สัญญาประชาคม (อังกฤษ: Social contract) ในความหมายที่นำมาใช้ในการเมืองไทยปัจจุบัน หมายถึง ข้อตกลงร่วมกันของประชาชน กลุ่มผลประโยชน์ร่วมกันหรือกลุ่มคนที่มีแนวความคิดเดียวกัน กับฝ่ายตรงข้าม เพื่อเป็นการแสวงข้อตกลงและทางออกของปัญหาซึ่งเป็นปัญหาที่มีผลกระทบในวงกว้างซึ่งหากปล่อยไว้อาจจะก่อให้เกิดความแตกแยกในสังคม
ความหมายที่แท้จริงนั้น "สัญญาประชาคม" หมายถึง ทฤษฎีสัญญาประชาคม อันเป็นนัยตามหลักกฎหมายธรรมชาติ มีลักษณะเป็น สำนึกของจริยธรรม ที่ผู้ปกครองควรตระหนักถึง สิทธิบางประการที่ผู้อยู่ใต้ปกครอง (ประชาคม) ได้ยอมสละไป (อาจเรียกได้ว่ายอมอยู่ใต้อำนาจของผู้ปกครอง) เพื่อความปลอดภัยของตนในสิทธิและเสรีภาพที่ยังคงเหลืออยู่ แนวคิดเช่นนี้เองที่เป็นพื้นฐานของการพัฒนาระบอบประชาธิปไตย โดยตรรกะจากสำนึกจริยธรรมดังกล่าว หากมองในมุมกลับกันก็หมายความว่า อำนาจแท้จริงของผู้ปกครองนั้นมาจากประชาชนนั่นเอง ดังนั้นประชาชนควรจะเป็นผู้ที่ใช้สิทธิของตนเลือกผู้ปกครองขึ้นมา และในการนี้วิธีที่เหมาะสมก็คือการใช้เสียงข้างมากในการตัดสิน
สัญญาประชาคม นิยาม สัญญาประชาคม (Social Contract) เป็นการสมรสระหว่างคำสองคำ คือ คำว่า “สัญญา” ซึ่งหมายถึงข้อตกลง กับคำว่า “ประชาคม” ซึ่งหมายถึงชุมชนหรือกลุ่มชนซึ่งอยู่ร่วมกันและมีการติดต่อสัมพันธ์กัน โดยเมื่อรวมกันแล้วจะมีความหมายว่า การทำข้อตกลงกันของประชาชนในสังคมที่อยู่ร่วมกัน โดยส่วนใหญ่แล้วคำว่าสัญญาประชาคมนี้มักจะถูกนำไปใช้ในสองลักษณะ คือ ในความหมายแบบแคบที่หมายถึงตัวทฤษฎีทางรัฐศาสตร์ที่เกิดขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 17-18 และในความหมายแบบกว้างที่หมายถึงพันธสัญญาทางการเมืองระหว่างนักการเมืองกับประชาชน (Kurian, 2011: 1548) ที่มา แนวคิดสัญญาประชาคมเกิดขึ้นในราวศตวรรษที่ 17 เพื่ออธิบายที่มาของสังคมการเมือง และสร้างความชอบธรรมให้แก่รัฐบาลที่ปกครองอยู่ในขณะนั้น โดยอธิบายถึงที่มาในการจัดตั้งสังคมการเมืองของมวลมนุษยชาติว่าเกิดจากการตกลงร่วมกันของมนุษย์ในสภาวะที่ยังไม่มีรัฐ หรือ สภาวะธรรมชาติ (state of nature) ที่จะยินยอมสละสิทธิบางอย่างให้แก่ผู้ปกครองเพื่อทำหน้าที่ดูแลปกครอง และจัดตั้งสังคมการเมืองขึ้นมา โดยทฤษฎีสัญญาประชาคมนี้จะแตกต่างออกไปจากแนวคิดเรื่องที่มาของรัฐที่มีอยู่เดิมตั้งแต่สมัยกรีกโบราณว่าเป็นเรื่องของธรรมชาติจากการที่มนุษย์โดยธรรมชาติเป็นสัตว์การเมือง (man is