันก็ร่วงดิ่งลงไปอย่างหนัก อัตราเงินเฟ้อสูงลิบ สาธารณรัฐไวมาร์จำเป็นต้องพิมพ์ธนบัตรกว่าล้านล้านฉบับออกมาและต้องกู้ยืมเงินจำนวนมหาศาลจากสหรัฐอเมริกา เพื่อใช้หนี้แก่สหราชอาณาจักรและฝรั่งเศสซึ่งเป็นผู้ชนะในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
สนธิสัญญาแวร์วายนั้นก่อให้เกิดความขมขื่นแก่ประชาชนผู้แพ้สงคราม แม้ว่าฝ่ายพันธมิจตรผู้ชนะสงครามจะให้สัญญาแก่ประชาชนชาวเยอรมันว่าแนวทาง หลักการสิบสี่ข้อ ของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา วูดโรว์ วิลสัน จะเป็นแนวทางที่จะนำไปสู่สันติภาพ ชาวเยอรมันส่วนมากเข้าใจว่ารัฐบาลเยอรมันได้ตกลงในสนธิสัญญาสงบศึกตามความเข้าใจนี้ ขณะที่ส่วนอื่นได้เข้าใจว่า การปฏิวัติเยอรมนี ได้ถูกก่อขึ้นโดย "กลุ่มอาชญากรเดือนพฤศจิกายน" ผู้ซึ่งต่อมาในมีตำแหน่งในสภาของสาธารณรัฐไวมาร์ วิลสันนั้นไม่สามารถเชิญชวนให้ฝ่ายพันธมิตรยอมปฏิบัติตามข้อเสนอของเขา และไม่สามารถชักจูงให้รัฐสภาคองเกรสแห่งสหรัฐอเมริกาให้ลงมติยอมเข้าร่วมกับสันนิบาตชาติ
ฝ่ายพันธมิตรมิได้ครอบครองส่วนใดๆ ของเยอรมนี แม้ว่าจะมีการรบในแนวรบด้านตะวันตกมาเป็นเวลาหลายปี มีเพียงแต่อาณานิคมโพ้นทะเลของเยอรมนีเท่านั้นที่ถูกยึดครอง และอิตาลีก็ได้แคว้นทีรอลตอนใต้ไปหลังจากการเจรจาเริ่มต้น สงครามในแนวรบด้านตะวันออกทำให้จักรวรรดิรัสเซียล่มสลาย และทำให้เยอรมนีได้รับดินแดนมหาศาลทางยุโรปกลางและยุโรปตะวันออก
ยังมีผู้ที่มองสนธิสัญญาแวร์ซายตรงกันข้ามว่าสนธิสัญญาดังกล่าวไม่ได้ทำให้เยอรมนีต้องประสบกับความยากลำบากมากแต่ประการใด เพราะว่าเยอรมนียังคงสามารถกลับมาเป็นชาติมหาอำนาจที่คอยท้าทายมหาอำนาจตะวันตกอีกครั้ง ซึ่งไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของฝ่ายพันธมิตร อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตามมาภายหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ทำให้ผลของสนธิสัญญาแวร์ซายไม่กระจ่างชัด โดยเหตุการณ์ที่สำคัญที่สุด คือ การแพร่ขยายของลัทธิคอมมิวนิสต์ และสนธิสัญญาแวร์ซายก็เป็นหนึ่งในตัวการของการขึ้นสู่อำนาจของพรรคนาซี
นอกจากทรัพยากรถ่านหินและเหล็กในปริมาณน้อยนิด ญี่ปุ่นนับได้ว่าขาดแหล่งทรัพยากรธรรมชาติ ญี่ปุ่นในสมัยนั้น เป็นเพียงประเทศเดียวในทวีปเอเชียซึ่งมีความเจิรญทางด้านอุตสาหกรรมจนทัดเทียมประเทศตะวันตก เกรงว่าตนจะขาดแคลนวัตถุดิบเพื่อเตรียมการทำสงครามกับสหภาพโซเวียต ญี่ปุ่นนั้นได้วางเป้าหมายโดยเสาะแสวงหาทรัพยากรธรรมชาติเพิ่มเติม ญี่ปุ่นบุกครองแมนจูเรีย ในปี ค.ศ. 1931 เพื่อนำวัตถุดิบไปป้อนให้แก่โรงงานอุตสาหกรรมของตนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ พวกชาตินิยมจีนทางตอนใต้ของแมนจูเรียได้พยายามขับไล่กองทัพญี่ปุ่นออกไป สงครามครั้งนี้กินเวลาไปสามเดือนและสามารถผลักดันกองทัพจีนลงมไปทางใต้ แต่ว่าเมื่อวัตถุดิบที่ได้รับในแคว้นแมนจูเรียก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของประเทศ กองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นจึงวางแผนที่จะเสาะหาวัตถุดิบเพิ่มเติม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ ทรัพยากรน้ำมัน
