สัทวิทยา, สรวิทยา หรือ วิชาระบบเสียง (อังกฤษ: phonology) เป็นการศึกษาที่เกี่ยวกับเรื่องเสียงในภาษา โดยแยกย่อยออกเป็น 2 แขนง คือ สัทศาสตร์ (phonetics) และสรศาสตร์ (phonemics)
สัทศาสตร์ เป็นการศึกษาเกี่ยวกับลักษณะของเสียงในภาษาพูด มีแขนงย่อยอีก 3 สาขาคือ สรีรสัทศาสตร์ (articulatory phonetics) สวนสัทศาสตร์ (Acoustics phonetics) และโสตสัทศาสตร์ (auditory phonetics)
สรีรสัทศาสตร์ เป็นศาสตร์ที่ว่าด้วยการเปล่งเสียงแต่ละเสียงว่าใช้อวัยวะคือ ลิ้น ริมฝีปาก เส้นเสียงแต่ละเส้นเสียง และลมออกทางช่องปากหรือช่องจมูก เป็นต้น
สวนสัทศาสตร์ [สะ-วะ-นะ-สัด-ทะ-สาด], สวันศาสตร์, กลสัทศาสตร์ หรือ นินาทสัทศาสตร์ เป็นศาสตร์ที่เกี่ยวกับลักษณะของคลื่นเสียงที่เปล่งออกมาว่าอยู่ในลักษณะใด เช่น ระดับเสียง ระดับความถี่ของเสียง มีการใช้เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์เข้ามาช่วยในด้านการออกเสียง เรียกว่า Sound Spectrogragp Oscillograph เป็นต้น
โสตสัทศาสตร์ เป็นการศึกษาเกี่ยวกับกระบวนการรับฟัง เสียงประเภทต่าง ๆ ที่มักจะเกี่ยวข้องโดยตรงกับการทำงานของสมอง เช่น เสียงพูดมีระดับสูง ต่ำมีส่วนส่งผลทางด้านจิตใจ
สรศาสตร์ หรือ วิชาหน่วยเสียง เป็นการศึกษาภาษาศาสตร์ในด้านที่เกี่ยวกับหน่วยเสียง (phonemes) โดยศึกษาว่า เสียงในภาษาเสียงใดที่เป็นสิ่งสำคัญที่สามารถทำให้ความหมายของคำแตกต่างกัน เช่น คำว่า พา - ปา ในภาษาไทยมีความหมายที่แตกต่างกันเนื่องจากเสียงพยัญชนะ (เช่น ph="พ" ซึ่งโดยทั่วไปแล้วฝรั่งจะอ่าน 'ph'เป็นเสียง"ฟ" แต่คนไทยเข้าใจว่า 'ph'คือ"พ" อย่างในคำว่า "ภูเก็ต" คนไทยจะเขียนเป็น "Phuket" และตัวพยัญชนะ 'p' อย่างในคำว่า "ประตูน้ำ"="Pratunam" ซึ่งคนไทยตั้งให้เป็นเสียง"ป"ในทางมาตรฐานสัทศาสตร์ไทย สองพยัญชนะดังกล่าวมีหน่วยเสียงที่ใช้แทนกันไม่ได้ แม้ว่าบางครั้งอาจจะมีกลไลในการอ่านออกเสียงใกล้เคียงกัน) ดังนั้นการอ่านไม่ชัดเจนก็อาจจะนำไปสู่ความหมายที่เปลี่ยนได้ สรุปได้ว่าการหาหน่วยเสียงนั้นก็คือ การนำเสียงในภาษามาวิเคราะห์อย่างมีหลักเกณฑ์เพื่อดูว่าเสียงในภาษาใดทำให้คำมีความหมายแตกต่างกันได้