by nature a political animal) แต่ในทางกลับกันทฤษฎีสัญญาประชาคมจะอธิบายว่าสังคมการเมืองนั้นเกิดจากการที่มนุษย์ในสภาวะธรรมชาติได้ตกลงร่วมกันในการจัดตั้งสังคมการเมืองและการปกครองขึ้นมาเองในภายหลังต่างหาก (Wolff, 1996: 6-8) ในโลกตะวันตกนั้นแนวคิดทฤษฎีสัญญาประชาคมนับว่ามีความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะเป็นที่มาของแนวคิดเรื่องอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน (โปรดดู Sovereignty of the people) เพราะการที่สังคมการเมืองเกิดขึ้นจากการตกลงกันของประชาชนในสังคม ดังนั้นความชอบธรรมของรัฐบาลหรือผู้ปกครองจึงอยู่ที่การได้รับความยินยอม และการยอมรับจากประชาชน แต่ทั้งหลายทั้งปวงแนวคิดเกี่ยวกับการกำเนิดของรัฐและสังคมโดยทฤษฎีสัญญาประชาคมที่ว่านี้เป็นเพียงการตั้งสมมติฐาน (hypothetical) ภายในห้วงความคิดของนักทฤษฎีการเมืองอย่าง โธมัส ฮอบส์ (Thomas Hobbes) จอห์น ล็อก (John Lock) หรือ ฌอง ฌากส์ รุสโซ (Jean-Jacques Rousseau) มากกว่าที่จะเกิดขึ้นจริง กล่าวคือไม่มีใครสามารถล่วงรู้ได้ว่าการตกลงทำสัญญาประชาคมนี้ได้เกิดขึ้นจริงหรือไม่ เมื่อไหร่ อย่างไร เพราะทฤษฎีนี้เพียงแต่ต้องการสร้างชุดคำอธิบายขึ้นมาเพื่อสร้างความชอบธรรมให้การปกครองสมัยใหม่เท่านั้นเอง (Wolff, 1996: 37-39) แต่ทว่าในปัจจุบัน คำว่า สัญญาประชาคม ในโลกตะวันตกได้ถูกนำมาใช้ในความหมายกว้าง ที่หมายถึงการทำข้อตกลงบางอย่างที่เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมจริงมากกว่าที่จะเป็นเรื่องของทฤษฎีที่อธิบายการกำเนิดของรัฐเหมือนในศตวรรษที่ 17-18 ดังนั้น สัญญาประชาคมในยุคปัจจุบันนี้จึงหมายถึงข้อตกลงระหว่างกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ ในสังคมในเรื่องหนึ่งๆ เพื่อหาข้อสรุปที่เป็นฉันทามติร่วมกันระหว่างกลุ่มผลประโยชน์เหล่านั้นในสังคม นอกจากนี้ คำว่าสัญญาประชาคมในความหมายกว้างในปัจจุบันนี้มักนำมาใช้กับการให้คำมั่นสัญญาทางการเมืองระหว่างนักการเมืองกับประชาชนผ่านนโยบายในการหาเสียงเพื่อลงสมัครรับเลือกตั้งไปดำรงตำแหน่งสำคัญต่างๆ เช่น การที่ประธานาธิบดีบารัคโอบามาได้ให้สัญญากับประชาชนสหรัฐอเมริกาต่อนโยบายถอนทหาร และยุติสงครามในต่างแดน ซึ่งภายหลังจากการที่นายโอบามาได้รับการเลือกตั้งให้กลับเข้าไปดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาอีกครั้งหนึ่งนั้น สหรัฐอเมริกาก็ได้แสดงท่าทีในการยุติสงครามในอิรัก