สาธารณรัฐโรมัน (ละติน: Res-publica Romanorum) เป็นยุคสมัยของอารยธรรมโรมันโบราณขณะมีรัฐบาลเป็นสาธารณรัฐ เริ่มต้นจากการโค่นล้มราชาธิปไตยโรมัน ซึ่งมักถือว่าเมื่อราว 509 ปีก่อน ค.ศ. และแทนที่ด้วยรัฐบาลซึ่งนำโดยกงสุลสองคน ซึ่งพลเมืองเลือกตั้งทุกปีและได้รับคำแนะนำจากวุฒิสภา รัฐธรรมนูญที่ซับซ้อนค่อย ๆ ได้รับการพัฒนา โดยมีศูนย์กลางอยู่บนหลักการแบ่งแยกอำนาจและการตรวจสอบและถ่วงดุล ยกเว้นในสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงของประเทศ ตำแหน่งราชการถูกจำกัดไว้ที่หนึ่งปี เพื่อที่ในทางทฤษฎีจะไม่มีปัจเจกบุคคลใดสามารถครอบงำพลเมืองได้
ในทางปฏิบัติ สังคมโรมันเป็นแบบลำดับชั้น วิวัฒนาการของรัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐโรมันได้รับอิทธิพลอย่างมากจากการต่อสู้ระหว่างชนชั้นสูงผู้ถือครองที่ดินของโรม (แพทริเซียน) ผู้ซึ่งมีบรรพบุรุษย้อนไปตั้งแต่ประวัติศาสตร์ยุคต้นของราชอาณาจักรโรมัน กับพลเมือง-สามัญชน (เพลเบียน) ที่มีจำนวนมากกว่ามาก เมื่อเวลาผ่านไป กฎหมายซึ่งให้สิทธิ์ขาดตำแหน่งสูงสุดของโรมแก่แพทริเซียนถูกยกเลิกหรือหย่อนลง และชนชั้นสูงใหม่เกิดขึ้นจากท่ามกลางชนชั้นเพลเบียน ผู้นำของสาธารณรัฐพัฒนาประเพณีและศีลธรรมแข็งซึ่งต้องการบริการสาธารณะและการอุปถัมภ์ในยามสันติและสงคราม หมายความว่า ความสำเร็จทางทหารและการเมืองเชื่อมโยงกันอย่างแยกไม่ได้ ระหว่างสองศตวรรษแรก สาธารณรัฐได้ขยายตัวผ่านการพิชิตและพันธมิตรร่วมกัน จากอิตาลีตอนกลางเป็นทั้งคาบสมุทรอิตาลี เมื่อถึงศตวรรษต่อมา รวมถึงแอฟริกาเหนือ คาบสมุทรไอบีเรีย กรีซ และพื้นที่ซึ่งปัจจุบันเป็นฝรั่งเศสตอนใต้ อีกสองศตวรรษจากนั้น ใกล้ปลายศตวรรษที่ 1 ก่อนคริสตกาล รวมถึงฝรั่งเศสปัจจุบันที่เหลือ และพื้นที่อีกมากในทางตะวันออก ถึงขณะนี้ แม้จะมีข้อจำกัดตามประเพณีและกฎหมายของสาธารณรัฐได้มาซึ่งอำนาจทางการเมืองอย่างถาวรของบุคคล การเมืองโรมันถูกครอบงำโดยผู้นำโรมันไม่กี่คน พันธมิตรที่อึดอัดระหว่างพวกเขาถูกคั่นด้วยสงครามกลางเมืองเป็นระยะ
ผู้ชนะคนสุดท้ายในสงครามกลางเมืองเหล่านี้ ออกเตเวียน (ออกัสตัส) ปฏิรูปสาธารณรัฐเป็นสมัยผู้นำ โดยตั้งตนเป็น "พลเมืองหมายเลขหนึ่ง" (princeps) ของโรม วุฒิสภายังคงประชุมและโต้วาทีกัน มีการเลือกตั้งพนักงานผู้ปกครองประจำปีดังก่อน แต่การตัดสินใจสุดท้ายในประเด็นนโยบาย การสงคราม การทูตและการแต่งตั้งเป็นเอกสิทธิ์ของ princeps ในฐานะ "ผู้เป็นเอกในบรรดาผู้เท่าเทียม" (หรือ imperator เนื่องจากการถืออำนาจสิทธิ์ขาด อันเป็นที่มาของคำว่า จักรพรรดิ) อำนาจของพระองค์เป็นแบบระบอบกษัตริย์ทุกอย่างเว้นแต่นามเท่านั้น และพระองค์ถืออำนาจไว้ตลอดชีพ ในนามของวุฒิสภาและประชาชนแห่งโรม สาธารณรัฐโรมันไม่เคยถูกฟื้นฟู แต่ก็ไม่เคยถูกล้มล้างเช่นกัน ดังนั้น เหตุการณ์อันเป็นสัญญาณของการเปลี่ยนผ่านสู่จักรวรรดิโรมันจึงยังเป็นประเด็นที่ต้องตีความต่อไป นักประวัติศาสตร์เสนอหลากหลายเหตุการณ์ เช่น การแต่งตั้งจูเลียส ซีซาร์เป็นผู้เผด็จการตลอดชีพเมื่อ 44 ปีก่อน ค.ศ., ความพ่ายแพ้ของมาร์ค แอนโทนีในยุทธการแอคติอุมเมื่อ 31 ก่อน ค.ศ. และการมอบอำนาจเต็มแก่ออกเตเวียน (ออกัสตัส) ของวุฒิสภาโรมันภายใต้ข้อตกลงแรกเมื่อ 27 ปีก่อน ค.ศ. เป็นเหตุการณ์นิยามการสิ้นสุดสาธารณรัฐ
โครงสร้างทางกฎหมายและนิติบัญญัติจำนวนมากของโรมยังพบเห็นได้ทั่วยุโรปและพื้นที่ส่วนอื่นของโลกโดยรัฐชาติสมัยใหม่และองค์การระหว่างประเทศ ภาษาละติน ภาษาของชาวโรมัน ส่งอิทธิพลต่อไวยากรณ์และคำศัพท์ทั่วบางส่วนของยุโรปและโลก