เพื่อเยียวยาความเสียหายดังกล่าวและเพื่อเป็นการรักษาแหล่งทรัพยากรน้ำมันและทรัพยากรธรรมชาติอื่นๆ อาจทำให้ญี่ปุ่นต้องเผชิญหน้ากับการล่าอาณานิคมของชาติตะวันตก ซึ่งยังครอบครองแหล่งน้ำมันอยู่เป็นจำนวนมาก อย่างเช่น หมู่เกาะอินเดียตะวันออกของดัตช์ โดยเคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านการล่าอาณานิคมของตะวันตกอาจจะนำไปสู่ความขัดแย้งกับสหรัฐอเมริกาได้ เมื่อเดือนสิงหาคม 1941 สหรัฐอเมริกาซึ่งนำเข้าน้ำมันจากญี่ปุ่นเป็นจำนวนกว่า 80% ได้ประกาศคว่ำบาตรทางการค้า ทำให้เศรษฐกิจและกำลังทหารของญี่ปุ่นกลายเป็นอัมพาต ญี่ปุ่นมีทางเลือก คือ ยอมเอาใจสหรัฐอเมริกา เจรจาประนีประนอม หาแหล่งทรัพยากรอื่นหรือใช้กำลังทหารเข้ายึดแหล่งทรัพยากรตามแผนการเดิม ญี่ปุ่นได้ตกลงใจเลือกทางเลือกสุดท้าย และหวังว่ากองกำลังของตนจะสามารถทำลายสหรัฐอเมริกาได้นานพอที่จะบรรลุวัตถุประสงค์เดิม ดังนั้นญี่ปุ่นจึงโจมตีฐานทัพเรือสหรัฐอเมริกาที่เพิร์ล ฮาเบอร์ ในวันที่ 7 ธันวาคม ค.ศ. 1941 ซึ่งได้กลายมาเป็นความผิดพลาดใหญ่หลวงของญี่ปุ่น
สันนิบาตชาติ คือ องค์การระหว่างประเทศซึ่งจัดตั้งขึ้นหลังจากสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง เพื่อป้องกันสงครามที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต แนวทางปฏิบัติของสันนิบาตชาติ คือ การจำกัดอาวุธ โดยใช้หลักการ ความมั่นคงส่วนรวม การระงับข้อพิพาทระหว่างประเทศโดยเจรจาทางการทูตและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากรโลก ปรัชญาทางการทูตของสันนิบาตชาติได้แสดงให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของรากเหง้าทางความคิดกว่า 100 ปีก่อนหน้านี้ ปรัชญาเก่า ได้เริ่มขึ้นจาก สภากรุงเวียนนา ในปี ค.ศ. 1815 ซึ่งทวีปยุโรปได้มีการเปลี่ยนแปลงอาณาเขตในหลายประเทศ และทำให้เกิดการถ่วงดุลอำนาจและข้อตกลงลับระหว่างพรรคพวก ภายใต้ปรัชญาใหม่ สันนิบาตชาติ คือ รัฐบาลที่ปกครองรัฐบาล เพื่อยุติความขัดแย้งระหว่างประเทศในการเปิดกระทู้ถาม แรงกระตุ้นที่ทำให้เกิดสันนิบาตชาติ คือ ประธานาธิบดีวู้ดโรว์ วิลสัน ถึงแม้ว่าสหรัฐอเมริกาจะมิได้เข้าร่วมก็ตาม เหตุการณ์ซึ่งตามมาภายหลังได้ให้บทเรียนแก่สมาชิกของสันนิบาตชาติว่าการพัฒนาทางอุตสาหกรรมและอำนาจทางทหารจะมีอำนาจเหนือกว่าความต้องการของสันนิบาติชาติ
สันนิบาตชาติมีกำลังทหารไม่เพียงพอ ต้องขึ้นอยู่กับความตั้งใจของสมาชิกสันนิบาตชาติ การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจซึ่งทางสันนิบาตสั่งให้ทำ หรือเพิ่มเติมกำลังทหารให้แก่สันนิบาต ซึ่งส่วนใหญ่สมาชิกไม่เต็มใจที่จะทำ
หลังจากความสำเร็จจำนวนมากและความล้มเหลวเพียงเล็กน้อยของสันนิบาตชาติในช่วงคริสต์ทษวรรษ 1920 สันนิบาตชาติก็ไม่อาจป้องกันความรุนแรงของมหาอำนาจอักษะ ในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1930 ได้เลย เนื่องจากสหรัฐอเมริกาไม่ได้เข้าเป็นสมาชิกของสันนิบาตชาติ ความเป็นหนึ่งเดียวกัน ความอ่อนแอของกองทัพและความเห็นแก่ตัวซึ่งยังคงดำเนินต่อไปนั้นหมายความว่าสันนิบาตชาติย่อมถึงคราวล่มสลาย