และอัฟกานิสถาน โดยเฉพาะนโยบายการถอนทหารสหรัฐอเมริกาออกจากประเทศดังกล่าว และปล่อยให้กองกำลังความมั่นคง (security force) ของประเทศเหล่านั้นดูแลจัดการความสงบเรียบร้อยภายในประเทศเอง ซึ่งนโยบายที่ประสบความสำเร็จเหล่านี้นายโอบามาได้นำมาเป็นหนึ่งในประเด็นหลักที่เขาได้แถลงต่อสภาคองเกรสในต้นปี ค.ศ. 2013 (state of the union address) ซึ่งนอกจากจะเป็นการแสดงให้เห็นถึงการเคารพสัญญาประชาคมที่มีต่อพลเมืองสหรัฐฯ แล้ว ยังเป็นการถือโอกาสสร้างความเชื่อมั่นในหมู่ประชาชนทำสัญญาประชาคมอื่นๆ ในภายภาคหน้าต่อไปอีกด้วย จะเห็นได้ว่าลักษณะการใช้คำว่าสัญญาประชาคมในปัจจุบันนี้ มีลักษณะเป็นสัญญาที่มีการตกลง และการผูกมัดบางอย่างที่เป็นรูปธรรมขึ้นจริงในทางนโยบาย มิใช่ในลักษณะของการทำหนังสือสัญญา หากแต่เป็นการสร้างความเข้าใจที่ตรงกันระหว่างคู่สัญญาในสังคมในเรื่องความรับผิดชอบ และพันธะที่ทั้งคู่จะต้องมีให้ต่อกันดังสัญญาประชาคมที่ได้ให้ไว้ ซึ่งจะแตกต่างออกไปจากสัญญาประชาคมในทางทฤษฎีการเมืองที่เป็นเพียงการอธิบายถึงที่มาของรัฐโดยที่การตกลงกันก่อตั้งรัฐและสังคมนั้นเกิดขึ้นภายในโลกนามธรรมทางความคิดของนักทฤษฎีการเมืองเท่านั้น ส่วนการบังคับให้เป็นไปตามคำมั่นสัญญาในประชาคม จะเป็นไปตามมาตรฐานทางสังคม ( โปรดดู social norm) ที่อาจแตกต่างกันไป เช่น ในบางประเทศการคอร์รัปชั่น (โปรดดู Corruption) ถือเป็นความผิดร้ายแรง นักการเมืองที่คอร์รัปชั่นได้รับการลงโทษถึงขั้นจำคุก แต่ในสังคมไทย การเอาผิดกับนักการเมือง ตลอดจนข้าราชการ นักธุรกิจ หรือทหาร ที่ฉ้อราษฎร์บังหลวง เกิดขึ้นจริงน้อยมาก ทั้งนี้ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสังคมไทยมีปัญหาในเรื่องที่ไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายได้อย่างจริงจังด้วย ตัวอย่างการนำไปใช้ในประเทศไทย ในขณะที่โลกตะวันตกมีพัฒนาการของแนวคิดสัญญาประชาคมมาเกือบสี่ร้อยปีจากแนวคิดการกำเนิดของรัฐไปสู่การทำข้อตกลงของกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ ในสังคม แต่ในประเทศไทยนั้นกลับแยกแนวคิดทั้งสองนี้ออกเป็นคนละเรื่องกัน กล่าวคือ เมื่อกล่าวถึงคำว่าสัญญาประชาคมในการเมืองไทยตามความเข้าใจของผู้คนส่วนใหญ่จะมีความหมายเฉพาะการทำข้อตกลงที่เป็นรูปธรรมในทางนโยบายเท่านั้น