สารานุกรมหย่งเล่อ (จีนตัวย่อ: ????; จีนตัวเต็ม: ????; พินอิน: Y?ngl? D?di?n) เป็นสารานุกรมที่รวบรวมศาสตร์แขนงต่าง ๆ โปรดให้จัดทำขึ้นโดยจักรพรรดิหย่งเล่อแห่งราชวงศ์หมิง ใน ค.ศ. 1403 และเสร็จสิ้นใน ค.ศ. 1408 ณ เวลานั้นถือว่าเป็นสารานุกรมทั่วไปที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกที่มีการรู้จัก ปัจจุบัน วิกิพีเดียภาษาอังกฤษได้กลายมาเป็นสารานุกรมที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกแทน ส่วนสารานุกรมหย่งเล่อนั้นถือครองสถิติมาเป็นเวลา 600 ปีพอดี
ราชบัณฑิตกว่าสองพันคนได้ทำงานในโครงการดังกล่าวภายใต้การควบคุมของจักรพรรดิหย่งเล่อ โดยมีเนื้อหารวมกว่า 8,000 บท ตั้งแต่สมัยโบราณมาจนถึงราชวงศ์หมิงตอนต้น ซึ่งครอบคลุมเนื้อหาในหลายสาขาวิชา รวมไปถึงเกษตรกรรม ศิลปะ ดาราศาสตร์ การละคร ธรณีวิทยา ประวัติศาสตร์ วรรณกรรม การแพทย์ วิทยาศาสตร์ธรรมชาติ ศาสนาและเทคโนโลยี เช่นเดียวกับรายละเอียดของปรากฏการณ์ธรรมชาติที่แปลกประหลาด สารานุกรมดังกล่าว ซึ่งเสร็จสิ้นใน ค.ศ. 1408 ที่นานกิงกั๋วจื่อเจี้ยน (?????; มหาวิทยาลัยหนานจิง) ประกอบด้วยหนังสือกว่า 22,877 หรือ 22,937 บรรพ (ม้วนหนังสือ หรือบท) ในหนังสือ 11,095 เล่ม กินพื้นที่ 40 ลูกบาศก์เมตร และใช้อักษรจีนกว่า 3,700 ล้านตัวอักษร มันได้รับการออกแบบมาให้รวบรวมทุกเรื่องที่เคยเขียนมาเกี่ยวกับลัทธิขงจื๊อ ประวัติศาสตร์ ปรัชญา ศิลปะและวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นการตรวจเทียบครั้งใหญ่ของการคัดข้อความและผลงานจากวรรณกรรมและความรู้ที่มีอยู่มหาศาลของจีน
เนื่องจากความมหาศาลของงาน ทำให้ไม่สามารถใช้วิธีการภาพพิมพ์ได้ และเป็นที่คาดกันว่ามีการทำสำเนาสารานุกรมหย่งเล่อเพียงชุดเดียวเท่านั้น ใน ค.ศ. 1557 ภายใต้การกำกับของจักรพรรดิเจียจิ้ง สารานุกรมหย่งเล่อได้รับการเก็บรักษาให้รอดพ้นจากการถูกทำลายโดยเพลิงไหม้ซึ่งทำลายพระราชวังไปสามแห่งในพระราชวังต้องห้าม หลังจากนั้น พระองค์จึงโปรดให้มีการทำสำเนาสารานุกรมดังกล่าวเป็นชุดที่สาม
จนถึงปัจจุบัน น้อยกว่า 400 บรรพจากสำเนาทั้งสามชุดเหลือรอดมาจนถึงปัจจุบัน ส่วนต้นฉบับนั้นหายไปจากบันทึกประวัติศาสตร์แล้ว ส่วนสำเนาชุดที่สองนั้นค่อย ๆ เลือนหายไปตามกาลเวลาและสูญหายไปนับตั้งแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 จนกระทั่งข้อมูลราว 800 บรรพที่ยังหลงเหลืออยู่ถูกไฟเผาเมื่อกองทัพจีนโจมตีสถานทูตอังกฤษ หรือถูกขโมยไปโดยพันธมิตรแปดชาติระหว่างกบฏนักมวย ใน ค.ศ. 1900 ข้อความที่ยังหลงเหลืออยู่นั้นถูกเก็บรักษาไว้ในห้องสมุดและคอลเล็กชั่นของเอกชนทั่วโลก ส่วนที่สมบูรณ์ที่สุดที่ยังคงหลงเหลืออยู่ถูกเก็บรักษาไว้ที่หอสมุดแห่งชาติจีนในปักกิ่ง