สืบเนื่องมาจากตลาดหุ้นวอลล์สตรีทของสหรัฐอเมริกาล่มในปี ค.ศ. 1929 ได้ก่อให้เกิดผลกระทบทั่วทั้งโลก กลุ่มประเทศในทวีปยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ เยอรมนี ได้รับผลกระทบอย่างมาก ซึ่งได้นำไปสู่การตกงาน ความยากจนและการก่อจลาจลไม่สิ้นสุด และความรู้สึกหมดหวัง ก่อได้ทำให้ในเยอรมนี อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ได้รับการเลือกตั้งอย่างถล่มถลายและขึ้นสู่อำนาจในเยอรมนี รวมไปถึงผู้นำเผด็จการอื่นๆ ในสมัยนั้น
โรงเรียนบางแห่งได้อธิบายถึงสงครามโลกครั้งที่สองว่าเป็นการทำให้สงครามกลางเมืองยุโรปขยายวงกว้างขึ้นนับตั้งแต่สงครามฝรั่งเศส-ปรัสเซีย ในวันที่ 19 กรกฎาคม ค.ศ. 1870 ซึ่งได้ก่อให้เกิดผลกระทบแก่ทวีปยุโรปไม่มากก็น้อย รวมไปถึง สงครามกลางเมืองสเปนและสงครามกลางเมืองรัสเซีย
สงครามฝรั่งเศส-ปรัสเซียเริ่มต้นขึ้นในสมัยของจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 ซึ่งพระองค์ได้รับรู้ถึงภัยคุกคามที่มาจากเยอรมนีและต่อมาได้ประกาศสงคราม ช่วงเวลาดังกล่าวได้ทำให้ฝรั่งเศสอ่อนแอลงมาก และมีผลจนกระทั่งศตวรรษที่ 20
ชัยชนะของสงครามเป็นของปรัสเซียอย่างท้วมท้น และทำให้เกิด การรวมชาติเยอรมนีขึ้น แคว้นอัลซาซ-ลอแรนของฝรั่งเศสตกอยู่ในมือของเยอรมนี ฝรั่งเศสหวั่นเกรงมากถึงกับต้องถ่วงดุลอำนาจกับเยอรมนีโดยแสวงหาพันธมิตรกับสหราชอาณาจักรและจักรวรรดิรัสเซีย
ด้วยความจริงที่ว่าสงครามโลกครั้งที่หนึ่งยุติลงด้วยการยอมแพ้ของเยอรมนีอย่างกะทันหัน หลายคนจึงอาจนับว่าสงครามโลกครั้งที่สองนั้นสืบเนื่องมาจากสงครามโลกครั้งแรก กองทัพพันธมิตรไม่ได้เหยียบแผ่นดินเยอรมนีเลยแม้แต่นายเดียว และประชาชนเยอรมันยังคาดหวังว่าสนธิสัญญาสันติภาพที่ตามมาจะยึดตามหลักเกณฑ์ของ หลักสิบสี่ข้อ ซึ่งหมายความว่า ชาวเยอรมันนั้นโต้เถียงว่า "คนทรยศ" มิได้ยอมจำนนต่อฝ่ายพันธมิตร เยอรมนียังสามารถที่จะเอาชนะสงครามได้ แต่ว่ากลับไม่เป็นเช่นนั้น เงื่อนไขของสันติภาพนั้นคิอการลงทัณฑ์เยอรมนีให้รับผิดชอบต่อความเสียหายในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง มลทินซึ่งได้ทำให้เยอรมนีกลายขมขื่น ประชาชนเยอรมันจึงพยายามที่จะฟื้นฟูประเทศและหาทางล้างแค้น
กลุ่มชาตินิยมหลายกลุ่มยังคงตกอยู่ใต้กับดักของชาติอื่น ตัวอย่างเช่น ยูโกสลาเวีย ซึ่งเดิมเป็นราชอาณาจักรชาวเซิร์บ โครแอตและสโลเวนส์ มีกลุ่มเชื้อชาติกว่า 5 เชื้อชาติ ได้แก่ พวกเซิร์บ โครแอต มาซิดอน มอนเตเนกรินส์และสโลเวนส์ ได้ถือกำเนิดขึ้นหลังจากสงคราม ตัวอย่างอื่น ได้แก่ การแยกดินแดนดั้งเดิมของจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการีได้มีการฉีกออกไปอย่างปราศจากเหตุผลอันสมควรและปราศจากความยุติธรรมภายหลังสงคราม โดยสังเกตได้จาก ฮังการีก็มีส่วนที่จะต้องรับผิดชอบต่อผลของสงครามและต้องสูญเสียดินแดนไปกว่าสองในสามส่วน ขณะที่ออสเตรีย ซึ่งเป็นประเทศเดียวกัน มีคณะรัฐบาลร่วมกัน กลับได้รับแคว้นเบอร์เกนแลนด์ แม้ว่าจะสูญเสียความซูเดนเตแลนด์ก็ตาม
ชาวเยอรมันอยู่ในภาวะลำเข็ญหลังสิ้นสุดสงคราม หลังจากสงคราม กองทัพเรือเยอรมันเริ่มกำเริบ และกองทัพบกเยอรมันก็สิ้นหวังเมื่อต้องเผชิญหน้ากับศัตรูที่เหนือกว่าทั้งกำลังคนและอาวุธ ตามความจริงในข้อนี้ ชาวเยอรมันบางคน เช่น อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ได้พัฒนาแนวคิดที่ว่ากองทัพเยอรมันควรจะได้รับชัยชนะ ฮิตเลอร์ได้ใช้แนวคิดดังกล่าวในการปลุกระดมชาวเยอรมันให้เชื่อว่าถ้าหากเกิดสงครามขึ้นอีกครั้ง ฝ่ายเยอรมนีจะต้องได้รับชัยชนะอย่างแน่นอน