ซึ่งส่วนมากจะหมายถึงข้อตกลงที่บรรดาพรรคการเมืองและนักการเมืองได้ให้สัญญากับประชาชนไว้ในขณะที่รณรงค์หาเสียงเลือกตั้งทั่วไปเพื่อชิงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ว่าหลังจากที่พวกเขาได้รับเลือกตั้งแล้วจะดำเนินการตามนโยบายที่ได้ให้สัญญาไว้กับประชาชน ในขณะที่สัญญาประชาคมอันเกิดจากความสัมพันธ์ทางสังคมของภาคส่วนอื่นๆ เช่น ภาคธุรกิจเอกชน หรือ ภาคส่วนสาธารณะเองที่ก็มีบทบาทและพันธะระหว่างกันในรูปแบบของสัญญาประชาคม นั่นคือ ความรับผิดชอบต่อสังคมโดยรวมในฐานะของภาคธุรกิจเอกชน หรือ ในฐานะของภาคส่วนสาธารณะด้วยกันนั้นกลับไม่ได้รับความสนใจจากผู้คนส่วนใหญ่มากเท่าที่ควร ดังนั้น จะเห็นได้ว่าการมองสัญญาประชาคมในทางปฏิบัติของการเมืองไทย มีเพียงเฉพาะมิติที่เป็นรูปธรรมเพียงมิติเดียวโดยปราศจากการพิจารณามิติทางทฤษฎีการเมืองที่เป็นนามธรรม ซึ่งทำให้การรับรู้เกี่ยวกับแนวคิดสัญญาประชาคมของไทยนั้นตัดขาดจากมิติเรื่องการยอมเสียสละสิทธิบางประการของผู้ถูกปกครองให้แก่ผู้ปกครองเพื่อจัดตั้งสังคมการเมืองขึ้น อันเป็นที่มาเบื้องต้นของแนวคิดอำนาจอธิปไตยของปวงชน ซึ่งหากปราศจากการพินิจพิจารณาถึงหลักการที่ว่านี้แล้ว การทำสัญญาประชาคมของไทยย่อมจะกลายเป็นลักษณะของการเร่ขายฝันจากตัวนโยบายของพรรคการเมือง หรือ ร้ายกว่านั้นก็คือเป็นการหลอกลวงเพื่อจูงใจให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนเสียงให้แก่ตนเอง หรือ พรรคการเมืองของตนเอง ซึ่งหากเป็นในลักษณะนี้แล้ว ผู้แทนของปวงชนก็จะขาดจิตสำนึกในการรับรู้ว่าต้นตอที่มาของแหล่งอำนาจที่พวกเขาอ้างอิงนั้นคือประชาชน ซึ่งจะทำให้การเลือกตั้งเป็นเพียงพิธีกรรมหนึ่งในการแสดงออกซึ่งสัญญาประชาคมในการถ่ายโอนอำนาจอธิปไตยที่เป็นของปวงชนให้แก่นักการเมือง หรือ พรรคการเมืองไปนั่นเองโดยที่พวกเขาไม่ได้สำนึกว่าประชาชนได้มอบสิทธิบางอย่างให้แก่พวกเขาเพื่อแลกกับการปฏิบัติตามแนวนโยบายที่พวกเขาได้รับปากไว้กับประชาชนในขณะหาเสียงเลือกตั้ง อย่างไรก็ดี หลังจากการเลือกตั้งทั่วไปในปี พ.ศ. 2544 ที่พรรคไทยรักไทยได้รับชัยชนะก็ถือได้ว่าเป็นจุดเปลี่ยนผ่านสำคัญเกี่ยวกับแนวคิดสัญญาประชาคม เพราะพรรคไทยรักไทย (หรือพรรคพลังประชาชน และพรรคเพื่อไทยในเวลาต่อมา) ได้แสดงให้เห็นเป็นรูปธรรมของการเกิดสัญญาประชาคม นั่นก็คือ การรณรงค์หาเสียงด้วยนโยบายที่ชัดเจนของพรรคเป็นหลัก จนเมื่อพรรคได้เป็นรัฐบาลก็นำนโยบายเหล่านั้นมาผลักดันให้เป็นรูปเป็นร่างที่ประชาชนสามารถจับต้องได้จริง