ประเทศเยอรมนีตะวันออก (อังกฤษ: East Germany) เป็นชื่ออย่างไม่เป็นทางการของ สาธารณรัฐประชาธิปไตยเยอรมนี (เยอรมัน: Deutsche Demokratische Republik - DDR; อังกฤษ: German Democratic Republic - GDR) ซึ่งเคยเป็นประเทศคอมมิวนิสต์ที่ดำรงอยู่ในช่วง พ.ศ. 2492 - 2533 โดยเป็นส่วนหนึ่งของดินแดนเยอรมันที่ถูกปกครองโดยอดีตสหภาพโซเวียต หลังจากการยึดครองเยอรมนีของกองทัพโซเวียตสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง เยอรมนีตะวันออกเป็นประเทศหนึ่งที่เข้าร่วมสนธิสัญญาวอร์ซอ
สาธารณรัฐประชาธิปไตยเยอรมนี รวมประเทศกับ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (เยอรมนีตะวันตก) เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2533 เป็นสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ประเทศเยอรมนีตะวันออกมีเมืองหลวงคือ เบอร์ลินตะวันออก
หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้จบลง นาซีเยอรมันได้พ่ายแพ้และล่มสลาย ประเทศเยอรมนีได้ถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วน โดยเยอรมนีตะวันตกและเบอร์ลินตะวันตกถูกปกครองโดย ฝรั่งเศส อังกฤษ และ สหรัฐอเมริกา ส่วนเยอรมนีตะวันออกและเบอร์ลินตะวันออก ถูกครองโดย สหภาพโซเวียต ได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของ สงครามเย็น เพราะสหภาพโซเวียตได้ให้ส่วนตะวันออกปกครองแบบคอมมิวนิสต์ ทำให้เกิดการแยกประเทศ และก่อตั้งกำแพงเบอร์ลินเพื่อไม่ให้ประชาชนชาวเยอรมันตะวันออกหลบหนีไปยังฝั่งตะวันตก จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1989 ตรงกับยุคที่ นายมีฮาอิล กอร์บาชอฟ เป็นประธานาธิบดีของสหภาพโซเวียต ได้มีการทดลองการปฏิรูปการปกครองไปสู่ระบอบประชาธิปไตยทำให้นำไปสู่การล่มสลายของสหภาพโซเวียตในเวลาต่อมา ในเยอรมนีตะวันออก ได้มีการชุมนุมประท้วงใหญ่อย่างสงบขึ้นโดยเฉพาะในเมือง โพสต์ดัม ไลพ์ซิจ และเดรสเดน เริ่มต้นในวันที่ 8 ตุลาคม ค.ศ. 1989 และดำเนินเรื่อยมา เป็นเหตุให้รัฐบาลเยอรมนีตะวันออกได้รับความกดดันเป็นอย่างมาก จนกระทั่งได้มีการประกาศจากรัฐบาลตะวันออกว่า จะเปิดพรมแดนให้ชาวเยอรมันสามารถเดินทางผ่านแดนได้อย่างอิสระ ในวันที่ 9 พฤศจิกายน ค.ศ. 1989 ในวันดังกล่าวชาวเยอรมันตะวันออกจำนวนมากได้มารวมตัวกัน ณ กำแพงเบอร์ลิน เพื่อข้ามผ่านแดนไปยังเบอร์ลินตะวันตกครั้งแรกในรอบ 28 ปี จึงถือเอาวันดังกล่าว เป็นวันล่มสลายของกำแพงเบอร์ลิน
ต่อมาในวันที่ 15 มกราคม ค.ศ. 1990 ชาวเยอรมันจำนวน 1.5 แสน ได้เดินขบวนที่เมืองไลพ์ซิกเพื่อเรียกร้องให้มีการรวมเยอรมนีทั้ง 2 ฝ่ายเข้าด้วยกัน จากนั้นเยอรมนีตะวันออกก็มีการเลือกตั้งเสรีเป็นครั้งแรกในรอบ 40 ปี เมื่อได้นายกรัฐมนตรีใหม่แล้ว รัฐบาลเยอรมันทั้ง 2 ฝ่าย ก็ได้กำหนดตารางเวลาสำหรับการรวมประเทศด้านการเงิน เศรษฐกิจและสังคม หลังจากนั้นรัฐสภาของเยอรมนีตะวันออกได้ลงคะแนนเสียงสนับสนุนการรวมประเทศ และในวันที่ 31 สิงหาคม ค.ศ. 1990 ผู้แทนของรัฐบาลทั้ง 2 ฝ่ายได้ร่วมลงนามในสนธิสัญญาการรวมประเทศโดยเยอรมนีตะวันออกยอมให้เยอรมนีตะวันตกเป็นผู้บริหารทั้งประเทศ ทำให้ประเทศเยอรมนีกลับมาเป็นประเทศอธิปไตยหนึ่งเดียวอีกครั้ง
เยอรมนีตะวันออกมีกองทัพเป็นของตนเองคือ กองทัพประชาชนแห่งชาติ(National People's Army-Nationale Volksarmee-NVA)ถูกจัดตั้งโดยสหภาพโซเวียต เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม ค.ศ.1956 ประกอบ ด้วยกองทัพบก(Landstreitkr?fte der Nationalen Volksarmee - LaSK)กองทัพเรือ(Volksmarine - VM) กองทัพอากาศ(Luftstreitkr?fte der Nationalen Volksarmee - LSK) และกองกำลังป้องกันชายแดน(Grenztruppen der DDR) อาวุธยุทโธปกรณ์ของกองทัพประชาชนแห่งชาติส่วนใหญ่ล้วนมาจากกองทัพแดงของสหภาพโซเวียตทั้งสิ้น ต่อมาในวันที่ 2 ตุลาคม ค.ศ.1990 หลังจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียตและเยอรมนีตะวันออกได้รวมตัวกับเยอรมนีตะวันตก กองทัพประชาชนแห่งชาติได้ถูกยุบและรวมตัวกับกองทัพบุนเดซเวร์ กองทัพของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี
เยอรมนีตะวันออกซึ่งเป็นประเทศรัฐระบอบคอมมิวนิสต์ซึ่งอยู่ภายใต้ของสหภาพโซเวียต สหภาพโซเวียตนั้นไม่มีการนับถือศาสนาอะไรเลย เนื่องจากศาสนาเป็นสิ่งที่ทำให้ประชาชนต่อต้านระบอบคอมมิวนิสต์ได้ ดังนั้นเยอรมนีตะวันออกจึงไม่มีศาสนาประจำชาติแต่อย่างใด และประกาศห้ามไม่ให้ประชาชนในเยอรมนีตะวันออกนับถือศาสนา หากพบเห็นจะต้องได้รับโทษต่างๆเช่น ถูกขัง ถูกส่งไปใช้แรงงานในค่ายกักกัน เป็นต้น นอกจากนั้นยังมีการปลูกฝังให้ชาวเยอรมนีตะวันออกไม่ให้นับศาสนาอีกด้วย แต่ภายหลังจากสหภาพโซเวียตล่มสลายและเยอรมนีตะวันออกรวมกับเยอรมนีตะวันตก นโยบายที่ห้ามนับถือศาสนาของเยอรมนีตะวันออกได้ถูกยกเลิกไปในที่สุด
อ่านบทความฉบับสมบูรณ์ได้ที่ http://th.wikipedia.org/wiki/สาธารณรัฐประชาธิปไตยเยอรมัน