สาธารณรัฐไวมาร์ได้ขึ้นมาปกครองประเทศเยอรมนีช่วงระหว่างปี 1918 ถึงปี 1933 ชื่อของสาธารณรัฐได้มาจากนครเยอรมัน ชื่อ ไวมาร์ ซึ่งที่ประชุมสภาแห่งชาติได้กำหนดรัฐธรรมนูญใหม่ขึ้นมา หลังจากที่จักรวรรดิเยอรมันล่มสลายหลังจากสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง การปกครองของสาธารณรัฐเป็นแบบประชาธิปไตยที่เคารพสิทธิของเสียงข้างน้อย เหมือนกับฝรั่งเศสและสหรัฐอเมริกา
พรรคนาซีได้พยายามใช้กำลังเพื่อยึดอำนาจจากรัฐบาลใน กบฏโรงเบียร์ ในวันที่ 8 พฤศจิกายน ถึงวันที่ 9 พฤศจิกายน ค.ศ. 1923 แต่ก็ไม่สำเร็จ ผู้นำนาซีถูกจับกุม
ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ได้ทำให้เกิดอัตราว่างงานกว่า 33% ในเยอรมนี และอีก 25% ในสหรัฐอเมริกา ทำให้ประชาชนให้ความสนับสนุนแก่การปกครองแบบเผด็จการ เพื่อต้องการการงานที่มั่นคงและอาหารที่เพียงพอดำรงชีวิต
ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ได้ทำลายเศรษฐกิจเยอรมนีเป็นอันดับสองรองจากสหรัฐอเมริกาเท่านั้น ชาวเยอรมันผู้ตกงานได้สนับสนุนแนวคิดของพรรคนาซี ซึ่งเคยเสียความน่าเชื่อถือไปบ้าง เนื่องจากมีสมาชิกของพรรคที่ไม่แน่นอน เหตุการณ์ดังกล่าวได้ทำให้ฮิตเลอร์ก้าวขึ้นสู่อำนาจในเยอรมนี และเป็นเชื้อไฟของสงครามโลกครั้งที่สองในทวีปยุโรป หลังจากสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง โรงงานอุตสาหกรรมและธุรกิจธนาคารได้เข้าไปลงทุนเพื่อสร้างทวีปยุโรปขึ้นมาใหม่ แต่หลังจาก เหตุการณ์ตลาดหุ้นวอลล์ สตรีทพังทลายปี 1929 นักลงทุนในสหรัฐอเมริกาก็เลิกการลงทุนในทวีปยุโรป
ฮิตเลอร์ได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเยอรมนีเมื่อวันที่ 30 มกราคม ค.ศ. 1933 เขาได้ใช้เหตุการณ์เพลิงไหม้รัฐสภาไรช์สทัก (ซึ่งมีบางคนกล่าวว่าพรรคนาซีเป็นต้นเหตุเสียเอง) เป็นเหตุให้เขายกเลิกเสรีภาพของประชาชนและนักการเมืองทั้งหมด ซึ่งได้ออกประกาศโดยประธานาธิบดีเพาล์ ฟอน ฮินเดนบูร์ก และรัฐบาลผสม ซึ่งมีแนวความคิดเอียงขวา นำโดยอดอล์ฟ ฮิตเลอร์
หลังจากการเลือกตั้งครั้งใหม่ พรรคนาซีได้ล้มล้างระบบรัฐสภา รัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐไวมาร์ และล้มล้างรัฐสภาอย่างเต็มรูปแบบผ่านรัฐบัญญัติมอบอำนาจ เมื่อวันที่ 23 มีนาคม ซึ่งพรรคนาซีวางแผน เกลอิชซชาลทุง และทำให้ถูกต้องตามกฎหมายในเยอรมนี ทำให้อำนาจการปกครองถูกรวมเข้าสู่ศูนย์กลาง คือ พรรคนาซี ใน "คืนแห่งมีดเล่มยาว" สมาชิกพรรคนาซีได้สังหารศัตรูทางการเมืองของฮิตเลอร์ หลังจากฮินเดนเบิร์กถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม ค.ศ. 1934 ตำแหน่งประธานาธิบดีแห่งเยอรมนีตกเป็นของฮิตเลอร์ โดยไม่เกิดการต่อต้านจากผู้บัญชาการระดับสูง คำสาบานของเหล่าทหารนั้นหมายความว่า ทหารเยอรมันจะยอมเชื่อฟังอดอล์ฟ ฮิตเลอร์โดยสมบูรณ์
ต่อมา ฮิตเลอร์ได้ฝ่าฝืนสนธิสัญญาแวร์ซายและสนธิสัญญาโลคาร์โน เยอรมนีได้ส่งทหารกลับเข้าประจำการในแคว้นไรน์แลนด์ เมื่อวันที่ 7 มีนาคม ค.ศ. 1936 ซึ่งก็ได้รับความสำเร็จอย่างงดงาม กองทหารเยอรมันเดินทางโดยรถจักรยาน และสามารถถูกยับยั้งอย่างง่ายดายถ้าหากฝ่ายสัมพันธมิตรยกเลิกแผนการเอาใจฮิตเลอร์ ฝรั่งเศสไม่สามารถทำอะไรได้ในเวลานั้น เนื่องจากขาดเสถียรภาพทางการเมือง และอีกประการหนึ่ง คือ การส่งทหารกลับเข้าประจำการนั้นเกิดขึ้นในวันสุดสัปดาห์ และรัฐบาลอังกฤษยังไม่สามารถประชุมหารือกันได้จนกว่าจะถึงวันจันทร์ ผลที่ตามมา คือ อังกฤษก็มิได้ห้ามปรามเยอรมนีแต่อย่างใด