ซึ่งถือว่าเป็นการทำตามสัญญาประชาคมที่ได้ให้ไว้กับประชาชน อันเป็นที่มาของความนิยมในตัวพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร และจุดขายสำคัญของพรรคการเมืองของพันตำรวจโททักษิณ ซึ่งถือได้ว่าเป็นคุณูปการหนึ่งต่อประเทศไทยในฐานะที่ทำให้พรรคการเมืองอื่นๆ ต้องหันมาดำเนินแนวทางการหาเสียงในรูปแบบเดียวกันนี้มากยิ่งขึ้นในเวลาต่อมา (Terwiel, 2011: 287-290, เกษียร, 2553 : 42) การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวข้างต้นนั้นก่อให้เกิดความตระหนักรู้ร่วมกันของทุกภาคส่วนในสังคมไทยมากยิ่งขึ้นต่อพันธะที่แต่ละภาคส่วนนั้นมีต่อสังคมในภาพรวม อาทิ การที่ภาคธุรกิจเอกชนหันมาให้ความสนใจในเรื่อง “ความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร” (โปรดดู Corporate social responsibility: CSR) มากกว่าการแสวงหากำไรจากสังคมแต่เพียงอย่างเดียว อันเป็นปรากฏการณ์ในแง่ดีที่แสดงให้เห็นถึงการสร้างความเข้าใจที่ตรงกันในเรื่องของสัญญาประชาคมที่เริ่มแพร่ขยายไปสู่ทุกภาคส่วนของสังคมไทยมากยิ่งขึ้นในปัจจุบัน ดูเพิ่มใน ‘Sovereignty of the People’, ‘Constitutionalism’, ‘Vertical and Horizontal Orders’, ‘Social Norm’ และ ‘Corporate Social Responsibility’
อย่างไรก็ตามจุดริเริ่มแนวคิดนี้ในหนังสือ Leviathan (The Matter, Forme and Power of a Common Wealth Ecclesiasticall and Civil) นั้น ฮอบส์ไม่ได้เขียนเพื่อมุ่งกล่าวถึงสัญญาประชาคมโดยเฉพาะเจาะจง แต่มุ่งอธิบายถึงธรรมชาติของมนุษย์และโครงสร้างสังคม เป็นที่น่าสังเกตว่า ตัวฮอบส์เองนั้นปฏิเสธหลักการแบ่งอำนาจอธิปไตย ไม่ปฏิเสธระบอบกษัตริย์ แต่กล่าวถึงแนวทางการใช้อำนาจที่เหมาะสมเท่านั้น
ปรัชญาเศรษฐศาสตร์ ? ปรัชญาการศึกษา ? ปรัชญาประวัติศาสตร์ ? นิติศาสตร์ ? ปรัชญาสังคมศาสตร์ ? ปรัชญาความรัก
สังคม ? สงคราม ? กฎหมาย ? ความยุติธรรม ? สันติภาพ ? สิทธิมนุษยชน ? การปฏิวัติ ? การดื้อแพ่ง ? ประชาธิปไตย ? สัญญาประชาคม
อนาธิปไตย ? อำนาจนิยม ? อนุรักษนิยม ? เสรีนิยม ? อิสรนิยม ? ชาตินิยม ? สังคมนิยม ? ประโยชน์นิยม ? ทฤษฎีความขัดแย้ง ? ทฤษฎีความเห็นหมู่
เพลโต ? โสกราตีส ? อริสโตเติล ? ขงจื๊อ ? นักบุญออกัสติน ? นักบุญโทมัส อควีนาส ? มาเกียเวลลี ? ฮอบส์ ? ล็อก ? รูโซ ? มงแต็สกีเยอ ? วอลแตร์ ? อดัม สมิธ ? โรเบิร์ต พีล ? เอ็ดมันด์ เบิร์ก ? มิล ? แฟรงคลิน ? ไลบ์นิซ ? คานท์ ? ทอโร ? มหาตมา คานธี