อำเภอสัตหีบ เป็นอำเภอเล็ก ๆ ตั้งอยู่ในจังหวัดชลบุรีห่างจากตัวเมืองชลบุรี 85 กิโลเมตร ความสำคัญของสัตหีบคือเป็นเมืองแห่งฐานทัพเรือและเป็นฐานทัพเรือที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
มีเรื่องเล่าว่า ช่วงประมาณรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 สัตหีบเป็นเพียงหมู่บ้านชายทะเล ชาวบ้านประกอบอาชีพทำไร่ ทำนา หาของป่า และประมง การคมนาคมจะใช้ทางน้ำโดยเรือเมล์หรือเรือใบ ส่วนทางบกมีแต่ทางเกวียน ถนนไปชลบุรียังไม่มี ภูมิประเทศส่วนใหญ่ยังเป็นป่ารกทึบ การเดินทางระหว่างเมืองจึงใช้เรือเป็นหลัก
ในหมู่บ้านสัตหีบ มีผู้ที่ชาวบ้านนับหน้าถือตามากอยู่คนหนึ่ง ชาวบ้านเรียกว่า "ยายแจง" แกมีฐานะดี มีที่ดินเรือกสวนไร่นามากมาย ตลาดสัตหีบ หนองตะเคียนและโรงเรียนสิงห์สมุทรรวมถึงบริเวณเขาแหลมเทียนอันเป็นที่ตั้งของฐานทัพเรือสัตหีบในปัจจุบันก็เคยเป็นของแก ต่อมา เมื่อกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ทรงฝึกภาคทะเลกับกองเรือและทรงพักที่อ่าวสัตหีบ ทรงเห็นว่าอ่าวสัตหีบเหมาะเป็นที่ตั้งหน่วยเรือ เพราะมีเกาะใหญ่น้อยช่วยกำบังคลื่นลม พระองค์จึงได้บอกถึงพระประสงค์ที่จะใช้บริเวณเขาแหลมเทียนเป็นที่ตั้งหน่วยทหารเรือ ยายแจงก็ยินดีที่จะถวายให้
หลายท่านให้ความคิดเห็นว่า "สัตต" แปลว่า เจ็ด "หีบ" หมายถึง หีบ ฉะนั้นคำว่า "สัตหีบ" ก็น่าจะแปลว่า หีบเจ็ดใบ ซึ่งสอดคล้องตามตำนานประวัติ[เจ้าแม่แหลมเทียน]ว่าได้นำพระราชาลงในหีบเจ็ดใบเพื่อหลบหนียักษ์ อีกหลักฐานหนึ่งมาจากกองประวัติศาสตร์[ทหารเรือ]ระบุว่า เมื่อ พ.ศ. 2464 รัชกาลที่ 6 ได้เสด็จตรวจเยี่ยมหัวเมืองชายทะเล เพื่อจะสร้างแนวป้องกันชายฝั่งทะเลด้านนอกเพิ่มขึ้น เพราะป้อมพระจุลจอมเกล้าที่ปากน้ำสมุทรปราการนั้นใกล้เมืองหลวงมากเกินไป จึงทรงดำริหัวเมืองชายทะเลฝั่งตะวันออกเป็นที่ตั้งกองทัพเรือ เพื่อตรวจตรารักษาฝั่งและเขตน่านน้ำใหญ่ จึงพระราชทานนามว่า สัตตหีบ เนื่องจากพระองค์ทรงเห็นเกาะ 7 เกาะ เป็นที่กำบังลมให้แก่หมู่เรือได้ดี คำว่า "สัตหีบ" หมายถึง ที่กำบังเจ็ดแห่ง (หีบ = ที่บัง) อันหมายถึงเกาะต่าง ๆ กล่าวคือ เกาะพระ เกาะยอ เกาะหมู เกาะเตาหม้อ เกาะเณร เกาะสันฉลาม และเกาะเลา
สัตหีบแยกจากอำเภอบางละมุงเพื่อเป็น กิ่งอำเภอสัตหีบ เมื่อ พ.ศ. 2480 โดยประกอบด้วยตำบลสัตหีบและตำบลนาจอมเทียน และได้รับประกาศแต่งตั้งเป็น อำเภอสัตหีบ เมื่อ 1 มกราคม พ.ศ. 2496 ดังปรากฏในหนังสือราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 70 ตอนที่ 17 ลงวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2496 โดยมีนายอำเภอคนแรกชื่อ นายชุมพล อุทยานิก
8 พฤษภาคม พ.ศ. 2487 เหตุเครื่องบินทิ้งระเบิด B-24J ประเทศสหรัฐอเมริกาหมายเลข 42-73302 ถูกกองทัพเรือ ยิงตก มีผู้เสียชีวิต 8 คน ถูกจับเป็นเชลย 2 คน ท่ามกลางสงครามมหาสมุทรแปซิฟิก19 เมษายน พ.ศ. 2509 เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ชาติไทย เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเรือใบ ประเภทโอเคขนาด 13 ฟุต ชื่อ "เวก้า" (VEGA) จากวังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ตั้งแต่เวลา 04.28 น. ข้ามอ่าวไทยไปยังอ่าวเตยงาม ซึ่งมีระยะทางประมาณ 60 ไมล์ทะเล ด้วยพระองค์เองเพียงลำพัง ซึ่งทรงใช้เวลาในการแล่นใบในครั้งนี้ถึง 17 ชั่วโมงเต็ม โดยเสด็จถึงอ่าวเตยงามเมื่อเวลา 21.28 น. โดยได้ทรงนำธง "ราชนาวิกโยธิน" ข้ามอ่าวไทยมาด้วย หลังเสด็จถึง ทรงปักธง "ราชนาวิกโยธิน" เหนือยอดก้อนหินใหญ่ที่ชายหาดของอ่าวเตยงาม ได้ทรงลงพระปรมาภิไธยบนแผ่นศิลาจารึก เพื่อเป็นสิริมงคลและเพื่อเป็นเกียรติประวัติแก่กองทัพเรือสืบไป
ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพรับราชการและประมงปัจจุบันมีแรงงานภาคอุตสาหกรรมที่ทำงานในนิคมอุตสาหกรรมรอบๆ มาพักอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ขณะที่อาชีพเสริมได้แก่การเกษตร โดยมีผลผลิตสำคัญ เช่น มันสำปะหลัง มะม่วง ข้าว มะพร้าว อ้อย ทุเรียน กล้วย แตงโม กระท้อน และขนุน