เบนิโต มุสโสลินีได้พยายามขยายอาณาเขตของจักรวรรดิอิตาลีในทวีปแอฟริกาด้วยการบุกครองเอธิโอเปีย ซึ่สามารถดำรงเอกราชได้จากชาติยุโรปผู้แสวงหาอาณานิคมอื่นๆ ในคำแก้ตัวของเหตุการณ์วอลวอล เมื่อเดือนกันยายน 1935 อิตาลีบุกครองเอธิโอเปียเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม โดยปราศจากการประกาศสงครามอย่างเป็นทางการ สันนิบาตชาติได้ประกาศว่าอิตาลีเป็นผู้บุกครอง แต่ก็ไม่สามารถลงโทษอิตาลีได้แต่อย่างใด
สงครามดำเนินไปอย่างเชื่องช้า แม้ว่าฝ่ายอิตาลีจะมีกำลังคนและอาวุธที่ดีกว่า (รวมไปถึง ก๊าซมัสตาร์ด) เมื่อวันที่ 31 มีนาคม ค.ศ. 1936 กองทัพอิตาลีได้รับชัยชนะเด็ดขาดในสงครามที่ ยุทธการเมย์ชิว จักรพรรดิฮาลี เซลาสซี ได้หลบหนีออกนอกประเทศเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม ต่อมา สามารถยึดเมืองหลวง เอดิส อบาบา ได้เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม และอิตาลีสามารถยึดครองได้ทั้งประเทศเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม และรวมเอาเอริเทรีย เอธิโอเปียและโซมาลีแลนด์เข้าด้วยกันเป็นรัฐเดี่ยว เรียกว่า แอฟริกาตะวันออกของอิตาลี
เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 1936 จักรพรรดิฮาลี เซลาสซีได้กล่าวสุนทรพจน์ต่อสันนิบาติชาติประณามการกระทำของอิตาลีและวิพากษ์วิจารณ์ต่อประเทศอื่นที่ไม่ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ พระองค์ได้เตือนว่า "วันนี้เป็นคราวของเรา แต่มันจะถึงคราวของท่านเมื่อถึงวันพรุ่งนี้" และจากการที่สันนิบาติชาติกล่าวโจมตีอิตาลี มุสโสลินีจึงประกาศให้อิตาลีถอนตัวออกจากความเป็นสมาชิกของสันนิบาติชาติ
เยอรมนีและอิตาลีได้ให้ความช่วยเหลือแก่พวกชาตินิยมสเปน นำโดยนายพลฟรานซิสโก ฟรังโก ทางด้านสหภาพโซเวียตเองก็ได้ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือฝ่ายรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐสเปนซึ่งรัฐบาลโซเวียตเห็นว่ารัฐบาลสเปนมีแนวคิดเอียงซ้าย ทั้งสองฝ่ายได้นำยุทโธปกรณ์และยุทธวิธีใหม่ออกมาใช้ทำสงคราม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ การทิ้งระเบิดทางอากาศ
การบุกครองเริ่มต้นขึ้นเมื่อฝ่ายญี่ปุ่นส่งเครื่องบินทิ้งระเบิดเข้าทำลายหัวเมืองหลายแห่ง เช่น เซี่ยงไฮ้ หนานจิงและกว่างโจว และท้ายสุด เมื่อวันที่ 22 และ 23 กันยายน 1937 ได้มีการยื่นคำร้องประท้วง และลงเอยด้วยการลงมติของคณะกรรมการการข่าวภาคพื้นตะวันออกไกลของสันนิบาติชาติ
ผลที่ตามมา กองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นสามารถยึดเมืองหลวงของจีน คือ หนานจิง และกระทำความโหดร้ายทารุณ เป็นต้นว่า การสังหารหมู่ที่นานกิง
การผนวกออสเตรียเข้าสู่เยอรมนีในปี 1938 ตามประวัติศาสตร์แล้ว แนวคิดในการสร้างเยอรมนีอันยิ่งใหญ่นั้นก็ได้รับความนิยมในประเทศออสเตรียไม่แพ้กับในประเทศเยอรมนี ซึ่งได้ปรากฏว่าเพียงหลังจากสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง รัฐธรรมนูญของทั้งสองประเทศได้กำหนดให้ แคว้นเยอรมันออสเตรีย เป็นส่วนหนึ่งของเยอรมนี แต่ว่าการกระทำดังกล่าวได้รับการขัดขวางโดยสนธิสัญญาแวร์ซาย เมื่อเวลาผ่านไป ชาวออสเตรียจำนวนมากก็ลืมเรื่องนี้ไป ในฐานะเช่นนี้ พรรคชาติสังคมนิยมแห่งออสเตรียและขบวนการชาตินิยมเยอรมนีแห่งออสเตรียได้พึ่งพาประเทศเยอรมนี นาซีเยอรมนีได้ทำให้พรรคนาซีแห่งออสเตรียถูกกฎหมาย ซึ่งพวกเขาได้มีส่วนสำคัญในการลอบสังหารอัครเสนาบดีแห่งออสเตรีย เอนเกลเบิร์ต ดอลฟัส และให้สมาชิกของพรรคนาซีแห่งออสเตรียหลายคนมีอำนาจในการบริหารประเทศ
หลังจากที่ฮิตเลอร์กล่าวสุนทรพจน์ที่รัฐสภาไรซ์ตาร์ก ผู้ที่สืบทอดตำแหน่งจากนายดอลฟัส คือ Kurt Schuschnigg ได้พูดอย่างชัดเจนว่า เขาไม่สามารถผลักดันได้ไกลกว่านี้อีก ท่ามกลางแรงกดดันมหาศาลจากนาซีเยอรมนี เขาจึงได้จัดการลงประชามติ ด้วยความหวังว่าออสเตรียจะยังรักษาเอกราชของตนไว้ได้ เพียงแต่ว่าหนึ่งวันก่อนหน้า พรรคนาซีแห่งออสเตรียสามารถก่อรัฐประหารสำเร็จ และขึ้นสู่อำนาจในออสเตรีย หลังจากการยึดอำนาจครั้งนี้ ฮิตเลอร์ได้ออกคำสั่งให้ทหารเยอรมันเดินเข้าสู่พื้นที่ และพรรคนาซีแห่งออสเตรียได้ถ่ายโอนอำนาจให้แก่นาซีเยอรมนีอย่างรวดเร็ว ชาวออสเตรียไม่ได้ลุกขึ้นมาต่อต้านเหตุการณ์ในครั้งนี้เลย เนื่องจากพวกเขามีความต้องการเช่นนี้อยู่แล้ว และออสเตรียสิ้นสุดการเป็นรัฐเอกราชอย่างสิ้นเชิง อังกฤษ ฝรั่งเศสและฟาสซิสต์อิตาลีซึ่งเคยมีต่อต้านแนวคิดการรวมชาตินี้อย่างรุนแรง ทว่าในตอนนี้กลับไม่ทำอะไรเลย แต่ที่สำคัญก็คือ ชาติเหล่านี้กลับทะเลาะกันเองและทำลายความมั่นคงของแนวสเตรซา และเนื่องจากว่าอิตาลีไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องยอมรับการผนวกดินแดนครั้งนี้ด้วยความไม่ชอบใจ แต่อิตาลีไม่มีความจำเป็นใดที่จะต้องต่อต้านเยอรมนีอีก ต่อมา อิตาลีจึงเริ่มมีความใกล้ชิดกับพรรคนาซี
ซูเตเดนแลนด์ก็เป็นอีกหนึ่งแคว้นซึ่งประชากรส่วนใหญ่เป็นคนที่พูดภาษาเยอรมัน ตั้งอยู่ทางตะวันตกของเชโกสโลวาเกียซึ่งมีอาณาเขตดิดต่อกับนาซีเยอรมนี รวมไปถึงมันมีระบบการป้องกันซึ่งสร้างขึ้นผ่านเขตภูมิประเทศที่เป็นภูเขา และมีขนาดใหญ่ยิ่งกว่า แนวมากินอต แคว้นซูเดเตนแลนด์มีขนาดเป็นหนึ่งในสามของแคว้นโบฮีเมียเมื่อเทียบกันในด้านขนาด จำนวนประชากรและความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ เชโกสโลวาเกียมีกองทัพอันทันสมัย 38 กองพล และมีอุตสาหกรรมการผลิตอาวุธที่ดี เป็นพันธมิตรทางการทหารกับฝรั่งเศสและสหภาพโซเวียต
ฮิตเลอร์ได้กดดันให้แคว้นซูเดเตแลนด์รวมเข้ากับนาซีเยอรมนี และยังได้สนับสนุนกลุ่มแบ่งแยกดินแดนชาวเยอรมันในพื้นที่ ตามข้อกล่าวหาที่ว่าพวกเช็คข่มเหงและทำร้ายชาวเยอรมัน ทำให้กลุ่มชาตินิยมโอนเอียงไปทางนาซีเยอรมนี หลังจากฮิตเลอร์ผนวกออสเตรียแล้ว พรรคการเมืองเยอรมันทุกพรรค (ยกเว้นพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยแห่งเยอรมนี) รวมเข้ากับ พรรคซูเตเดนเยอรมันทั้งหมด กิจกรรมทางการทหารและพวกที่นิยมความรุนแรงได้เผยตัวออกมาในช่วงเวลานี้ รัฐบาลเชโกสโลวาเกียจึงประกาศกฎอัยการศึกในแคว้นซูเตเดนแลนด์เพื่อรักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อย แต่ว่ากฎดังกล่าวก็เป็นเพียงการเข้าแทรกแซงเหตุการณ์เท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนที่พวกชาตินิยมเชโกสโลวาเกียผุดขึ้นมา และหมดความเคลือบแคลงกระตุ้นของรัฐบาลนาซีและรัฐบาลสโลวาเกีย พรรคนาซีสบโอกาส อ้างว่าจะผนวกซูเตเดนแลนด์เข้าสู่นาซีเยอรมนีเพื่อปกป้องชาวเยอรมันในพื้นที่
ในข้อตกลงมิวนิก ซึ่งได้ลงนามกันเมื่อวันที่ 30 กันยายน ค.ศ. 1938 นายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักร นายเนวิล เชมเบอร์แลนด์ และผู้นำฝรั่งเศสได้เอาใจฮิตเลอร์ ฝ่ายสัมพันธมิตรได้ปล่อยให้เยอรมนีส่งทหารเข้าสู่พื้นที่และให้รวมเข้าสู่นาซีเยอรมนี "เพื่อประโยชน์แก่สันติภาพ" เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยน ฮิตเลอร์ได้ให้สัญญาว่าเขาจะไม่แสวงหาดินแดนใหม่เพิ่มเติมในทวีปยุโรป เชโกสโลวาเกียซึ่งได้เรียกระดมพลไปแล้วมีทหารกว่าหนึ่งล้านนาย และเตรียมพร้อมที่จะทำการรบ กลับไม่มีส่วนร่วมในการประชุมครั้งนี้ เมื่อผู้แทนอังกฤษและฝรั่งเศสได้แจ้งให้เชโกสโลวาเกียทราบ และถ้าหากเชโกสโลวาเกียไม่ยอมรับข้อตกลงดังกล่าว ทั้งอังกฤษและฝรั่งเศศจะถือว่าเชโกสโลวาเกียจะต้องรับผิดชอบต่อสงครามที่จะเกิดขึ้น ประธานาธิบดีเอ็ดวาร์ด บีเนส จำต้องยอมรับข้อเสนอ เยอรมนีจึงเข้ายึดซูเตเดนแลนด์โดยไม่มีการต่อต้านใดๆ ทั้งสิ้น
เมื่อถึงเดือนมีนาคม ค.ศ. 1939 เยอรมนีได้ฉีกข้อตกลงมิวนิก และบุกกรุงปราก และสโลวาเกียประกาศเอกราช ประเทศเชโกสโลวาเกียล่มสลาย เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ยุตินโยบายเอาใจฮิตเลอร์ของอังกฤษและฝรั่งเศส และปล่อยให้เยอรมนีมีอำนาจในทวีปยุโรป
หลังจากเยอรมนียึดครองเชโกสโลวาเกียได้สำเร็จ อิตาลีมองเห็นว่าตนอาจจะเป็นสมาชิกที่สองของฝ่ายอักษะ กรุงโรมได้ยื่นคำขาดแก่กรุงติรานา เมื่อวันที่ 25 มีนาคม ค.ศ. 1939 โดยต้องการให้อิตาลียึดครองอัลเบเนีย พระเจ้าซอค ปฏิเสธที่จะได้รับเงินตอบแทนเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนแลกกับการยึดอัลเบเนีย เมื่อวันที่ 7 เมษายน มุสโสลินีส่งกองทัพอิตาลีเข้าบุกครองอัลเบเนีย หลังจากการรบในช่วงเวลาสั้นๆ อัลเบเนียก็พ่ายแพ้ แต่ยังคงสู้อย่างห้าวหาญ
ในปี 1939 กองทัพญี่ปุ่นโจมตีจากทางเหนือของแมนจูกัวเข้าสู่เขตไซบีเรีย ซึ่งถูกตีแตกกลับมาโดยกองทัพโซเวียตภายใต้การนำของนายพลเกออร์กี จูคอฟ หลังจากการรบครั้งนี้ สหภาพโซเวียตและญี่ปุ่นก็เป็นมิตรกันเรื่อยมาจนกระทั่งปี 1945 ญี่ปุ่นได้เปลี่ยนแผนการของตนโดยหาทางขยายอาณาเขตของตนลงไปทางใต้ และนำไปสู่ความขัดแย้งกับสหรัฐอเมริกาบนแผ่นดินฟิลิปปินส์ และแนวเส้นทางเดินเรือของหมู่เกาะอินเดียตะวันออกของดัตช์ ส่วนทางด้านสหภาพโซเวียตก็ได้มุ่งเป้าไปทางทิศตะวันตก และคงทหารแดงไว้ประมาณ 1,000,000-1,500,000 นายเพื่อรักษาแนวชายแดนที่ติดกับญี่ปุ่น
สนธิสัญญาโมโลตอฟ-ริบเบนทรอพเป็นเพียงแต่สนธิสัญญาไม่รุกรานกันระหว่างนาซีเยอรมนีและสหภาพโซเวียต ซึ่งลงนามในกรุงมอสโกเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม ค.ศ. 1939 ระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศโซเวียต วีเชสลาฟ โมโลตอฟ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเยอรมนี โยอาคิม วอน ริบเบนทรอพ
ในปี 1939 ทั้งนาซีเยอรมนีและสหภาพโซเวียตต่างก็ยังไม่พร้อมที่จะทำสงครามระหว่างกัน สหภาพโซเวียตซึ่งเสียดินแดนโปแลนด์ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1920 แม้ว่าสนธิสัญญาโมโลตอฟ-ริบเบนทรอพจะเป็นสนธิสัญญาไม่รุกรานกันอย่างเป็นทางการ แต่ทว่าตอนท้ายของสนธิสัญญาดังกล่าวก็ยังมีข้อตกลงลับต่อท้ายสนธิสัญญา ซึ่งเป็นการแบ่งฟินแลนด์ เอสโตเนีย ลัตเวีย ลิทัวเนีย โปแลนด์และโรมาเนีย ให้อยู่ภายใต้เขตอิทธิพลของกันและกัน
ภายหลังจากสนธิสัญญาดังกล่าว ประเทศที่ได้กล่าวมาข้างต้นก็ได้ถูกบุกครอง โดยถูกยึดครองหรือถูกบังคับให้ยกดินแดนให้แก่สหภาพโซเวียต นาซีเยอรมนี หรือทั้งสองประเทศ
ได้มีการถกเถียงกันว่าในปี 1933 โปแลนด์ได้พยายามที่จะชักจูงให้ฝรั่งเศสเข้าร่วมกับตนในความพยายามที่จะโจมตีเยอรมนีหลังจากที่พรรคนาซีมีอำนาจในประเทศเยอรมนี เหตุการณ์อันตึงเครียดที่เกิดขึ้นระหว่างโปแลนด์และเยอรมนีนั้นเกี่ยวข้องกับนครเสรีดานซิกและฉนวนโปแลนด์ เหตุการณ์นี้ได้สงบลงในปี 1934 หลังจากการลงนามในสนธิสัญญาไม่รุกรานกัน แต่ในฤดูใบไม้ผลิปี 1939 เหตุการณ์อันตึงเครียดก็ได้เกิดขึ้นอีกครั้ง และท้ายที่สุด หลังจากได้ยื่นข้อเสนอมากมาย เยอรมนีก็ได้ประกาศยุติความสัมพันธ์ทางการทูต และไม่นานหลังจากสนธิสัญญาโมโลตอฟ-ริบเบนทรอพได้ลงนาม การโจมตีโปแลนด์ก็ได้เริ่มต้นขึ้นในวันที่ 1 กันยายน ค.ศ. 1939 อังกฤษและฝรั่งเศสซึ่งเคยรับประกันความเป็นเอกราชของโปแลนด์ และได้ยื่นคำขาดแก่เยอรมนีให้ถอนกำลังออกจากโปแลนด์โดยทันที เยอรมนีปฏิเสธ ดังนั้น ทั้งสองประเทศจึงประกาศสงครามกับเยอรมนี แต่ทว่าทั้งสองก็มิได้ให้ความช่วยเหลือแต่อย่างใดนัก ส่วนทางด้านตะวันออก สหภาพโซเวียตบุกครองโปแลนด์ในวันที่ 17 กันยายน
ด้วยการโจมตีสหภาพโซเวียตเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน ค.ศ. 1941 ฮิตเลอร์ได้ขยายขอบเขตของสงคราม ซึ่งเป็นสิ่งที่ผิดพลาดทางยุทธศาสตร์ เนื่องจากอังกฤษยังมิได้พ่ายแพ้ และผลที่ตามมา ก็คือ การทำศึกสองด้าน แต่ฮิตเลอร์กลับเชื่อว่าสหภาพโซเวียตจะพ่ายแพ้อย่างง่ายดาย และโจมตีสหภาพโซเวียตอย่างเด็ดขาด หลังจากนั้น เยอรมนีก็จะได้ยึดครองดินแดนทั้งหมด
นอกจากนั้น ยังมีหลักฐานใหม่ที่สามารถเชื่อได้ว่า ถ้าหากเยอรมนีไม่โจมตีสหภาพโซเวียตแล้ว สตาลินก็อาจสั่งการให้กองทัพแดงบุกครองนาซีเยอรมนีในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าเช่นกัน ซึ่งอาจจะเป็นความเสียหายครั้งใหญ่ของนาซีเยอรมนี เนื่องจากกองทัพบกเยอรมันไม่สามารถแสดงแสงยานุภาพการโจมตีสายฟ้าแลบ ซึ่งเป็นการสนับสนุนให้เยอรมนีสามารถรับมือกับกองทัพโซเวียตได้ก่อน นอกจากนั้น ลักษณะภูมิประเทศของเยอรมนีทางด้านตะวันออกนั้นไม่เหมาะที่จะทำสงครามตั้งรับ เนื่องจากเป็นที่ราบและเปิดโล่ง
ราชนาวีจักรวรรดิญี่ปุ่นได้โจมตีท่าเรือเพิร์ล เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม ค.ศ. 1941 ด้วยความหวังว่าจะทำลายกองทัพเรือสหรัฐอเมริกาภาคพื้นแปซิฟิก
ในวันเดียวกันนี้ เยอรมนีประกาศสงครามต่อสหรัฐอเมริกา ทำให้ประชาชนอเมริกันยุติแนวคิดการแยกตัวอยู่โดดเดี่ยวของตน และเข้าสู่สงคราม
อ่านบทความฉบับสมบูรณ์ได้ที่ http://th.wikipedia.org/wiki/สาเหตุของสงครามโลกครั้งที่สอง